ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นฤดูกาลที่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจัดสอบเพื่อรับนักศึกษาปริญญาโท จึงมีเรื่องน่าคิดอยู่ประเด็นหนึ่งคือ ค่านิยมทางการศึกษาระดับสูงของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร และหากจะฉายภาพให้ชัด แน่นอนว่าควรมองของไทยประกอบ เพราะมีค่านิยมร่วมกันคือการให้คุณค่าอย่างสูงต่อการศึกษา แต่แม้ภาพกว้าง ๆ คล้ายกัน รายละเอียดทางสังคมกับผลที่ออกมานั้นต่างกันไม่น้อย วันนี้จึงชวนมาพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาสูงคือค่านิยมในสังคมไทย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดเพราะการที่คนได้รับการศึกษามาก ๆ ย่อมดีกว่า ทว่าสิ่งที่ผิดไปจากจุดมุ่งหมายคือ การศึกษาถูกนำมาใช้แบ่งชนชั้นของคนในสังคม ทั้งเรื่องระดับการศึกษา หรือเลยเถิดไปจนถึงชื่อสถาบัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ตัวการศึกษาเองไม่สามารถทำให้อคติตรงนั้นหมดไป แต่เมื่อมองทางญี่ปุ่น แม้มีลักษณะร่วมกับสังคมไทยในด้านศรัทธาต่อการศึกษาภายในระบบ แต่ยังถือได้ว่าญี่ปุ่นบรรลุจุดประสงค์ด้านการศึกษาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรีที่ผลิตคนที่พร้อมจะออกไปทำงาน หรือปริญญาโทที่รองรับคนที่อยากเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ไปจนถึงปริญญาเอกที่สร้างทักษะการวิจัยได้ในระดับโลก และทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้คนญี่ปุ่นนำใบปริญญามาเป็นศักดินาแบ่งชนชั้นของคน
ในยุคที่ดอกเตอร์ได้รับความเคารพและการเรียนจบปริญญาตรีกลายเป็นเรื่องสามัญในสังคมไทย ปริญญาบัตรกลายเป็นใบเบิกทางที่จะช่วยให้มีงานทำง่ายขึ้น แม้ไม่ใช่ใบรับประกัน แต่ก็เป็นคล้าย ๆ ยันต์ป้องกันความตกต่ำในระดับหนึ่ง และเมื่อระดับปริญญาตรีชักจะไม่พอ การเรียนต่อจนได้ชื่อว่า “จบโท” จึงกลายเป็น 1) ช่องทางให้มหาวิทยาลัยมีรายได้มากขึ้น, 2) คุณสมบัติเสริมเพื่อให้ผู้เรียนนำไปอัปค่าตัวตอนทำงาน หรือสร้างมนุษยสัมพันธ์เพื่อสานประโยชน์สำหรับงานในภายภาคหน้า, 3) ความภูมิใจส่วนบุคคลและวงศ์ตระกูล, 4) พื้นฐานเพื่อเรียนต่อปริญญาเอก, และ 5) ช่องทางพัฒนาความรู้ส่วนตัว แต่ลำดับที่เอ่ยมานี้ หากเป็นที่ญี่ปุ่นคงจะกลับกันหมด
ก่อนอื่นเราจึงต้องมาดูกันว่าความหมายของการเรียนปริญญาโท หรือบัณฑิตศึกษา หรือการเรียนถึงปริญญาเอกด้วยนั้นมีความหมายอย่างไร โดยหลักการแล้ว คนที่เรียนปริญญาโทคือคนที่อยากเรียนจริง ๆ เพื่อรู้ให้ลึกขึ้น ได้ติดตามพัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับสาขานั้น และเพิ่มความสามารถด้านการ ค้นคว้าด้วยตัวเองจนนำมาคิดวิเคราะห์ให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในการทำวิทยานิพนธ์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยช่วยบอกทฤษฎี แสดงความเห็น แนะนำแหล่งข้อมูล วิจารณ์ และชี้แนะรายละเอียดปลีกย่อย
