xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อญี่ปุ่นเตรียมเปิดรับคนต่างชาติครึ่งล้านคน?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นขณะนี้คือ การวางมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในญี่ปุ่น ในระดับนโยบายนั้นเรียบร้อยแล้ว คือ ญี่ปุ่นจะรับแรงงานต่างชาติเข้ามาแน่นอนเพื่อบรรเทาความขาดแคลน ซึ่ง “ญี่ปุ่นมุมลึก” เคยกล่าวถึงมาบ้างในช่วงปีสองปีนี้ และปรากฏว่าเหตุการณ์เป็นจริงเช่นนั้น เพียงแต่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับญี่ปุ่น เพราะหากปล่อยให้ล่าช้ากว่านี้จะลำบาก ธุรกิจหลายอย่างจะประคองตัวไม่ได้ หรือหากจะรอให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยก็ไม่ทันการณ์ การตัดสินใจในปีนี้โดยมุ่งจะเริ่มดำเนินนโยบายจริงตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จึงถือว่าเหมาะสม

ความพยายามแก้ปัญหาแรงงานเริ่มปรากฏชัดเจนตั้งแต่กลางปี หอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นสำรวจบริษัทต่าง ๆ เมื่อเดือนมิถุนายนพบว่า 2 ใน 3 ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เทโกกุเดตาแบงก์ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำก็ชี้ว่าในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 บริษัทที่ปิดตัวเพราะขาดแคลนแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น 40% จากของปีที่แล้ว (อ้างอิงจาก Bloomberg; 16 ต.ค. 2561) เมื่อมองด้านจำนวน พบว่ามีคนต่างชาติได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนตุลาคมปีที่แล้วประมาณ 1.28 ล้านคน พิจารณาแยกตามประเภทวีซ่าพบว่าผู้ที่อยู่ในญี่ปุ่นเพื่อทำงานโดยตรง (วีซ่าทำงาน) มีประมาณ 240,000 คน หรือต่ำว่า 20% และเป็นแรงงานทักษะสูง เช่น วิศวกร นักวิจัย อาจารย์ ส่วนที่เหลือคือผู้ที่อยู่โดยวีซ่าชนิดอื่นและขออนุญาตทำงานต่างหาก รวมทั้งวีซ่าติดตามคู่สมรส วีซ่าพนักงานฝึกหัด วีซ่านักศึกษา หรือวีซ่ากิจกรรมพิเศษ เช่น การอนุญาตให้บุคลากรด้านพยาบาลจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามเข้ามาทำงานได้ตามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ต่อจากนี้ไป ความแตกต่างด้านการอนุญาตจะเกิดขึ้น คือ จะไม่ใช่การอนุญาตเฉพาะแรงงานทักษะสูงหรือการรับคนต่างชาติมาทำงานในรูปแบบของพนักงานฝึกหัด แต่จะเปิดกว้างโดยอนุญาตให้แรงงานประเภทที่ต้องใช้แรงงานสูงเข้ามาด้วย และอันที่จริง ส่วนหลังนี้คือจุดที่ญี่ปุ่นประสบปัญหามากกว่า ระหว่างนี้รัฐบาลจึงอภิปรายหาข้อสรุปว่าจะทำอย่างไรให้รัดกุมเพราะมีหลายจุดที่คนญี่ปุ่นบางส่วนก็กังวลหากมีแรงงานต่างชาติเข้ามามาก เช่น งานภาคเกษตรไม่สามารถรองรับแรงงานได้ตลอดทั้งปีเพราะขึ้นอยู่กับฤดูกาล การสื่อสารในงาน ระยะเวลาที่ทำงานได้ การแย่งงานกับคนญี่ปุ่น แต่ที่แน่ ๆ คือญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการรับคนต่างชาติไม่ได้ ส่วนโควตาที่ว่าจะรับคนของประเทศใดเข้าไปทำด้านใดเป็นจำนวนเท่าไรนั้นยังไม่มีกำหนดออกมา และมีแนวโน้มว่าแรงงานไทยจะเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับเป้าหมายแรงงานต่างชาติ 500,000 คนที่ญี่ปุ่นจะรับเข้ามาภายในปี 2568

