xs
xsm
sm
md
lg

อาหารญี่ปุ่นประจำฤดูใบไม้ร่วง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน แม้ความเย็น อากาศครึ้ม และฝนที่มักมาคู่กับฤดูใบไม้ร่วงจะชวนให้รู้สึกเสียดายว่าฤดูร้อนอันแสนสนุกกำลังจะจบสิ้นลง แต่ฤดูใบไม้ร่วงก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของญี่ปุ่นเพราะเป็นฤดูกาลที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ที่สุดของปี และยังมีของอร่อยหลายอย่าง สภาพอากาศก็ช่างเป็นใจให้คนอยากอาหาร จึงเป็นช่วงที่คนเริ่มจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไปจนตลอดฤดูหนาวเลยทีเดียว

“รสชาติแห่งฤดูใบไม้ร่วง” เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นหลายคนเฝ้ารอ บรรดาพืชผลที่ออกในฤดูกาลนี้ได้แก่ แอปเปิล องุ่น ลูกฟิก ส้ม ฟักทอง เห็ดหลากชนิด สาลี่ ลูกพลับ มันหวาน และเกาลัด เป็นต้น แค่สีส้ม สีแดง และสีน้ำตาลของพืชผลเหล่านี้ก็สมกับเป็นฤดูใบไม้ร่วงแล้วนะคะ นอกจากนี้ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนญี่ปุ่นก็ออกรวงให้เก็บเกี่ยวในฤดูนี้เช่นกัน

ในช่วงนี้จะมีทัวร์เก็บพวกพืชผลต่าง ๆ ดังที่ว่ามาข้างต้น บางอย่างก็เก็บแล้วต้องรับประทานเลย บางอย่างเก็บแล้วเอากลับบ้านได้โดยจ่ายเงินตามปริมาณที่เก็บมา แล้วแต่ระเบียบของสวนนั้น ถ้าเป็นของที่ต้องทำให้สุกก่อนแล้วค่อยรับประทานนั้น บางแห่งก็อาจจะมีสถานที่ให้ปิ้งได้ด้วย ส่วนอุปกรณ์ต้องนำมาเองหรือทางสวนมีจัดให้ก็ต้องสอบถามกันก่อนไป

ถ้าเป็นเห็ดมัตสึตาเกะอันแสนแพงก็ต้องไปเก็บบนเขา ถ้าโชคดีก็เจอ แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจไม่เจอเลย ดังนั้นทางสถานที่ก็อาจจะมีจัดคอร์สอาหารที่มีเห็ดมัตสึตาเกะให้ด้วยรวมอยู่แล้วในราคา ซึ่งต้องจองไว้ล่วงหน้า สนนราคาต่อคนตกประมาณหมื่นเยน อาจจะมากน้อยกว่านี้แล้วแต่รายละเอียดแต่ละแห่ง

ส่วนอาหารยอดฮิตประจำฤดูใบไม้ร่วงในญี่ปุ่นได้แก่อาหารดังต่อไปนี้ค่ะ

ปลาซัมมะ
คาดว่าฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูกาลที่ปลาชนิดนี้ชุกชุม ชื่อปลาจึงเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 秋刀魚 แปลตรงตัวว่า “ปลาดาบฤดูใบไม้ร่วง” น่าจะมาจากรูปร่างของปลาที่ยาวเหมือนดาบและมีมากในฤดูใบไม้ร่วงนี่เอง

ฤดูร้อนของทุกปีจะมีเทศกาลปลาซัมมะย่างของย่านเมงุโระในกรุงโตเกียว ให้คนไปยืนต่อแถวรับปลาซัมมะย่างฟรี มีวันเดียว หมดแล้วหมดเลย ฉันอยากจะลองบ้างเหมือนกัน แต่ขี้เกียจไปต่อแถวรอกับคนร่วมหมื่น แถมจำนวนปลาก็มีไม่ถึงขนาดนั้น ทางการเขาประกาศไว้ว่าต้องรอคิวประมาณ 3-5 ชั่วโมง และเนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าวจึงขอให้เตรียมร่ม เตรียมน้ำดื่มมากันเองด้วย ได้ยินแล้วหายอยากเลยทีเดียว เลยตัดใจไปซื้อเอาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดีกว่า 

ปลาซัมมะเป็นปลาที่นิยมรับประทานด้วยการย่างเกลือ ถ้าอยากรับประทานที่อร่อยหน่อยก็ต้องเป็นตัวที่มีมันเยอะ ซึ่งเขาว่าต้องเป็นปลาซัมมะช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคมซึ่งจับได้จากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ตัวจะใหญ่และมีมันมาก ถ้าสดมากบางแห่งเขาก็รับประทานเป็นซาชิมิ แต่ฉันไม่กล้าลองเพราะปลาสีเงิน ๆ อย่างนี้มักมีกลิ่นคาวฉุนกึก บางคนที่ชอบก็คงรับประทานได้อร่อย ฉันชอบปลาซัมมะมากแต่ก็รับประทานอยู่วิธีเดียวคือเอาไปย่างเกลือหรือบางทีก็ย่างโชยุถ้าอยากให้ออกมาสีเข้ม ๆ

ส่วนปลาซัมมะที่จับได้จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่นลงมาทางใต้ช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงที่พ้นฤดู(อร่อย)ไปแล้ว ปลาจะตัวผอมลงและไม่ค่อยมีมัน แบบนี้เขามักเอาไปทำปลาตากแห้งแทน

