คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน สัปดาห์ก่อนเราได้คุยถึงเรื่องครอบครัวให้เช่ากันไปแล้ว คงพอได้เห็นภาพความจำเป็นในลักษณะต่าง ๆ ที่คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าต้องหาใครมารับบทบาทของคนในครอบครัวให้แทน นอกจากบุคคลในครอบครัวแล้ว ยังมีบุคคลประเภทอื่น ๆ ให้เช่าอีกมากมายตามแต่ความต้องการอันหลากหลายของลูกค้า ไปดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง
แฟนให้เช่า
บุคคลแบบนี้อาจเป็นที่สนใจสำหรับหลาย ๆ คนโดยเฉพาะคนโสด เขาว่าในญี่ปุ่นนี่คนที่ใช้บริการแฟนให้เช่ามีไม่น้อยเลย ได้ยินมาว่าเดี๋ยวนี้มีคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ไม่มีแฟน บางคนเช่าแฟนก็เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับเพศตรงข้าม ไม่ทราบว่าต้องทำตัวอย่างไร จึงทดลองเช่าแฟนดูเพื่อจะได้สอบถามเป็นข้อมูล หรือบางคนก็ขอให้ไปเดทด้วยกัน อะไรแบบนี้
ที่น่าตกใจคือมีพ่อแม่บางคนที่อยากให้ลูกใช้บริการแฟนให้เช่าเสียด้วยซ้ำ ฟังดูแล้วนึกถึงที่เพื่อนเคยเล่าให้ฟังว่าพ่อแม่ชาวเกาหลีจะให้เงินลูกไปทำศัลยกรรมใบหน้าเป็นของขวัญวันเกิดอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหนไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ
แต่ใช่ว่าเช่าแฟนมาแล้วจะทำอะไรก็ได้นะคะ เขาก็มีกฎมีข้อบังคับว่าห้ามไปในสถานที่ที่ส่อแววจะทำอะไรมิดีมิร้าย ห้ามแตะต้องตัวในเชิงชู้สาว แต่อาจจะยอมให้จูงมือ หรือกอดแบบทักทายได้ รวมทั้งไม่มีการแลกเบอร์ติดต่อหรืออะไรทั้งสิ้น ถ้าต้องการอะไรมากกว่านั้นก็คงต้องไปหาบริการแบบอื่นที่ไม่ใช่บริการให้เช่าแฟนอย่างที่ว่ามานี้
สำหรับสนนราคาก็ตามแต่ตกลง อาจจะอยู่ที่หลักหมื่นเยนต่อชั่วโมง หรือเหมาสามชั่วโมง 1.5 หมื่นเยน ส่วนค่าเดินทาง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม หรือค่าสันทนาการใด ๆ ก็ตาม ผู้จ้างวานต้องเป็นคนออกให้ด้วยต่างหาก
จะว่าไปแล้วก็รายได้งามนะคะ งานก็ไม่ยาก แต่ก็คงต้องเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย เป็นมิตร และต้องแสดงบทบาทหวานแหววสมกับเป็นแฟนของผู้ใช้บริการด้วย คนที่มาทำงานเป็นแฟนให้เช่านี้ก็มาทำเพราะรายได้ดีนี่เอง แต่ก็นับว่าเสี่ยงอันตรายอยู่เหมือนกันหากฝ่ายลูกค้าเกิดชอบจริงจังขึ้นมา หากตามติดแจขึ้นมา หรือมีการทำอะไรเกินเลยคงยุ่ง !!
เพื่อนให้เช่า
ยุคนี้เป็นยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คเข้ามามีบทบาทมาก และผู้คนก็พากันโหลดภาพตัวเองในลุคที่ดูดี ไปเที่ยวไหน รับประทานอาหารอะไรมาก็เอามาลง ถ้ามีคนมากดไลค์ให้ตัวเองมาก ๆ ก็จะรู้สึกดี ความต้องการจะเป็นคนที่ใคร ๆ พากันอิจฉา หรืออยากให้ใครต่อใครมาให้การยอมรับด้วยการคอมเมนท์ดี ๆ หรือกดไลค์ ทำให้มีคนหัวใสนึกถึงบริการ “เพื่อนให้เช่า” ขึ้นมาได้
มีคนญี่ปุ่นหลายคนนะคะที่เช่าคนมาเล่นบทเพื่อนให้ เพื่อสร้างภาพว่าตัวเองมีเพื่อนสนิทหรือมีเพื่อนเยอะ ได้ยินว่าบางคนเช่าเพื่อนมาแล้วเตรียมชุดไว้หลาย ๆ แบบให้ใส่ เพื่อถ่ายรูปเก็บไว้เยอะ ๆ ล่วงหน้าในคราวเดียวที่เช่า แล้วค่อยทยอยเอารูปไปลงในโซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนมีเพื่อนสนิทที่ไปไหนมาไหนด้วยกันอยู่เสมอ
หรือบางทีถ้าผู้ว่าจ้างนึกไม่ออกว่าจะใช้โลเคชั่นไหนถึงจะดูเลิศหรู บริษัทให้เช่าเพื่อนนี้ก็จะช่วยคิดให้ด้วยว่าจะเลือกที่ไหนดี หรือถ้าอยากจัดงานวันเกิด แล้วต้องการอุปกรณ์ตกแต่งก็สามารถขอให้บริษัทช่วยหามาให้ได้ โดยเราต้องออกค่าของ
บางทีบริษัทก็ให้คำแนะนำว่าจะถ่ายรูปอาหารมุมไหนอย่างไรให้เอาไปลงโซเชียลแล้วดูดี นับว่าเอาใจลูกค้ากันสุด ๆ เห็นทางบริษัทบอกว่ามีเหมือนกันที่ลูกค้ามาใช้บริการแล้วสนุกสนาน เลยพลอยทำให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หรือกลับมาใช้บริการบ่อย ๆ เพราะรู้สึกว่าสนุกดีที่ไปทำกิจกรรมด้วยกันเป็นกลุ่ม
มีกรณีอย่างเช่นเจ้าบ่าวไม่มีเพื่อนเลยแต่ไม่อยากให้เจ้าสาวรู้ว่าตนไม่มีเพื่อน จึงจ้างให้คนมารับบทเพื่อนในงานแต่งงาน ปกติงานแต่งงานมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว ยิ่งถ้าจ้างเพื่อนกันหลาย ๆ คนก็คงมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย นอกจากจะไม่ได้รับซองอวยพรแต่งงานของจริงแล้ว ยังต้องจ่ายค่าอาหารกับค่าของชำร่วยแขกอีกเป็นจำนวนมาก ถ้าว่าที่ภรรยาทราบเข้าก็อาจเป็นเรื่อง!!
