xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “หมอไซเซ็น” แห่ง “หอคอยใหญ่สีขาว” หมอที่ดังที่สุดในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


หมอที่ดังที่สุดในญี่ปุ่น

หมอในญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ทางสังคมเหมือนของไทย เป็นที่เชื่อถือ ได้รับความเคารพยำเกรงสูง หัวดี และรวย! ในแง่การงานนั้นเรียกได้ว่าแบกความคาดหวังของสังคมไว้มากทีเดียว พอเกิดข่าวเกี่ยวกับหมอขึ้นมาทีไร ไม่ว่าจะมีมูลหรือไม่ สังคมจึงให้ความสนใจเป็นวงกว้างและส่งผลไปถึงศรัทธาของคนหมู่มาก ด้วยความที่หมอต้องช่วยคนโดยอาชีพ จึงหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์การเป็นนักบุญไม่พ้น จนบางทีเราแทบลืมไปว่าจริง ๆ แล้วหมอคือมนุษย์คนหนึ่ง ต้องกิน ต้องนอน มีสุขทุกข์ มีทั้งคนดีและไม่ดีคละกัน

ในโอกาสนี้อยากแนะนำหมอคนหนึ่งของญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักแก่คนไทย หมอคนนี้เก่ง ดัง และหล่อ แต่เป็นคนที่...เอิ่ม ความดีกับความชั่วถูก ‘คน’ ให้ปนกันอยู่ในร่างเดียว และถึงแม้ไม่ได้มีตัวตนจริง ๆ แต่ก็เป็นที่รู้จักกว้างขวางทั่วญี่ปุ่น กว้างขวางประมาณว่า คนไทยรู้จักคนญี่ปุ่นที่ชื่อโกโบริมากที่สุดฉันใด ในบรรดาหมอทั้งหมด คนญี่ปุ่นก็รู้จัก หมอไซเซ็น มากที่สุดฉันนั้น

เมื่ออยู่ญี่ปุ่นนานพอ สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือ คนญี่ปุ่นชอบสร้างละครหรือเขียนนิยายเกี่ยวกับหมอและโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งคงเพราะการวางโครงเรื่องในบทประพันธ์ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะนำ “หน้าที่” เข้ามาเป็นแกนดำเนินเรื่องอยู่แล้ว เป็นอาชีพใกล้ตัวบ้างไกลตัวบ้าง แต่ก็มีความชัดเจนว่าตัวละครทำงานอะไรสักอย่างเพื่อหาเลี้ยงชีพ อาชีพ ‘คุณชาย’ หรือ ‘คุณหนู’ หรือ ‘ลูกกำพร้ารอรับมรดกเจ้าคุณปู่’ จะไม่ค่อยปรากฏ อาชีพพนักงานบริษัทถูกเลือกใช้มากที่สุด แต่อีกอาชีพหนึ่งที่โดดเด่นเป็นที่จดจำได้นานกว่าคือแพทย์ ซึ่งก็โยงไปถึงเหตุผลข้อต่อมาคือ อาชีพแพทย์มีอะไรให้ ‘เล่น’ ได้มากในเชิงการแสดง อีกทั้งมีความน่าสนใจตามสายงาน และเช่นกัน “คู่กรรม” เป็นนวนิยายสงครามของไทยที่ถูกรีเมกมากที่สุดฉันใด “หอคอยใหญ่สีขาว” (白い巨塔; Shiroi kyotō) ก็เป็นนวนิยายหมอของญี่ปุ่นที่ถูกรีเมกมากที่สุดฉันนั้น

ในอีกด้านหนึ่ง หากสังเกตวงการวรรณกรรมแปลของไทยช่วงสี่ห้าปีมานี้ ผลงานแปลไม่ได้มาจากต้นฉบับอังกฤษเท่านั้น แต่มีความหลากหลายกว่าเดิมมาก แม้ภาษาอังกฤษยังคงครองตลาดอยู่ แต่ต้นฉบับภาษาตะวันตกอื่น ๆ เริ่มมีมากขึ้น เช่น เยอรมัน อิตาลี ส่วนภาษาตะวันออกนั้นเห็นได้ชัดว่ามีภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาจีน แต่เมื่อกล่าวเฉพาะญี่ปุ่น จะพบว่าต้นฉบับที่ถูกเลือกมาแปลนั้นคืองานสารคดีประเภทสอนการใช้ชีวิต บอกเทคนิคน่าสนใจ ส่วนที่ชวนให้คิดตามก็มี ส่วนที่ทำให้คิดจะเลิกซื้อก็ไม่น้อย อีกประเภทหนึ่งคือนวนิยาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าไลต์โนเวลและแนวสืบสวนอย่างของฮิงาชิโนะ เคโงะค่อนข้างครองตลาดในไทย แต่ญี่ปุ่นมีบทประพันธ์ชั้นดีนอกเหนือจากแนวเหล่านี้อีกมาก และหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เข้าขั้นครองใจคนญี่ปุ่นทุกสมัยจนได้ชื่อว่าเป็น “นักเขียนของประชาชน” คือ “โทโยโกะ ยามาซากิ” ซึ่งเทียบกับของไทยแล้วประมาณทมยันตี หรือกฤษณา อโศกสิน

