ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ตอนเด็ก ๆ เราอยากจะเป็นผู้ใหญ่ แต่พอเป็นผู้ใหญ่อายุสักสี่สิบ เราก็อยากจะหน้าเด็ก ถ้ามีใครมาเรียกว่าคุณลุงคุณป้า เรามักนึกในใจ “หน็อยแน่ะ ยังไม่แก่สักหน่อย” รู้สึกเคืองอยู่ในที คันปากอยากจะบอกให้เรียกพี่ ขณะเดียวกันก็มีวาทกรรมคำว่า “หนุ่มใหญ่” กับ “สาวใหญ่” เข้ามาเลี่ยงความชราตามนิยามเก่า แม้ไม่แน่ชัดว่า “ใหญ่” คำนั้นหมายถึงอายุเท่าไรกันแน่ ขอแค่มีคำว่า “หนุ่ม” กับ “สาว” เราก็พอจะอุ่นใจได้ว่าคงยังเร็วไปหากจะคิดถึงชีวิตบั้นปลาย คือไม่มีใครอยากแก่และอยากเป็น “พี่” ไปได้เรื่อย ๆ แม้อายุห่างจากน้องสมมุติถึง 40 ปี
คนสมัยนี้อายุยืนขึ้นจริง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือสังขารที่จะเดินเหินได้สะดวก นี่คือประเด็นที่ไม่ได้เป็นแค่เรื่องส่วนตัวเสียด้วย แต่เกี่ยวข้องกับคนรอบข้างและโยงไปถึงปัญหาประชากร ดังนั้นแค่ “อายุยืน” จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป ถ้าจะให้ดีต้องมี “อายุสุขภาพยืนยาว” ด้วย หมายความว่า ตลอดระยะเวลาที่ยังมีลมหายใจ ควรจะมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่ตกเป็นภาระของคนรอบข้าง
ประเด็นเรื่องอายุยืน ไม่ต้องพูดกับคนญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเลยจุดนั้นไปแล้ว แต่การอยู่อย่างไรให้ช่วงสุขภาพดีมีความยั่งยืนคือประเด็นที่กำลังพูดถึงอย่างกว้างขวาง และในช่วง “วันเคารพผู้สูงอายุ” ของญี่ปุ่นซึ่งตรงกับวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 เดือนกันยายนนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกปีคือ มีสถิติด้านประชากรออกมา ไม่ใช่แค่ผู้คนในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หลายประเทศก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษเช่นกัน เพราะเรื่องผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นได้กลายเป็นปัญหาประชากรที่ใคร ๆ กำลังจับตาดูญี่ปุ่นว่าจะรับมืออย่างไรเผื่อจะนำไปใช้เป็นแนวทางบ้าง ขณะที่แนวโน้มนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย
เมื่อว่ากันถึงจำนวนผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 16 กันยายน ญี่ปุ่นประกาศว่าประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 ล้านคนและมีจำนวน 26.18 ล้านคน คิดเป็น 20.7% ของประชากรทั้งหมดและเป็นครั้งแรกที่เกิน 20% หากนับคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเข้าไปด้วย รวมแล้วจะมีจำนวน 35.57 ล้านคนหรือ 28.1% ซึ่งถือว่าสูงมาก และตอนนี้ญี่ปุ่นกลายเป็น สังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด (super aged society)
ถัดมาคือ “อายุสุขภาพ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า health life expectancy ความหมายตามตัวอักษรคือ “อายุสุขภาพที่คาดหมาย” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เค็งโก-จูเมียว” (健康寿命;kenkō-jumyō) กระทรวงสาธารณสุขฯ ให้คำจำกัดความว่า “ระยะเวลาที่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยปัญหาด้านสุขภาพ” หรือพูดง่าย ๆ คือไม่ป่วยเรื้อรังจนทำอะไรเองอย่างเป็นปกติสุขไม่ได้ ทางกระทรวงประเมินความยืนยาวของอายุกับช่วงสุขภาพดีเทียบออกด้วย ข้อมูลที่ยกมาชุดแรกนี้เป็นของปี 2557 พบว่า
