xs
xsm
sm
md
lg

ความเหลื่อมล้ำกับความยากจนในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เท่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์เป็นสังคมที่มีชนชั้นกลางมากและดูเหมือนไม่ค่อยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ภาพแบบนั้นยังอธิบายความเป็นจริงในปัจจุบันได้หรือไม่? ในขณะที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยระลอกใหม่ขึ้นในระยะนี้ (ทั้ง ๆ ที่มีปัญหามานานจนแทบไม่น่าแปลกใจ) พลอยทำให้อยากหวนมองญี่ปุ่นอีกครั้งว่าประเทศที่คนในสังคมเชื่ออย่างกว้างขวางว่าตัวเองเป็น “ชนชั้นกลางร้อยล้านคน” ตอนนี้เป็นอย่างไรแล้ว

ก่อนพูดถึงความเหลื่อมล้ำและความยากจน มาเริ่มต้นกันด้วยภาพรวมของความเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางมากที่สุด สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีชนชั้นมากและมีความเป็นอยู่ในระดับที่ไม่ถึงกับสบายมากแต่ก็ไม่เดือดร้อน คือ โอกาสในการถึงทรัพยากรได้พอ ๆ กัน หรือพูดให้ง่ายลงอีกคือ การพัฒนากระจายตัวทั่วถึงและมีระบบรองรับที่คอยพยุงให้การใช้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ดีพอสมควรสำหรับทุกคน

มองภาพคร่าว ๆ ของสังคมญี่ปุ่น จะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคม ระบบประกันสังคม ตลอดจนระดับค่าจ้าง (ต่อชั่วโมงประมาณ 300 บาท) ล้วนแต่เข้าถึงได้ง่ายและเอื้อต่อการดำรงชีวิตมากกว่าของไทย ประชาชนจะไม่ถูกเอาเปรียบโดยระบบหรือโดยคนที่สร้างระบบขึ้นมา สำหรับคนที่สุขภาพดีมีแรงทำงาน การขายแรงงาน 1 ชั่วโมงในญี่ปุ่นยังให้คุณค่าพอที่จะซื้ออาหารกินได้อย่างน้อย 1 มื้อ (มื้อละ 150 บาท) และอาจมีเงินเหลือเล็กน้อยด้วย นั่นหมายความว่าถ้าทำวันละ 5-8 ชั่วโมง ก็น่าจะพอประทังชีวิตได้โดยไม่ต้องกู้ยืม ต่างจากของไทย ซึ่งการทำงานหนึ่งชั่วโมงอาจได้ค่าจ้างแทบไม่พอกินข้าวในเมืองกรุง

คงเพราะโอกาสที่เอื้อต่อการหาเลี้ยงชีพในญี่ปุ่น (หากไม่เลือกงาน) เมื่อประเมินด้วยสายตา โดยดูจาก ราคาสินค้า การแต่งตัว และการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน คำว่า “เหลื่อมล้ำ” ไม่น่าจะผุดขึ้นมาในความคิด แต่ทว่าญี่ปุ่นก็ไม่ได้ปลอดปัญหาความเหลื่อมล้ำไปเสียทีเดียว ถึงแม้ญี่ปุ่นไม่มีขอทาน แต่ก็มีคนจน เพียงแต่ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำคงเป็นมุมเล็ก ๆ และนักท่องเที่ยวซึ่งมาญี่ปุ่นเพียงชั่วคราวก็คงไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัส จึงไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในระดับสามัญสำนึกของคนภายนอก นอกเสียจากว่าเป็นนักวิจัยด้านญี่ปุ่น อีกอย่างคือประเด็นนี้อาจยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่เมื่อเทียบกับในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย นาน ๆ ทีถึงจะมีคนชี้ประเด็นขึ้นมาสักครั้ง

