xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นไอทีห่วย ?!..ที่นี่มี WiFi ไหม !! (o^^o)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว อาทิตย์ที่แล้วพูดเกี่ยวกับสรุปข่าวญี่ปุ่นที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในรอบปี 2018 ซึ่งถือว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมากจริงๆ ครับ ในบรรดาข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมดข่าวหนึ่งที่ผมจดจำได้ดีเลยคือเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ

คือข่าวอเมริกาออกมาเปิดศึกสงครามการค้ากับจีน คือเรียกได้ว่ายักษ์ใหญ่ทั้งคู่เลย

เพื่อนบางท่านอาจจะสงสัยว่าสงครามการค้าคืออะไร สงครามการค้าในที่นี้คือการที่ประเทศต่าง ๆ พยายามจะทำลายการค้าของกันและกันโดยใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือ ภาษีคือที่เก็บจากสินค้าส่งออกหรือนำเข้า ซึ่งอเมริกาได้บังคับใช้กำแพงภาษีในหลายอุตสาหกรรมโดยประกาศกำหนดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าจีนสูงถึงร้อยละ 25 นอกจากนี้ยังขู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นอีก ส่วนจีนก็ไม่น้อยหน้าตอบโต้กลับด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าเกษตรของอเมริกาเช่นกัน เรื่องสงครามการค้าประมาณนี้ก็เคยเกิดขึ้นระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จากเหตุการณ์นี้จึงส่งผลให้จีนหันมาปรับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น และพยายามจะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น แต่หลายกระแสก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่รู้ว่าจะดีขึ้นได้จริงหรือเปล่าแต่จะดูเหมือนอาจจะยากหรือเปล่า

เพราะเรื่องความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องมีการทูตที่ดีหน่อย ว่ากันด้วยเรื่องการทูต หรือ 外交 diplomacy การทูต เป็นการแสดงถึงการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ให้มีความสัมพันธ์ทางด้านต่าง ๆ ที่ประเทศหนึ่งๆ มีต่ออีกประเทศหนึ่ง เป็นศิลปะและทักษะการสื่อสาร สนทนา รวมถึงการติดต่อธุระต่างๆ ระหว่างบุคคลที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นตัวแทนการเจรจาขององค์กรหรือประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ก่อนหน้านี้มีองค์กรที่ถือได้ว่าเป็นองค์กรเชื่อมไมตรี ที่เรียกว่า 日本経団連 Nippon Keidanren (Japan Business Federation) หรือ สมาพันธ์องค์การทางเศรษฐกิจ คือองค์การตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกมากมายทั้งบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่น กลุ่มอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และองค์การเศรษฐกิจระดับภูมิภาคด้วย ซึ่งเป็นองค์การที่เน้นในเรื่องนโยบายต่างประเทศ โดยจะปกป้องรักษา และส่งเสริมผลประโยชน์พื้นฐานทางธุรกิจ สมาพันธ์ Keidanren มีประธานบริษัทคนใหม่ออกมากล่าวเกี่ยวกับการรับตำแหน่งใหม่ และมีประเด็นที่โดนใจคนญี่ปุ่นมากนั่นคือ เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์

จากข่าวอันดับที่ 4 ที่เคยเกริ่นไปเมื่ออาทิตย์ก่อนเรื่องทักษะความสามารถทางคอมพิวเตอร์ของลุงป้าญี่ปุ่นยุค Dankai 団塊の世代 นั้น วันนี้มีตัวอย่างของคนที่มีตำแหน่งสูงถึงระดับประธานองค์กร แต่จะว่าไปคนเราแม้ว่าจะมีตำแหน่งสูงแค่ไหน แต่ที่จริงแล้วก็คือคนที่ต้องทำตามบทบาทหน้าที่เหมือนๆ กัน คนที่บอกว่าเก่งนั้นอาจจะมีการงานบางอย่างที่ทำไม่ได้ ไม่ถนัด ไม่ชำนาญ อาจจะไม่เก่ง หรือทำไม่เป็นก็เป็นไปได้ อย่างการสัมภาษณ์ของประธาน Keidanren คนปัจจุบันได้ออกมาสัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อมวลชนว่า “หลังจากที่ตนเองได้ขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ที่ Keidanren นี้ก็ได้เอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาไว้ใช้ในห้องทำงานด้วย และได้มีการรับส่งอีเมล “ คนญี่ปุ่นฟังแล้วแปลกใจผสมกับนึกขำว่าเขาพูดเล่น ?! คนฟังก็ปรบมือชอบใจสนุกสนาน และนำประเด็นนี้ไปคุยกันต่ออย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ เพราะอะไร เพราะคำพูดของท่านประธานทำให้คิดได้ว่าแล้วที่ผ่านมาเขาไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานกันหรืออย่างไร หรืออย่างน้อยๆ สมัยนี้คนทำงานก็ต้องใช้เมลได้บ้างล่ะ

