xs
xsm
sm
md
lg

ความเหงาและความโดดเดี่ยวของคนญี่ปุ่นในที่ทำงาน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ความหนาวกับความเหงาคงเป็นของคู่กันสำหรับมนุษย์ ส่วนหนึ่งคงเกิดจากสัญชาตญาณการแสวงหาความอบอุ่นอยู่เสมอ ในประเทศเขตร้อนอย่างเมืองไทย ลองถามคนต่างจังหวัดดูได้ พอเข้าหน้าหนาวเมื่อไร แค่มีอากาศเย็น ๆ บาดผิว ความรู้สึกหวิว ๆ หวนหาอะไรบางอย่าง หรือความคิดถึงใครบางคนมักผุดขึ้นมาง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะในช่วงพลบค่ำ และด้วยบรรยากาศหนาวเย็นที่สะกิดใจให้รู้สึกโหวง ๆ ช่วงนี้ในญี่ปุ่น ก็อดนึกถึงความเหงาและความโดดเดี่ยวของคนญี่ปุ่นขึ้นมาไม่ได้ จึงขอนำมาบอกเล่าให้ทราบว่าคนญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพอย่างไร

เป็นที่ทราบกันว่าความเหงาเกิดได้ทุกฤดู ไม่จำกัดว่าจะหนาวหรือร้อน และแน่นอนว่าถ้าอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยย่อมรู้สึกเหงาได้ง่าย ความเหงากับความโดดเดี่ยวน่าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนไม่ใช่อย่างนั้นและไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป กลายเป็นเรื่องใหญ่และเป็นประเด็นร่วมของหลายประเทศด้วย นิตยสารชื่อดัง “โทโยเคไซ” ของญี่ปุ่นถึงกับลงบทความใหญ่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนเพื่อวิเคราะห์และสำรวจปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ซึ่งจะได้นำข้อมูลบางส่วนมาเล่าดังต่อไปนี้

ก่อนอื่นเมื่อแยกประเด็นเป็น “เหงา” กับ “โดดเดี่ยว” จะพบว่าภาษาญี่ปุ่นใช้ sabishi-i (寂しい) หมายถึง “เหงา” ซึ่งมีนัยเป็นความรู้สึกทางใจ และใช้ kodoku-na (孤独な) หมายถึง “โดดเดี่ยว” แปลไทยอีกทีจะได้ว่า “อยู่ตามลำพังไม่เกี่ยวข้องกับใคร” มีนัยทางกายภาพ สำหรับ “เหงา” นั้น ภาษาไทยมีคำอื่นแทนอีกหลายคำว่า เช่น ว้าเหว่ อ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว หากจะถามหาความแตกต่างของคำเหล่านี้ คงยากที่จะชี้ชัด แต่ตามความรู้สึกส่วนตัว ผมคิดว่า “เหงา” คงเป็นความรู้สึกที่ไม่หนักหนานักและทำให้หายไปได้ในเวลาสั้น ๆ แต่คำอื่นอย่าง “ว้าเหว่” ฟังดูหนัก เกาะกินใจ ไร้ที่พึ่ง และน่าจะยาวนานกว่าความเหงา หากมันอยู่กับเรานาน ๆ ย่อมบั่นทอนสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งานหรือใช้ชีวิต

สำหรับส่วนแรกซึ่งว่าด้วยความเหงาหรือว้าเหว่ มีงานวิจัยชี้ว่าคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมมาก (สื่อนัยว่าไม่เหงา) น่าจะดำรงชีวิตได้ยืนยาวกว่าคนที่มีปฏิสัมพันธ์น้อย และมีผลมากกว่าการไม่ดื่มสุราหนักเกินไป หรือการควบคุมรักษาร่างกายไม่ให้อ้วนเกินไปเสียอีก และด้วยผลเช่นนี้ นี่จึงประเด็นที่ได้รับความสนใจ ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในอังกฤษล้ำหน้าไปแล้ว ถึงกับตั้งรัฐมนตรีด้านความเหงาขึ้นมาดูแลเมื่อต้นปี 2018 (Minister of Loneliness) ทางญี่ปุ่นยังไม่มีตำแหน่งนี้ แต่ต่อไปก็ไม่แน่ เพราะปัญหากำลังชัดขึ้นทุกที โดยเฉพาะเรื่องความเหงาในที่ทำงาน เพราะไม่รู้จะคุยกับใคร