ถ้าไม่มีนิสัยรักการค้นคว้ามาตั้งแต่ปริญญาตรี พอมาถึงโท คนเรียนจะเป็นทุกข์ไม่น้อย ซึ่งพบได้บ่อยในกรณีของคนไทย แต่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยเป็น สาเหตุคือในระบบการเรียนของไทย ผู้เรียนไม่ค่อยได้ฝึกคิดเอง เป็นอย่างนั้นมาตลอดเกือบยี่สิบปีจนจบปริญญาตรี การคิดอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนใครหรือพูดสิ่งใดที่ยังไม่มีใครพูดมาก่อนนั้นกลายเป็นความหนักใจ เพราะดูเหมือนอะไร ๆ ก็ซ้ำกับคนอื่นไปหมด (ซึ่งไม่เป็นความจริง) การคิดได้เองไม่ใช่พรสวรรค์ แต่ฝึกกันได้ นอกจากนี้ คนไทยที่เรียนโทจำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะในบางสาขา) มุ่งเรียนเพื่อให้จบโดยมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อความรู้ เราจึงไม่ค่อยได้คนที่นำทักษะปริญญาโทจริง ๆ ออกไปพัฒนาองค์กรในสังคมอย่างเต็มที่ หน้าที่ใหม่ของปริญญาโทจึงกลายเป็นใบประกาศศักดา
ทางด้านญี่ปุ่น กลไกตรงนี้ยังไม่บิดเบี้ยว การเรียนปริญญาโทมุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะการค้นคว้าและวิเคราะห์จน สามารถสรุปและพูดสิ่งที่คนอื่นยังไม่เคยพูดมาก่อนได้โดยใช้เหตุผลและหลักฐานอ้างอิง และคนญี่ปุ่นไม่ได้คิดว่าจะเรียนโทเพื่ออัปค่าตัว เพราะการจบปริญญาโทในญี่ปุ่นไม่ได้ทำให้เรียกเงินเดือนได้สูงเป็นกอบเป็นกำจนคุ้มค่ากับเวลา 2 ปีที่ใช้ไปกับการเรียน อาจจะมากกว่าคนจบปริญญาตรี 20,000-30,000 เยน แต่เมื่อเทียบอายุตอนเข้าทำงานซึ่งมากกว่าคนจบปริญญาตรีที่เข้าไปก่อน ถือว่าไม่ต่างกันด้วยซ้ำ ส่วนอาจารย์ที่สอนปริญญาโทและเอกก็ไม่ใช่ว่าจะได้เงินพิเศษแต่อย่างใดเพราะเป็นหน้าที่ประจำอยู่แล้ว สารพัดโครงการปริญญาโททำเงินในญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยผุดขึ้นมา แต่เป็นปริญญาโทตามครรลอง นักศึกษาปริญญาตรีคนไหนอยากรู้มากขึ้นก็เรียนต่อไป อาจารย์สอนเพิ่มให้ในระดับที่ลึกกว่าเดิม และถ้าใครอยากรู้มากกว่าเดิมจนเป็นนักวิจัย ก็ต่อไปถึงปริญญาเอก หลักคิดง่าย ๆ แค่นี้
ผมไม่แน่ใจแต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ค่านิยมแบบไทยอาจเป็นลักษณะร่วมของประเทศที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะดูเหมือนจีนก็มีลักษณะคล้ายกัน ช่วง 2-3 เดือนนี้เนื่องจากใกล้กำหนดการสอบเข้าปริญญาโทของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีนักศึกษาจีนหลายคนส่งอีเมลมาถึงผม โดยแจ้งความจำนงว่าอยากจะเป็นนักศึกษาในสังกัด พร้อมกับบอกสรรพคุณดีเลิศของตน และสำทับอีกว่า “สนใจงานวิจัยที่อาจารย์ทำ” แต่ไม่เคยมีใครแจ้งมาว่าอยากเรียนอะไร ผมในฐานะคนที่มองว่าการศึกษาไม่ควรจะเป็นธุรกิจ จึงสอบถามว่า “ช่วยสรุปคร่าว ๆ มาหน่อยว่าคุณสนใจเรื่องใดเพราะงานวิจัยที่ผมเผยแพร่นั้นมีมากกว่าหนึ่งบทความ และมีแผนการเรียนในอนาคตอย่างไร” ผลที่ออกมาคือไม่มีนักศึกษาจีนคนไหนตอบกลับมาอีกแม้แต่คนเดียว