โทโยโกะ ยามาซากิ (山崎豊子;Yamazaki, Toyoko; 1924-2013) ผู้ล่วงลับ คือเจ้าของผลงาน “หอคอยใหญ่สีขาว” (1965) ซึ่งมีตัวเอกเป็นหมอชื่อนายแพทย์โกโร ไซเซ็น คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักเธอ แต่นักเขียนหญิงผู้นี้มีผลงานที่สำนักพิมพ์ในไทยน่าจะตัดสินใจนำมาแปลให้คนไทยได้อ่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็อย่างว่า...เป็นที่ทราบกันดีในวงการหนังสือว่าหนังสือดีไม่ได้หมายความว่าจะขายได้เสมอไป หวังว่าเมื่อแนะนำหมอไซเซ็นให้เป็นที่รู้จักแล้ว วงการหนังสือไทยอาจจะสนใจโทโยโกะ ยามาซากิมากขึ้นนอกเหนือจากมูรากามิ ฮารูกิ, ฮิงาชิโนะ เคโงะ, หรือเอโดงาวะ รัมโปะที่ดังในเมืองไทยอยู่แล้ว

ผลงานของโทโยโกะ ยามาซากิได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่นมายาวนาน และนวนิยายขนาดยาวดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์แทบทุกเรื่อง (ยกเว้นเรื่องที่มีคดีความเกี่ยวกับการลอกเลียนผลงาน และเรื่องที่เขียนค้างไว้ก่อนเสียชีวิต) โดยเฉพาะเรื่อง “หอคอยใหญ่สีขาว” สร้างเป็นภาพยนตร์ 1 ครั้ง (1966) ทันทีหลังจากลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายสัปดาห์ซันเดย์ไมนิจิจบลง, สร้างเป็นละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่น 4 ครั้ง (1967, 1978, 1990, 2003) และเกาหลีใต้นำบทประพันธ์ไปสร้างเป็นละครภาษาเกาหลี 1 ครั้ง (2007)

หมอไซเซ็นผู้ทะเยอทะยาน

หมอโกโร ไซเซ็นเป็นหมอผ่าตัดฝีมือเยี่ยม เชี่ยวชาญด้านมะเร็งหลอดอาหาร ทำงานประจำอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในโอซากะ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหวังอย่างยิ่งว่าตัวเองจะได้ครองตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำภาคคนต่อไปหลังจากอาจารย์ของตนเกษียณ

[ตามระบบในญี่ปุ่น แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมักเป็นอาจารย์หมอด้วย ซึ่งถือว่ามีเกียรติมาก และโดยลำดับชั้นบังคับบัญชา ประกอบกับงบประมาณและผลงาน ส่วนใหญ่แล้วแต่ละภาคมักมีแพทย์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์คนเดียวซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุด หากคนในตำแหน่งนี้ไม่เกษียณหรือย้ายไปที่อื่นก่อน คนถัดมาจะขึ้นเป็นศาสตราจารย์ได้ยาก การได้ตำแหน่งศาสตราจารย์หมายถึงเกียรติสูงสุดในวงการแพทย์และอำนาจในการบริหารจัดการ]

ด้วยชื่อเสียงกระฉ่อน ผู้คนจึงหลั่งไหลมาที่โรงพยาบาลนี้ หวังจะให้หมอไซเซ็นผ่าตัดให้ การผ่าตัดกรณียาก ๆ มักลุล่วงด้วยฝีมือหมอผู้นี้ หมอจึงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน สร้างความลำพองใจให้แก่เจ้าตัวซึ่งนับวันยิ่งทำตัวยกตนข่มท่านต่ออาจารย์ของตน ส่วนอาจารย์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านมะเร็งปอดก็ใกล้จะเกษียณ และโดยระบบการเลื่อนตำแหน่ง หมายความว่าหมอไซเซ็นซึ่งเป็นคนในซึ่งมีฝีมือเยี่ยมควรได้ขึ้นเป็นศาสตราจารย์ ทั้งนี้ในกระบวนการอนุมัตินั้นกรรมการต้องลงคะแนน และมิได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะเชิญคนนอกมาดำรงตำแหน่งไม่ได้

อาจารย์ไม่ชอบนิสัยเย่อหยิ่งจองหองของไซเซ็น และขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าไซเซ็นเก่งกว่าตน จนในที่สุดก็เกิดความอิจฉาริษยาลูกศิษย์ขึ้นมา ด้วยความกินแหนงแคลงใจ อาจารย์จึงวางแผนเชิญผู้เชี่ยวชาญจากที่อื่นมาดำรงตำแหน่งต่อจากตน ซ้ำยังมีคู่แข่งอีกคนซึ่งหมอภายในพยายามผลักดันเข้าสู่การคัดเลือก กรรมการจึงต้องเลือกระหว่าง 3 คนนี้ ไซเซ็นยอมไม่ได้ คับแค้นใจที่อาจารย์คิดจะสกัดดาวรุ่งทั้ง ๆ ที่อาจารย์ก็ฝีมือด้อยกว่าตน เมื่อเป็นเช่นนี้หมอไซเซ็นจึงวางแผนให้คนไปติดสินบนผู้มีอำนาจ พอถึงวันลงคะแนน หมอไซเซ็นได้ 12 คะแนน อีกคนได้ 11 คะแนน และอีกคนได้ 7 คะแนน สองอันดับแรกต่างก็ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด จึงต้องมีการลงคะแนนชี้ขาดระหว่าง 2 คนนี้ นั่นหมายถึงการพยายามแย่ง 7 คะแนนที่เหลือมาเป็นของตน

