xs
xsm
sm
md
lg

ร้านเหล้าญี่ปุ่นที่อบอุ่นในดวงใจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก http://cocorokurumu.blog.jp/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เดี๋ยวนี้หลายท่านคงรู้จักร้านเหล้าญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า “อิซากาหยะ” กันมากขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นร้านใหญ่และมีหลายสาขา นอกจากร้านใหญ่เหล่านี้แล้วยังมีร้านเหล้าเล็ก ๆ ที่เปิดเป็นกิจการส่วนตัวหลายแห่ง เหมาะสำหรับลูกค้าที่ฉายเดี่ยวไปนั่งสบาย ๆ ซึ่งโดยมากแล้วร้านแบบนี้มีแต่ลูกค้าผู้ชาย ยังไม่เคยเห็นลูกค้าผู้หญิงฉายเดี่ยวสักที แต่ฉันโชคดีที่รู้จักร้านหนึ่งซึ่งเปิดโดยคุณแม่เพื่อนสนิทในญี่ปุ่น เลยได้ไปฉายเดี่ยวหลายครั้งหลายคราอยู่ค่ะ

ที่ว่าไปหลายครั้งหลายครานี้ก็ไม่ได้ไปเมาแอ๋นอนสลบอยู่คาโต๊ะนะคะ แม้จะชอบบรรยากาศร้านเหล้าญี่ปุ่นแต่ฉันก็ไม่ได้แตะเหล้า จะเน้นกินเสียมากกว่า ร้านเหล้าของคุณแม่เพื่อนตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด และเป็นร้านเหล้าเล็ก ๆ แห่งแรกที่ฉันเคยไป เน้นขายอาหารเมนูบ้าน ๆ จานเล็กที่เหมาะสำหรับรับประทานแกล้มเหล้าเบียร์

ตอนแรกฉันก็ไม่ทราบว่าคุณแม่เพื่อนเปิดร้าน เผอิญว่าวันหนึ่งคุยกับเพื่อนว่าอยากไปเยี่ยมคุณแม่ เพื่อนเลยบอกว่าให้ไปหาที่ร้านสิ ฉันก็เลยกะแอบย่องไปเซอร์ไพรส์ แต่แม้จะวางแผนไปเซอร์ไพรส์คนอื่นเขาแต่ตัวเองก็ตื่นเต้นเสียเองเพราะไม่เคยเข้าร้านเหล้าตัวคนเดียวมาก่อน

พอไปถึงตำแหน่งร้านตามที่เพื่อนบอกมา ก็เห็นโคมไฟสีขาวที่มีชื่อร้านเขียนเป็นตัวอักษรฮิรางานะแบบสมัยเก่าตั้งอยู่ที่พื้นบริเวณหน้าร้านหันตรงเข้าหาปากซอย ภายนอกร้านแลดูเก่า ประตูเป็นสีขาวสนิทล้อมกรอบสีดำ มองไม่เห็นภายในร้านเลยแม้แต่น้อย ชวนให้ระทึกว่าเปิดมาแล้วจะเจออะไรบ้าง
ภาพจาก https://asakusakanko.com/izakaya/
ฉันค่อย ๆ เลื่อนประตูเปิดอย่างไม่แน่ใจ ก่อนจะกวาดตาส่องความเป็นไปภายใน ร้านดูแคบและยาว มีที่นั่งเฉพาะเคาน์เตอร์อยู่ไม่ถึงสิบที่นั่งคล้ายร้านราเม็ง เห็นใบหน้าคนคุ้นเคยกำลังง่วนทำอะไรอยู่หลังเคาน์เตอร์ชวนให้อุ่นใจว่ามาถูกที่ ลูกค้าวัยคุณลุงนั่งอยู่ก่อนแล้ว 2-3 คน ฉันเอ่ยปากเรียกคุณแม่ตามที่เพื่อนเรียกว่า “มาหมะ " ซึ่งฉันเพิ่งรู้ตอนหลังว่าลูกค้าร้านเหล้าแบบนี้จะเรียกเจ้าของร้านซึ่งเป็นผู้หญิงว่า “มาหมะ” ด้วยเช่นกัน