สำหรับราคาค่าบริการก็แล้วแต่บริษัท อย่างบริษัทที่ดังเรื่องให้เช่าเพื่อนเพราะอยากถ่ายรูปเอาไปอวดบนโซเชียลนี้คิดราคา 8 พันเยนต่อเพื่อนให้เช่าหนึ่งคน ใช้บริการไม่เกินสองชั่วโมง ถ้าจำนวนเพื่อนมากกว่านี้ก็คูณตามจำนวนเพื่อนที่เช่ามา หากมีค่าเดินทาง ค่าสันทนาการอะไรอีก ผู้จ้างวานก็เป็นคนจ่าย
บางทีคนก็เช่าเพื่อนเพื่อให้เป็นเพื่อนคุย เป็นที่ปรึกษา หรือถ้าไม่ได้ให้มาเจอกันตัวเป็น ๆ ก็จะมีแบบขอให้ช่วยส่งอีเมลมาหาทุกวัน หรือโทรมามอร์นิ่งคอลทุกวัน อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน อย่างหลังนี้อาจจะคิดค่าบริการเหมาจ่ายเป็นรายเดือนไปแล้วแต่ตกลงราคากัน
เข้าใจว่าคนที่ใช้บริการเหล่านี้อาจมีวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อให้ได้พบปะหรือทำความรู้จักกับเพศตรงข้ามมากนัก หรือไม่เจอเพื่อนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ บ้างก็คงไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอเพื่อนบ่อยนักจนในที่สุดก็ห่างเหินกันไป ก็คงไม่แปลกที่อยากจะมีคนคุยด้วยเป็นตัวเป็นตน
นอกจากนี้ ยิ่งคนเราเหงามากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยากประกาศความมีตัวตน ก็ยิ่งเล่นโซเชียล ยิ่งอยากทำอะไรให้ใคร ๆ ยอมรับ เช่น ด้วยการกดไลค์หรือคอมเมนท์ ก็นับว่าเข้าใจได้อยู่เหมือนกันนะคะว่าทำไมบริการแบบนี้ถึงเป็นที่ต้องการ
เคยมีผู้ใหญ่สอนว่าหากรู้สึกเหงา รู้สึกไร้คุณค่า ให้ลองไปหยิบยื่นน้ำใจให้คนที่เขาขาดความอบอุ่น อาจจะเป็นบ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ผู้ป่วยอนาถา สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า สอนหนังสือเด็กในสลัม แล้วจะได้รู้ว่าเรายังสามารถทำอะไรให้คนอื่นได้อีกมาก และรู้สึกหายเหงาไปได้เยอะ แถมยังอาจจะได้เจอเพื่อนดี ๆ จากการไปทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วย หรืออย่างน้อยถ้ามีงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่สนใจก็ลองไปหากลุ่มคนที่เขาทำกิจกรรมเหล่านี้ก็จะได้รู้จักผู้คนใหม่ ๆ ไม่เบื่อ ที่สำคัญคือต้องยอมก้าวออกจากจุดที่ตัวเองคุ้นชินแล้วลองทำอะไรใหม่ ๆ ดู เหล่านี้ก็อาจจะเป็นวิธีที่จะทำให้ไม่เหงา และอาจทำให้ได้เพื่อนหรือคนรู้ใจโดยไม่ต้องเช่าด้วยนะคะ
สัปดาห์หน้าจะมามีบุคคลให้เช่าประเภทที่กำลังเป็นที่นิยม และฉันเองยังพลอยนึกอยากเช่าไปกับเขาด้วยเลยค่ะ จะเป็นใครกันนั้นต้องติดตามอ่านต่อสัปดาห์หน้านะคะ
สุดท้ายนี้ ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม “สะใภ้ญี่ปุ่น” มาตลอดปีนี้ ปีหน้าหวังว่าจะได้รับความเอ็นดูจากผู้อ่านเช่นเคย ขอส่งพรปีใหม่แด่ผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน สวัสดีปีใหม่ค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.