xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นคิดยังไงกับนโยบายเปิดประตูรับแรงงานต่างชาติ?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สืบเนื่องจากประเด็นรับแรงงานต่างชาติระดับปฏิบัติการเข้าสู่ญี่ปุ่นดังที่ได้นำเสนอไป ปรากฏว่ามีผู้สนใจมากและมีบางคนถามผมว่า “คนไทยควรไปไหม” ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวจากทางญี่ปุ่นออกมาอีกว่าปีแรกของการเปิดรับ คงจะรับราว 40,000 คน และจนถึงปี 2568 น่าจะไปถึงเป้า 500,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงพอตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่อนข้างแน่ชัดว่าญี่ปุ่นจะรับแน่ แต่ “ญี่ปุ่นมุมลึก” ครั้งที่แล้วอยู่ในข่ายนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ครั้งนี้จึงอยากชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นทัศนะเตือนจากภายในเพราะความหวั่นเกรงปัญหา บางแง่มุมอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติในอนาคตด้วย จึงควรรับฟังไว้เช่นกัน (ทัศนะที่ประมวลต่อไปนี้ บางส่วนมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและแรงงานของญี่ปุ่น ลงในนิตยสาร SAPIO ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561)

ความวิตกกังวลตามที่มีการชี้ประเด็นคือ นโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำมาใช้ แม้โดยเป้าหมายแล้วเป็นการรับแรงงาน แต่ในทางปฏิบัติ นี่คือ “การรับผู้อพยพย้ายถิ่น” เพราะในการออกร่างแก้ไขกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเปิดทางแก่แรงงานต่างชาติคราวนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งมีแนวโน้มว่าจะอนุญาตให้แรงงานอยู่ในญี่ปุ่นได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาและพาครอบครัวมาอยู่ด้วยได้ นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะอยู่ญี่ปุ่นถาวรมีมากขึ้น หากเป็นเช่นนั้นย่อมเท่ากับว่ายอมรับคนย้ายถิ่นฐานแม้ว่าญี่ปุ่นเคยยึดจุดยืนปิดกั้นเรื่อยมา และจากนี้ไปอาจเกิดผลเช่นเดียวกับหลายประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งรับคนอพยพย้ายถิ่นเข้าไปมาก

เสียงกังวลในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นโดยยกกรณียุโรปขึ้นมาอ้างนั้นเป็นที่เข้าใจได้เพราะมีปัญหาจริง ใน EU มีรายงานกรณีเจ้านายว่าจ้างแรงงานอพยพอย่างทารุณ ขณะเดียวกันคนของประเทศนั้นก็โอดครวญกันว่าถูกแรงงานอพยพแย่งงาน อีกทั้งสวัสดิการหลายอย่างก็กลายเป็นของผู้อพยพ ถึงกับมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นพวกกาฝาก ประเด็นแรงงานอพยพในยุโรปจึงมีการถกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และรัฐบาลกำลังถูกตำหนิ

จากสายตาตัวเองที่ได้เห็นในยุโรปในช่วง 2-3 ปีหลังจากที่ไป (เช่น เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส) ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2543 นั้น รู้สึกว่าเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะด้านการผสมปนเปของผู้คน มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาก เช่น คนผิวสี คนเชื้อสายตะวันออกลาง จนบอกได้ยากว่าคนท้องถิ่นแท้ ๆ ของชาตินั้นหน้าตาเป็นอย่างไร การมีความหลากหลายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่หลายต่อหลายครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความหลากหลายนำมาซึ่งความขัดแย้ง ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนด้วยแล้ว แม้แต่คนเชื้อสายเดียวกันแต่ต่างศาสนาก็ยังขัดแย้ง รุ่นพี่คนไทยของผมที่อยู่ในเบลเยียมเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเบลเยียมน่าอยู่กว่านี้ เมื่อมีคนต่างชาติอพยพย้ายถิ่นเข้ามามาก การดูแลความเรียบร้อยทำได้ยากขึ้น บรรยากาศไม่น่าไว้ใจเหมือนเมื่อก่อนโดยเฉพาะในเมืองหลวงบรัลเซลส์ จึงย้ายออกไปอยู่ในเมืองวอเตอร์ลูแทน

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ในสายตานักเศรษฐศาสตร์ ความวิตกอีกด้านหนึ่งคือ เมื่อรับแรงงานต่างชาติเข้ามามาก จะทำให้ มาตรฐานค่าจ้างโดยรวมถูกลง ขณะนี้ค่าจ้างต่อชั่วโมงของธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งซึ่งหาคนมาทำงานได้ยากนั้นสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำและอยู่ที่ประมาณ 1,000 เยนเศษ (ราว 300 บาท) แต่เมื่อแรงงานต่างชาติเข้ามา ค่าจ้างมีแนวโน้มลดลงประมาณ 20%-30% การจ้างงานแบบแบ่งระดับค่าจ้างโดยจ่ายคนญี่ปุ่นแพงกว่าคนต่างชาติย่อมไม่ใช่ทางออกเพราะอาจถูกต่อต้านด้วยเหตุผลด้านความยุติธรรม เมื่อระดับค่าจ้างลดลงก็เป็นได้ว่าจะส่งผลต่อรายได้ของคนญี่ปุ่น ความคับข้องใจย่อมเกิดขึ้น หรือในอีกด้านหนึ่งรายได้ของคนสูงอายุที่หวนกลับมาทำงานเพราะเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรายเดือนไม่พอกินพอใช้จะลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ ในอีกสัก 10 ปีข้างหน้าเมื่อแรงงานต่างชาติกลายเป็นผู้ย้ายถิ่นและได้สถานภาพพำนักถาวร จะเกิด ภาระทางสวัสดิการสังคม ฮิโรโกะ โองิวาระนักวิเคราะห์เศรษฐกิจชี้ถึงเรื่องระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นซึ่งมีใช้ทั่วประเทศ แรงงานต่างชาติจะเข้าสู่ระบบนี้ด้วย ตามปกติเมื่อรับบริการทางการแพทย์จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 30% ของค่าใช้จ่ายจริง ส่วนที่เหลือนั้นรัฐเป็นผู้จ่ายสมทบให้ หากค่าใช้จ่ายสูงเกินระบบพื้นฐานนี้ ก็มี “ระบบการรักษาพยาบาลมูลค่าสูง” (高額療養費制度; Kōgaku ryōyōhi seido) รองรับอยู่โดยจะได้รับเงินค่ารักษาที่จ่ายเกินไปนั้นกลับคืนมา ด้วยเหตุนี้แม้แต่ในขณะนี้ก็มีชาวต่างชาติแอบอ้างสถานภาพการจ้างงานเพื่อเข้ามารับการรักษาขั้นสูงราคาแพงอยู่บ้างแล้ว