ชายอายุเฉลี่ย79.55 ปี, อายุสุขภาพ 70.42 ปี, ส่วนต่าง 9.13 ปี
หญิงอายุเฉลี่ย 86.30 ปี, อายุสุขภาพ 73.62 ปี, ส่วนต่าง 12.68 ปี
ส่วนต่างคือช่วงที่สุขภาพไม่ดีจนต้องมีคนดูแล ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าทั้งผู้ดูแลและผู้ได้รับการดูแลย่อมเหนื่อยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ยิ่งนานยิ่งล้า ขณะที่ญี่ปุ่นพยายามเปิดรับผู้พยาบาลดูแลที่เป็นคนต่างชาติเข้ามาบรรเทาความขาดแคลนบุคลากร (แม้ยังไม่เพียงพอก็ตาม) แต่อีกด้านหนึ่งก็พยายามใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อลดช่วงเวลาสุขภาพไม่ดีให้สั้นลงด้วย ซึ่งเป็น นโยบายประชากร ระดับประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญในช่วงสี่ห้าปีมานี้ (ประมวลจาก นสพ. Nihon Kezai ฉ. 17 ก.ย. 2561, หน้า 2) สรุปได้ดังนี้
วัยเด็ก - จัดระบบให้เด็กรับการศึกษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ใหญ่วัยทำงาน
- ส่งเสริม “การเรียนใหม่” อย่างเต็มที่
- เพิ่มประชากรวัยทำงานด้วยการรับคนต่างชาติเข้ามามากขึ้น
- เสริมความแข็งแกร่งด้านการดูแลสุขภาพทำให้ช่วงอายุที่มีสุขภาพดีนั้นยาวนานขึ้น
อายุ 60 ปีขึ้นไป
- ขยายระยะเวลาเกษียณอายุราชการจาก 60 ปีเป็น 65 ปี
- เปิดโอกาสให้พนักงานที่อยากทำงานเลือกได้ว่าจะทำงานถึงอายุ 70 ปี
อายุ 70 ปีขึ้น - ปรับเปลี่ยนให้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่อายุ 70 ปี
แม้การแก้ปัญหาประชากรโดยรวมยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่เพราะเกี่ยวพันกับประเด็นอื่นอีกหลายอย่าง เช่น แรงงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่ารักษาพยาบาล แต่สิ่งที่น่าดีใจอย่างหนึ่งคือ เมื่อสำรวจอีกในปี 2559 พบว่าประชากรญี่ปุ่นมีอายุสุขภาพยืนยาวกว่าเดิม
ชายอายุเฉลี่ย80.98 ปี, อายุสุขภาพ 72.14 ปี, ส่วนต่าง 8.84 ปี
หญิงอายุเฉลี่ย 87.14 ปี, อายุสุขภาพ 74.79 ปี, ส่วนต่าง 12.35 ปี
ส่วนต่างที่ลดลงนี้ชี้ถึงแนวโน้มเชิงบวก ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าส่วนหนึ่งคงมาจากอัตราการสูบบุหรี่ที่น้อยลง และการเข้ามามีส่วนร่วมต่อกิจกรรมทางสังคมของคนวัยกลางคนกับคนสูงวัย หากมองลงไปในรายละเอียดของการดำรงชีวิตให้ยืนยาวโดยมีสุขภาพดีด้วยนั้น ผลการสำรวจบ่งบอกถึงสิ่งที่ผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นทำ เรียงลำดับจากมากไปน้อยดังนี้
1) ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ
2) นอนหลับและพักผ่อนอย่างเพียงพอ
3) ทานอาหารอย่างสมดุล ไม่ทานข้าวคนเดียว เข้าสังคม และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
4) ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพื้น ๆ ที่คนประเทศไหนก็น่าจะทำได้ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป ในสภาพที่ดูเหมือนจะธรรมดา ประเทศที่รัฐบาลไม่พยายามสร้างความตระหนักเรื่องการส่งเสริมสุขภาพอย่างจริงจังจะทำไม่ค่อยได้ คนญี่ปุ่นทำได้เพราะอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ การสร้างสิ่งแวดล้อมเกิดจากภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ญี่ปุ่นอาจแตกต่างจากหลายประเทศในด้านความจริงจัง
ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น สวนสาธารณะ ตามหัวมุมถนนแม้แต่ในกรุงโตเกียว มักมีสนามหรือสวนหย่อมเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ วันไหนอากาศดี ๆ จะมีเด็ก ๆ ออกมาวิ่งเล่น บางครั้งมีผู้สูงอายุออกมาพักผ่อน เดินออกกำลัง ได้พบปะพูดคุยกับคนในละแวกนั้น สวนสาธารณะในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสวนใหญ่อย่างสวนลุมพินีหรือสวนจตุจักรใจกลางกรุงเทพฯ แต่เป็นสวนขนาดย่อมประมาณ 20 ตารางวาหรือเล็กใหญ่กว่านั้นไม่เท่าไร อยู่ในชุมชน ทางการจัดทำไว้อย่างสะอาดสะอ้านและมีมากถึงแสนกว่าแห่งทั่วประเทศ (สวนใหญ่มีต่างหาก) นอกจากนี้ ยังมีห้องสมุดชุมชนในญี่ปุ่น ลองไปดูได้ ในวันธรรมดาจะมีผู้สูงอายุไปใช้บริการอ่านหนังสือไม่ขาดสาย ซึ่งทำให้สมองมีสิ่งเร้าและไม่เสื่อมง่าย ๆ
ในด้านอื่น รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีนโยบายอีก เช่น ส่งเสริมให้สถาบันการแพทย์จัดทำหน่วยสนับสนุนผู้ที่อยากเลิกสูบบุหรี่ จัดทำระบบข้อมูลด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมเพื่อให้รักษาโรคต่าง ๆ ได้ทันท่วงที ส่งเสริมการดูแลซึ่งกันและกันในชุมชนเป็นเครือข่ายด้วยการประชุมกลุ่ม จัดทำพวงกุญแจให้ผู้สูงอายุติดตัวไว้เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ติดต่อรับการรักษาพยาบาลได้ทันที และความเคลื่อนไหวล่าสุดคือรัฐบาลพยายามกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ รับผู้สูงอายุเข้าทำงานอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาแรงงาน และอีกส่วนหนึ่งคือหาแรงกระตุ้นให้แก่สมองของผู้สูงวัย เพราะเป็นที่เชื่อกันว่าขณะที่ชีวิตยังเคลื่อนไหวและมีเป้าหมายหรือคุณค่า ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “อิกิไง” (生き甲斐;ikigai) นั้น พลังชีวิตส่วนนี้จะทำให้ร่างกายแข็งแรงและมีชีวิตยืนยาว เป็นต้น
สมัยก่อนเราคุยกันว่าอายุสัก 60 ปีคงเตรียมตัวลาโลกได้แล้วเพราะเงื่อนไขสมัยนั้นบอกว่าหกสิบปีถือว่าแก่ แต่สมัยนี้ตัวเลขขยับไปไกล บางคนบอกว่าขอสัก 80 ได้ไหมแล้วค่อยคิดเรื่องวาระสุดท้ายเพราะมีอะไรอยากจะทำอีกเยอะไปหมด แต่ของญี่ปุ่นนั้น ถึงกับมีคำกล่าวแพร่หลายตอนนี้เลยว่า “นี่คือยุคที่คนจะอยู่เกินร้อยปี” ซึ่งก็มิได้เกินความจริงแต่อย่างใดเพราะคนญี่ปุ่นที่มีอายุเกินร้อนตอนนี้มีถึงประมาณ 70,000 คน แต่การจะอยู่ให้ถึงจุดนั้นและมีสุขภาพดีด้วยต้องวางแผนระยะยาว มิฉะนั้นอยู่ไปนาน ๆ เราก็คงต้องทนกับความเบื่อ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com