คนไทยที่ฝันว่าอยากจะไปทำงานที่ญี่ปุ่นควรรีบไปเรียนภาษาญี่ปุ่นไว้ เพราะทักษะการสื่อสารจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา แต่คงต้องบอกไว้ด้วยว่า “ความฝันจากภายนอก” กับ “ความจริงในญี่ปุ่น” อาจต่างกันมาก อย่าฝันไว้สูงว่าเมื่อได้ทำงานในญี่ปุ่นแล้วชีวิตจะสนุกสุขสบายเหมือนการไปเที่ยว เรื่องค่าตอบแทนนั้นดีกว่าของไทยแน่ แต่ต้องตระหนักว่าญี่ปุ่นรับคนเข้าไป “ทำงาน” มิใช่ไปกินลมชมวิว พูดกันตรง ๆ คือเรียกไปใช้ ไม่ใช่แขกบ้านแขกเมือง การปฏิบัติต่อแรงงานอาจมีความเย็นชา กระด้าง และไม่เกรงใจ

ในจุดนี้หากแรงงานตั้งโหมดเริ่มต้น 1) เตรียมใจไปทำงานจริงจัง ก็จะไม่สะเทือนใจเมื่อประสบกับคนญี่ปุ่นที่ต่างจากภาพลักษณ์ที่เรามองว่านุ่มนวลอ่อนน้อมใจดี และปรับตัวปรับใจเข้ากับการทำงานได้ในเวลาไม่นาน โดยสามารถทนกับบรรยากาศหนัก ๆ ได้ เช่น พูดคุยน้อย คอยรับคำสั่ง อยู่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เล่นไลน์หรือเฟซบุ๊กระหว่างงานไม่ได้, 2) เตรียมร่างกายไปทำงานแบบญี่ปุ่น ก็จะอยู่รอดปลอดภัย สะสมทรัพย์ได้ดังฝัน เพราะการทำงาน ‘แบบญี่ปุ่น’ นอกจากต้องอึดในใจแล้ว ต้องอึดในกายด้วยเพราะเป็นการทำงานด้วยชั่วโมงที่ยาวนาน ตรงเวลา ใช้คนคุ้มค่าเงินที่จ่าย

ธุรกิจที่กำลังพิจารณากันว่าน่าจะรับแรงงานต่างชาติเข้าไปนั้น ตอนนี้มี 14 ภาคตามข้อมูลล่าสุดวันที่ 28 ตุลาคม ประกอบด้วย 1) เกษตร, 2)ประมง, 3) การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม, 4) ร้านอาหาร, 5) การพยาบาลดูแล, 6) การทำความสะอาด, 7) การหลอมและขึ้นรูปโลหะ, 8) การผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม, 9) อุตสาหกรรมด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์, 10) การก่อสร้าง, 11) การต่อเรือ, 12) การประกอบรถยนต์, 13) การบิน, 14) การโรงแรม นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นซึ่งมีเป็นจำนวนมากทั่วประเทศก็แจ้งความจำนงไว้ด้วย ท้ายสุดจำนวนภาคที่จะรับแรงงานต่างชาติอาจเพิ่มขึ้น

