xs
xsm
sm
md
lg

บุคคลให้เช่าในญี่ปุ่น...อย่างนี้ก็มีด้วย “ลุงให้เช่า” !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก https://rental-ojisan.com/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน จากบทความสองตอนที่แล้วทำให้เราอาจพอจะเข้าใจและรับรู้ได้ถึงความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องมีคนมาสวมบทบาทพ่อหรือแม่ให้ หรือความรู้สึกที่อยากมีแฟนหรือเพื่อนกับเขาบ้าง ความขาดเหล่านี้ทำให้มีคนหัวใสคิดหาบริการมาตอบสนองความต้องการเช่นนี้ของคนในสังคมซึ่งนับวันก็มากขึ้นทุกที แต่ใครจะไปนึกว่ากระทั่ง “ลุงให้เช่า” ก็มีกับเขาด้วย

บริการบุคคลให้เช่าประเภทนี้ทำเอาฉันอุทานเสียงดัง “อย่างนี้ก็มีด้วยหรือ!?” บางคนก็จะสงสัยว่า “มีไปเพื่ออะไร?” ตอนแรกนึกว่าลูกค้าคงเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชายวัยลุง แต่ความจริงแล้วลูกค้ามีทั้งชายและหญิง และสิ่งที่ลูกค้าต้องการก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ที่สำคัญบริการลุงให้เช่านี้เป็นที่นิยมกันไม่ใช่น้อย ๆ เสียด้วยสิ !
ภาพจาก ameblo.jp
ถ้าลูกค้าเป็นผู้ชายก็อาจเป็นคนที่อายุน้อยกว่า และต้องการใครสักคนเป็นที่ปรึกษาหรือรับฟัง บางทีก็เพราะอยากระบายเรื่องในที่ทำงานซึ่งไม่สามารถบอกให้ใครรู้ได้ หรือกระทั่งขอให้ลุงให้เช่าช่วยแนะนำสาวให้รู้จักหน่อย การที่พวกเขาตัดสินใจเช่าคนแปลกหน้าเช่นนี้มาก็เพราะรู้สึกว่าคุยง่ายถ้าอีกฝ่ายเป็นคนแปลกหน้า สามารถพูดอะไรก็ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายจะรู้เรื่องส่วนตัวหรือคิดอย่างไรต่อตน บางทีพอคุ้นเคยกันมากขึ้น ลุงให้เช่าก็แสดงความเห็นอย่างจริงใจได้ โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกไม่พอใจแต่อย่างใด

ถ้าลูกค้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะต้องการให้ช่วยไปเป็นเพื่อนในสถานที่ที่ไม่มั่นใจหากจะไปตามลำพัง หรือปรึกษาเรื่องที่ตัวเองกำลังกังวลอยู่แต่ไม่รู้จะไปคุยกับใคร บางอย่างก็คุยกับคนรู้จักไม่ได้ หรือบางอย่างอยากได้คำตอบจริงใจ แต่ถ้าปรึกษากับคนรู้จักก็เกรงว่าคนรู้จักจะตอบแบบถนอมน้ำใจ ถ้าเป็นคนไม่รู้จักที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรในความสัมพันธ์กับตนก็จะรู้สึกว่าได้รับคำแนะนำที่ตรงไปตรงมามากกว่า

บางคนก็จ้างลุงมาเพื่อให้ช่วยไปเดินหย่อนใบปลิวตามตู้จดหมายบ้านคน เพราะรู้สึกอุ่นใจที่จะมีชายสูงวัยกว่าช่วยเดินไปด้วยกัน หรือชวนมาเล่นหมากรุกด้วยกัน มีคู่รักบางคู่ที่อยากได้เพื่อนดื่ม ก็จ้าง “ลุง” มานั่งดื่มเป็นเพื่อนเฮฮาสนุกสนานกันเพราะเบื่อกับการไปไหนมาไหนกันเองแค่สองคน กระทั่งจ้างไปเล่นไวโอลินโดยสวมหน้ากากดาราเคป๊อบชื่อดังในงานวันเกิดของพวกวัยรุ่น อย่างนี้ก็มี

