ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ความเป็น “ญี่ปุ่นใหม่” ก่อนการฟื้นตัวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเป็นระลอกแรกเมื่อมีการปฏิวัติเมจิ นับแต่นั้นมาในช่วงเวลา 45 ปี (ค.ศ.1868-1912) เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยมีปัจจัยจากต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง มีตัวละครมาก มีความขัดแย้งและความร่วมมือหลายส่วน ถ้าใช้ภาษาสมัยนี้คงต้องบอกว่ามี “ดรามา” ตลอดเวลาและในทุกระดับ ตั้งแต่สูงสุดคือสถาบันจักรพรรดิ ลงไปจนถึงล่างสุดคือประชาชนทั่วไป และด้วยความเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนั้น เมื่อครบ 150 ปีของการปฏิวัติเมจิในปีนี้ ทั่วญี่ปุ่นจึงจัดงานรำลึกเหตุการณ์ช่วงนั้นด้วย
สืบเนื่องจากภูมิหลังและภาพกว้างของการปฏิวัติเมจิ เมื่อสำรวจต่อไปในสมัยนั้นและเปรียบเทียบตอนต้นกับตอนท้ายจะพบเห็นความแตกต่างชัดเจน หลายสิ่งที่ไม่เคยมีก็มี และอีกหลายสิ่งที่เคยมีแต่ถูกมองว่าขัดขวางความก้าวหน้าก็ถูกยกเลิกไป ตอนเกิดการปฏิวัติเมจินั้น ญี่ปุ่นไม่ได้มีแสนยานุภาพทางทหารพอที่จะต่อกรกับชาติตะวันตกได้ พัฒนาการทางเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า เป็นประเทศเกษตรกรรมธรรมดา ๆ ประเทศหนึ่ง อำนาจการบริหารกระจายเป็นจุด ๆ โดยเจ้าครองแคว้น ต่อมาเมื่อจัดการเรื่องภายในให้เข้าที่เข้าทางหลังสงครามโบชิงช่วงต้นสมัยแล้ว ญี่ปุ่นก็ตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาประเทศ โดยมีความรู้สึกส่วนหนึ่งต่อต้านอิทธิพลตะวันตก แต่ขณะเดียวกันก็เปิดใจเรียนรู้วิทยาการจากตะวันตกมากขึ้นด้วย
ลักษณะเช่นนี้คล้ายสยามในแง่ที่ว่า ขณะที่พยายามเลี่ยงการปะทะกับชาติตะวันตก แต่ก็ต่อต้านอย่างมีชั้นเชิงอยู่ในที วิธีหนึ่งที่ทั้งญี่ปุ่นและสยามใช้คือ ปรับตัวให้ทันสมัยตามเกณฑ์ที่ตะวันตกกำหนด หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง ในกระบวนการเช่นนั้นคนญี่ปุ่นจึงเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ส่วนเจ้านายสยามก็ไปเรียนต่างประเทศ มีการแปลความรู้ที่เป็นภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาตัวเอง อย่างสยามเองก็ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าพร้อมจะเรียนรู้จนถึงขั้นลอกเลียนดังที่เห็นได้จากนิตยสาร (สมัยก่อนมักใช้คำว่าหนังสือพิมพ์) ที่ใช้ชื่อว่า “ลักวิทยา” อันบ่งบอกว่าเป็นการฉวยความรู้ของผู้อื่นมาเผยแพร่เป็นภาษาไทยโดยที่เจ้าของไม่รู้
ทางด้านญี่ปุ่นนั้น เมื่อประมวลตัวอย่างตอนสิ้นสุดสมัยเมจิ พบว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น
- ระบบสี่ชนชั้น (ซามูไร, เกษตรกร, ช่าง, พ่อค้า) หมดไป
- มีรัฐบาลที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ระบบแคว้นหมดไป กลายเป็นจังหวัด
- มีรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่รัฐสภา
- ระบบคมนาคมขนส่งพัฒนาขึ้นมาก
- ประชาชนได้รับการศึกษาเป็นวงกว้าง
- อุตสาหกรรมพัฒนาอย่างรวดเร็ว
- กองทัพแข็งแกร่ง
รายละเอียดตลอดสี่ทศวรรษครึ่งของสมัยอันได้ชื่อว่าเกิดดรามามากที่สุดยุคหนึ่งนั้นคงกล่าวได้ไม่หมด แต่ถ้าเน้นเฉพาะไฮไลต์ที่ถือว่าเป็น ‘นิยาม’ ย่อมตอบได้ด้วย 3 กระแสสำคัญ คือ ทหารรุ่งเรือง เฟื่องฟูอุตสาหกรรม อารยธรรมงอกงาม แต่ละข้อมีดีมีร้ายอย่างไรนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่แน่ ๆ คือญี่ปุ่นเต็มไปด้วยบรรยากาศเช่นนั้นตลอดสมัยเมจิ โดยมีกระแสย่อย ๆ แทรกขึ้นมาเป็นระยะ พอขยายความ 3 สโลแกนตามถ้อยคำประจำสมัยจะได้ดังนี้
