คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ไม่ทราบว่าเวลาเพื่อนผู้อ่านซื้อสินค้า เข้าเรียนในสถานศึกษาใหม่ หรือเข้าทำงานใหม่ เมื่อได้รับคู่มือมาแล้วได้ลองเปิดอ่านหรือศึกษากันบ้างไหมคะ เคยคิดไหมคะว่าถ้าหากจะมีสังคมไหนสักแห่งที่คนส่วนมากสามารถทำตามคู่มือกันได้อย่างไม่มีที่ติ สังคมนั้นจะเป็นเช่นไร
ฉันเคยรู้สึกนานแล้วว่าคนญี่ปุ่นแต่ละคนรู้กฎเกณฑ์และวิธีการที่แน่ชัดในการทำงาน กระทั่งว่าถ้ามีเหตุการณ์อะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาก็จะคาดการณ์และเตรียมแผนรับมือไว้ก่อนจะได้ไม่พลาด ทำอะไรเป็นแบบแผนเดียวกันเป๊ะ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร จนวันหนึ่งช่างทำผมชาวญี่ปุ่นก็ทำให้ฉันสะดุดใจเรื่องนี้ขึ้นมา เธอบอกว่า “คนญี่ปุ่นเป็นพวกชอบทำตามคู่มือ ไม่งั้นทำไม่เป็น” ดังนั้นถ้าจะเรียกคนญี่ปุ่นในจุดนี้ว่าเป็น “มนุษย์คู่มือ” ก็น่าจะได้ ไม่เฉพาะคนญี่ปุ่นเท่านั้นที่มองตนเองว่าติดคู่มือ คนต่างชาติเองก็เห็นเช่นเดียวกัน บ้างก็มองไปในแง่ดี บ้างก็มองไปในแง่ลบ แล้วแต่มุมมอง
ความเป็นมนุษย์คู่มือของคนญี่ปุ่นสามารถพบเจอได้แทบทุกหนแห่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่พนักงานร้านขายของใช้เหมือน ๆ กัน ร้านอาหารหรือร้านกาแฟซึ่งยากจะขอดัดแปลงอะไรที่แตกต่างจากเมนูได้ตามใจโดยเฉพาะถ้าเป็นร้านแฟรนไชส์ ร้านหนังสือที่เต็มไปด้วยหนังสือ “how to” ในแทบทุกเรื่อง เช่น มารยาทในการติดต่อทางธุรกิจ วิธีที่จะทำให้เข้ากับเจ้านายได้ วิธีใช้ชีวิตให้มีความสุข วิธีแต่งตัวให้มีสไตล์ วิธีรับมือกับคนแย่ ๆ วิธีทำให้เก่งภาษาอังกฤษ วิธีลดความอ้วน วิธีที่จะทำให้ไม่ทำงานพลาด (มันมีวิธีแบบนี้จริงหรือคะ?) และอื่น ๆ อีกมากมาย
ยามที่คนญี่ปุ่นจะทำอะไรบางอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับมารยาททางสังคม ถ้าจะเอาให้ถูกต้องตามประเพณีไม่ให้เป็นที่ครหา บางทีก็ต้องศึกษาให้แน่ใจ เป็นต้นว่างานแต่งงาน คนได้รับเชิญก็ต้องรู้ว่าควรใส่ซองเท่าไหร่ถ้ามีความสัมพันธ์กับเจ้าบ่าวเจ้าสาวแบบนี้ ๆ มีวิธีการเขียนบนซองเงินอย่างไร จะตอบรับบัตรเชิญต้องเขียนอย่างไรให้ถูกมารยาท ต้องตอบรับภายในเมื่อใด การ์ดเชิญควรส่งล่วงหน้าแค่ไหน
เวลาทำงานที่ต้องติดต่อกับคนอื่นนอกบริษัทก็จะมีรูปแบบภาษาและคำพูดที่ใช้ตายตัว ตัวอย่างเช่น ถ้าจะเขียนอีเมลส่งให้กับคนที่ติดต่อธุรกิจด้วยกันควรใช้รูปประโยคหรือถ้อยคำแบบไหน ประโยคนี้ ๆ หมายถึงอะไร ใช้ในสถานการณ์แบบไหน และต้องใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลอย่างไร (คนญี่ปุ่นที่ไม่รู้หรือใช้ผิด ๆ ถูก ๆ มีไม่น้อยเลยค่ะ)
หรือถ้าโทรศัพท์ ประโยคแรกที่ต้องพูดคือบอกว่าตัวเองโทรมาจากหน่วยงานใด ตัวเองชื่ออะไร แล้วก็คาดเดาได้ว่าอีกฝ่ายจะพูดว่า “โอะ-เซ-หวะ-นิ-นัต-เต๊ะ-โอ-ริ-มัส” (お世話になっております แปลประมาณว่า “ได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณเสมอเลย”) และเราก็ต้องพูดประโยคนี้ตอบกลับไป หรือถ้าคุ้นเคยกันและคราวก่อนอีกฝ่ายเคยทำอะไรให้เราไว้ก็ต้องเอ่ยขอบคุณเรื่องนั้นด้วย ในชีวิตประจำวันก็เหมือนกัน สมมติว่าแม่เจอแม่ของเพื่อนลูกก็อาจจะบอกว่า “ขอบคุณที่คอยเอื้อเฟื้อลูกฉันนะคะ” อีกฝ่ายก็จะตอบว่า “เช่นกันค่ะ” เป็นต้น