เมื่อมองไปถึงปริญญาเอก สังคมไทยมีแนวโน้มชื่นชมคนเป็นดอกเตอร์ว่ามีสติปัญญาดี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่าเรียนกันยังไง โดยธรรมชาติแล้ว สายวิทยาศาสตร์กับสายสังคมศาสตร์ต่างกัน สายวิทยาศาสตร์ต้องทำการทดลอง หรือผลิตผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนสายสังคมศาสตร์อาจมีการลงพื้นที่จริง อยู่กับเอกสารหลักฐาน เป็นต้น แต่โดยรวมแล้วการเรียนปริญญาเอกคือการเรียนด้วยตัวเองเป็นหลัก และนำสิ่งที่ ‘เราคิดว่าเรารู้’ ไปคุยกับอาจารย์ เอาไปเสนอต่อหน้าคนอื่น บอกให้คนรู้ว่าเราพบอะไรที่ยังไม่เคยมีใครเอามาพูด ให้คนอื่นวิจารณ์ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และทำร้ายจิตใจ (นี่เรื่องจริง บอกได้ในฐานะคนที่พบเห็นเหตุการณ์แบบนั้นมานับครั้งไม่ถ้วน)
คนที่ได้ชื่อว่าดอกเตอร์มีทั้งคนเก่งและไม่เก่ง ไม่ต่างจากคนจบปริญญาตรี สังคมไทยอาจคาดหวังว่าดอกเตอร์ต้องฉลาด รู้ลึก รู้จริง ในความเป็นจริงคือคละกัน แต่สิ่งที่คนเป็นดอกเตอร์มีมากกว่าคนอื่นคือความอึด เพราะต้องผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนักกว่าจะพ้นความรู้สึกลังเลว่า “เลิกเรียนดีไหมหว่า เพื่อน ๆ กลายเป็นเจ้าคนนายคนหมดแล้ว” ซึ่งผมคิดว่าหากจะให้เครดิตกัน ความอึดน่าจะเหนือกว่าความฉลาด
ในญี่ปุ่นการได้เป็นดอกเตอร์ไม่ได้ทำให้มีสถานภาพทางสังคมเหนือกว่าคนอื่น อาจเป็นที่เลื่อมใสจริง แต่ไม่ได้เป็นชนชั้นพิเศษเพราะคนญี่ปุ่นให้เกียรติกันที่อาชีพกับประสบการณ์มากกว่าที่การศึกษา แนวโน้มที่เกิดขึ้นก็จะประมาณว่าดอกเตอร์อาจไม่ได้นั่งเก้าอี้หรูแถวหน้าเสมอไป แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยอาจมีคนเชิญไปนั่งแถวหน้า อีกทั้งคำว่า “ดอกเตอร์” จะไม่ค่อยถูกใช้แทนคำว่า “คุณ” เมื่อเรียกชื่อกัน และปริญญาเอกนำมาใช้อัปค่าตัวในบริษัทเอกชนแทบจะไม่ได้ เพราะบริษัททั่วไปที่จะรับคนจบปริญญาเอกเข้าทำงานนั้นมีไม่มาก ส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะไปอยู่ในสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งกลายเป็นปัญหาของญี่ปุ่นในขณะนี้ด้วยคือ คนจบปริญญาเอกหางานทำไม่ค่อยได้เพราะที่มีจำกัด
แนวโน้มทั่วไปด้านมุมมองที่อาจไม่บรรจบกันพอดีของการศึกษาระดับสูงในญี่ปุ่นน่าจะสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
จะเห็นได้ว่าปริญญาโท/เอกในสังคมญี่ปุ่นแทบไม่มีความหมายในแง่คุณค่าทางตัวเงินและการประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิตตามครรลอง แต่มีคุณค่าด้านคุณภาพทรัพยากรบุคคลผู้ใฝ่รู้ กับการวิจัยและพัฒนา หากมองในแง่วัตถุประสงค์คงประเมินได้ว่าญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายทางการศึกษา แต่ถ้ามองในเชิงสังคมก็ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นปลอดปัญหา เพราะภาคเอกชนยังคงประเมินคุณค่าคนจบปริญญาโทและเอกต่ำไปและไม่พร้อมจะรับเข้าทำงาน
ในขณะที่สังคมไทยประเมินคุณค่าปริญญาโทและเอกค่อนข้างสูง แต่ก็น่าคิดว่าเราเชื่อมั่นการศึกษาที่ได้รับมาในประเทศเราจนถึงระดับนั้นได้สนิทใจไหม บางส่วนที่จัด ๆ กันอยู่นั้น มันถึงพร้อมด้วยคุณภาพหรือยัง หรือว่าเราทำไปแกน ๆ ตามแบบแผนการเพิ่มค่าด้วยใบปริญญาเท่านั้น
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com