สำหรับศาสตราจารย์ที่กำลังจะเกษียณ ในการชี้ขาดครั้งนี้ คนหนึ่งคือลูกศิษย์ ส่วนอีกคนคือคนนอกที่ตัวเองหามาขัดขวางลูกศิษย์ผู้จองหอง ความชิงชังทวีขึ้นจนอาจารย์พูดกับไซเซ็นว่า “คะแนนชี้ขาดยังไม่ออก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับผมขาดกันนับแต่บัดนี้” ไซเซ็นไม่ยี่หระ หาอุบายดึงคะแนนมาเป็นของตนให้มากที่สุดและชนะไปจนได้ กลายเป็นศาสตราจารย์สมใจ พร้อมกับสวมท่าทีเยาะเย้ยใส่อาจารย์ของตน ฝ่ายอาจารย์ก็เกษียณไปใช้ชีวิตอยู่เงียบ ๆ ตามทางของตน

เมื่อไซเซ็นเป็นศาสตราจารย์แล้วก็มีชื่อเสียงยิ่งขึ้น ได้รับเชิญไปต่างประเทศ มีหน้ามีตา แต่ทว่าเมื่อมีคนไข้ทั่วไปที่ไม่ใช่คนใหญ่คนโตมาให้ตรวจ ก็ละเลยหน้าที่จนคนไข้เสียชีวิตและถูกฟ้องร้อง แต่ก็ยังใช้เล่ห์กลและความเชี่ยวชาญในฐานะแพทย์เข้าสู้คดีจนชนะไปได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ยืนความว่าแพทย์วินิจฉัยมั่วและไม่ดูแลคนไข้ คราวนี้ศาลตัดสินให้หมอไซเซ็นแพ้ ไซเซ็นเตรียมยื่นฎีกา แต่ปรากฏว่าล้มป่วยกะทันหัน

แพทย์ในแผนกวินิจฉัยแล้วบอกว่าลำไส้อักเสบ แต่ไซเซ็นไม่เชื่อ จึงแอบไปให้นายแพทย์ซาโตมิเพื่อนของตัวเองตรวจซ้ำ เพื่อนคนนี้เป็นหมอที่ดี เสียสละเพื่อคนไข้ตลอดเวลา และปลอบใจไซเซ็นอย่างจริงใจ โดยบอกความจริงให้รู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ ไซเซ็นปรารภกับเพื่อนว่า “อยากให้อาจารย์กลับมาผ่าตัดให้” เพื่อนจึงไปโน้มน้าวจนอาจารย์ละทิ้งความแค้นในอดีตและยอมมา แต่เมื่อลงมือผ่าตัดก็ชะงักกลางคัน เพราะพบว่ามะเร็งลามไปถึงปอดแล้ว ไม่อาจช่วยอะไรได้ และแล้วหมอมะเร็งผู้ห่วงเกียรติยศชื่อเสียงจนทำให้คนไข้ตายก็ตายเพราะมะเร็ง ไม่อาจก้าวไปสู่หอคอยใหญ่สีขาวอันโอ่อ่าตามที่ตัวเองวาดฝันไว้ว่าจะสร้างขึ้นมา

หมอที่ดีอย่างนายแพทย์ซาโตมิยังมีอีกมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนอย่างหมอไซเซ็นผู้ให้ความสำคัญแก่ลาภยศสรรเสริญมากกว่าคนไข้ก็มีเช่นกัน ช่วงท้ายของบทประพันธ์ชี้ว่ากิเลสของหมอไซเซ็นดับไปพร้อมกับร่าง พร้อมกับย้ำให้เห็นว่าผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหมอก็คือคนคนหนึ่ง ซึ่งยังเวียนว่ายอยู่ในผลประโยชน์ส่วนตัวและความทะเยอทะยาน

ประเด็นเกี่ยวกับหมอและความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมในเรื่องนี้ยังเป็นที่สนใจของคนญี่ปุ่น ล่าสุดทีวีอาซาฮิกำลังนำบทประพันธ์มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีก โดยมีกำหนดฉายในปี 2019 นั่นหมายความว่าบทประพันธ์นี้ดี สร้างกี่ทีก็ดังและยังมีคนพร้อมจะรอดูอยู่เสมอ (ครั้งนี้แนะนำแพทย์ในบทประพันธ์ แต่ในคราวต่อ ๆ ไปคงมีโอกาสได้แนะนำให้รู้จักวงการแพทย์จริง ๆ ของญี่ปุ่น)

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น