การที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกมาอย่างนี้จึงทำให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Keidanren รีบออกมาประกาศว่า “ที่องค์กรพนักงานใช้อีเมลเป็น ก่อนหน้านี้ก็มีการใช้อีเมลติดต่อ มีการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอยู่” คนก็ฟังแล้วรู้สึกขำกันสนุกสนานเพราะตอนแรกที่ฟังประธานพูด คนก็คิดแค่เล่นๆ ว่าแล้วก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เหรอ ไม่ได้คิดว่าฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรจะเห็นเป็นเรื่องจริงจังจนออกมาตอบโต้ ส่วนประธาน Keidanren คนปัจจุบัน เขาเป็นประธานบริษัทฮิตาชิ จบมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ( Stanford University) ที่สหรัฐอเมริกา เข้ายากเรียนยากกว่าใช้อีเมลอีกรึเปล่า คนนี้อาจจะใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็ได้ แต่อีกกรณีตัวอย่างในวันนี้ใช้ไม่เป็นเลยครับ และมีตำแหน่งสูงถึงขั้นเป็นรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียว และดูแลด้านไซเบอร์ของญี่ปุ่น ฟังไม่ผิดครับท่านดูแลด้านไซเบอร์ของญี่ปุ่น! เขาออกมายอมรับว่าตัวเองไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์เลย มีนักข่าวถามเขาว่า ได้ข่าวมาว่าท่านเป็นผู้ที่รับผิดชอบเรื่องไซเบอร์แต่ว่าใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น!! อันนี้เป็นเรื่องจริงไหมครับ แกตอบคำถามนี้ด้วยคำตอบที่ว่า คุณรู้ไหมว่าผมทำงานที่นี่มาตั้งแต่อายุ 25 ปี ตั้งบริษัทมาตั้งแต่อายุ 25 ปีแล้วนะ คือเป็นคำตอบที่ไม่ตรงคำถามที่สุดเลย!! ..คนญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นไปได้ด้วยนะที่ให้คนที่ไม่เคยใช้งานคอมพิวเตอร์เลยมารับผิดชอบดูแลงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่เป็นไปแล้วที่ญี่ปุ่นครับ!! ทั้งสองเคสนี้เป็นคนที่เกิดในยุค Dankai ทั้งคู่เลยล่ะครับ

อนึ่งมีคนมองในแง่ดี เพราะว่ามีกระทู้แซวเขาว่าแต่มันอาจจะเป็นข้อดีก็ได้นะ เพราะว่าไม่ว่าจะเซียนมาจากไหนจะไม่มีใครสามารถจารกรรมข้อมูลของรัฐมนตรีท่านนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะเขาไม่ได้เก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์เลยนั่นเอง!!(≧∀≦人)

เมื่อพูดเรื่องคอมพิวเตอร์ เลยนึกขึ้นได้ว่าวันก่อนอ่านข้อความหนึ่งในโซเซี่ยลเน็ตเวิร์ค พูดแซวเรื่องคนญี่ปุ่นกับ IT สมัยนี้ใครๆ ก็น่าจะใช้คอมพิวเตอร์เป็นมากกว่าคนสมัยก่อน หรือการใช้แท็ปเล็ตต่างๆ ข้อความที่แชร์มาจากประสบการณ์ของหนุ่มที่ทำงานที่ห้างสรรพสินค้าในแผนกไฟฟ้าและไอที เขาเขียนแชร์ประสบการณ์การขาย กลยุทธ์การเชียร์ลูกค้า โดยสรุปเรื่องที่เกี่ยวกับ IT เขาบอกว่าเขาพบเจอลูกค้าที่หลากหลายและแปลกมาก สรุปประเด็นมาเล่าคราวๆ ได้ว่า

1. ที่ญี่ปุ่นตัวใครตัวมัน; สมมติว่าสมาชิกครอบครัวหนึ่งอยู่กัน 4 คน เป็นไปได้ว่าบ้านนั้นใช้มือถือคนละค่ายคนละระบบเลย เพราะให้ความเห็นว่า บางเลือกตามโปรโมชั่นบ้าง เลือกตามความชอบบ้าง ตามเพื่อนบ้าง เลือกเพราะโดนเซลล์เชียร์บ้าง คือแทนที่จะเดินสายและวางกล่องสัญญาณ WiFi ระบบเดียวกัน ง่ายๆ จ่ายค่าบริการแค่ค่ายใดค่ายหนึ่งกลับต้องจ่ายเพิ่ม จ่ายค่าบริการกล่องสัญญาณทุกเจ้าเลย

2. ใจดีให้ใช้ WiFi ฟรีเพราะขี้เกียจ; พอมีสัญญาณทั้ง 3 ค่ายเลย เพื่อใช้WiFi ของใครของท่าน แต่ด้วยความขี้เกียจกลัวจำรหัสไม่ได้ จึงไม่เซ็ทรหัสผ่านเลย สบายคนข้างบ้าน(・∀・) ทีนี้ก็หมายถึงการปล่อยWiFi ฟรีให้คนข้างๆ บ้านใช้ ถึงขนาดคนข้างบ้านมายกเลิกกล่องสัญญาณของตัวเองเพราะใช้WiFi ฟรีจากบ้านอื่นได้ แล้วแถมกล้าบอกบ้านหลักที่เปิดWiFi ด้วยนะว่า คุณห้ามยกเลิกกล่องสัญญาณนะเพราะจะทำให้บ้านผมใช้WiFi ไม่ได้