ถ้าเป็นตามร้านอาหารแบบครอบครัว (family restaurant) เวลาพนักงานจะเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะก็ต้องพูดเสียก่อน เช่น “ข้าวผัดได้แล้วค่ะ” จะวางอาหารทีก็ต้อง “ขอเสียมารยาทนะคะ” พออาหารมาครบแล้วก็ “มาครบทุกอย่างแล้วนะคะ” ก่อนไปก็ “วางบิลไว้ตรงนี้นะคะ” เวลาคิดเงินก็ต้องมีรูปแบบประโยคเป็นลำดับอีก เช่น พอลูกค้ามาที่แคชเชียร์ก็ต้องขอบคุณลูกค้าก่อน ลูกค้ายื่นบิลส่งให้ก็ต้องบอก “ขอเสียมารยาทครับ” พอคีย์เข้าเครื่อง ได้ยอดเงินออกมาก็พูด “ทั้งหมด xx เยนครับ” ลูกค้าส่งเงินให้ พนักงานก็บอก “รับมา xx เยนนะครับ” ถ้าลูกค้าให้ธนบัตร 1 หมื่นเยนมา พนักงานคิดเงินต้องบอกพนักงานคนอื่น ๆ ในที่นั้นให้รับทราบด้วย พอจะทอนเงินก็บอก “ทอนเงิน XX เยนครับ” ก่อนจะขอบคุณลูกค้ากันเสียงดังอีกครั้งเมื่อลูกค้าออกจากร้าน
ถ้าเพื่อนผู้อ่านท่านไหนโตมารุ่นเดียวกับฉัน ก็คงจำบทสนทนาภาษาอังกฤษที่เราโดนสอนกันมาตอนเด็กได้ เช่น ถ้าอีกฝ่ายพูดทักทายมาว่า “กู้ดมอร์นิ่ง ฮาวอาร์ยู?” เราก็ต้องตอบว่า “อัมไฟน์แต๊งกิ้ว แอนด์ยู?” และอีกฝ่ายจะตอบว่า “อัมไฟน์แต๊งกิ้ว” แต่ในชีวิตจริงเราจะพบว่ารูปแบบการสนทนามันไม่ได้ตายตัวแบบนี้ อย่างประเทศที่คนพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเองยังมีวิธีการทักทายที่ไม่เหมือนกันเลย ถ้าเราท่องตามหนังสือเป๊ะ ขืนไปเจอรูปแบบการทักทายของจริงซึ่งแตกต่างจากที่เรียนมาคงเอ๋อทำอะไรไม่ถูก แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วเรียกได้ว่าแทบไม่ต้องห่วงเรื่องนี้สักเท่าไหร่เพราะค่อนข้างเป๊ะทีเดียว
เมื่อทุกอย่างตายตัวและอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าเมื่อพูดอย่างนี้ เมื่อทำอย่างนี้ อีกฝ่ายจะพูด จะทำตอบกลับมาแบบนี้ เลยไม่ค่อยมีอะไรให้เซอร์ไพรส์กันง่าย แต่พอคนญี่ปุ่นเจออะไรที่แตกต่างจากความคาดการณ์ (นอกคู่มือ) บางคราวเราก็จะได้เห็นความตระหนกหรือตื่นตัวปรากฏ เช่น เรื่องพนักงานที่ทำอะไรไม่ถูกเมื่อลูกค้าขอให้ไม่ต้องเอากระดาษมาบรรจงห่อขนมที่ลูกค้าซื้อเพราะจะรีบไป พนักงานที่ต้องด้นสดในบทสนทนาภาษาอังกฤษกับลูกค้าต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ หรือพนักงานที่ไม่ยอมขายเครื่องดื่มที่สามารถทำให้ลูกค้าได้แต่ไม่มีในเมนู (เช่น มีโกโก้สำหรับทำกาแฟมอคค่าได้ แต่ไม่มีโกโก้ร้อนในเมนู ไม่รู้จะคิดเงินอย่างไร เลยไม่ยอมทำให้) เป็นต้น
พูดถึงเรื่องกฎระเบียบของร้านรวงต่าง ๆ แล้วก็ทำให้นึกถึงเรื่องขำ ๆ อย่างหนึ่ง คือเวลาเดินเข้าไปตามร้านขายของหรือร้านขายเสื้อผ้าในญี่ปุ่น เราจะได้ยินเสียงพนักงานรับส่งเสียง “อิรัชไชมาเสะ” ต่อกันไปเป็นทอด ๆ เหมือนกันหมดเกือบทุกร้านใช่ไหมคะ ทีนี้ร้านเสื้อผ้าบางร้านเขามีการเทรนพนักงานให้ดัดเสียงด้วย มันจะเป็นเสียงที่ฟังดูไม่เป็นธรรมชาติ บี้ ๆ แบน ๆ ชอบกล และฟังดูเป็นโทนเสียงเดียวกันหมดทุกคน อันนี้ไม่รู้ว่ามันเป็นมาตรการทางการตลาด หรือมีผลในทางจิตวิทยาต่อลูกค้าอย่างไร ฉันรู้แต่ว่าร้านไหนที่มีพนักงานส่งเสียงแบบนี้มีผลทางจิตวิทยากับฉันในแบบที่ทำให้ตีกรรเชียงหนีออกนอกร้านไปเลย
