คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน หนึ่งในเรื่องแปลกอย่างหนึ่งที่ฉันและหลาย ๆ คนรู้สึกต่อญี่ปุ่นก็คือบางทีรู้สึกว่าผู้คนเย็นชากับคนที่เห็นแล้วน่าจะเข้าไปถามไถ่หรือช่วยเหลือ แต่กลับพบว่าคนที่เห็นหรือเดินผ่านไปมาก็ผ่านไปทั้งอย่างนั้นโดยไม่สนใจใยดี ชวนให้ตระหนกตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น !!
ที่มาของเรื่องเล่าในสัปดาห์นี้มาจากสามีฉันเองค่ะ วันหนึ่งเขาหน้าตาตื่นเล่าให้ฟังถึงข่าวที่อดีตสมาชิกวงมอร์นิ่งมุซุเมะเมาและขับรถชนคนได้รับบาดเจ็บไปสองคน พอชนแล้วเธอก็ขับรถจากไป ก่อนจะยอมเข้ามอบตัวหลังจากนั้น เรื่องชนแล้วหนีอาจเป็นเรื่องทางจิตวิทยาที่พอเข้าใจได้ว่าตกใจทำอะไรไม่ถูกเลยเผลอหนีตามสัญชาตญาณ แต่ที่น่าตกใจคือเมื่อรถวิ่งฝ่าไฟแดงมาชนคนที่กำลังข้ามถนนได้รับบาดเจ็บแล้ว คนอื่นที่กำลังข้ามถนนอยู่กลับไม่มีใครสนใจเข้าไปช่วยเหลือแม้แต่คนเดียว แต่เดินผ่านไปดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น สามีฉันให้ดูภาพจากกล้องวีดีโอในข่าว แล้วเราสองคนก็พากันนั่งสลดใจว่าเพราะอะไรถึงไม่มีใครคิดเข้าไปช่วยเลย
รุ่นพี่ฉันคนหนึ่งเล่าว่าอยู่ที่ญี่ปุ่นจะเห็นคนเป็นลมล้มพับอยู่กับพื้นโดยที่ไม่มีใครเดินเข้าไปถามไถ่อันใดอยู่บ่อยครั้ง อันนี้ฉันก็เคยเจอคล้าย ๆ กัน คือเห็นลุงคนหนึ่งกึ่งนั่งกึ่งนอนแหมะอยู่หน้าห้องน้ำชายในสถานีรถไฟ ไม่แน่ใจว่าเขาเมาไม่ได้สติ หรือไม่สบายหรือว่าอะไร ฉันเลยเดินไปหาเจ้าหน้าที่สถานีตรงบริเวณใกล้ทางออก พอเข้าไปบอก เจ้าหน้าที่ก็ถามด้วยสีหน้าเรียบเฉย (คงเจอจนชิน) ว่าชานชาลาหมายเลขที่เท่าไหร่ เดี๋ยวจะไปดู
อันนี้ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ที่รุ่นพี่เจอน่าตกใจกว่า เธอว่าเคยเห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินจิ้มมือถืออยู่ที่ชานชาลารถไฟ แล้วทันใดนั้นเขาก็พลัดหล่นลงไปในราง โชคดีที่ไม่มีรถไฟวิ่งมา แต่ที่สำคัญคือไม่มีใครสนใจ จนชายคนนี้ต้องปีนขึ้นมาจากรางรถไฟเอง
และล่าสุดเพื่อนฉันก็เล่าเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ให้ฟังสด ๆ ร้อน ๆ ถึงข่าวอันน่าสะเทือนใจที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้เอง คือมีคุณลุงคนหนึ่งซื้อตุ๊กตาไปให้หลานในวันเกิด เขาเผลอทำตุ๊กตาตกลงไปในรางรถไฟ จึงลงไปเก็บเอง แต่กลับขึ้นมาไม่ทัน สุดท้ายก็ถูกรถไฟชนตาย
อันที่จริงที่ชานชาลาจะมีปุ่มกดให้หยุดรถไฟฉุกเฉิน น่าจะมีใครวิ่งเข้าไปกด หรืออย่างน้อยก็น่าจะเตือนคุณลุงตอนที่กำลังลงไปว่าอย่าทำอย่างนั้น หรือพยายามอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น แทนที่จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของตัว เพราะสุดท้ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รถไฟก็ต้องหยุดวิ่งกันหลายสาย และทั้งตัวเองและคนอื่น ๆ ก็จะเดือดร้อนไปในวงกว้าง