ในเบื้องต้น ส่วนที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วคือ การกำหนดสภาพการพำนักหรือวีซ่าแบบใหม่ขึ้นมาเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก คือ ทักษะเฉพาะทางหมายเลข 1 ทางการญี่ปุ่นให้นิยามโดยสังเขปว่าหมายถึง ผู้มีทักษะความรู้หรือประสบการณ์ด้านนั้นเพียงพอที่จะทำงาน และผ่านการประเมินของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล อีกทั้งมีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นระดับสื่อสารในชีวิตประจำวันได้โดยผ่านการประเมินตามสายงาน ผู้ที่ได้รับอนุญาตในประเภทนี้ไม่สามารถพาครอบครัวไปอยู่ด้วยได้ และระยะเวลาสูงสุดที่จะทำงานได้คือ 5 ปี ประเภทที่สอง คือ ทักษะเฉพาะทางหมายเลข 2 หมายถึง ผู้มีความรู้ความสามารถระดับมืออาชีพสูงกว่าระดับแรกโดยผ่านการประเมินแล้ว สามารถพาครอบครัวไปอยู่ด้วยกันได้ ไม่จำกัดระยะเวลาการพำนัก โดยสามารถเปลี่ยนสถานภาพจากประเภท 1 เป็นประเภท 2 ได้

ชื่อของสถานภาพการพำนักที่ใช้ว่า “ทักษะเฉพาะทาง” ฟังดูสูงส่งยากเย็น แต่นัยจริง ๆ ตามความต้องการของญี่ปุ่นคือแรงงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูงนั่นเอง ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ทันจุนโรโด” (単純労働;tanjun-rōdō) หรือ “แรงงานอย่างง่าย” เช่น พนักงานทำความสะอาด คนงานในไร่นา เหตุที่ไม่ใช้คำนี้คงเพราะนอกจากฟังไม่เป็นทางการแล้ว ใคร ๆ ในญี่ปุ่นก็รู้ว่าหมายถึงงานแนวแบกหาม อาจใช้ความคิดน้อยกว่าการออกแรง แฝงภาพลักษณ์งานชั้นล่าง และหลายอย่างเป็นงานที่คนญี่ปุ่นสมัยนี้ไม่อยากทำ จึงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าคนต่างชาติที่เข้ามาด้วยวีซ่านี้ส่วนใหญ่จะทำงานที่คนญี่ปุ่นไม่ทำ

ส่วนรายได้ต่างกันไปตามประเภทงานและสถานที่ แต่เพื่อให้เห็นภาพเป็นแนวทางกว้าง ๆ ก่อน ลองพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง 10 อันดับแรกที่ปรับเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วดังนี้ (คิดเป็นเงินไทยคร่าว ๆ โดยหาร 3

1) โตเกียว     985 เยน
2) คานางาวะ (ที่ตั้งของเมืองโยโกฮามะ)    983 เยน
3) โอซากะ    936 เยน
4) ไซตามะ    898 เยน
ไอจิ (ที่ตั้งของเมืองนาโงยะ)    898 เยน
5) ชิบะ    895 เยน
6) เกียวโต    882 เยน
7) เฮียวโงะ (ที่ตั้งของเมืองโกเบ)     871 เยน
8) ชิซูโอกะ    858 เยน
9) มิเอะ    846 เยน
10) ฮิโรชิมะ    844 เยน

อย่างไรก็ตาม ในระดับนโยบายยังมีเพียงกรอบคร่าว ๆ และเมื่อลงไปสู่ระดับปฏิบัติการจะต้องชี้ชัดอีกหลายจุด อย่างเรื่องการย้ายงาน สวัสดิการที่นายจ้างต้องจัดหาให้แก่คนงาน การอำนวยความสะดวกด้านที่พักอาศัย ปัจจัยเฉพาะด้าน เช่น ความยืดหยุ่นในภาคการเกษตรซึ่งอาจต้องรับมาทำงานครึ่งปี ให้กลับประเทศครึ่งปี และรับมาทำใหม่อีกตามฤดูกาล

ข้อมูลการรับแรงงานต่างชาติเข้าญี่ปุ่นจะทยอยออกมาชัดเจนยิ่งขึ้นในเร็ว ๆ นี้ สำหรับคนไทย นี่อาจเป็นโอกาสให้แสวงหารายได้ที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะเมื่อเกิดช่องทางแบบนี้มักมีมิจฉาชีพนำมาอ้างเพื่อหลอกลวงเรียกเงิน ดังนั้นแรงงานไทยที่สนใจควรติดตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของไทย และโฮมเพจ “สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น