ในทศวรรษ 1970 คนญี่ปุ่นมีแนวคิดที่เรียกว่า “ชั้นกลางรวมร้อยล้านคน” หรือ “อิจิโอกุโซ-จูริว” (一億総中流; Ichi-oku Sō Chūryū) หมายความว่า ประชากรญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนถึง 100 ล้านในทศวรรษ 1970 นั้น ส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางหลังจากที่ญี่ปุ่นผ่านช่วงเศรษฐกิจเติบโตสูงในทศวรรษก่อนหน้า และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา คนส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่าตัวเองมีมาตรฐานความเป็นอยู่ในช่วงกลาง ๆ ส่วนที่ตอบว่าอยู่ “ระดับบน” หรือ “ระดับล่าง” นั้นต่างมีไม่ถึงร้อยละ 10

นั่นคือความรู้สึกที่ประชาชนสัมผัสได้เองในการใช้ชีวิต และทำให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกมีใครล้ำหน้ากว่าใครสักเท่าไรในด้านการดำรงชีวิต ซึ่งหมายถึงพลังทางเศรษฐกิจที่พอ ๆ กันนั่นเอง จริง ๆ แล้วคำว่า “ชั้นกลาง” ไม่ได้มีนิยามชัดเจน แต่การที่ประชาชนระบุว่าตัวเองอยู่ระดับกลาง ๆ หรือมองในมุมกลับคือไม่ได้รู้สึกว่ามีคนเหนือหรือต่ำกว่าตัวเองสักเท่าไรนั้น ถ้ามองอย่างหยาบ ๆ จุดนี้อาจสะท้อนความสุขที่แท้จริงในการใช้ชีวิตได้ดีกว่าตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะหมายถึงการได้ส่วนแบ่งทรัพยากรที่ใกล้เคียงกัน ไม่ได้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบหรือคนรอบข้าง

ในกรณีคนญี่ปุ่น อนุมานได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ประชาชนรู้สึกอย่างนั้นคือ การพัฒนากระจายตัวค่อนข้างทั่วถึง สิ่งที่เป็นของทันสมัยในตอนนั้นจนถึงกับได้ชื่อว่า “สามเทพอุปกรณ์” ก็มีราคาถูกลงจนซื้อหาได้ง่ายทั่วประเทศ ได้แก่ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น และด้วยความแพร่หลายของโทรทัศน์ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลก็ลดลงอีก ส่วนรายได้ก็เพิ่มขึ้น จำนวนผู้จบการศึกษาระดับสูงมีมากขึ้น ชีวิตมีเสถียรภาพกว่าเดิมด้วยระบบจ้างงานตลอดชีพกับการประกันการว่างงาน ไหนจะระบบประกันสุขภาพอีก เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของญี่ปุ่นมานานกว่า 2 ทศวรรษ จนกระทั่งช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่พังครืน อะไร ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป

ตั้งแต่นั้นมาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนญี่ปุ่นเริ่มชัดเจนขึ้น มีคนบางส่วนที่ไม่ว่าจะทำงานสักเท่าไรก็ไม่สามารถหลุดออกจากวงจรความยากจนได้ คำว่า “เวิร์กกิงพัวร์” (ワーキングポア;working poor) หรือ “คนจนชนชั้นแรงงาน” เป็นที่ได้ยินบ่อยขึ้น มีบางช่วงที่เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบาง ประเด็นความยากจนก็เหมือนจะเงียบ ๆ ลง แต่ในความเป็นจริง โครงสร้างใหม่ในสังคมญี่ปุ่นเกิดขึ้นแล้วคือ กลายเป็นสังคมที่แบ่งชนชั้นด้วยพลังทางเศรษฐกิจชัดเจนยิ่งขึ้น “ชั้นกลางรวมร้อยล้านคน” เมื่อในอดีตไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันอีกต่อไป และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนชั้นกลางตกบันไดได้ง่าย จนถึงกับมีคำกล่าวว่า “ร้อยล้านรวมหกล้ม” (一億総転落;Ichi-Oku Sō Tenraku; ダイヤモンドฉบับวันที่ 8 เมษายน 2018)

