xs
xsm
sm
md
lg

สนุกดีกับของแจกฟรีที่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รัก ทุกท่านชอบของฟรีกันไหมคะ ที่ญี่ปุ่นมักมีของแจกอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างแชมพูออกใหม่ เครื่องสำอางออกใหม่ ขนมออกใหม่ ที่เขี่ยบุหรี่พกพา ไม้ขีดไฟ พัด ทิชชู หรือนิตยสาร ที่เจอบ่อยที่สุดก็คงจะไม่พ้นกระดาษทิชชูห่อสำหรับพกพานี่เอง

สมัยเด็ก ๆ ฉันเคยเห็นคนเขาแจกทิชชูในญี่ปุ่น ก็ไม่ได้คิดอะไรเลยนอกจากเห็นว่ามันเป็นการแจกทิชชูฟรี พอเดินไปขอรับกลับโดนปฏิเสธเสียอย่างนั้น ไม่ยักเหมือนเวลามีการแจกตัวอย่างสินค้าที่ใคร ๆ ก็พากันแห่เข้ามาขอรับและคนแจกก็ยินดีให้ ที่เป็นอย่างนั้นก็เป็นเพราะว่าทิชชูเหล่านั้นแจกเพื่อการโฆษณาแบบเล็งกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สมมติว่าถ้าเป็นการโฆษณาร้านนั่งดื่มสำหรับสาว ๆ ก็อาจจะแจกเฉพาะผู้หญิงวัยนักศึกษาหรือวัยเริ่มทำงาน ส่วนบริษัทมือถือ บริษัทประกัน ร้านปาจิงโกะ หรือไปรษณีย์ก็จะแจกกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ที่กว้างหน่อย เป็นต้น

พี่ผู้ชายคนไทยที่เคยอยู่ญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่าครั้งแรกที่เห็นคนแจกทิชชูก็งงว่ามันคืออะไร พอรับมาเห็นว่าเป็นทิชชูก็ดีใจว่าดีเหมือนกันเผื่อเอาไว้เช็ดน้ำมูกเพราะผู้ชายไม่ค่อยพกทิชชู จะพกเป็นผ้าเช็ดหน้าเสียมาก แต่ก็ไม่อยากใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดถ้าไม่จำเป็น พี่เขาเล่าความประทับใจให้ฟังมากมาย ข้อแรกคือคนแจกมีวินัยคือไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกอย่างไรก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้โดยไม่ย่อท้อ ยามอากาศไม่เป็นใจก็เตรียมมาพร้อมทั้งร่ม ทั้งเสื้อฝน

อีกข้อคือดูเหมือนเขาจะได้รับการอบรมก่อนมาแจก เพราะคนแจกจะสังเกตอากัปกิริยาของเป้าหมายที่ต้องการเสียก่อน ถ้าเดินเร็ว วิ่ง หรือรีบ ก็ไม่ยัดเยียดเอาทิชชูให้ ทั้งยังหลีกทางให้ด้วย เราจึงไม่เห็นคนแจกทิชชูกันในชั่วโมงเร่งด่วนที่คนรีบไปทำงานกัน ข้อนี้จะต่างจากที่นิวยอร์กซึ่งจะแจกหนังสือพิมพ์ฟรีตามทางออกสถานีรถไฟใต้ดินในชั่วโมงเร่งด่วน และมีคนรับกันไม่น้อยเลยทีเดียว

พี่เขาเล่าต่อไปว่าคนแจกทิชชูจะรอให้เป้าหมายเดินเข้ามาในพิสัยทำการ คือราวสองเมตร ก่อนจะวาดมือออกไปพร้อมเชื้อเชิญให้รับทิชชูสั้น ๆ ส่วนมากเป็นหน้าสถานีรถไฟที่เป็นทางกว้าง ถ้าเป้าหมายเดินออกห่างรัศมีมากไปหน่อยก็อาจก้าวเข้าประชิดขึ้นเล็กน้อยสัก 1-2 ก้าวพอให้เป้าหมายไม่รู้สึกถูกคุกคามก่อนจะวาดมือออกไป ฟังพี่ฉันผู้ช่างสังเกตสังกาขนาดหนักแล้วก็ชักสงสัยว่าจริง ๆ แล้วแอบไปส่องสาวที่ยืนแจกทิชชูอยู่หรือเปล่าถึงได้ข้อมูลมาละเอียดลออเพียงนี้

