นายกฯ ชินโซ อาเบะ เดินทางเยือนประเทศจีน หวังพลิกฟื้นความสัมพันธ์หลังทั้ง2 ชาติร้าวฉานจากกรณีเกาะเซ็งกากุ พร้อมเปิดทางจับมือลงทุนร่วมในประเทศที่ 3 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นจุดหมายแรก
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่นเดินทางถึงกรุงปักกิ่งเมื่อวานนี้ (25 ต.ค.) และมีกำหนดเยือนประเทศจีนเป็นระยะเวลา 3 วัน ถือเป็นการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของผู้นำญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
นายอาเบะจะพบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการพลิกฟื้นความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ ในโอกาสที่ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 40 ปีของสนธิสัญญาสันติภาพและมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ที่ยุติความเป็นอริของญี่ปุ่นและจีน หลังสงครามโลก
ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวในพิธีต้อนรับที่กรุงปักกิ่งว่า “วันนี้ ญี่ปุ่นและจีนมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่ในเอเชีย แต่ยังทั้งโลก ปัญหาหลายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยประเทศเดียว จึงถึงเวลาที่ญี่ปุ่นและจีนจะร่วมกันสร้างสันติภาพและความรุ่งโรจน์ของโลก”
ด้านนายกฯ หลี่เค่อเฉียง ของจีน กล่าวในพิธีเดียวกันว่า “ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองโลกมีมากขึ้น ความสัมพันธ์จีนและญี่ปุ่นได้กลับสู่เส้นทางปกติ จะก่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่กับภูมิภาคและโลก”
ในการดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกของนายอาเบะเมื่อปี 2550 เขาเดินทางเยือนจีนเป็นประเทศแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติย่ำแย่ลงเมื่อ 6 ปีก่อน เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นซื้อหมู่เกาะเซ็งกากุจากเจ้าของเอกชนชาวญี่ปุ่นในปี 2555 ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นครั้งใหญ่ในจีน เนื่องจากจีนก็อ้างสิทธิ์ในหมู่เกาะนี้เช่นกัน โดยเรียกว่า “หมู่เกาะเตี้ยวอวี๋”
ทรัมป์ผงาด โลกอลหม่าน ญี่ปุ่นจีนต้องพึ่งกันและกัน
แต่หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นกุมบังเหียนสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยนโยบายลูกบ้ามากมาย ที่รวมถึงการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอัตราสูงลิ่วจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยญี่ปุ่นก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยเช่นกัน ทั้งจากการถูกเก็บภาษีโดยตรงจากสหรัฐ และผลกระทบของบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในจีนและส่งออกไปยังสหรัฐ
ญี่ปุ่นและจีนจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนจาก “คู่แข่ง” เป็น “คู่คิด” เพื่อรับมือนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” รวมทั้งประสานในส่วนที่แต่ละฝ่ายต้องการ เช่น ญี่ปุ่นต้องการแรงงานและตลาดใหม่เพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย ขณะที่จีนก็ต้องการเทคโนโลยีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้พ้นกับดักที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเนื่องหลายปีมานี้
มิติใหม่ที่ก้าวหน้าที่สุดในการพบกันของผู้นำสองชาติในครั้งนี้ คือ การร่วมมือลงทุนในประเทศที่สาม โดยจีนและญี่ปุ่นจะลงทุนร่วมกันทำโครงการใหญ่ในต่างแดน ซึ่งจะพลิกโฉมจากอดีต ที่หลายประเทศที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องจำใจเลือกระหว่างจีนและญี่ปุ่น เหมือนเช่นในประเทศไทยที่ต้องตัดแบ่งโครงการพัฒนาระบบรถไฟให้แก่ทั้งสองประเทศ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน หนึ่งในโครงการเป้าหมายที่จีนและญี่ปุ่นจะทำร่วมกัน คือ การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของประเทศไทย
นายชินโซ อาเบะ เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยสมัยที่ 3 ซึ่งจะทำให้เขาเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้รับการรับรองจากสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนให้อยู่ในตำแหน่งได้โดยไม่จำกัดวาระ สถานะผู้นำของทั้งคู่จึงถือว่ามั่นคงอย่างยิ่ง เป็นจังหวะเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ยุติศึกใกล้เพื่อรับมือสงครามใหญ่จากรอบด้าน
ขงจื๊อ มหาปราชญ์แห่งแดนมังกร กล่าวไว้ว่า “เพื่อนบ้านดีกว่าญาติที่ห่างไกล” ญี่ปุ่นและจีนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ประวัติศาสตร์บางช่วงทำให้ทั้งสองชาติต้องอยู่ในสภาวะ “ใกล้ตัวแต่ใจห่าง” การหวนคืนสู่มิตรภาพของสองมหาอำนาจจึงไม่เพียงสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย แต่ยังสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย.