รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าประชากรสูงอายุในญี่ปุ่นมีจำนวนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และผู้สูงอายุจำนวนมากยังต้องทำงานถึงแม้จะพ้นวัยเกษียณแล้วก็ตาม
ในโอกาสวันเคารพผู้สูงอายุซึ่งเป็นวันหยุดราชการในญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับประชากรสูงอายุพบว่า จำนวนผู้ที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่าเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 35.57 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 28.1 ของประชากรทั้งหมด ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ จำนวนประชากรที่อายุ 70 ปีหรือมากกว่า ก็จะมีสัดส่วนเกินร้อยละ 20 เป็นครั้งแรก
จำนวนผู้สูงอายุผู้ชายอยู่ที่ 15.45ล้านคน ผู้สูงอายุผู้หญิงอยู่ที่ 20.12 ล้านคน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้สูงอายุผู้หญิงมีมากเกิน 20 ล้านคน
สถิตินี้แสดงให้เห็นว่า ประชากรมากกว่า 1 ใน4 ของญี่ปุ่นเป็นผู้สูงอายุ และสัดส่วนร้อยละของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะสูงเกินร้อยละ 35 ในปี 2040
อยู่จนแก่ ทำงานจนแก่
ผลการสำรวจยังพบว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ในญี่ปุ่นก็สูงสุดทำสถิติ มากกว่า 8 ล้านคน จำนวนผู้สูงอายุที่ยังทำงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นปีที่ 14 ติดต่อกัน
ร้อยละ 23 ของชาวญี่ปุ่นที่อายุมากกว่า 65 ปี ยังคงทำงาน ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับชาวสหรัฐที่ทำงานจนเกินวัยเกษียณที่ร้อยละ 18.6 ชาวอังกฤษร้อยละ 10 และชาวฝรั่งเศสร้อยละ 3 เท่านั้นที่ทำงานยามชรา
การทำงานในวัยชรามีหลายเหตุผล ผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นจำนวนมากทำงานต่อหลังเกษียณ เพราะคิดว่า “ยังทำไหว” ไม่อยากอยู่ว่างๆ ต้องการมีคุณค่าในสังคม ซึ่งก็มีผลการศึกษาระบุว่า การมีส่วนร่วมกับสังคมทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นกำลังอยู่ในความเสี่ยงที่ต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงวัยจำนวนมหาศาล จนมีการเสนอให้ขยายระยะเวลาเกษียณอายุราชการจาก 60 ปีเป็น 65 ปี และให้บริษัทต่าง ๆ เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานถึงอายุ 70 ปี
ถึงแม้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่สังคมที่เต็มไปด้วยคนแก่ และไม่มี “พลังคนรุ่นใหม่” ย่อมจะขาดชีวิตชีวา ขาดพลังในการขับเคลื่อน เพราะคนรุ่นก่อนย่อมอ่อนล้าและเปลี่ยนแปลงได้ช้า ขณะที่คนหนุ่มสาวก็จะรู้สึกว่าต้องทำงานหนักเพี่อโอบอุ้มระบบสวัสดิการ คุณค่าของผู้สูงวัยที่เคยเป็น “ร่มโพธิ์ร่มไทร” กำลังถูกท้าทาย.