xs
xsm
sm
md
lg

“นาโอมิ โอซากา” นักเทนนิสผู้ท้าทายอัตลักษณ์แห่งญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พลันที่ “นาโอมิ โอซากา” คว้าแชมป์เทนนิสยูเอส โอเพน ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นต่างโอบรับเธอด้วยความยินดี ทั้ง ๆ ที่ด้วยรูปลักษณ์แล้ว เธอแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นอย่างมาก และไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ แชมป์เทนนิสสาวผู้นี้กำลังท้าทายอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น

นาโอมิ โอซากา มีแม่เป็นชาวญี่ปุ่น และพ่อเป็นชาวเฮติ เธอเกิดที่ญี่ปุ่นแต่เติบโตที่สหรัฐ และพูดภาษาอังกฤษ แต่หลังจากที่เธอคว้าแชมป์ยูเอส โอเพน เธอกลายเป็นขวัญใจของชาวญี่ปุ่น ค่ายรถยนต์ “นิสสัน” เซ็นสัญญาให้เธอเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “นิชชิน” ออกบะหมี่พิเศษเพื่อฉลองชัยชนะของเธอ และให้เธอเป็นพรีเซนเตอร์นาน 2 ปี ชาวญี่ปุ่นหลายคนหาซื้อไม้เทนนิสแบบเดียวกับที่โอซากาใช้ โดยบอกว่าประทับใจในท่าทีสุภาพของเธอในสนาม ที่แตกต่างจากนักเทนนิสมืออาชีพคนอื่น ๆ

โอซากาโชคดีกว่าเด็กลูกครึ่งหลายคนที่เติบโตในญี่ปุ่น ซึ่งมักจะมีปัญหาการเข้าสังคมกับเด็กชาวญี่ปุ่น ถูกมองอย่างแปลกแยก มีปมด้อย จนถึงถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน

ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองสูงมาก มีการแบ่งแยก “คนนอก” และ “คนใน” อย่างชัดเจน เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นเกาะโดดเดี่ยว เคยปิดประเทศ มีความรู้สึกร่วมในการเป็นกลุ่มเดียวกัน ตลอดจนความภาคภูมิในชาติที่สูงยิ่ง ทำให้ลูกครึ่งที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นจำนวนมากกลายเป็น “คนนอก” ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จก็ตาม

อาจารย์นาโอโกะ ฮาชิโมโต ซึ่งวิจัยเรื่องอัตลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น ระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว ชาวญี่ปุ่นจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นคือคนที่มีพ่อและแม่เป็นชาวญี่ปุ่น พูดภาษาญี่ปุ่นได้ดีเยี่ยม และประพฤติตัวเหมือนชาวญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นต้องการคนเชื้อสายญี่ปุ่นที่มีความสามารถอย่างโอซากา เพื่อเพิ่มศักยภาพของญี่ปุ่นในวงการกีฬา และศักดิ์ศรีบนเวทีโลก และในระยะยาวเพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น
ปริยังกา โยชิกาวะ” มิส เวิร์ล เจแปน ปี 2016
คนญี่ปุ่นสายพันธุ์ใหม่ สะเทือนอัตลักษณ์ลูกพระอาทิตย์

นาโอมิ โอซากา ระบุว่าเธอไม่เคยคิดอย่างจริงจังว่าเธอเป็นคนญี่ปุ่นหรือไม่ เธอเป็นตัวของเธอเอง เธอชอบอาหารญี่ปุ่นอย่างแกงกะหรี่หมูทอด แต่เมื่อมีคนบอกว่าเธอมีท่าทางเหมือนกับคนญี่ปุ่น เธอก็บอกว่า การเล่นเทนนิสของเธอไม่ได้เป็นแบบญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ อัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นก็เคยถูกท้าทายมาแล้ว เมื่อ เอเรียนา มิยาโมโต ลูกครึ่งญี่ปุ่น-แอฟริกัน-อเมริกัน ได้เป็นมิส ยูนิเวิร์ส ในปี 2015 และในปีต่อมา ปริยังกา โยชิกาวะ สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-อินเดีย ได้มงกุฎมิส เวิร์ล เจแปน ทั้งสองคนบอกว่า “แทบไม่มีใครเชื่อว่าเธอเป็นคนญี่ปุ่น”
 “เอเรียนา มิยาโมโต” มิส ยูนิเวิร์ส เจแปน ปี 2015
เธอจะเลือกสัญชาติไหน ?

นาโอมิ โอซากา ในวัย 20 ปี ถือทั้งสัญชาติญี่ปุ่นและอเมริกัน แต่ตามกฎหมายของญี่ปุ่นแล้ว ในวัย 22 ปี เธอจะต้องเลือกสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง และเธอจะเลือกสัญชาติไหน? อเมริกันหรือว่าญี่ปุ่น ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า กฎหมายที่บังคับให้เลือกสัญชาติเดียว ทำให้ญี่ปุ่นเสี่ยงกับภาวะ “สมองไหล” คนเด่นคนดังชาวญี่ปุ่นหลายคนเคยเลือกสละสัญชาติญี่ปุ่น เช่น คาซูโอะ อิจิงูโร นักเขียนรางวัลโนเบลเลือกสัญชาติอังกฤษ ขณะที่ โยอิชิโระ นัมบุ และ ชูจิ นากามูระ 2 นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เลือกสัญชาติอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กฎหมายสัญชาติของญี่ปุ่นก็ยังมีช่องว่างตรงที่ไม่มีบทลงโทษ ทำให้ยังมีผู้ที่มีสัญชาติญี่ปุ่นไม่ได้ประกาศสละสัญชาติกับทางการญี่ปุ่น ถ้าหากประเทศเจ้าของสัญชาติอีกสัญชาติหนึ่งไม่ได้บังคับ ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น ระบุว่ามีชาวญี่ปุ่นที่ถือ 2 สัญชาติราว 890,000 ราย

นาโอมิ โอซากา ไม่ว่าเธอจะเลือกสัญชาติใด หรือมีความเป็นญี่ปุ่นมากแค่ไหน แต่เธอมีสายเลือดญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นน่าจะร่วมภาคภูมิใจในความสำเร็จของเธอ.


กำลังโหลดความคิดเห็น