นักเรียนประถมในญี่ปุ่นสวมหมวกสีเหลืองเดินทางไปโรงเรียนอย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย พบเห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่น เด็กญี่ปุ่นสามารถไปโรงเรียนได้เองตั้งแต่ชั้นประถม ไม่เพียงเพราะญี่ปุ่นมีความปลอดภัยสูง แต่ยังรวมถึงการอบรมสั่งสอนให้พึ่งพาตัวเอง และความร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคม
เด็กๆ ในญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมเมื่ออายุ 6 ขวบ และโรงเรียนก็มักจะให้นักเรียนชั้นประถมสวมหมวกสีเหลืองระหว่างทางไป-กลับโรงเรียน เหตุผลก็เพื่อความปลอดภัยทางท้องถนน
หมวกสีเหลืองสว่างมองเห็นได้จากระยะไกลพอสมควร และช่วยเตือนผู้ขับขี่ยวดยานให้ทราบว่ามีเด็กเล็กๆอยู่ตรงนั้น เพื่อให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
การให้เด็กชั้นประถมสวมหมวกสีเหลืองแพร่ออกไปทั่วไปประเทศช่วงทศวรรษ 1960 เวลานั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทำให้จำนวนคนมีรถขับเพิ่มขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือจำนวนอุบัติเหตุทางท้องถนนเพิ่มขึ้น มีการส่งเสริมให้เด็กประถมสวมหมวกสีเหลืองเพื่อทำให้ผู้ขับขี่สังเกตเห็นเด็กๆได้ง่ายขึ้น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตในอุบัติเหตุจราจรสูงสุดถึงประมาณ 2 พันคนเมื่อปี 2513 แต่หลังจากนั้นตัวเลขลดลงเหลือแค่ไม่ถึง 100 กรณี มีหลายเหตุผลที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง แต่เชื่อกันว่าหมวกเหลืองมีส่วนช่วยให้ปลอดภัยขึ้น และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ยังคงเห็นเด็กๆ สวมหมวกสีเหลืองอยู่
นอกจาก หมวกสีเหลืองที่โดดเด่นแล้ว เด็ก ๆ หลายคนยังมีนกหวีดเพื่อใช้ส่งเสียงดังเวลาพบกับอันตรายหรือคนที่มีท่าทางไม่น่าไว้วางใจ บางคนมีโทรศัพท์ที่สามารถระบุพิกัดสถานที่ และแจ้งให้ผู้ปกครองรู้ถึงความปลอดภัยในระหว่างเส้นทาง
เคารพกฎจราจร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ญี่ปุ่นมีความปลอดภัยในที่สาธารณะดี ทั้งอุบัติเหตุจราจรและอาชญากรรมมีน้อย เด็กๆ มักเดินกันไปเป็นกลุ่ม แทบไม่เคยเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองไปรับ-ไปส่งเด็กๆ เด็กๆ ต่างได้รับการอบรมสั่งสอนปลูกฝังให้เคารพกฎจราจรและให้คิดด้วยตนเอง
สิ่งที่สอนก็ได้แก่เรื่องพื้นฐาน เช่น เวลาจะข้ามถนน ควรมองขวา มองซ้าย แล้วก็มองขวาอีกทีครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรถกำลังแล่นมาตรงถนนที่จะข้าม นอกจากนี้ เด็กๆยังได้รับการสั่งสอนให้ชูมือเวลาข้ามทางม้าลาย การชูมือก็ช่วยให้ผู้ขับขี่สังเกตเห็นเด็กเล็กๆได้ง่าย ทั้งโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองต่างกระตือรือร้นในการปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับเด็กๆ
นอกจากนี้ เด็ก ๆ จะถูกสอนให้ช่วยดูแลกันและกัน เวลาเดินไปตามท้องถนนจะจูงมือกันเป็นคู่ ๆ แต่ละคู่จะดูแลกันตลอดเส้นทาง ในบางชุมชนจะมีผู้สูงอายุหรือคนในชุมชนมาเป็นอาสาสมัครจราจรด้วย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กญี่ปุ่นเดินไปโรงเรียนเอง คือ โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก โรงเรียนประถมในญี่ปุ่นมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปเรียนโรงเรียนที่อยู่ไกล จนถึงเมื่อชั้นมัธยม เด็กๆ จึงค่อยแยกย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่โดดเด่นที่ต้องเดินทางไปไกลจากบ้าน
คนจำนวนมากต่างยกย่องญี่ปุ่นที่มีความปลอดภัยสูง แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง ญี่ปุ่นก็เคยมีอุบัติเหตุและการจราจรที่ไร้ระเบียบ แต่ที่เปลี่ยนแปลงได้ก็เพราะทั้งจากมาตรการทางกฎหมาย และการปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ หากต้องการให้บ้านเมืองของเรามีความปลอดภัย ลูกหลานอยู่ได้อย่างเป็นสุข ทุกฝ่ายไม่ใช่เพียงแต่มองญี่ปุ่นอย่างชื่นชม มองบ้านเกิดตัวเองอย่างรังเกียจ แต่ต้องลงมือลงแรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น.