สถิติหลายอย่างทางด้านมนุษยสัมพันธ์กับความว้าเหว่ของคนญี่ปุ่นดูน่าตกใจ เมื่อเทียบในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว คนญี่ปุ่นมีอัตราการไม่สังสรรค์แลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานสูงที่สุดถึงเกือบ 20% เรื่องนี้ยืนยันได้ตามคำบอกเล่าของทั้งคนต่างชาติและคนญี่ปุ่นที่ทำงานในบริษัท กล่าวคือการทำงานในบริษัทของญี่ปุ่นค่อนข้างขาดชีวิตชีวา บางวันพูดกันนับคำได้ การไปกินอาหารกลางวันส่วนใหญ่ก็ต่างคนต่างไป แม้มีการสังสรรค์ เด็กรุ่นหลัง ๆ มักยอมไปในช่วงแรก ๆ ที่เข้าบริษัท พอผ่านไปสักระยะชักจะเริ่มเบื่อพวกคุณลุงทั้งหลาย หาเรื่องบ่ายเบี่ยงไม่ไป การสนทนาแลกเปลี่ยนก็ลดลง

ในจำนวนคนที่ไม่สังสรรค์แลกเปลี่ยนกับคนในที่ทำงานนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะมีครอบครัวเป็นเพื่อนคุยอยู่บ้าง แต่แนวโน้มปัจจุบันของครอบครัวญี่ปุ่นคือ ครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี 2015 ซึ่งมี 34.5% คาดว่าในปี 2040 จะเป็น 39.3% เมื่ออยู่คนเดียวโอกาสที่จะเกิดความว้าเหว่ก็สูงขึ้น และเสี่ยงต่อกรณีไม่คาดฝันอย่างเช่นการล้มป่วยกะทันหัน และนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

ต่อเนื่องมาถึงความโดดเดี่ยว การใช้ชีวิตอยู่คนเดียวซึ่งเป็นความโดดเดี่ยวทางกาย หรือการไม่มีคนที่เราจะระบายให้ฟังหรือขอคำปรึกษาได้ซึ่งเป็นความโดดเดี่ยวทางใจ (หมายถึงความเหงาหรือความว้าเหว่นั่นเอง) ต่างก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิต คนญี่ปุ่นที่ตกอยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างนั้นมีอยู่ไม่น้อย หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยวแม้อยู่ท่ามกลางฝูงชน หนักเข้าก็เลยไปถึงการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวซึ่งปัจจุบันกลายเป็นปัญหา

ในญี่ปุ่นมีกรณีเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวประมาณปีละ 30,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคภัยไข้เจ็บซึ่งมีประมาณ 60% และการฆ่าตัวตายประมาณ 12% ที่เหลือคืออุบัติเหตุหรือไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การพบศพมักพบเพราะกลิ่น ซึ่ง 70% พบภายใน 2 สัปดาห์ เมื่อเกิดการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว คนส่วนใหญ่มักพุ่งความสนใจไปที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่คนเดียว แต่เอาเข้าจริงคนวัยทำงานก็มีไม่น้อย ซึ่งสถิติที่น่าตกใจคือ ในบรรดาผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวนั้น 40% คือคนวัยทำงานอายุตั้งแต่ 20 กว่าปีถึง 59 ปี

มีอยู่กรณีหนึ่ง เจ้าหน้าที่พบศพชายหนุ่มวัยสามสิบกว่าปีในห้องพัก ชายผู้นี้เป็นคนต่างจังหวัด ทำงานในโตเกียวโดยอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ ตอนที่พบศพนั้น บนที่นอนมีของเหลวสีน้ำตาล ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง และแถวนั้นพบดักแด้ยั้วเยี้ย ดูเกลื่อนกลาดยุ่บยั่บราวกับถั่วแดง ซึ่งอีกไม่นานปีกคงงอกออกมาและกลายเป็นแมลงวัน คนห้องข้างเคียงได้กลิ่นประหลาด จึงแจ้งตำรวจ ตอนที่เจ้าหน้าที่ไปถึงก็พบว่าชายผู้นี้เสียชีวิตมาแล้ว 2 สัปดาห์ ข้างเตียงผู้ตายมีลังวางอยู่และมีข้อความในจดหมายเขียนว่า “ทางบ้านส่งผักมาให้นะ ไปอยู่เมืองใหญ่คงไม่ชิน สู้ ๆ นะ!”