เท่าที่เพื่อนคนไทยฉันเล่าให้ฟังถึงความเห็นของคนญี่ปุ่นใกล้ตัว คนญี่ปุ่นบอกว่า “ไม่รู้หรือว่าอันตราย” “รนหาที่ตายชัด ๆ” มันก็จริงอยู่ที่ว่าใคร ๆ ก็น่าจะรู้ว่าอะไรอันตรายก็ไม่ควรเสี่ยงทำ แต่คนเราก็มักเจอเคราะห์กรรมหลายอย่างในชีวิตเพราะความประมาทคิดเอาง่าย ๆ ว่า “ไม่เป็นไร” หรือคิดว่าอันตรายจะไม่เกิดแก่ตัว ถ้าเราเตือนเขาอย่างน้อยเราก็อาจป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็ได้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์จะรู้สึกผิดและเสียใจกับการไม่ลงมือทำอะไรเลยทั้ง ๆ ที่อาจจะทำอะไรบางอย่างได้หรือเปล่านะคะ
นานมาแล้วฉันเคยเดินไปย่านอากิฮาบาระกับเพื่อน ๆ พอมาถึงถนนใหญ่ก็เห็นว่าถนนใหญ่นั้นว่างโล่ง ไม่มีรถวิ่งผ่านมา และทุกคนต่างก็ยืนอยู่บนทางเท้าอย่างเงียบเชียบกันเป็นจำนวนมากบนถนนทั้งสองฝั่งราวกับว่าจะมีขบวนรถอะไรสักอย่างวิ่งผ่าน มีคุณลุงคนหนึ่งนั่งแอ้งแม้งอยู่บนถนนฝั่งตรงข้าม ฉันกำลังงงว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะภาพที่เห็นชวนให้เกิดความขัดแย้งกันในสมอง จะมีขบวนรถแล่นผ่านหรือ? เขากำลังถ่ายหนังกันหรือเปล่า? ถ้าไม่ใช่ทำไมไม่มีใครเข้าไปช่วยพยุงคุณลุงคนนั้นขึ้นมา? เราวิ่งข้ามถนนไปตอนนี้ได้ไหม? แล้วน้องผู้ชายก็พูดขึ้นมาอย่างสลดใจว่า “อะไรกันเนี่ย ไม่มีใครเข้าไปช่วยเลยเหรอ” ฉันจึงสรุปได้ว่ามันไม่มีการถ่ายหนังหรือมีขบวนผ่านอะไรหรอก ขณะที่กำลังจะชวนน้องผู้ชายให้วิ่งข้ามถนนไปช่วยกันพยุงคุณลุงขึ้นมานั่นเอง ก็เห็นหนุ่มสองคนวิ่งฝ่าฝูงชนมาจากถนนฝั่งนั้นและเข้าไปช่วยคุณลุง เราจึงโล่งอก และดูเหมือนจากนั้นฝูงชนก็เกิดความเคลื่อนไหวแทนที่ความนิ่งจนเงียบเชียบอย่างผิดปกติอย่างในตอนแรก จนบัดนี้ฉันยังหาเหตุผลอธิบายภาพและบรรยากาศอันแปลกประหลาดในวันนั้นไม่ได้เลย
ไม่ใช่ลำพังแค่คนนอกอย่างฉันหรือรุ่นพี่ที่เห็นความผิดปกติแบบนี้ในสังคมญี่ปุ่น แม้กระทั่งตัวคนญี่ปุ่นเองหลายคนก็รู้สึกเหมือนกันว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ไม่ค่อยจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บางส่วนยังรู้สึกว่าสังคมญี่ปุ่นขาดกระทั่งความมีมนุษยธรรมเสียด้วยซ้ำไป อย่างเช่น ถ้ามีคนเอารถเข็นเด็กขึ้นรถไฟหรือเข้าร้านอาหารมาก็จะมีคนไม่พอใจแล้ว หรือเวลารถไฟหยุดวิ่งหรือล่าช้าเพราะมีคนฆ่าตัวตายโดยกระโดดให้รถไฟทับ คนที่ต้องโดยสารรถไฟก็จะเกิดความโกรธฉุนเฉียวขึ้นมาได้ทันที เป็นต้น