พอเรียกอย่างนั้นปุ๊บ ทุกคนก็หันมามอง คุณแม่หันมาเห็นก็อุทาน “อุ๊ย มาได้ไงนี่” แล้วก็เรียกให้ฉันไปนั่งตรงที่นั่งว่างหน้าเคาน์เตอร์ ลูกค้าวัยคุณลุงซึ่งดูคุ้นเคยกับคุณแม่ดีถาม “ลูกสาวหรือ?” คุณแม่ตอบ “เปล่า นี่เพื่อนลูกที่มาจากเมืองไทย เมื่อก่อนเคยมาพักอยู่ที่บ้านระยะหนึ่ง เลยสนิทกันดี”

แล้วคุณแม่ก็ยื่นจานใบเล็ก ๆ ที่มีไชเท้าต้มจนนิ่มได้ที่ คอนเนียคุ ชิกุวะ กับไข่ต้มมาให้ โอเด็งของโปรดนี่เอง รีบคว้าตะเกียบสิคะ รออะไร
โอเด็ง ภาพจาก https://retty.me/
ระหว่างนั้นคุณแม่ก็คุยกับลูกค้าซึ่งอายุอานามน่าจะมากกว่าคุณแม่ด้วยภาษากันเองเหมือนคุยกับเพื่อน และเรียกลูกค้าด้วยชื่อเล่น เช่น “เท็ตจัง” และชื่อลุงคนอื่น ๆ ลงท้ายด้วย “จัง” หมด คงเพราะบรรยากาศเป็นกันเองมาก ทุกคนเลยหันมาคุยด้วยกันหมดราวกับเป็นคนในละแวกบ้านเดียวกัน

ลูกค้าของร้านส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำมาตั้งแต่สมัยที่คุณยายเป็นคนเปิดร้านและคุณแม่รับช่วงต่อ ก็เลยรู้จักกันมาหลายปี และมักเป็นผู้ชายที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีภรรยา เลยมักฝากท้องไว้กับที่ร้าน เพื่อนเล่าให้ฟังว่าเปิดร้านอย่างนี้คุณแม่เหนื่อยมาก ต้องเตรียมของแต่เช้ามืด แล้วกว่าจะปิดร้านก็ดึก รายได้ก็เท่าทุน ไม่ได้กำไรอะไร อยากจะเลิกทำเหมือนกันแต่ก็สงสารลูกค้าประจำที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวว่าจะไม่มีที่ให้ไป

ระหว่างนั่งรับประทานโอเด็งอยู่ ไม่ทันไรคุณแม่ก็ส่งอาหารอย่างอื่น ๆ ตามมาให้อีก ทั้งไข่ม้วน ข้าวราดแกงกะหรี่ ปลาย่าง ที่จริงฉันแค่จะมาเยี่ยมและนั่งคุยกับคุณแม่เฉย ๆ ไม่ได้กะมานั่งรับประทาน เลยต้องบอกคุณแม่ว่าพอแล้วค่ะ แต่คุณแม่ก็คะยั้นคะยอถามว่าลองนี่ไหม เอานั่นอีกไหม ตามประสาคุณแม่ผู้ใจดี ส่วนฉันก็เป็นโรคแพ้ผู้ใหญ่ใจดี เลยทำตัวว่าง่าย สุดท้ายเลยแทบจะกลิ้งออกมาจากร้านได้เพราะพุงกลมป๊อก