ลังใบนี้ส่งมาจากแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดโดยมีจดหมายแนบมา ในครัวมีต้นหอม แคร์รอต และมันฝรั่งวางอยู่ด้วย ชายหนุ่มคนนี้เป็นคนคิวชู จบมัธยมปลายแล้วก็เข้ามหาวิทยาลัยในโตเกียว เรียนจนจบและทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักแรงงาน วันหนึ่งร่างกายเกิดความผิดปกติ เมื่อไปตรวจก็พบว่าเป็นมะเร็ง จึงขอพักงานและใช้ชีวิตต่อสู้กับโรคร้ายอยู่ที่อะพาร์ตเมนต์โดยไม่บอกทางบ้านเพราะเกรงว่าจะเป็นห่วง ทางคุณแม่ ด้วยความรักลูก ก็ส่งผักและแนบจดหมายมาให้ลูกทุกเดือนโดยไม่ทราบความเป็นไป จนกระทั่งลูกเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ ปัญหาที่เกิดตามมาคือค่าทำความสะอาด และกว่าจะพบศพ ยิ่งเวลาล่วงเลยไปนานเท่าไร ย่อมเกิดความเสียหายแก่สถานที่แห่งนั้น ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่บางแห่ง ทั้งของเหลวจากศพทั้งไข่แมลงวันเกาะติดพื้นหรือที่นอนจนขัดไม่ออก อีกทั้งมีบางกรณีส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน อย่างกรณีที่ของเหลวจากศพไหลสู่ด้านล่าง คนชั้นข้างล่างต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหลายสัปดาห์ หรือกรณีกลิ่นติดเครื่องเรือนห้องข้างเคียงจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นก็มี

ค่าจัดการศพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนเยนหรือราว 60,000 บาท แต่อาจสูงถึง 6 แสนบาท นอกจากนั้นยังมีค่าฟื้นฟูสถานที่กลับสู่สภาพเดิมด้วย เฉลี่ยแล้วราว 4 แสนเยน หรือ 120,000 บาท และอาจสูงถึงล้านกว่าบาท และเมื่อมีคนเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวที่ห้องไหน จะต้องแจ้งข้อมูลว่าป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ หากไม่ใช่จุดที่เป็นทำเลยอดเยี่ยม ก็แน่นอนว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ย่อมตก

ในชีวิตคน บางครั้งเราเลือกสิ่งแวดล้อมไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน สำหรับคนญี่ปุ่น เรามักได้ยินว่ามีความเครียดสูงและมีคนจำนวนมากลาออกจากงานเพราะความสัมพันธ์ในที่ทำงานไม่ราบรื่น ซึ่งแปลอีกทีได้ว่า มันคือความโดดเดี่ยวทางใจ ขาดคนสนับสนุนทางใจ หรือความเหงานั่นเอง นั่นคือจุดอ่อนของคนญี่ปุ่น ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยหรือระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมาง่าย ๆ

จุดนี้คนไทยมีคุณสมบัติที่ดีกว่า เพราะเรามักพูด (มากกว่าคิด) สิ่งที่เก็บกดก็น้อยลง มีคนรับฟังเราบ้าง ด่าเราบ้าง แต่นั่นคือ “เพื่อนผู้รับฟัง” หรือ “ศัตรูที่ทำให้เราเหงาน้อยลง” และอีกอย่างคือถึงแม้เราเลือกสถานที่ไม่ได้และเราอาจตกอยู่ในความโดดเดี่ยวโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เราก็เลือกที่จะไม่เหงาได้ เพราะถ้าเราคุยกับคนในที่ทำงานไม่ได้ เราก็คุยไลน์ คุยเฟซบุ๊กกับเพื่อนที่อยู่คนละบริษัทระหว่างงานได้ ซึ่งก็คงพอจะช่วยลดความเครียดหรือความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวได้บ้าง (?)

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น