เคยมีหญิงวัยกลางคนที่เป็นมะเร็งและเธอก็เคยใช้บริการลุงให้เช่า (ซึ่งก็อายุอานามพอ ๆ กับเธอ) เธอบอกว่าถ้าเธอถามว่า “ผู้หญิงวัยกลางคนที่เป็นมะเร็งอย่างฉันจะมีใครอยากคบหาดูใจด้วยไหม” เพื่อน ๆ หรือผู้หญิงก็จะพากันบอกว่าไม่มีปัญหาหรอกน่า แต่พอถามลุงให้เช่า ลุงตอบว่า “ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้นะ” ซึ่งเธอบอกว่าบางทีเธออาจจะแค่อยากได้ยินคำพูดแบบนี้ก็เท่านั้นเอง และเนื่องจากเธอป่วยหนักแล้ว เธอจึงได้จ่ายค่าจ้างล่วงหน้าแก่ลุงให้เช่าคนนี้ไว้ เมื่อเธอเสียชีวิตลง ลุงให้เช่าก็มาทำหน้าที่ตามที่เธอได้ขอไว้คือให้มาร่วมพิธีศพของเธอ แสดงว่าสำหรับเธอแล้วลุงให้เช่ามีส่วนช่วยเป็นกำลังใจให้เธอไม่ใช่น้อย ๆ เลยทีเดียว

เมื่อได้รับทราบเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ก็รู้สึกว่าบริการลุงให้เช่านี้มีความหลากหลายจริง ๆ โดยมากแล้วคนอายุอานามขนาดที่คนเรียก "ลุง" ก็คงเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรแล้ว อาจเพราะอย่างนี้จึงมีบรรยากาศของความเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจชีวิต เข้าใจโลกบ้างไม่มากก็น้อย พอคนเรารู้สึกเหงา อยากจะหาใครสักคนปรึกษาหรือคุยด้วย ก็คงมองหาคนที่มีบรรยากาศอบอุ่นและเป็นผู้ใหญ่กว่าที่เหมือนจะให้คำแนะนำ ให้ข้อคิด เป็นที่ปรึกษาให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้บ้าง

สำหรับลุงให้เช่าซึ่งเป็นที่นิยมนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ คือ เมื่อเรียกใช้บริการแล้วก็จะมีครั้งต่อ ๆ มาอีก คาดว่าคงเป็นเพราะได้ทำความรู้จัก มีความคุ้นเคยและไว้ใจแล้ว จึงสบายใจที่จะเจอกันอีกในคราวต่อ ๆ ไป พวกลูกค้าประจำนี้จะรู้สึกว่าลุงให้เช่าที่ตนคุ้นเคยนั้นเป็นเหมือนพี่หรือเพื่อนคนหนึ่งเลยทีเดียว และสำหรับตัวลุงให้เช่าเองก็รู้สึกว่างานของเขาทำให้ได้พบผู้คนมากมายและได้สัมผัสเรื่องราวชีวิตที่หลากหลาย ทำให้ตัวเองก็รู้สึกเติมเต็ม สบายใจ และเหมือนได้รู้จักชีวิตมากขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น

คนที่ริเริ่มบริการลุงให้เช่านี้เขาบอกว่า เกิดไอเดียขึ้นจากการที่วันหนึ่งเขาขึ้นรถไฟแล้วได้ยินพวกเด็กผู้หญิงวัยรุ่นพูดจากระแนะกระแหนดูถูกบรรดาชายที่ดูลุง ๆ (ในความหมายของญี่ปุ่น “ลุง” คืออายุตั้งแต่วัย 30 ขึ้นไป) เมื่อเขารู้ว่า “ลุง” มีภาพลักษณ์ในทางลบ จึงคิดหาทางกู้ภาพลักษณ์ของลุงในสังคมญี่ปุ่นด้วยการเริ่มบริการนี้ขึ้นมา

นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์มากเลยนะคะ คนส่วนใหญ่อาจจะมีปฏิกริยาในทางลบเมื่อได้ยินคนพูดถึงในทางไม่ดี และคนเราเมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่ได้อยากให้ใครมาเรียก “ลุง” หรือ “ป้า” แต่เขาคนนี้กลับคิดเอาคำเรียกในทางลบเช่นนี้มาสร้างภาพที่เป็นบวกขึ้นมา ทำให้เกิดการยอมรับสิ่งที่เรียกว่า “ลุง” และคำเรียกนี้ไม่จำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่ใครต่อใครมองในทางลบ หรือทำให้ตัวเองที่อยู่ในวัย “ลุง” ต้องรู้สึกแย่กับตัวเองอีกต่อไป
ภาพจาก http://quiizu.com/archives/29589
บริการลุงให้เช่านี้จะมีลิสต์รายชื่อและรูปถ่ายของลุงทั้งหลายไว้ให้ลูกค้าเลือกใช้บริการ โดยลูกค้าคลิกเลือกลุงที่ต้องการใส่ตะกร้า ชำระเงิน แล้วไม่นานก็จะได้รับอีเมลจากลุงที่เลือกไว้เพื่อนัดสถานที่กันต่อไป ค่าบริการก็นับว่าไม่แพงเลยสำหรับค่าครองชีพคนญี่ปุ่น คืออยู่ที่ 1,000 เยนต่อชั่วโมง นับว่าสูสีกับรายได้ต่อชั่วโมงจากการทำงานในร้านอาหารในกรุงโตเกียว กฎเหล็กของลุงให้เช่าข้อหนึ่งคือ ห้ามแตะเนื้อต้องตัว นอกนั้นจะให้ทำอะไรก็ว่ามา

คนที่ริเริ่มบริการลุงให้เช่านี้ ตอนแรกเขาก็ทำงานนี้อยู่คนเดียว แต่คนเรียกใช้บริการเยอะขึ้นทุกทีจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ จึงเริ่มรับสมัครคนที่อยากทำงานนี้ให้มาช่วยกัน ได้ยินว่ามีคนสมัครเป็นหมื่นแต่เขาเลือกมาเพียงแค่จำนวนน้อย เพราะมีหลายคนที่มีเจตนาแอบแฝงมาทำไม่ดี เขาก็คัดออก และเขาก็ไม่เลือกคนที่หน้าตาดีด้วยแม้ว่าอาจจะทำให้มีลูกค้าเยอะก็ตาม ในทางตรงกันข้ามเขากลับเลือกคนที่เจอมรสุมชีวิตมาแล้วผ่านมันมาได้ ซึ่งเชื่อว่าคนแบบนี้น่าจะสามารถรับฟังและเข้าใจปัญหาของคนอื่นได้ และร้อยละ 70 ของลูกค้าก็เรียกใช้บริการเพราะต้องการคนปรึกษาหรือเพื่อนคุย

พอได้ยินเรื่องราวของลุงให้เช่าแล้ว รู้สึกว่ามันสามารถเป็นงานที่ดี น่าสนใจ และมีความหมายได้มากเหมือนกัน ยิ่งสังคมเรานับวันก็มีแต่คนขี้เหงาเพิ่มขึ้น ต้องการคนคุยด้วย ต้องการใครให้กำลังใจ ต้องการที่ปรึกษา บางทีก็ใช่ว่าจะคุยหรือเล่าอะไรให้ใครต่อใครฟังได้ง่าย ๆ หรืออยู่ดี ๆ เจอคนไม่รู้จักจะไปเล่าจะไปคุยก็ยิ่งแปลกเข้าไปอีก แต่พอมีการตกลงว่าจ้างแล้วก็ทำให้มีฝ่ายที่ต้องทำหน้าที่รับฟัง และฝ่ายผู้จ้างวานจะมัวอิดออดร่ำไรไม่พูดอยู่ก็คงเสียเงินฟรีโดยมิได้อะไร แถมบางคราวการที่เราคิดว่าเราได้ช่วยเหลืออะไรคนอื่นนั้น จริง ๆ แล้วเรากลับเป็นฝ่ายรู้สึกได้เติมเต็มความพร่องในใจตัวเอง กลายเป็นว่าเราได้รับความช่วยเหลือเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี บริการแบบนี้อาจเหมาะสำหรับญี่ปุ่นเพราะมันเข้ากันได้กับสังคมเขา อีกอย่างคือแม้สังคมญี่ปุ่นจะมีอาชญากรรมเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ แต่ก็ยังนับว่าค่อนข้างปลอดภัยสูง หากเป็นสังคมอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยปลอดภัยอาจจะไม่เหมาะเพราะเสี่ยงเกินไป

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น