ส่วนเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องมีคู่มือ (หรือสิ่งที่เป็นแบบแผนกำหนดไว้ชัดเจน) ก็น่าจะเป็นเพราะทำให้เข้าใจตรงกัน มีแบบแผนชัดเจน ทุกคนจะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไร ทำให้ควบคุมง่าย ทำให้รู้ถึงความไม่ปกติได้ทันทีหากมีอะไรต่างไปจากแบบแผนที่กำหนดไว้ และแก้ไขปรับปรุงได้ตรงจุด เพื่อให้ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม อะไรทำนองนี้นะคะ
ถ้ามองในมุมนี้อาจจะคิดว่าการทำตามคู่มือเป็นเรื่องดีเพราะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อย แต่ที่มันกลายมาเป็นข้อด้อยก็เพราะคนญี่ปุ่นมักเลี่ยงที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างจากที่ปรากฏในคู่มือ (หรือสิ่งที่ถูกบอกมา) สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความยืดหยุ่น ขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดความกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างหรือเสี่ยงลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และไม่เปิดโอกาสให้คนได้เอาความรู้ความสามารถเฉพาะตัวออกมาใช้
ฉันคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่กล้าทำในสิ่งที่แตกต่างน่าจะเป็นเพราะกลัวเด่น กลัวเป็นจุดสนใจ กลัวที่จะแตกต่างจากคนอื่น เพราะจะดูนอกคอกหรือถูกเพ่งเล็ง ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “浮いてる” (อุย-เตะ-หรุ) แปลประมาณว่า “ไม่เหมือนชาวบ้าน” อย่างถ้าอยู่ในโรงเรียนมีใครสักคนถูกมองว่าไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็มีสิทธิ์เป็นเป้าให้โดนกลั่นแกล้งได้ง่าย หลายคนจึงยอมทำตัวให้กลมกลืนกับกลุ่ม
และยิ่งคนญี่ปุ่นมีความอ่อนไหวมากในเรื่องของความรับผิดชอบ หากตัดสินใจอะไรไปด้วยตัวเองแล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมาก็ต้องขอโทษขอโพย รับผิดกันหัวโต เสี่ยงต่อการถูกสังคมประณาม และการถูกสังคมประณามในญี่ปุ่นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตัวตนของคนญี่ปุ่นผูกติดอยู่กับกลุ่มที่ตนสังกัดอย่างแน่นแฟ้น ความเป็นตัวตนของคนญี่ปุ่นสะท้อนอยู่ในองค์กร และองค์กรก็ถือว่าสังกัดอยู่กับสังคมโดยรวมอีกทอดหนึ่ง หากกลุ่มไม่ยอมรับ ตนก็ต้องถูกโดดเดี่ยว และเกิดความรู้สึกไร้ตัวตนขึ้นมา
การให้ความสำคัญกับกลุ่มเป็นอย่างมากเช่นนี้จึงพลอยทำให้สังคมญี่ปุ่นโดยรวมขาดมุมมองเรื่องการเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นในฐานะปัจเจกชนตามไปด้วย เราจึงไม่ค่อยเห็นคนญี่ปุ่นกล้าแหกคอกทำในสิ่งที่ไม่เหมือนชาวบ้าน และการที่จะอยู่รอดปลอดภัยในสังคมที่ไม่ส่งเสริมความเป็นปัจเจกชนดังกล่าวก็คือการทำตาม(คู่มือ)นั่นเอง
ฉันคิดว่าตราบใดที่โครงสร้างสังคมญี่ปุ่นยังเป็นเช่นนี้ ก็คาดหวังได้ว่าความเป็นมนุษย์คู่มือก็จะยังคงอยู่คู่ชีวิตคนญี่ปุ่นตามไปด้วย แม้จะขาดเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเป็นตัวของตัวเอง หรือสับสนยามเจอสถานการณ์ที่เหนือการคาดการณ์ แต่บางทีการที่ญี่ปุ่นมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความเข้มแข็ง สามัคคี และไม่ค่อยเห็นแก่ตัวกันก็อาจจะมีส่วนหนึ่งมาจากความเป็นมนุษย์คู่มือนี้เองก็เป็นได้
เหล่านี้ก็เป็นความรู้สึกในภาพรวมและเป็นความเห็นส่วนตัวของฉันนะคะ อาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด และคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้หมดทุกคน
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.