คนญี่ปุ่นเองก็คงรู้สึกได้ถึงความแตกต่างในมาตรฐานการครองชีพ หนังสือ “สังคมชนชั้น (ใหม่) ของญี่ปุ่น” ของศาสตราจารย์เค็นจิ ฮาชิโมโตะ ซึ่งวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำด้วยข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ถึงได้กลายเป็นหนังสือที่ถูกจับตามองอย่างกว้างขวาง ขายดีมียอดไม่ต่ำกว่า 70,000 เล่ม และเมื่อตัดภาพรวบรัดมาสู่สถานการณ์ปัจจุบันโดยอิงจากหนังสือเล่มนี้โดยสังเขป สิ่งที่อาจารย์แบ่งไว้และระบุนี่คือโครงสร้างใหม่ทางชนชั้นในญี่ปุ่นขณะนี้ จะพบว่ามี 5 ระดับ ได้แก่

1) ชนชั้นนายทุน (เช่น ผู้บริหาร กรรมการผู้จัดการ) 2.54 ล้านคน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อปี ชาย 10.7 ล้านเยน หญิง 10.39 ล้านเยน มูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ย 48.63 ล้านเยน
2) ชนชั้นกลางใหม่ (เช่น ผู้บริหารไม่ประจำ ผู้เชี่ยวชาญ ธุรการระดับสูง) 12.85 ล้านคน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อปี ชาย 8.04 ล้านเยน หญิง 7.88 ล้านเยน มูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ย 23.53 ล้านเยน
3) ชนชั้นพนักงานประจำ (เช่น พนักงานเงินเดือน งานธุรการ งานขาย) 21.92 ล้านคน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อปี ชาย 5.69 ล้านเยน หญิง 6.87 ล้านเยน มูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ย 14.28 ล้านเยน อัตราความยากจน 2.6%
4) ชนชั้นกลางเดิม 8.06 ล้านคน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อปี 5.87 ล้านเยน มูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ย 29.17 ล้านเยน อัตราความยากจน 17.2%
5) ชนชั้นล่าง (underclass) 9.29 ล้านคน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อปี 3.43 ล้านเยน มูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ย 11.19 ล้านเยน อัตราความยากจน 38.7%

โดยทั่วไปเศรษฐีก็มีทุกข์แบบเศรษฐีว่าไอ้ของที่ตัวเองมีอยู่นั้นมันจะลดลงเท่าไร แต่เศรษฐีได้เปรียบตรงที่มีทรัพยากรอยู่ในมือมาก นำไปต่อยอดได้สะดวกกว่า ส่วนคนจนจะทนทุกข์อยู่กับการหาเพิ่ม และเครื่องมือที่จะช่วยเติมเงินเข้ามานั้นก็พร้อมบ้างไม่พร้อมบ้างแล้วแต่คน ในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจเรียกร้องเอาจากรัฐบาลได้บ้าง แต่ในประเทศที่ยังพัฒนาไม่พอก็อาจต้องขอจากศาลพระภูมิหรือต้นไม้ คำว่า “ธรรมาภิบาล” จึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ โดยในเฉพาะในภาครัฐ เพราะจะเป็นกลไลช่วยเกลี่ยให้ทรัพยากรกระจายได้อย่างทั่วถึงในแบบที่เป็นธรรม

จากภาพกว้างของญี่ปุ่นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนมาสู่โครงสร้างใหม่ตามที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอไว้นี้ สิ่งที่กล่าวได้แน่ชัดคือปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเกิดมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าฝีมือและธรรมาภิบาลของรัฐบาลก็มีส่วนด้วย ในขณะที่ “อาเบโนมิกส์” เป็นยี่ห้อประจำยุคของญี่ปุ่นในช่วงหลายปีมานี้ ก็มีกระแสวิจารณ์ที่ว่านโยบายของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นด้วย ส่วนรายละเอียดในประเด็นแยกย่อยซึ่งเป็นที่จับตากันอยู่นั้นจะได้ขยายความกันต่อไปในคราวหน้า

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น