xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น : มีอะไรในหน้าคน?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

ท่านเห็นสิ่งใดในสี่ภาพนี้?

เมื่อมองผ่าน ๆ อาจเห็นแค่หัวคน แต่ถ้าจ้องบนเนื้อหนังให้ดีจะเห็นว่ามีอีกหลายคน เหมือนกับเอาคนมาคนปน ๆ กันแล้วปั้นให้กลายเป็นหัว มากคนก็มากความ!

แต่ ‘ความ’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปัญหา เป็นความสร้างสรรค์และคงเป็นความนึกสนุกของศิลปินที่ถ่ายทอดออกมา จนสายตาคนดูถูกตรึงไว้ อย่างน้อยน่าจะสองสามวินาที หรือบางทีอาจถึงขั้นนับเสียเลยว่ามีกี่คนที่กอดรัดเบียดอัดกันอยู่บนหน้าและที่มือ

ภาพเหล่านี้เป็นผลงานเด่นที่คนญี่ปุ่นเคยผ่านตาและจำได้ดี เพราะน่าสนใจและมีพลังดึงดูดอันเกิดจากความแปลกเชิงสร้างสรรค์ ผมเองจำได้ทันทีแม้เห็นครั้งเดียว ดูเผิน ๆ พอจะรู้อยู่ว่าเป็นหน้าคน แต่ช่วงแรกที่ยังไม่คุ้นกับแฟชั่นทรงผมและการแต่งกายของคนญี่ปุ่นสมัยโบราณก็ใช้เวลานานพักหนึ่งกว่าจะมองออกว่าตรงไหนคือหูตาปากจมูก

เมื่อนำเสนอภาพแบบนี้ นอกจากความรู้พื้นฐานกับประวัติคร่าว ๆ ของผู้สร้างสรรค์แล้ว ตั้งใจว่าจะไม่อธิบายมาก ควรให้ผู้ชมได้ใช้เวลากับภาพมากกว่า ก่อนอื่นขอเริ่มจากลักษณะของภาพ คนญี่ปุ่นรู้จักภาพแบบนี้ในชื่อ “โยเซะ-เอะ” (寄せ絵;yose-e) ซึ่งเป็นคำเฉพาะทางในวงการศิลปะญี่ปุ่นอยู่พอสมควร หมายถึง ภาพที่เป็นรูปเป็นร่างสื่อความหมายหลักออกมาได้ในรูปแบบหนึ่งโดยมีองค์ประกอบเหนือความคาดหมายมาประชุมกัน ซึ่งน่าจะแปลว่า “ภาพผสานสร้าง” (yose มาจากกริยาคำว่า yoseru แปลว่า แวะเข้ามา, รวมเข้ามา ส่วน e แปลว่า ภาพ) ภาพกลุ่มนี้ที่มีชื่อเสียงคือผลงานของศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น อูตางาวะ คูนิโยชิ (歌川国芳;Utagawa, Kuniyoshi; 1798-1861) ในสมัยเอโดะ ซึ่งนอกจากภาพหน้าคนแล้ว ยังมีผลงานภาพลักษณะอื่นอีกเป็นร้อย ๆ

อันที่จริงผลงานคล้าย ๆ กันในโลกตะวันตกก่อนหน้าคูนิโยชิก็มีเช่นกัน ผู้ที่สนใจศิลปะตะวันตกอาจเคยได้ยินชื่อจิตรกรและนักออกแบบชาวอิตาลี จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด (Giuseppe Arcimboldo; 1526/27 – 1593) ซึ่งเป็นศิลปินที่เคยทำงานให้แก่ราชสำนักในกรุงเวียนนาและปราก อาร์ชิมโบลโดเขียนภาพเหมือนโดยใช้จินตนาการแหวกแนวด้วยการนำภาพผัก ผลไม้ ปลาหรืออย่างอื่นมาผสานเป็นองค์ประกอบแสดงเครื่องหน้าบุคคล มีผลงานดังหลายภาพ เช่น ชุดจตุฤดู ซึ่งใช้โทนสีของดอกไม้และผลไม้แสดงบรรยากาศความสดใสหรือแห้งเหี่ยวตามฤดูนั้น ๆ
ฤดูใบไม้ผลิ (1563, พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส)
ฤดูร้อน (1572, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ กรุงเวียนนา)
ฤดูใบไม้ร่วง (1573, พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส)
ฤดูหนาว (1573, พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส)
ย้อนมาที่อูตางาวะ คูนิโยชิของญี่ปุ่น ชื่อนี้จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นฉายา วงการศิลปะญี่ปุ่นในสมัยก่อนจะคล้ายกับยุทธภพของจีนในแง่ที่ว่ามีแต่ละสำนักแตกต่างกันไป เมื่อเข้าสำนักแล้วจะได้รับฉายาใหม่ กรณีของอูตางาวะ คูนิโยชินี้ เดิมชื่อโยชิซาบูโร เป็นลูกของนายยานางิยะ คิจิเอมง เด็กชายโยชิซาบูโรมีฝีมือด้านการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก และคงได้รับอิทธิพลด้านการใช้สีสันจากกิจการของครอบครัวไม่มากก็น้อยเพราะเป็นลูกชายตระกูลย้อมผ้า