เคยคิดเหมือนกันนะคะว่าทิชชูแจกเหล่านี้มีผลทางการตลาดมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าหากคนรับมาเพราะต้องการทิชชูมากกว่าจะสนใจเรื่องโฆษณา แต่ว่ากันว่ามันเป็นการโฆษณาที่ต้นทุนต่ำและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง เพียงแค่เป้าหมายรับมาก็ถือว่าใช้ได้แล้ว นอกจากนี้คนที่ได้รับและอ่านโฆษณาหรือดูผ่าน ๆ ก็มีอัตราสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งทีเดียว บางคนก็ดูเผื่อจะได้รู้ว่ามีร้านอะไรเปิดใหม่ มีงานพิเศษอะไรไหม มีคูปองส่วนลดหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ บางคนก็รู้สึกว่ารับของฟรีมาแล้วจะไม่ดูเสียเลยว่าคนให้เขาต้องการสื่อข้อมูลอะไรก็น่าเกลียดเลยยอมดูสักหน่อย อย่างนี้ก็มี

ได้ยินว่าปีหนึ่ง ๆ ญี่ปุ่นการแจกทิชชูฟรีเพื่อโฆษณากันเป็นหลักพันล้านห่อเลยทีเดียว แสดงว่ามันต้องมีผลทางการตลาดไม่น้อย ไปไหนมาไหนก็จะเจอคนแจกทิชชูอยู่บ่อย ครั้งล่าสุดก่อนจะไปญี่ปุ่นฉันลืมเอาทิชชู่ห่อติดกระเป๋าไปด้วย เลยว่าจะไปหาซื้อในร้านขายยา น้องฉันถามว่าจะซื้อไปทำไม เดี๋ยวก็ได้รับแจกฟรี แล้วก็เป็นดั่งว่า เราได้รับทิชชู่ฟรีภายใน 3-4 วันที่อยู่ฮอกไกโดหลังจากซื้อของในร้านแห่งหนึ่ง อาจจะเพราะอยู่นอกเมืองเลยไม่ค่อยเจอคนแจกทิชชู ถ้าอยู่ในเมืองคงได้รับอยู่เรื่อย ๆ

จะว่าไปแล้วตอนที่ฉันอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็ได้รับทิชชูมาเยอะจนใช้ไม่ทัน แล้วก็มักจะลืมว่าไปว่ามีแล้วเลยเผลอรับมาใหม่อีก เอาเข้าจริงในชีวิตประจำวันกว่าจะใช้หมดสักห่อนี่ก็อาจจะกินเวลาหลายสัปดาห์ เพราะไม่ได้มีเหตุให้ต้องใช้ทุกวัน ยิ่งคนญี่ปุ่นพกผ้าเช็ดหน้ามากกว่าจะใช้ทิชชู่เช็ด และเวลาเข้าห้องน้ำก็มีทิชชู่ให้ตลอดนี่ ไม่ทราบว่าห่อหนึ่ง ๆ จะได้ใช้มากน้อยแค่ไหนนะคะ

ฉันจำได้ว่าสมัยก่อนไปพักบ้านคุณป้าของเพื่อนสนิท ตอนจะออกไปข้างนอก คุณป้าก็หยิบทิชชู่แจกฟรีให้มา 2-3 ห่อ ฉันบอกว่าห่อเดียวก็พอ เอาไปทำไมเยอะแยะ คุณป้าบอก "เอา ๆ ไปเถอะมีอีกเพียบ ได้มาฟรี!" ฉันเหลือบไปเห็นว่ากล่องเก็บทิชชู่ของคุณป้ากล่องเบ้อเริ่ม เดาว่าในนั้นมีเกือบ ๆ ร้อยห่อได้ ไม่รู้คุณป้าจะใช้อย่างไรทันเว้นแต่ท่านจะจามทุกวัน วันละหลาย ๆ หน

แม้จะเป็นของฟรีแต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะรับ เพื่อนฉันบางคนไม่ยอมรับทิชชูโฆษณาเพราะ “มันดูภาพลักษณ์ไม่ดี” ฉันก็งงว่ามันภาพลักษณ์ไม่ดีอย่างไร พอไปลองค้นข้อมูลดูก็เลยได้ทราบว่าเหตุที่บางคนไม่ยอมรับทิชชูฟรีนั้นเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่ามัน “ดูเป็นพวกไม่มีกะตังค์” “ดูไม่เริ่ด” “น่าอายถ้ามีคนเห็น”