ซัตสึไมโมะ (มันหวานเปลือกสีม่วงเนื้อสีเหลือง)
ซัตสึไมโมะถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงญี่ปุ่นก็ว่าได้ และยังเป็นสีหนึ่งในสามสีที่นิยมใช้เป็นสีธีมของเทศกาลฮาโลวีนญี่ปุ่นด้วย (ส้ม ม่วง ดำ) ซัตสึไมโมะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ซัตสึไมโมะที่เก็บมาใหม่ ๆ จะยังไม่ค่อยมีรสหวาน ต้องรอสัก 2-3 เดือนก่อนจึงจะค่อยหวานขึ้น ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมจึงเป็นช่วงที่รับประทานอร่อย

เขาว่าเวลาเลือกซัตสึไมโมะถ้าลูกไหนโตและเปลือกสีอ่อนแสดงว่าเป็นซัตสึไมโมะที่เพิ่งเก็บมาไม่นาน แต่ถ้าเป็นลูกที่เหี่ยวหน่อยและเปลือกสีเข้มแสดงว่าเป็นซัตสึไมโมะที่เก็บรอเวลาไว้แล้ว ซึ่งจะหวานกว่า ฉันก็เพิ่งทราบนี่แหละค่ะ ที่ผ่านมาเลือกแต่ลูกสวย ๆ แล้วก็งงว่าทำไมมันไม่ค่อยหวานเลย เอาไว้ถ้ามีโอกาสจะลองซื้อแบบเหี่ยว ๆ ดูบ้าง

ซัตสึไมโมะสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน ที่นิยมและง่ายที่สุดคือเอาไปปิ้งหรืออบ ฉันมักเอาไปต้มแทนการปิ้งเพราะสุกเร็วดีและสุกทั่วถึงกัน นอกจากนี้ยังเอาไปทอดแบบเฟรนช์ฟรายก็ได้ หรือต้มเปล่า ๆ ปรุงให้รสออกเค็มปนหวาน หรือต้มคู่กับวัตถุดิบอื่น ๆ ก็ได้ หรือจะใส่ในซุปมิโสะ หุงพร้อมข้าวสวย หรือทำขนมอบได้หลายแบบ นอกจากอาหารปรุงสดใหม่แล้ว พวกขนมห่อ ๆ ที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็จะมีขนมรสซัตสึไมโมะหลายประเภทเช่นกัน
คุริคิงตง
เกาลัด

ถ้าเป็นบ้านเราคงนึกถึงอาหารที่ทำจากเกาลัดได้ไม่มากชนิด ที่นึกออกคงไม่พ้นเกาลัดคั่วกาแฟซึ่งมักเจอแถวเยาวราช อาจเพราะเกาลัดไม่ใช่พืชผลของบ้านเราแต่นำเข้ามาอีกทีจึงไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก ส่วนที่ญี่ปุ่นจะมีการพลิกแพลงดัดแปลงให้เป็นทั้งอาหารและขนมได้อย่างหลากหลาย ที่พบเจอบ่อยก็ได้แก่ ข้าวหุงเกาลัด ขนมเค้กมองบลังก์ คุริคิงตง (栗きんとん - เกาลัดบดกับซัตสึไมโมะและเมล็ดคุจินาชิปรุงรสหวาน มักพบในอาหารปีใหม่ของญี่ปุ่น (โอะเซจิ) หรือใช้เป็นไส้ขนมญี่ปุ่น) หรือเอาไปต้มกับวัตถุดิบอื่น เช่น เห็ดหอม แครอท รากบัว เนื้อไก่ เป็นต้น
คามะเมชิ
ร้านอาหารญี่ปุ่นบางแห่งจะมีเมนู “คามะเมชิ” (釜飯) ซึ่งหมายถึงข้าวปรุงรสที่หุงพร้อมกับวัตถุดิบอื่น ๆ ในหม้อแบบโบราณที่เรียกว่า “คามะ” (釜)ตัวหม้อทำจากโลหะ ฝาทำด้วยไม้ ขนาดพอดีสำหรับหนึ่งคนรับประทาน คามะเมชิมักปรุงด้วยโชยุ มิริน และอื่น ๆ แล้วแต่สูตร ส่วนเครื่องอาจประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ เนื้อปลา หอย ผัก หรือเห็ด แล้วแต่จะเรียกว่าเป็นคามะเมชิอะไร (หุงกับอะไร) ถ้าเป็นฤดูใบไม้ร่วงก็นิยมข้าวหุงเกาลัดหรือข้าวหุงเห็ดมัตสึตาเกะ เป็นต้น

คามะเมชิอาจเป็นได้ทั้งแบบที่โปะเครื่องไว้บนข้าวแล้วค่อยหุง หรืออาจเป็น “ทาคิโคมิโกะฮัง”(炊き込みご飯)ประเภทหนึ่ง คือ เป็นข้าวที่ปรุงรสแล้วเอาเครื่องอื่น ๆ คนผสมลงไปหุงพร้อมข้าวเลย สรุปว่าจะเรียกว่าเป็นคามะเมชิหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าใช้หม้อคามะหรือเปล่า แต่ทาคิโคมิโกะฮังที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวจะไม่เรียกว่าเป็นคามะเมชิ

แม้อาหารประจำฤดูใบไม้ร่วงอาจจะไม่ได้ถึงขนาดนับไม่ถ้วนเสียทีเดียว แต่การที่คนญี่ปุ่นสามารถนำอาหารประจำฤดูกาลเหล่านี้ไปทำอาหารคาวอาหารหวานได้หลากรูปแบบ แถมยังมีขายล่อตาล่อใจชวนน้ำลายหกทุกหนแห่ง ก็อาจยิ่งจุดชนวนความอยากอาหารให้เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนได้เหมือนกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็นับว่าคงไม่น่าแปลกที่คนจะอ้วนขึ้นกันในฤดูนี้นะคะ

เขียนเองแล้วก็หิวเองตามเคย...แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.




"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น