xs
xsm
sm
md
lg

แอบขายก๋วยเตี๋ยวหลังเลิกงาน ..จะขอหัวหน้าญี่ปุ่นกลับบ้านอย่างไรไม่ให้โดนไล่ออก!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว วันก่อนผมไปทานไก่ทอดที่ร้านหนึ่งไม่ไกลจากที่พักเท่าไรนัก ไก่กรอบ อร่อยกว่าอีกร้านที่เคยไปทานทำให้ผมรู้สึกแปลกใจว่าทำไมร้านนี้อร่อยกว่าร้านอื่น ทั้งๆ ที่เป็นแฟรนไชส์เดียวกัน และไม่ใช่แค่แฟรนไชส์ ไก่ทอดเท่านั้นบางครั้งร้านแฟรนไชส์อื่นๆ บางร้านก็ให้ความรู้สึกว่ารสชาติหรือคุณภาพไม่คงที่ เพราะที่ญี่ปุ่นร้านค้าแฟรนไชส์เดียวกันทุกๆ อย่างจะค่อนข้างเหมือนกันหมดทั้งรสชาติ การบริหาร การบริการ ตอนแรกนึกว่ารู้สึกไปคนเดียวแต่หลังจากได้ลองถามเพื่อนดูว่า รู้สึกว่าร้านไก่ทอดนี้ต่างจากร้านอื่นไหม เพื่อนก็บอกเหมือนกัน ส่วนอีกร้านที่เมื่อก่อนไปบ่อยเพราะมีที่พักแถวนั้น ร้านนั้นอยู่แถวสุขุมวิท แต่บอกตรงๆ ไม่รู้ผมเป็นคนเดียวหรือเปล่าร้านนั้นนี่ไปทุกครั้งก็ต้องผิดหวังทุกครั้งเลย แต่ตอนนั้นไม่มีที่ไป:)

เพราะที่ร้านนั้นเจอไก่ไม่กรอบบ้าง ไก่ลีบๆ เย็นๆ รสชาติไม่คงที่บ้าง เจอพนักงานชักสีหน้าบ้าง แม้กระทั่งเจอขนในไอศกรีมสตอร์เบอร์รี่ เอาไปแจ้งร้านก็เปลี่ยนให้นะครับแต่ไม่พูดขอโทษสักคำ คือเรื่องการบริการนี่ผมค่อนข้างผิดหวังมากพอสมควร ดังนั้นก็เลยต้องเลือกเข้าละครับ เอาเป็นว่าพอใจร้านไหนก็เข้าแต่ร้านนั้นไปละกัน

คำว่าแฟรนไชส์ franchise คิดว่าทุกท่านคงทราบดีว่าเป็นชื่อเรียกการทำธุรกิจโดยร้านค้าแฟรนไชส์จะได้สิทธิและส่วนการครอบครองการบริหารจัดการและการจัดจำหน่ายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ของของบริษัทแม่ ทั้งชื่อของกิจการรวมทั้งระบบการทำงานโดยใช้แบบแผนในการจัดการไปในทิศทางเดียวกัน นับว่าเป็นวิธีการขยายตลาดอีกวิธีหนึ่ง ตามปกติแล้วร้านแฟรนไชส์จะใช้ระบบการผลิต ระบบการขาย ระบบการบริหารการตลาด เดียวกัน เพื่อให้มีรูปแบบและวิธีดำเนินธุรกิจของทุกสาขาอยู่ในมาตรฐานเดียวกันตามต้นแบบของบริษัทแม่

ตัวอย่างร้านแฟรนไชส์เล็กๆ ที่ญี่ปุ่น บางร้านอาจมีต้นกำเนิดมาจากร้านราเมงคุณลุง (ร้านบะหมี่ญี่ปุ่น) แต่ต่อมาขยายตัวเป็นแฟรนไชส์ เมื่อขยายตัวมีร้านสาขาแล้วร้านคุณลุงจะกลายเป็นระบบบริษัทญี่ปุ่นไปโดยไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าถึงจะดูเป็นร้านรถเข็นง่ายๆ หรือร้านเล็กๆ ตามซอกซอยก็แทบจะเป็นแนว salaryman เลยทีเดียว ร้านหลักจะรู้จักพนักงานในร้านแฟรนไชส์สาขาของตน จะมีการอบรมอย่างเคร่งครัด เมื่อมีสาขาเพิ่มขึ้น มีพนักงานเพิ่มมากขึ้นเป็น 100-200 คน ร้านหลักก็จะส่งสายสืบไปตรวจสอบข่าวคราวเป็นประจำ กลุ่มสายสืบที่คอยไปตรวจสอบร้านสาขาให้นั้นจะเข้าไปทำที่เป็นลูกค้าปกติโดยคนในร้านไม่มีทางรู้ว่าใครเป็นสายสืบ


เพื่อนๆ เคยได้ยินทีมนักชิมและตรวจสอบอาหารของมิชลินไหมครับ อันนั้นเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวัดกระแสความนิยมของอาหาร รวมถึงเทคนิคการทำอาหาร เขาจะมีทีมที่ออกเดินทางไปเพื่อลิ้มรสอาหาร และประเมินคุณภาพของร้านอาหารโดยที่ไม่เปิดเผยตัวตน ตามหลักเกณฑ์การประเมินและมาตรฐานที่ตนเองต้องควบคุม เช่น เรื่องคุณภาพของวัตถุดิบ รสชาติอาหาร มาตรฐานที่สม่ำเสมอ เป็นต้น

ส่วนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของบริษัทลุงราเมงก็จะทำหน้าที่คล้ายๆ ทีมตรวจสอบพวกมิชลิน แต่ผู้ตรวจการนั้นเป็นคนในของลุงเอง จะมีความโหดและเข้มไม่ต่างจากทีมตรวจสอบจากบริษัทชั้นนำเลยทีเดียว คนตรวจสอบจะเข้าไปตรวจเช็คตามหัวข้อตรวจสอบที่กำหนดไว้ เช่น รสชาติ ความสะอาด มารยาท ต่างๆ โดยไม่แสดงตัวว่าเป็นผู้ตรวจสอบ ถ้าพบประเด็นไม่ดีขึ้นมาสักประเด็นร้านนั้นจะโดนสาขาหลักเล่นงานได้ทันที นี่ขนาดบริษัทเฟรนไชส์เล็กๆ ยังขนาดนี้ แล้วเฟรนไซส์ของบริษัทใหญ่ๆ ละ ไม่ต้องคิดว่าจะปล่อยไปง่ายๆ

และบรรดาร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นก็ยิ่งมีการตรวจเช็คเยอะ ยิบย่อยมากมาย เช่น ร้านแบรนด์เดียวกันต้องทำโอเด้งออกมาให้มีรสชาติเหมือนกันและถูกต้องตามข้อกำหนด ถ้ารสชาติไม่เหมือนกันนี่เป็นเรื่องแน่นอน คิดว่าเพื่อนๆ อาจจะเคยเห็นนะครับตามร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น ข้างๆ เคาวน์เตอร์แคชเชียร์จะมีตู้อบอาหาร พวกไก่ทอด ไก่ย่าง หม้อต้มโอเด้ง หรือพวกลูกชิ้นปลา ไข่ หัวไชเท้าต้มน้ำซุป อุ่นร้อนพร้อมเสิรฟตลอดเวลา

ร้านขายผักที่ญี่ปุ่น ก็มีแบบเเฟรนไชส์นะเออ ตามชุมชนต่างๆ บางที่มีร้านขายผักแทรกตัวอยู่ ร้านขายผักที่เป็นร้านเเฟรนไชส์จะมีผักอื่นมาวางขายโดยพละการ โดยที่ผักนั้นไม่มีในรายการที่แจ้งให้สาขาหลักทราบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อโดนสุ่มตรวจก็จะโดนเด้งทันที ไล่ให้เอาผักนั้นออกไป จะมาขอวางขนมทำมือ หรือของฝากขายไม่ได้เลย

กลับมาร้านไก่ทอดแถวที่พักที่เมืองไทยที่ผมไปบ่อยๆ อีกหน่อยครับ ร้านนั้นไปทีไร ก็มักจะเจอน้องๆ ที่ทำงานในร้านโบกมือทักทายเพื่อนๆ ที่ออกกะ หรือเพื่อนที่เพิ่งมาเข้างาน โดยบางคนยังใส่ชุดพนักงานของโรงงานอยู่เลย แสดงว่ามีน้องๆ หลายคนที่มีงานหลักและมาทำงานพาร์ทไทม์เสริม แบบนี้ก็เป็นเรื่องดีอีกอย่างหนึ่งของการทำงานที่เมืองไทยนะครับ ซึ่งบางคนคงไม่ทราบเลยว่าต่างจากระบบการทำงานที่ญี่ปุ่นมากมาย เพราะการทำงานเป็นพนักงานบริษัทหรืองานข้าราชการที่ญี่ปุ่นก็คือ การทำที่องค์กรนั้นๆ ที่เดียว จะทำงานนอก จะทำงานส่วนตัวอื่นๆ ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าหัวหน้ารู้ละก็อาจเป็นสาเหตุของการถูกให้ออกจากงานได้เลยทีเดียว