หลังจากครั้งนั้นในปีถัดมาที่ฉันไปเยี่ยมเพื่อน ๆ และผู้ใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดนี้ ก็จะแวะไปที่ร้านด้วย เจอลูกค้าหน้าเดิม ๆ เลยทักทายอย่างยินดี “สวัสดีค่ะ ลุงเท็ตจัง!” คุณลุงที่คุณแม่เรียกว่า “เท็ตจัง” หันมาส่งยิ้มให้ด้วยความแปลกใจที่จำแกได้และคุยด้วยอย่างอารมณ์ดี

ข้างเคาน์เตอร์ที่ฉันนั่งมีกิ่งไม้ซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้สีชมพูเล็ก ๆ บานเต็มกิ่งวางอยู่ในถังน้ำ สมัยนั้นฉันยังไม่เคยเห็นดอกซากุระเพราะไม่เคยมาญี่ปุ่นช่วงที่มันบาน เห็นเป็นดอกสีชมพูอ่อน ๆ เลยตื่นเต้นถามคุณแม่ว่านี่คือดอกซากุระหรือเปล่า คุณแม่ตอบว่าดอกบ๊วยและบอกว่าลูกค้าเอามาฝาก ฉันรู้สึกว่ามันดีจังที่มีดอกไม้สวย ๆ บานสดใสอยู่ในร้าน ทำให้บรรยากาศดี เลยหันไปขอบคุณคุณลุงคนที่อุตส่าห์เอามาฝากคุณแม่ ทำให้ฉันพลอยได้อานิสงส์เห็นของสวยงามไปด้วย คุณลุงได้ยินคำชมเลยพลอยยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ดีใจตามไปอีกคน
ดอกบ๊วย ภาพจาก http://www.forest-akita.jp/
เวลาไปที่ร้านทีไร คุณแม่ไม่เคยยอมให้ฉันจ่ายค่าอาหารเลยสักครั้ง แม้จะขอช่วยงาน ช่วยล้างจาน คุณแม่ก็ไม่ให้ทำ แต่เห็นรบเร้านักเลยบอก “งั้นช่วยแม่แกะเปลือกไข่ต้มแล้วกัน” ก่อนส่งไข่ต้มในกาละมังใบเล็ก ๆ ที่แช่น้ำไว้มาให้ ฉันแกะ ๆ ไปก็สงสัยว่าทำไมเนื้อไข่ขาวมันถลอกปอกเปิกแทบทุกฟอง คุณแม่บอกว่า “ไข่มันไม่ดีน่ะ”

ตอนนั้นฟังแล้วเข้าใจไปว่าคุณแม่กลัวฉันจะไม่สบายใจเลยโทษว่าเป็นความผิดของไข่ ไม่ใช่ความผิดของฉัน แต่อันที่จริงแล้วคุณแม่หมายความว่ามันเป็นที่ไข่จริง ๆ ฉันลองไปค้นดูว่าทำไมไข่บางฟองแกะแล้วสวย บางฟองแกะแล้วเนื้อหลุดติดเปลือกแม้จะใช้วิธีต้มหรือวิธีแกะแบบเดียวกัน เห็นเขาว่ายิ่งเป็นไข่ใหม่ ไข่ขาวจะยิ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ ความร้อนที่เกิดจากการต้มจะทำให้ก๊าซขยายตัวอัดไข่ขาวติดกับเปลือก เลยแกะแล้วไม่สวย เขาว่างั้นนะคะ

ผ่านไปหลายปีหลังจากนั้น คุณแม่ก็ปิดกิจการร้านเพราะเหนื่อย และลูก ๆ ก็เริ่มแต่งงานมีหลานมาให้ช่วยเลี้ยงช่วยดูแล คราวก่อนที่ฉันไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่กับเพื่อนและค้างที่บ้านอยู่สองสามวัน คุณแม่ก็จัดอาหารแบบที่ชวนให้นึกถึงร้านเหล้าร้านนั้น คุณแม่จะคอยดูแลทุกคนในบ้านคล้ายกับเวลาที่ดูแลลูกค้าในร้าน วันไหนไม่ได้ออกจากบ้านพอสาย ๆ บ่าย ๆ คุณแม่ก็จะเตรียมชาเตรียมกาแฟมาเสิร์ฟ จัดใส่จานมาพร้อมนมสดกระปุกเล็ก ๆ และน้ำตาลซอง ดูเป็นเรื่องเป็นราวอย่างกับนั่งรับประทานในร้านกาแฟ คงเพราะความเป็นแม่และความเป็นแม่บ้านที่แสนดี บวกกับความเป็นเจ้าของร้านผู้อารีมาก่อน จึงสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นรื่นรมย์และน่าอยู่ภายในบ้านได้โดยไม่ทำให้รู้สึกอยากออกไปไหน

