xs
xsm
sm
md
lg

ความเหลื่อมล้ำกับความยากจนในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน ตอนจบ

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


คนต่างชาติมักนึกภาพคนจนในญี่ปุ่นไม่ออก บางคนอาจเคยเห็นคนไร้บ้านในญี่ปุ่นและนึกเหมารวมว่าคนจนในญี่ปุ่นคงจะเป็นแบบนั้นหมด แต่งตัวมอซอ ไม่มีบ้าน อาศัยนอนตามสถานีรถไฟบ้าง ตามถนนบ้าง แต่บอกได้เลยว่าไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะมีกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า “คนจนที่สังคมมองไม่เห็น” อยู่ด้วย

อย่างสภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ คนไร้บ้านที่สังคมสังเกตเห็นได้ด้วยตาโดยตรงดูเหมือนลดลง จากการสำรวจ ณ ปี 2560 ของทางการญี่ปุ่น มีคนไร้บ้าน 5,168 คน ลดลงประมาณ 2,500 คน แต่หารู้ไม่ว่าหลายรายที่ตกสำรวจไปนั้นก็มีสภาพเป็นคนไร้บ้านและแน่นอนว่าจน เพียงแต่ว่าตกกลางคืนก็เข้าไปเช่าอินเทอร์เน็ตคาเฟ่นอนบ้าง ค้างบ้านเพื่อนบ้าง สลับกันไป เช้าก็ตื่นออกไปรับจ้างรายวัน มีรายได้วันละ 7,000-10,000 เยน แต่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง คนพวกนี้ไม่ใช่ว่าแต่งตัวสกปรก ดูเหมือนคนธรรมดาสะอาดสะอ้านนี่แหละ มองเผิน ๆ ไม่ว่าตรงไหนในญี่ปุ่นจึงหาคนที่ “ดูท่าทางจน” ไม่ค่อยเจอ แต่ความจนไม่ได้วัดกันที่หน้าตาหรือการแต่งตัว วัดกันด้วยกำลังทรัพย์

แล้วสภาพความจนในญี่ปุ่นเป็นอย่างไร? ถัดจากตัวเลขวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าระดับรายได้ที่มีช่องว่างมากขึ้นทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นใหม่ในญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อดูข้อมูลตัวเลขของฝั่งรัฐบาลด้วยก็จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนจน” จริง และมีไม่น้อยด้วย

ญี่ปุ่นประกาศตัวเลขด้านความยากจนออกมาว่า อัตราความยากจนโดยเปรียบเทียบ ณ ปี 2558 คือ 15.6% เมื่อแปลงเป็นจำนวนประชากรจะได้ว่า มีคนญี่ปุ่นอย่างน้อย 1.9 ล้านคนเป็นคนยากจนโดยเปรียบเทียบ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการเป็นผู้จัดสำรวจในชื่อ “การสำรวจพื้นฐานการดำรงชีวิตประชาชน” โดยดำเนินการทุก 3 ปี ครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2558 (ถัดมาอีก 3 ปีซึ่งตรงกับปีนี้ ตัวเลขยังไม่ออก) จากประกาศนี้ อาจมีคำที่ไม่คุ้นหูคือ “ความยากจนโดยเปรียบเทียบ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้บ่อยเมื่อญี่ปุ่นกล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน

เวลาเราพูดถึงความยากจน เรามักพูดรวม ๆ ประมาณว่า “ความยากจนคือการมีรายได้ไม่พอซื้อสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตตามที่ควรจะเป็น” แต่ในบางบริบทมีรายละเอียดมากกว่านั้น เช่น บางคนอาจพูดว่า “บ้านผมจน ไม่มีเงินซื้อรถส่วนตัว ต้องนั่งรถเมล์ไปทำงาน” หากเจาะลึกกันจริง ๆ ว่าความยากจนในแบบหลังนี้คือความจนจริง ๆ หรือเปล่า? ก็อาจจะตอบยาก เพราะอย่างน้อยยังเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกในระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจจะไม่สะดวกเท่ากับการขับรถส่วนตัว