เรื่องทั้งหมดนี้ชวนให้รู้สึกว่าทำไมคนเราจึงนิ่งดูดายเมื่อเห็นคนกำลังเดือดร้อน แม้เรื่องทำนองนี้จะเกิดขึ้นในประเทศอื่นให้ได้ยินอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่เท่าที่ฉันเคยอยู่อาศัยมาหลายประเทศก็แทบไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินเรื่องอย่างนี้ หากกลับเห็นหรือได้ยินว่าเกิดขึ้นในญี่ปุ่นอยู่เนือง ๆ ถ้าจะบอกว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนแล้งน้ำใจ ฉันก็ไม่คิดอย่างนั้นอีก เพราะเคยเห็น เคยได้ยิน และเคยได้รับน้ำใจจากคนญี่ปุ่นมามากมาย แต่เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีพฤติกรรมในลักษณะที่ทำตามกลุ่ม แสดงว่าการที่คนญี่ปุ่นไม่เข้าไปช่วยคนที่เดือดร้อนซึ่งเห็นได้บ่อย ๆ แบบนี้ก็น่าจะเป็นพฤติกรรมกลุ่มประเภทหนึ่ง และน่าจะมีเบื้องหลังที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว
มีผลการสำรวจที่ชื่อว่า World Giving Index จัดอันดับประเทศที่ให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้า ให้ทายค่ะว่าญี่ปุ่นติดอันดับที่เท่าไหร่จาก 139 ประเทศ ก่อนเฉลยขอเล่าถึงประเทศอื่น ๆ ไปพลางก็แล้วกัน (อย่าลืมทายในใจกันก่อนอ่านต่อนะคะ)
อันดับที่หนึ่งคือเซียร์ราลีโอน อันดับที่สองคืออิรัก และอันดับที่สามคือลิเบีย ที่น่าสนใจคืออันดับ 1-15 ของประเทศที่คนให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้าต่างก็เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาและ/หรือตะวันออกกลางกันทั้งสิ้น (ยกเว้นสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7) ซึ่งประเทศเหล่านี้มีทั้งสงครามภายในบ้าง ความไม่สงบบ้าง โรคระบาดบ้าง ความยากจนบ้าง คือเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่คุณภาพชีวิตไม่ดี แต่คนกลับมีน้ำใจ แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดนะคะว่าประเทศไหนคุณภาพชีวิตไม่ดีแล้วคนต้องมีน้ำใจ เพราะมีอีกหลายประเทศที่คุณภาพชีวิตไม่ดีแล้วก็ไม่ค่อยจะให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้าด้วยเหมือนกัน
มาถึงเฉลยนะคะ ญี่ปุ่นติดอันดับที่ 135! อีกสี่อันดับก็จะครองที่โหล่แล้ว ตกใจไหมคะ (ฉันยังตกใจเลย) และถ้าหากนับคะแนนรวมในสามหมวดหมู่ซึ่งได้แก่ การให้เวลาทำงานอาสาสมัคร ให้เงินบริจาค และช่วยเหลือคนแปลกหน้าแล้ว ญี่ปุ่นจะอยู่ในอันดับที่ 111 โดยประเทศที่ได้คะแนนรวมของความมีน้ำใจมาอันดับหนึ่งคือพม่า อันดับสองคืออินโดนีเซีย และอันดับสามคือเคนยา (ไทยอยู่ในอันดับที่ 16)
ข้อมูล World Giving Index นี้ได้มาจาการการสำรวจประชากรใน 139 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 95 ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2559 และใช้ตัวอย่างเฉลี่ยประเทศละประมาณ 1,000 ตัวอย่าง เว้นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยหรือสูงกว่าที่อื่น ๆ มากก็จะใช้ตัวอย่างลดลงหรือมากขึ้นตามความเหมาะสม ทั้งนี้ก็มีการคำนวณค่าเฉลี่ยที่อาจผิดพลาดรวมไว้ด้วยแล้ว