ทากูโร โมรินางะนักวิเคราะห์เศรษฐกิจยกตัวอย่างอุปสงค์กับอุปทานแรงงานใน EU ว่า เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวและอุปสงค์ต่อแรงงานเบาบางลง แรงงานที่ถูกปลดก่อนคือแรงงานต่างชาติ พอตกงาน รัฐบาลต้องจ่ายเงินสวัสดิการให้ สร้างที่พักให้อยู่ด้วยเงินของรัฐ และในกรณีของญี่ปุ่นก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ผู้อพยพย้ายถิ่นคือทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ต้องการแรงงานราคาถูก แต่ภาระการแบกรับภาระสวัสดิการสังคมนั้นไม่ได้ตกอยู่ที่บริษัทเท่านั้น แต่ตกอยู่กับสังคมโดยรวม ตัวอย่างจากเยอรมนีชี้ว่าตอนที่เศรษฐกิจดี ๆ ก็รับคนตุรกีเข้าไปมาก ปรากฏว่ามีเด็กตุรกีเกิดมามากมายและพูดภาษาตัวเองไม่ได้ พอเศรษฐกิจชะลอตัวและอยากให้คนเหล่านี้กลับประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลถึงขนาดเปิดสอนภาษาตุรกีและให้ทุนสนับสนุนหากกลับไปสร้างบ้านที่ตุรกี แต่คนที่ยอมกลับก็มีไม่มาก

ฝ่ายที่มีความเห็นเชิงทักท้วงดังข้างต้นพยายามบอกว่าปัญหาแรงงานของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพการทำงานของคนญี่ปุ่นเอง ผลิตภาพการทำงานของคนในยุโรปสูงกว่าคนญี่ปุ่น 1.3 เท่า ในหลายประเทศชั่วโมงการทำงานสั้นกว่าของคนญี่ปุ่น พนักงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น และประสิทธิภาพก็ดีกว่า ญี่ปุ่นอาจเป็นแหล่งทำงานที่มีเสน่ห์สำหรับแรงงานไร้ฝีมือ แต่สภาพการทำงานที่ต้องทุ่มเทให้แก่งานจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเองอย่างแท้จริงทำให้แรงงานทักษะสูงไม่อยากอยู่ญี่ปุ่นนาน ๆ ดังนั้นหากจะปรับก็ควรปรับระบบการทำงานและตรึงแรงงานฝีมือไว้ดีกว่ารับแรงงานระดับล่างเข้ามา อีกทั้งผลการวิจัยบ่งชี้ว่าอีกไม่นานงานประเภทใช้แรงจะมีหุ่นยนต์กับ AI เข้ามาช่วยถึงประมาณครึ่งหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องรับแรงงานต่างชาติ

แง่คิดเหล่านี้คือมุมมองจากภายในและเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายทักท้วงออกมาแสดงความคิดเห็นโดยอิงสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรป ถามว่าถ้าเกิดสภาพดังที่กังวลนี้ขึ้นจริงจะเป็นอย่างไร? หากเลวร้ายไปถึงจุดนั้นละก็ แน่นอนว่าแรงงานต่างชาติอาจประสบกับการเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกันแบ่งแยก อาจถึงขั้นรังเกียจ และเมื่อนั้นย่อมตกที่นั่งลำบาก ถูกมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตร และไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เลยเถิดไปถึงความรุนแรง

ความเป็นไปได้ข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ และเมื่อย้อนมาที่ทัศนะของผมต่อคำถามที่ว่า “คนไทยควรไปไหม” แม้มีกระแสต่อต้านจากภายในอยู่บ้าง แต่ผมจะขอตอบว่า “หากมีโอกาสและพร้อมทั้งกายทั้งใจก็น่าไปเพื่อรายได้ที่ดีกว่า” ด้วยสภาพบีบคั้นที่คนไทยประสบโดยเฉพาะค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก การมีทางเลือกสู่รายได้ที่สูงขึ้นย่อมดีกว่า เพียงแต่ต้องระลึกไว้เสมอว่าไม่มีที่ไหนต้อนรับเราได้อบอุ่นและตลอดไปเหมือนบ้านเรา วันนี้ญี่ปุ่นอาจอ้าแขนรับ แต่สักวันใครจะรู้? เราอาจถูกเชิญ (หรือไล่) กลับบ้านโดยที่เราหลงคิดไปเองว่าเขาจริงใจ

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น