1) ทหารรุ่งเรือง : “ประเทศมั่งคั่ง พลังกองทัพแข็งแกร่ง” (富国強兵; fukoku-kyōhei) สิ่งที่ญี่ปุ่นทำคือการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหาร ในปี 1873 ทางการกำหนดให้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร จุดประสงค์คือเพื่อจัดตั้งกองทัพตามแบบตะวันตก อย่างไรก็ตาม การวางระบบใหม่ขึ้นมาไม่ได้ราบรื่นไปเสียหมด เกิดกระแสต่อต้านอยู่บ้างเพราะครอบครัวต้องสูญเสียแรงงานไปเป็นทหาร ช่วงแรก ๆ ระบบประสบปัญหาด้านการยกเว้นบุคคลที่จะเข้าไปเป็นทหารด้วย และในบรรดาชายที่เป็นทหารมีลูกชายคนรองหรือคนที่สามอยู่เป็นจำนวนมาก (กรณีลูกชายคนโตรอดพ้นการเกณฑ์มีเป็นจำนวนมาก)
สำหรับสิ่งที่ดำเนินการและเกี่ยวโยงไปถึงความมั่งคั่งของประเทศคือการศึกษา หลังการปฏิวัติเมจิ 4 ปี รัฐบาลประกาศว่าเด็กชายหญิงอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทุกคนจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถม นับเป็นครั้งแรกที่เด็กผู้ชายกับผู้หญิงได้เรียนรู้เนื้อหาเดียวกันในระบบโรงเรียน ต่างจากการปฏิบัติแบบเดิมในสมัยเอโดะที่พึ่งพาวัด นอกจากนี้ยังเกิดการพัฒนาพื้นที่ “เอโซ-จิ” อย่างจริงจังและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ฮอกไกโด” ด้วย ส่วนหนึ่งเป็นการคานอำนาจของรัสเซียซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน
2) เฟื่องฟูอุตสาหกรรม: “ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่” (殖産興業; shokusan-kōgyō) ส่วนนี้ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหรรมของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เช่น สิ่งทอ เหมืองแร่ ต่อเรือ รวมไปถึงเกษตรกรรมและปศุสัตว์ด้วย ช่วงแรกรัฐดำเนินการเองในรูปของบรรษัท แต่จากปี 1875 เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการโดยให้เงินสนับสนุนเอกชนที่ดำเนินกิจการเหล่านั้นมากขึ้น และในช่วงนี้การก่อตัวของไซบัตสึ (กลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ทรงอิทธิพลในกิจการหลายอย่างเป็นวงกว้าง) เริ่มชัดขึ้นเพราะความสัมพันธ์กับรัฐบาลซึ่งต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของเอกชน
อย่างไรก็ตาม ไซบัตสึถูกสลายอำนาจเพราะถูกมองว่ามีส่วนสนับสนุนสงครามโลกครั้งที่ 2 และอุตสาหกรรมหลายอย่างที่เคยได้รับการส่งเสริมในสมัยเมจิ ตอนนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินไปนานแล้ว แต่ร่องรอยจากยุคนั้นยังเหลือให้เห็นอยู่หลายจุด โดยมีพื้นที่หลายแห่งกลายเป็นมรดกโลกของญี่ปุ่น เช่น เกาะกุงกันจิมะซึ่งปัจจุบันเป็นเกาะร้าง อยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองนางาซากิ 15 กิโลเมตร เกาะนี้เคยเป็นเหมืองใต้ทะเลและมีการบังคับใช้แรงงานในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับสถานที่อื่น ๆ ด้านอุตสาหกรรมในยุคเดียวกันอีกราว 20 กว่าแห่ง
3) อารยธรรมงอกงาม: “การเปิดรับและปรับสร้างอารยธรรม” (文明開化; bunmei-kaika) หมายถึง การรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาสู่สังคมญี่ปุ่นหลังจากที่ปิดประเทศมานานในสมัยเอโดะ วัฒนธรรมบางอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตประชาชนถูกยกเลิก และมีการนำบางอย่างเข้ามาปรับใช้ ส่วนที่ยกเลิก เช่น แฟชั่นทรงผมของซามูไร ถึงกับมีเพลงร้องเสียดสีว่า “เคาะหัวไว้ผมจุกดูเถิด จะเกิดเสียงเก่า ๆ... เคาะหัวไว้ผมรองทรงดูสักที จะมีเสียงอารยธรรม” ผมจุกที่ว่านั้นหมายถึงทรงผมของซามูไรที่โกนผมส่วนหน้าจนลึกเข้าไปถึงกลางศีรษะและรวบผมส่วนหลังเกล้าเป็นจุก พอมาถึงสมัยเมจิ ผมทรงนี้ถูกมองว่าเป็นความล้าสมัย ส่วนวัฒนธรรมที่รับเข้ามาและยังคงเด่นชัดอยู่ในปัจจุบันคืออาหารการกิน ร้านขนมปังเปิดครั้งแรกในญี่ปุ่นก็ในสมัยเมจิ การรับประทานเนื้อสัตว์นอกจากปลาเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติของคนญี่ปุ่นก็ในสมัยนี้เช่นกัน