พูดแล้วก็คิดถึงร้านเหล้าเล็ก ๆ ร้านนั้นและอาหารฝีมือคุณแม่ แม้จะไม่ได้เลิศรสมากมาย แต่ความอบอุ่นและอ่อนโยนของคุณแม่ก็พลอยทำให้อาหารธรรมดาเป็นอาหารชั้นดีและเป็นที่คิดถึงอยู่เสมอ

นึกไปถึงเมื่อหลายปีก่อนตอนอยู่เมืองไทย ฉันเคยไปนั่งรับประทานข้าวมันไก่ที่ร้านแห่งหนึ่งแถวเสาชิงช้า พอรับประทานเสร็จกำลังจะควักกระเป๋ากางเกงจ่ายเงินก็ต้องตกใจเพราะเพิ่งนึกได้ว่าไม่ได้เอากระเป๋าสตางค์มา ลืมไปเสียสนิทว่าฉันออกจากบ้านมาโดยมีเงินแค่ 20 บาทติดตัวเป็นค่ารถเมล์ไปกลับเพราะกะว่าแค่ออกมาทำธุระ

ฉันจ๋อยสนิทตอนเดินไปสารภาพกับเจ้าของร้านตามตรงว่าฉันลืมเอากระเป๋าสตางค์มา และมีเงินพอเป็นค่ารถกลับบ้านเท่านั้น จะมาจ่ายคืนให้ในวันหลัง เจ้าของร้านทั้งพ่อลูกหัวเราะอย่างอารมณ์ดี บอกว่า “ไม่ต้องหรอก” ฉันทำหน้าเหลอด้วยความงง เพราะถ้าบอกว่า “ไว้วันหลังก็ได้” ยังพอเข้าใจ แต่เขาบอกว่าไม่ต้องมาจ่ายคืนก็ได้ ฉันขอโทษขอโพยและขอบคุณในความมีน้ำใจของเจ้าของร้าน แล้ววันถัดมาฉันก็รีบเอาเงินไปจ่ายคืนให้ สองพ่อลูกเห็นก็ยิ้มเพราะจำได้

ที่จริงหลังจากนั้นฉันก็อยากจะไปอุดหนุนอยู่เรื่อย ๆ เสียแต่ว่าอยู่ไกล และฉันไม่ค่อยได้ไปแถวนั้นเลย แถมเรื่องนี้ก็นานมากเสียจนจำไม่ได้แล้วว่าร้านตั้งอยู่ตรงไหน เพียงแต่ยังจำความประทับใจในความอารีของเจ้าของร้านได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงและอยากไปอุดหนุนอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า คล้าย ๆ กับเรื่องของคุณแม่เพื่อนผู้ใจดีต่อลูกค้าซึ่งทำให้อยากไปเยือนอยู่เสมอนี่ล่ะค่ะ

นึกถึงเรื่องพวกนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าความสุขเป็นสิ่งที่ส่งต่อให้กันได้ง่ายจัง อาศัยแค่หยิบยื่นไมตรีให้คนอื่นก่อน พอส่งให้ใครก็เหมือนจุดเทียนต่อ ๆ กันไป ทำให้รอบข้างบรรยากาศสว่างไสวสดใสไปด้วยกันทั้งคนให้คนรับและคนแวดล้อมนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น