อธิบายรวบรัดที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์จะได้ว่า ความจนแบบแรกคือ “ความยากจนสัมบูรณ์” (Absolute Poverty) หมายถึง มีรายได้ไม่พอจัดหาสิ่งของมาดำรงชีวิตขั้นต่ำ ส่วนความจนแบบหลังคือ “ความยากจนโดยเปรียบเทียบ” หรือ “ความยากจนสัมพัทธ์” (Relative Poverty) หมายถึง สภาพที่มีรายได้ขั้นต่ำไม่พอจะดำรงชีวิตในระดับเฉลี่ยตามมาตรฐานการครองชีพในสังคมของตัวเอง ประมาณว่าเมื่อเทียบกับคนอื่นแล้วมีน้อยกว่า มีพอแค่ประทังชีวิต

หลักเกณฑ์การคำนวณความยากจนสัมพัทธ์มีรายละเอียดพอสมควร สรุปโดยสังเขป คือ ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของค่ากลางตามที่รัฐบาลสำรวจโดยแบ่งตามมาตรฐานของคนกลุ่มนั้นจะถือว่าเป็นคนจน เช่น คนคนหนึ่งทำงานได้ปีละ 180,000 บาท แต่ถ้ารายได้เฉลี่ยของสังคมคือ 240,000 บาท คนที่มีรายได้ทั้งปี 180,000 บาทจะไม่สามารถไปเที่ยวเล่น ไปดูหนัง ไปเที่ยวทะเลได้ เพราะเงินทั้งหมดที่มีจะถูกนำไปจ่ายเป็นที่พักอาศัย ค่าอาหาร ภาษี และค่าจิปาถะในชีวิตประจำวัน ความยากจนแบบนี้คือสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นพูดถึง ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โซไต-เตกิ ฮิงกง” (相対的貧困;Sōtai Hinkon)

แต่ละประเทศวัดความยากจนต่างกัน แต่มีแนวคิดกว้าง ๆ เหมือนกันคือ ใช้เส้นแบ่งความยากจนเป็นเกณฑ์ (แม้ว่าเส้นนี้อธิบายผลกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนได้ไม่เท่ากันก็ตาม) ในกรณีของญี่ปุ่น ไม่มีการกำหนดนิยาม “เส้นแบ่งความยากจน” ไว้อย่างเป็นทางการ ในทางปฏิบัติ ญี่ปุ่นใช้ข้อมูลสำรวจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตมาประกอบการพิจารณา และคำนวณค่ากลางออกมาเป็นเกณฑ์ ค่ากลางของรายได้ต่อคนคือ 2.45 ล้านเยน (ราว 800,000 บาท) ต่อปี ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งในที่นี้คือ 1.22 ล้านเยน (400,000 บาท) ต่อปี ถือว่าเป็นคนจนโดยเปรียบเทียบ นี่คือกรณีที่เป็นครัวเรือนสมาชิกคนเดียว พูดให้ง่ายที่สุดคือ เกณฑ์ความยากจนของคนญี่ปุ่นคือ “รายได้ที่ไม่ถึง 1.22 ล้านเยนต่อปีต่อครัวเรือนที่มีคนเดียว” ส่วนเกณฑ์ความยากจนของครัวเรือนที่มีคนมากกว่านั้นคือ

ครัวเรือน 2 คนไม่ถึง 1.73 ล้านเยน (6 แสนบาท)
ครัวเรือน3 คนไม่ถึง 2.11 ล้านเยน (7 แสนบาท)
ครัวเรือน 4 คนไม่ถึง 2.44 ล้านเยน (8 แสนบาท)

คำว่า “ยากจน” ที่ใช้กันในญี่ปุ่นจึงสื่อถึงความยากจนโดยเปรียบเทียบมากกว่า (ในบางบริบทก็คาบเกี่ยวระหว่างค่าเปรียบเทียบกับค่าสัมบูรณ์) และเป็นที่น่าเสียดายว่าอัตราความยากจนโดยเปรียบเทียบของญี่ปุ่นโดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 (มีลดลงบ้างนาน ๆ ที) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่พังทลาย

เมื่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว แนวโน้มความยากจนย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา โดยมีปัจจัยซ้ำเติม เช่น การแบ่งแยกระบบจ้างงาน โดยจ้างพนักงานไม่ประจำมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนด้านเงินสวัสดิการ ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้น้อยกว่าพนักงานประจำ, ประชากรสูงอายุ ซึ่งใช้ชีวิตด้วยเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณเท่านั้น, อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้สิ่งที่ประหยัดได้ในฐานะครอบครัวกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และเมื่อแยกทางกัน ฝ่ายที่มีรายได้น้อยย่อมเสี่ยงต่อการตกไปอยู่ในกลุ่มคนยากจน อีกประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันมากเกี่ยวกับความยากจนคือ “ความยากจนในเด็ก” ซึ่งว่ากันว่าเด็กญี่ปุ่น 1 ใน 6 คนเป็นเด็กจน และจะส่งผลต่อการพัฒนาคนในอนาคต

ตัดภาพมาพิจารณาประกอบกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นยุค “อาเบะโนมิกส์” อันเป็นชื่อเรียกแนวทางที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ (แต่ไม่มีการแจกเงิน) มีบางกระแสมองว่านโยบายนี้เอื้อประโยชน์แก่บริษัทใหญ่ และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากขึ้น ฟังดูก็คุ้น ๆ กับสิ่งที่คนไทยได้ยินอยู่บ่อย ๆ แถวนี้

แต่ฝ่ายถูกวิจารณ์บอกว่า นั่นไง...อัตราความยากจนโดยเปรียบเทียบลดลงแล้วไง จากปี 2555 ที่ 16.1% ถัดมาอีก 3 ปีในปี 2558 ลดเหลือ 15.6% แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็มีการโต้กลับอีกเช่นกันว่านโยบายของนายอาเบะทำให้คนญี่ปุ่นจนลงทั้งประเทศเสียมากกว่า และนำไปสู่สภาพรวยข้างบนจนข้างล่าง พอนำมาหารเฉลี่ย ค่าความยากจนมันถึงได้ลดลง...เท่านั้นเอง

ตัวเลขจากอีกสำนักหนึ่งบอกว่า รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุดเมื่อปี 2542 คือ 1.4 ล้านเยน แต่ในปี 2557 อยู่ที่ 1.33 ล้านเยน และสถาบันวิจัยโนมูระชี้ว่า ทางด้านคนรวยนั้น นับตั้งแต่อาเบะโนมิกส์เริ่มมีผล ปี 2558 ครัวเรือนที่มีทรัพย์สินทางการเงิน 100 ล้านเยนขึ้นไปนั้นเพิ่มขึ้น 40,000 ครัวเรือน (50.2%) หมายความว่า มีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งสูงขึ้น

จากตรงนี้จะพบว่าการเถียงกันเรื่องทางเศรษฐกิจในประเทศไหน ๆ มักคล้ายกันคือ มีเหลี่ยมมุมที่หลอกตาอยู่บ่อย ๆ และยังขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะงัดตัวเลขแบบไหนมาสร้างความชอบธรรมให้แก่คำกล่าวอ้างของตน เรื่องแบบนี้จึงต้องดูกันไปทั้งในระยะสั้นจนถึงระยะกลางเป็นอย่างน้อย

ถ้าถามผมว่าตอนนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นอย่างไร จากที่แจกแจงมาทั้งหมดนี้ คงสรุปส่งท้ายปีได้ว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำในญี่ปุ่นเกิดขึ้นจริง อาจจะเห็นได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเริ่มมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ชนชั้นกลางเดิมของญี่ปุ่นอ่อนแรงลง ถ้าสังเกตจากคนใกล้ตัวซึ่งได้แก่นักศึกษา และจากหน้าที่ของตัวเองในฐานะกรรมการที่นั่นที่นี่พบว่า นักศึกษาญี่ปุ่นที่กู้ยืมเงินหรือขอลดหย่อนค่าเล่าเรียนมีเป็นจำนวนมาก

การพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ผลมาหลายทศวรรษ จนกระทั่งมีรัฐบาลนายอาเบะเข้ามาและพยายามเต็มที่อีกครั้งด้วย “อาเบะโนมิกส์” ซึ่งทำให้ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นสูงขึ้นจริง ทำให้ค่าค่าจ้างสูงขึ้นจริง หลายบริษัทจ่ายโบนัสได้มากขึ้นจริง อัตราการหางานได้ของนักศึกษาดีขึ้นจริง แต่การเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสมัยอาเบะทำให้ค่าครองชีพในญี่ปุ่นสูงขึ้น สังคมญี่ปุ่นเกิดชนชั้นใหม่ชัดเจนกว่าเดิมจริง การกระจายรายได้ยังไม่ทั่วถึง กระจุกอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น และคงจะต้องจับตากันต่อไปว่ารัฐบาลนายอาเบะจะจัดการความเหลื่อมล้ำกับความยากจนอย่างไรในปีหน้าในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานคนหนึ่ง

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com

กำลังโหลดความคิดเห็น