จากการประมวลความมา 3 ด้านหลักคาดว่าน่าจะพอฉายภาพให้เห็นได้ว่า “ญี่ปุ่นใหม่” เติบโตมาอย่างไร และดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น นอกจากแนวคิดเหล่านี้แล้ว ระหว่างเส้นทางการปรับประเทศให้ทันสมัย ญี่ปุ่นยังมีแนวคิดย่อยเกิดขึ้นอีกหลายระลอก หนึ่งในนั้นที่น่ากล่าวไว้แต่ไม่ควรเอ่ยเสียงดังเพราะเป็นไปได้ว่าอาจมีการหมั่นไส้ญี่ปุ่นขึ้นมา คือ “ดัตสึอา-นิวโอ” (脱亜入欧; datsua-nyūō) แปลตามตัวอักษรคือ “ก้าวพ้นเอเชีย เข้าสู่ยุโรป” นัยว่ามาตรฐานของญี่ปุ่นในสมัยเมจิคือ “ยุโรป” และความเป็นเอเชียถูกมองว่าล้าหลัง ควรจะรีบหลุดพ้นจุดนี้ไป (แต่ปัจจุบันก็ค้าขายอยู่แถวเอเชียนี่แหละ)
ทั้งหมดนี้คือความคิดเชิงปฏิวัติที่เกิดในยุคแห่งการปฏิวัติรอบด้านของญี่ปุ่น ตัวอย่างทั้งหลายที่ยกขึ้นมาก็เพื่อชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ส่วนการตัดสินคุณค่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงบางอย่างล้นออกไปกระทบภายนอกด้วย เช่น กรณีสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (1894-1895) และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (1904-1905) ล้วนแต่เกิดในสมัยเมจิทั้งสิ้น และญี่ปุ่นชนะทั้งสองครั้ง ที่สำคัญคือการชนะรัสเซียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ของยุโรป คงด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงฮึกเหิมไม่หยุดและก่อสงครามรุกรานในเวลาต่อ ๆ มา
หลายครั้งเมื่อมีคนพูดถึงญี่ปุ่นพร้อมทั้งพยายามหาปัจจัยว่าเหตุใดญี่ปุ่นกลายเป็นความมหัศจรรย์ของโลกด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ ลงท้ายมักจะสรุปกันตรงคำตอบที่ว่า “เพราะคนญี่ปุ่นมีวินัยและมุ่งมั่น” อันนี้คงไม่มีใครค้าน แต่สิ่งที่ผมอยากจะเสริมเข้าไปจากสายตาคนนอกเท่าที่มองเห็นในประวัติศาสตร์หลายส่วนของญี่ปุ่น ประกอบกับการสังเกตคนญี่ปุ่นรอบตัวจำนวนมากคือ นอกจากวินัยและความมุ่งมั่นแล้ว “คนญี่ปุ่นเป็นเผ่าพันธุ์ที่หาทางสายกลางไม่ค่อยเจอ” ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หมายความว่า ถ้าคิดจะทำอะไรแล้วก็มักจะมุ่งไปให้สุด หยุดไม่เป็น และไม่ค่อยได้คิดถึงผลรอบข้าง ถ้าหวังจะบรรลุผล อย่างไรก็จะทำ
เมื่อดูจากการปฏิวัติเมจิซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงถึงลูกถึงคน เรื่อยมาจนถึงสงครามที่ญี่ปุ่นบุกไปรุกรานที่อื่น คงจะกล่าวได้ว่าคนญี่ปุ่นยุคก่อนมีลักษณะแบบนั้นสูง ส่วนคนญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแบบนั้นน้อยลง แต่ยังคงมีเชื้อพอให้เห็นได้อยู่ เช่น คนญี่ปุ่นยอมทำงานจนตายดีกว่าจะขอลาออกเพราะมุ่งจะทำงานให้สำเร็จ
จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงได้เริ่มรู้สึกว่า...เอ่อ...เป้าหมายของเรามันกลายเป็นความทุกข์ของเขาหรืออาจจะของเราด้วยในท้ายที่สุด นั่นแหละคนญี่ปุ่นจึงหวั่นเกรงการกระทำสุดโต่งหรือความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน และหากผมจะทำนาย บอกได้เลยว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นแบบการปฏิวัติเมจิคงจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือเกิดได้ยากมากในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่เกี่ยวข้องกับสงครามด้วย
ไม่ว่าการปฏิวัติเมจิก่อให้เกิดผลต่อโลกอย่างไร แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงภายในญี่ปุ่นได้กลายเป็นบทเรียนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแก่หลายเป็นประเทศ และจากนี้ไปอีกหลายสิบปีก็จะยังมีคนมองย้อนการปฏิวัติและการพัฒนาของญี่ปุ่นในสมัยเมจิอีกแน่นอน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com