สมมุติกรณีถ้าทำงานบริษัทญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่น แล้วพนักงานคนหนึ่งต้องรีบเลิกงานเพื่อมาทำพาร์ทไทม์ คิดว่าเขาจะบอกหัวหน้าว่าอะไรดี เพื่อให้โดนดุหรือโดนเขม่นน้อยที่สุด?
1. บอกหัวหน้าว่าขอกลับเพราะมีเรียนปริญญาโทภาคค่ำ⛪️
2. ขอกลับเพราะต้องไปซ้อมบาสเกตบอลที่ชมรมของบริษัท หรือไปทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ เช่น ต้องไปเป็นอาสาสมัครฝึกเปียโนให้เด็ก⛳️
3. ขอกลับเพราะต้องไปปาร์ตี้กับคนในบริษัท🍻
4. ขอกลับไปขายก๋วยเตี๋ยว ต้องรีบไปเตรียมหั่นผัก🍜

พนักงานคนนี้จะโดนหัวหน้าเขม่นคิดเป็นกี่คะแนน % ยิ่งสูงยิ่งน่ากลัวนะครับบอกเลย

1. บอกหัวหน้าว่าขอกลับเพราะมีเรียนปริญญาโทภาคค่ำ จะโดนหัวหน้าเขม่น 70% (´・_・`) สูงปรี๊ด เรื่องเรียนต่อนี่ไม่ค่อยมีผลต่อการประเมินผลการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ หัวหน้าไม่ได้พอใจกับเราสักเท่าไร นอกจากเป็นการเรียนต่อที่บริษัทร้องขอมาก็อาจจะอนุโลมให้ออกไปเรียนได้และมีผลต่อหน้าที่การงานหรือการขึ้นเงินเดือนในอนาคต หรือกรณีถ้าต้องเรียนภาคปฎิบัติตามหลักสูตรที่บริษัทจัดอบรมให้พนักงาน เช่น ยกระดับความรู้ทางภาษาต่างประเทศ เพิ่มความรู้ทางคอมพิวเตอร์ หรือการอบรมด้านคุณภาพ เป็นต้น ก็อนุโลมให้ออกไปเรียนได้

2. ขอกลับเพราะต้องไปซ้อมบาสเกตบอลที่ชมรมของบริษัท หรือไปทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจเช่น ต้องไปเป็นอาสาสมัครฝึกเปียโนให้เด็ก กรณีนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับกีฬาของบริษัทละก็อาจโดนหัวหน้าเขม่นประมาณ 20-40% ( ゚д゚ _) ... แต่ถ้าเป็นกีฬาที่อยู่ในประเภทที่เป็นงานอดิเรกที่หัวหน้าชอบ เช่น กอล์ฟหรือ ดูเบสบอล หรือคุณเป็นนักบอลมืออาชีพที่บังเอิญทำงานที่บริษัทนั้น ท่าทีของหัวหน้าก็อาจจะหยวนๆ ไม่เขม่นใส่ ส่วนกีฬาอื่นๆ หรือขอไปเล่นดนตรี สอนดนตรีก็ไม่ใช่ว่าจะดีนะครับ หัวหน้ามองหน้าทำตาเขียวใส่นิดหน่อย

3. ขอกลับเพราะต้องไปปาร์ตี้กับคนในบริษัท ข้อนี้หมายถึงไปดื่มเหล้ากับหัวหน้า หรือเพื่อนๆ ในฝ่ายในแผนก ส่วนใหญ่ถ้าเป็นบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่หัวหน้าโอเคครับ (^ω^) เพราะเป็นการแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำงานร่วมทีมกันได้ มีแนวโน้มที่จะอยู่กับบริษัทได้นานๆ เพราะถ้าพนักงานที่มักจะปลีกตัว ไม่เข้าร่วมสังสรรค์กับกิจกรรมของบริษัทแสดงให้หัวหน้าเห็นว่า มีแนวโน้มจะลาออกได้ อาจไม่เป็นที่ไว้วางใจในอนาคต

4. ขอกลับไปขายก๋วยเตี๋ยว ต้องรีบไปเตรียมหั่นผัก ข้อนี้เตรียมรับซองขาวครับ จะพูดตรงๆ หรือไม่ถามใจคุณดู (*੭ `Д´)੭フォオオオオオオオオオ!ノ#`Д´)ノ⌒┻━┻

ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าทำงานบริษัทญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่นเนี่ย จะเปิดเผยให้บริษัทรู้ไม่ได้เด็ดขาดนะครับว่าทำงานนอก หรือรับงานพาร์ทไทม์เพราะอาจจะเป็นเหตุผลให้คุณโดนแจกซองขาวได้ โดยปกติพวก salaryman サラリーマン ญี่ปุ่นมักจะทำงานในองค์กรหนักมาก จนไม่มีเวลาออกไปทำงานที่นอกเหนือจากงานประจำครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่ไทยมาก ซึ่งผมก็มองว่าน้องๆ พนักงานโรงงานในไทยที่มาทำงานพาร์ทไทม์ต่อหลังเลิกงานนี่เป็นคนขยันมาก และดูมีความรับผิดชอบนะครับ วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น