“สึกิจิ” ตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ใจกลางกรุงโตเกียว ปิดตัวลงอย่างถาวรเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เหลือไว้เพียงตำนาน 83 ปีของครัวแห่งญี่ปุ่น ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
วันที่ 6 ตุลาคม ผู้คนจำนวนมากทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติต่างมุ่งหน้าไปยังตลาดสึกิจิ ซึ่งจะเปิดทำการเป็นวันสุดท้าย ก่อนที่จะย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ในย่านโทโยซุ ผู้คนต่างใช้กล้องถ่ายรูป กล้องวีดิโอ และโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพมุมต่าง ๆ เป็นที่ระลึก ถึงแม้ทางตลาดจะประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ปิดทำการเวลา 12.00 น. ขอให้ประชาชนออกจากพื้นที่” แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีใครล่าถอย มีแต่คนที่เดินทางมาเพิ่มเติมไม่ขาดสาย
ภายในตลาด ดูเหมือนวุ่นวายยิ่งกว่าทุกวัน ไม่เพียงร้านค้าต่าง ๆ ที่สาละวนกับการเก็บของ ยังมีผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาเก็บความทรงจำ รถราวิ่งกันขวักไขว่สวนกับผู้คนจนน่าหวาดเสียว เพราะผู้คนต่างหวังจะไปทุกซอกทุกมุมของตลาดนี้เป็นครั้งสุดท้าย
ร้านซูชิส่วนใหญ่ปิดร้านไปก่อนหน้าแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่รู้ข่าวคราวการปิดตัวถาวร ถึงกับผิดหวังที่ไม่ได้ลิ้มรสร้านยอดนิยม แต่ก็มีบางร้านที่ยืนหยัดเปิดจนวันสุดท้าย หนึ่งในนั้นคือ ร้านข้าวหน้าเนื้อ “โยชิโนยะ” ซึ่งที่สึกิจิเป็นร้านหมายเลข 1 ก่อนจะขยายจนเป็นเครือข่ายร้านดังทั่วโลก
“โยชิโนยะ” เป็นแหล่งฝากท้องของเหล่าพ่อค้าอาหารทะเลมาตั้งแต่เป็นธุรกิจครอบครัวที่ตลาดปลานิฮงบาชิในปี 1899 และย้ายตามตลาดมายังสึกิจิในปี 1926 หลังจากนั้นถูกเผาผลาญจากระเบิดช่วงสงครามโลก ก่อนจะเปิดร้านได้อีกครั้งในปี 1947 และอยู่คู่กับสึกิจิมาจนถึงวันสุดท้าย
ผู้คนเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อลิ้มรสข้าวหน้าเนื้อในร้านต้นตำรับในวันสุดท้าย ชายคนหนึ่งบอกว่า เขามารอตั้งแต่เปิดร้านก่อน 6 โมงเช้า ทางร้านต้อนรับลูกค้าในวันสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหลังเที่ยงเล็กน้อย พนักงานของทางร้านจึงได้ประกาศ “สิ้นสุด” การบริการ พร้อมกล่าวขอบคุณลูกค้าที่มีอุปการะคุณมาตลอด และหวังว่าจะได้ให้บริการต่อไป
...แต่ลูกค้าจำนวนมากก็ยังไม่สลายตัว เบียดเสียดถ่ายภาพเก็บความทรงจำที่หน้าร้านต่อไปอีกนับชั่วโมง
จาก ห้องครัว สู่ แหล่งท่องเที่ยว
คงไม่มีใครเชื่อว่า ตลาดสดแห่งหนึ่งจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมได้ นักท่องเที่ยวไม่เพียงมาที่สึกิจิเพื่อชมการประมูลปลา แต่ยังเพิ่มลิ้มรสอาหารทะเลสด ๆ จนถึงขนาดที่ต้องจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และร้านรับแลกเงินตราต่างประเทศในบริเวณใกล้ตลาด
แต่นักท่องเที่ยวที่ขวักไขว่กีดขวางการทำงานภายในตลาดอย่างมาก จนเคยเกิดอุบัติเหตุรถชนคนหลายครั้ง พ่อค้าแม่ค้าในตลาดหลายคนก็ไม่พอใจที่นักท่องเที่ยวจับต้องอาหารทะเล ขณะที่ผลประโยชน์ที่คนในตลาดได้รับก็ไม่มีมากมายนัก เพราะการค้าปลาส่วนใหญ่เป็นการค้าส่ง ไม่ใช่ขายให้กับนักท่องเที่ยว
ร้านอาหารหลายแห่งบริเวณรอบ ๆ หลอกลวงนักท่องเที่ยวด้วยการคิดราคาซูชิแพงลิบลิ่ว แต่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดส่วนใหญ่ก็ยังยิ้มรับกับความเปลี่ยนแปลง
คนในตลาดระบุว่า สึกิจิเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนพ่อค้าปลาในตลาดลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะชาวประมงขาย “ปลาชั้นหนึ่ง” ให้กับซุปเปอร์มาเก็ตที่รับซื้อด้วยราคาสูง ปลาที่มาถึงสึกิจิจึงไม่ใช่ปลาที่ดีที่สุดอีกต่อไป
ด้วยความที่สึกิจิเป็นตลาดที่เปิดโล่ง บรรดาพ่อค้าต้องใช้น้ำแข็งเพื่อรักษาความสดของปลา อุปกรณ์ต่าง ๆ เก่าแก่จนอาจมีปัญหาด้านสุขอนามัย ประกอบกับความแออัดของตลาดจากการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลกรุงโตเกียวมีแผนจะย้ายตลาดสึกิจิตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่ก็เผชิญกับอุปสรรคมากมาย จนกระทั่งมีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการในปี 1999 แต่ก็ยังมีปัญหาทั้งในตลาดสึกิจิเอง และในพื้นที่ใหม่ที่โทโยซุ จนการย้ายตลาดล่าช้ามาจนถึงวันสุดท้ายในวันนี้
พื้นที่ใหม่ที่โทโยซุเคยเป็นโรงแยกก๊าซมาก่อน จึงมีข้อสงสัยเรื่องการปนเปื้อนสารพิษในดินและน้ำ ซึ่งทางการกรุงโตเกียวต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อทำให้พื้นที่ปลอดภัย โดยตลาดโทโยซุจะเปิดทำการในวันที่ 11 ตุลาคม
ตลาดโทโยซุจะเป็นพื้นที่ปิดทั้งหมด มีระบบทำความเย็น จึงมีสุขอนามัยที่ดีกว่าตลาดสึกิจิ แต่นักท่องเที่ยวจะชมการประมูลปลาผ่านผนังกระจก และไม่สามารถซื้อปลาจากพ่อค้าโดยตรง ต้องซื้อจากแผงอาหารที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ช่วงค่ำในวันสุดท้ายของตลาดสึกิจิ ผู้คนออกจากพื้นที่จากเกือบหมดแล้ว แต่ภายในยังมีขยะกองโตที่รอกำจัด และข้าวของมากมายรอขนย้าย ภายนอกประชาชนยังคงบันทึกความทรงจำจนถึงแสงสุดท้ายของวัน
...ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดยั่งยืน แต่บางครั้งการปิดฉากก็นำไปสู่การเปิดฉากครั้งใหม่ สึกิจิอาจจะเหมือนกับร้านข้าวหน้าเนื้อ “โยชิโนยะ” ที่อยู่เคียงคู่กับตลาดมาตั้งแต่แรก แต่วันนี้ได้เป็นร้านเครือข่าย ขยายไปทั่วโลก.