จากข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้เองจึงทำให้ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าที่รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยจะช่วยเหลือคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง แต่มีหลักฐานยืนยันจากหลายแห่งด้วยกันทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัว ใกล้ตัว จากความเห็นคนญี่ปุ่นเอง และจากการสำรวจทั่วโลก
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราด่วนสรุปว่าคนญี่ปุ่นแล้งน้ำใจหรือว่าคนชาติใดชาติหนึ่งมีน้ำใจที่สุดแล้วล่ะก็ การมองโลกแบบขาวกับดำอย่างเดียวแบบนี้อาจให้อะไรเราไม่ได้มากไปกว่าอคติและความลำเอียง ฉันคิดว่าทุกอย่างย่อมมีที่มาที่ไป และถ้าเราเข้าใจที่มาที่ไปว่าทำไมคนคนหนึ่งหรือสังคมหนึ่ง ๆ จึงมีพฤติกรรมอย่างนี้ ๆ เราน่าจะมองโลกอย่างเข้าใจและไม่สร้างความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ทั้งยังอาจเห็นทางออกต่อปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย
ที่จริงแล้ว เมื่อมองดูในมุมของการเป็นผู้ให้ เรามักจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเป็นอย่างดีทั้งแก่คนในประเทศตนหรือประเทศอื่น แถมยังให้ทุนเพื่อการพัฒนา เพื่อการศึกษาวิจัยแก่ประเทศอื่นมากมาย ซึ่งดูไปแล้วก็ไม่เห็นจะรู้สึกว่าญี่ปุ่นขาดน้ำใจแต่อย่างใดด้วยซ้ำ
ทว่าก็มีคนญี่ปุ่นที่พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่าการกุศลอย่างการบริจาคเงินเยอะ ๆ หรือส่งสิ่งของไปช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่เราใส่ใจถามไถ่คนที่เขากำลังเดือดร้อนซึ่งอยู่ต่อหน้าเราในเวลานี้ก็เป็นได้ เพราะคำพูดสั้น ๆ และการกระทำที่อาจดูไม่ยิ่งใหญ่นั้นเมื่อสั่งสมมากเข้า และแพร่หลายไปในวงกว้าง มันก็กลายเป็นความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ได้โดยตัวของมันเอง
ฉันว่าเป็นความคิดที่ดีมากนะคะ สิ่งที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ แล้วอาจอยู่ที่การกระทำเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง อยู่ที่ว่าเราสละความตระหนี่ในใจของตัวเองออกเพื่อยังประโยชน์ให้คนอื่น หรือให้ความสำคัญกับคนอื่นได้มากแค่ไหน
ไว้สัปดาห์หน้าจะมาเล่ารายละเอียดให้ฟังต่อค่ะว่า อะไรเป็นเหตุให้คนญี่ปุ่นมีพฤติกรรมไม่ค่อยจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่าลืมติดตามนะคะ สวัสดีค่ะ
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.