แม้ว่าคนแจกของฟรีมักจะแจกกันอย่างมีมารยาทกันเป็นส่วนใหญ่ ใครไม่เอาก็ไม่ตื้อ แต่ในบางแห่งที่วัยรุ่นเดินเยอะ ๆ บางทีก็มีคนยัดเยียดนิตยสารเล่มหนามาให้ด้วย ที่ฉันเคยได้รับมาเป็นนิตยสารการ์ตูนฟรีที่เต็มไปด้วยโฆษณา ฉันไม่ได้คิดจะรับหรอกค่ะ และคิดว่าคนที่ยื่นมือไปรับด้วยตัวเองก็น่าจะน้อยเพราะมันเทอะทะ เกะกะ ถือแล้วหนักมือเปล่า ๆ เหตุที่มันมาอยู่ในมือฉันได้ก็เพราะพอฉันยื่นมือไปรับทิชชูฟรีจากคนหนึ่งปุ๊บ ก็มีคนยื่นนิตยสารใส่ในมือฉันตามมาด้วยเลยโดยไม่ทันได้ตั้งตัว แบบว่าทำงานกันเป็นทีมเวิร์คมาก ฉันทั้งงงทั้งแอบฉุนที่โดนมัดมือชก เปิด ๆ หนังสือดูก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ จะทิ้งก็ไม่มีถังขยะ จะถือเรื่อยไประหว่างไปเดินช้อปปิ้งก็เป็นภาระ ฉันเลยเดินกลับไปหาคนแจกและส่งคืนให้เสียเลย

ของที่แจกแล้วไม่ค่อยมีคนรับส่วนใหญ่จะเป็นพวกใบปลิวโฆษณาเปล่า ๆ โดยเฉพาะใบปลิวโฆษณาขายคอนแท็กเลนส์ บางทีก็รับมาบ้างเพราะสงสารคนแจกแล้วไม่มีใครรับ แต่ที่ฉันชอบรับที่สุดก็คือใบปลิวโฆษณาร้านราเม็งเพราะมักมีคูปองให้ไข่ต้มปรุงรสฟรี ให้เกี๊ยวซ่าฟรี พูดแล้วก็หิว...

ทีแรกนึกว่าทิชชูฟรีจะมีเฉพาะในญี่ปุ่น แต่เห็นเขาว่าบางประเทศก็มีเหมือนกัน เช่น เกาหลี จีน ไทย อเมริกา แคนาดา เป็นต้น เดาว่าน่าจะได้ต้นแบบมาจากญี่ปุ่น และในบางประเทศก็มักแจกโดยบริษัทญี่ปุ่นนี่เอง ไม่กี่วันก่อนฉันไปเดินซื้อกับข้าวในซูเปอร์มาร์เก็ตของเกาหลี เจอคุณน้าคนเกาหลีเข้ามาคุยด้วยสักพักจึงได้ทราบว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้เผยแพร่ศาสนา ก่อนจะจากไปเธอก็ยื่นทิชชูห่อหนาให้ห่อหนึ่ง ด้วยความที่ฉันจากญี่ปุ่นมาสักพักแล้ว และไม่เคยเห็นทิชชูแจกฟรีในประเทศอื่นมาก่อน ฉันเลยยืนงงว่าเธอจะให้ทิชชูฉันด้วยเรื่องอันใด เธอยิ้มให้บอกว่า “ทิชชูแจกฟรีน่ะ รับไปเถอะ” ฉันขอบคุณแล้วรับมาดูแบบมึน ๆ ก่อนจะนึกได้ว่า อ้อ..แบบเดียวกับทิชชูฟรีในญี่ปุ่นน่ะเอง

จะว่าไปแล้วการโฆษณาด้วยทิชชูห่อแจกฟรีเหมือนจะเป็นการตลาดที่น่าจะดีเพราะต้นทุนไม่สูง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้โดยตรง แต่คาดว่าที่ไม่ได้แพร่หลายในประเทศอื่นเท่าใดนักน่าจะเป็นเพราะบริบททางสังคมต่างกัน แจกแล้วอาจไม่คุ้ม ทำนองนี้กระมังคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.


"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น