3. บ้างบ้านสามีชอบใช้ค่าย S ก็สั่งภรรยาให้ใช้ด้วย ภรรยาอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนไม่ได้ ไม่ใช่เพราะชอบและรู้จักระบบของค่าย S นะ ใช้แบบไม่รู้เรื่องไอทีเลย คนญี่ปุ่นเป็นแบบนี้เยอะจริงๆ

4. แม้ว่าเซลล์จะเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองขายแค่ไหน แต่มีลูกค้าหลายรายปฏิเสธที่จะติดตั้งสัญญาณWiFi ด้วยเหตุผลเดียวกันหลายคนเลยนั่นคือ แถวบ้านมีสัญญาณWiFi ฟรีใช้ จะติดตั้งไปทำไมกัน!!

5. คิดดูแล้วกันนะครับว่ามีคนญี่ปุ่นมากแค่ไหนที่ไม่ได้รู้จักเรื่องไอทีเลย หรือรู้จักแบบผิวเผิน งูๆปลาๆ คือขอให้ได้ใช้ ใช้ไปแบบที่ไม่ต้องมายุ่งยากกับตนเอง ขอแค่ให้ได้ใช้ง่ายๆ อยู่ทุกวัน ก็พอ คือสรุปว่าแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีอินเตอร์เน็ตมามากกว่า 20 ปีแล้วแต่หลายคนก็ไม่ได้รู้จักและระแวดระวังอะไร

6. บางคนยังไม่รู้จักสมาร์ตโฟนเลย คือตัวเองใช้ไอโฟนอยู่แต่คิดว่าเป็นแค่โทรศัพท์รุ่นเก่าที่ใช้ๆ มา พวกลุงป้าพวกนี้บางทีขายของให้ง่ายมาก

7. คนญี่ปุ่นติด WiFi มาก แต่ก็ปล่อยสัญญาณแบบไม่สนใจเพราะขี้เกียจจำรหัสผ่าน คนข้างๆ บ้านก็แอบใช้ฟรี จนเหมือนกับว่ามันคือสิ่งจำเป็นปัจจัยที่ 5 อย่างไรอย่างนั้น ถึงขนาดมีการเขียนแซวล้อเลียนบทการ์ตูนดังซีนหนึ่งขึ้นมา การ์ตูนที่เล่าเกี่ยวกับซามูไรที่มีชื่อเสียงมาก 5 คน กำลังแช่น้ำและคุยกันที่บ่อออนเซน ขณะนั้นมีซามูไรผู้ใหญ่ที่สุด คือ 豊臣秀吉 Toyotomi Hideyoshi (ฮิเดะโยะชิ) หรือคนอื่น ๆ เรียกเขาเล่น ๆ ว่า “ซารุ” เดินมาร่วมวงที่บ่อออนเซนด้วย ซามูไรหนึ่งในบ่อออนเซนไม่รู้จักความยิ่งใหญ่ของ ฮิเดะโยะชิมาก่อน จึงพูดแซวขึ้นว่า ลุงๆ ดูกล้ามใหญ่แข็งแรงดีจัง !! ซามูไรคนอื่น ๆ อึ้งเพราะรู้ว่า ฮิเดะโยะชิคือใคร แล้วก้มหน้าก้มตาหลบกันจ้าละหวั่น

จากนั้นฮิเดะโยะชิชูหนึ่งนิ้ว ไปทางซามูไรที่ชื่อว่าเคย์จิ (Maeda Keiji ) : มาทำงานกับข้ามั้ย

เคย์จิ : ผมชอบอิสระ อยากเป็นอิสระ ..คนเรามีแค่ข้าวสามมื้อกะที่นอนเล็ก ๆ พอตัวก็อยู่ได้แล้ว.. แต่นอกจากนั้น!! รินเหล้าให้หน่อย !!

เปลี่ยนใหม่ให้ทันยุคปัจจุบันของสังคมญี่ปุ่นคือ

เคย์จิ : ผมชอบอิสระ อยากเป็นอิสระ ..คนเรามีแค่ข้าวสามมื้อกะที่นอนเล็ก ๆ ก็อยู่ได้แล้ว.. แต่นอกจากนั้น!! ที่นี่มี Wifi ไหม !?! (´ω`*)

คนญี่ปุ่นนี่พูดไปแล้วอาจจะเก่งหลายเรื่อง มีระบบความคิด มีวินัย แต่เว้นเรื่องไอทีที่ยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่เก่ง ไม่สนใจ ใช้ไปยังงั้นแบบที่มีให้ใช้ และชอบ WiFi มาก แต่ก็ปล่อยมาก นึกๆ ไปก็แปลกดีนะครับ ว่าแต่ที่นี่มี WiFi ไหม!? (o^^o) วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น