ด้วยฝีมือที่ถือว่าเป็นพรสวรรค์ ชื่อเสียงจึงเลื่องลือไปถึงเจ้าสำนักอูตางาวะ ซึ่งเป็นศิลปินดังด้านภาพพิมพ์แกะไม้ ต่อมาโยชิซาบูโรก็เข้าเป็นศิษย์สำนักอูตางาวะและได้รับชื่อใหม่ เป็นที่รู้จักในนามอูตางาวะ คูนิโยชิ และพัฒนาฝีมือจนโดดเด่นขึ้นมา กลายเป็นบุคคลสำคัญในวงการภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นอีกคน และเมื่อกล่าวถึงผลงานด้านจิตรกรรมของญี่ปุ่น ในกรณีที่เป็นภาพพิมพ์ เนื่องจากใช้แม่พิมพ์ที่แกะสลักจากไม้ ขั้นตอนการแกะไม้ในเบื้องต้นนั้นแม้ใช้เวลามาก แต่เมื่อมีแม่พิมพ์แล้ว การผลิตซ้ำย่อมทำได้เร็ว จิตรกรรมภาพพิมพ์ของศิลปินญี่ปุนหลายคนจึงแพร่หลายออกไปนอกญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งของคูนิโยชิด้วย

ภาพผสานสร้างซึ่งใช้คนเป็นองค์ประกอบหลักอาจชวนให้ขมวดคิ้วคิดว่าศิลปินผู้นี้เป็นคนแปลกที่คิดอะไรพิเรนทร์ออกมา จะว่าไปภาพคนในคน 4 ภาพนี้บางมุมออกออกจะแลดูอัปลักษณ์เสียด้วย เพราะผิวที่เปลือยเปล่าทำท่าแอ่นหน้าบ้างตีลังกาบ้าง อีกทั้งด้วยสรีระของร่างกายคนที่มีส่วนโค้งเว้า เมื่อนำมาประกอบกันเข้า ผิวหน้าของคนจึงแลดูขรุขระไม่สะอาดตา

ทว่าจริง ๆ แล้วคูนิโยชิเป็นคนสุขุม ผลงานอื่นอีกมากมายมีทั้งภาพพิมพ์ที่สื่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ภูมิทัศน์ ความเชื่อ และหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นผู้มีความรู้ มีความคิดความอ่าน และช่างสังเกต การถ่ายทอดภาพคนในคนออกมาจึงตีความในเชิงศิลปะได้ว่าเป็นมุมมองหนึ่งของศิลปินที่อาจต้องการเสียดสีความเป็นมนุษย์และสื่ออารมณ์ขันอีกโสดหนึ่ง

เมื่อได้เห็นแนวคิดด้านการใช้วัตถุเหนือความคาดหมายมาเป็นองค์ประกอบผสานสร้างภาพแบบนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคูนิโยชิอาจได้รับอิทธิพลจากอาร์ชิมโบลโดก็เป็นได้ แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่ก็มีความเป็นไปได้ เพราะคูนิโยชิสนใจภาพประกอบที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของยุโรปในสมัยนั้นและเก็บสะสมไว้ด้วย

สำหรับผลงานคนในหน้าคน 4 ภาพนี้ คูโนโยชิตั้งชื่อไว้ในแถบสีแดงแนวตั้งและเขียนคำบรรยายสั้น ๆ ชวนให้คิดและตีความเป็นตัวอักษรสีดำ อ่านตามแนวตั้งจากขวาไปซ้าย

1) คนหน้าตาน่ากลัวแต่ตัวจริงเป็นคนดี (みかけハこハゐが とんだいゝ人だ;Mikake wa kowai ga, tonda ii hito da)

“ผู้คนมารวมกัน ในที่สุดจะสร้างคนประเสริฐขึ้นมา และถึงอย่างไร เรื่องของคนถ้าไม่ฝากไว้กับคน ย่อมมิใช่คนดี”
Mikake wa kowai ga, tonda ii hito da
2) หญิงสาวผู้ดูเหมือนคนแก่ (としよりのような若い人だ;Toshiyori no yōna wakai hito da)

“ผู้คนหลากหลายแวะมา ช่วยรักษาหน้าฉันไว้ ช่างดีใจเหลือหลาย และด้วยความเมตตาของท่าน ในที่สุดก็ได้มีหน้าเป็นผู้เป็นคนแล้ว” (โปรดสังเกตที่มือของนาง)
Toshiyori no yōna wakai hito da
3) คนรวมกับคนกลายเป็นคน (人かたまって人になる;Hito katamatte hito ni naru)

“โลกนี้ช่างมีคนมาก หากแต่คนดีนั้นมีน้อย จงเป็นคนดี จงสร้างคนดี”
Hito katamatte hito ni naru
4) คนผู้ดูแคลนคน (人をバかにした人だ;Hito o bakani shita hito da)

“หัวใจคนช่างหลากหลาย ลำบากลำบนต่าง ๆ นานา ท้ายที่สุดก็ก้าวขึ้นมาทัดเทียมผู้อื่นได้”
Hito o bakani shita hito da
จากแนวคิดเรื่องคนในงานศิลปะเชิงยั่วล้อ มีบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งนำมาตีความเป็น “ครอบครัว” ซึ่งประกอบด้วยคนหลายคนที่อยู่รวมกันอย่างอบอุ่น และผลิตเป็นโฆษณาออกมา บริษัทที่ว่านี้คือโตโยต้า และในครั้งนี้จึงขอถือโอกาสปิดท้ายด้วยโฆษณาที่มุ่งเผยแพร่ในอเมริกาชิ้นนี้



**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น