xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น : พระเอกะตัดแขน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ภาพเอกะตัดแขน
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

บรรยากาศแวดล้อมดูขรึมขลัง เห็นผนังสีเทา ๆ ดำ ๆ เป็นแนวยื่นและยุบ ซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้น ไล่จากมุมตื้นสู่มุมลึก ด้านลึกช่วยบอกให้รู้ว่าตรงนี้น่าจะเป็นถ้ำที่ไหนสักแห่ง ในนั้นมีคน 2 คน คนหนึ่งใส่ชุดขาวนั่งหันหน้าเข้าหาผนังฝั่งขวา ตรงนั้นมีอะไรชวนดูกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่อีกคนยืนเยื้องอยู่ด้านหลัง แต่ผู้ที่นั่งอยู่ดูเหมือนไม่รับแขกหรือจงใจเมิน แต่แม้กระนั้น ดวงตายังส่อแววคล้ายครุ่นคิด

ส่วนคนหลังที่อยู่ตรงมุมล่างซ้ายนั้นเล่า แม้เห็นร่างเพียงครึ่งท่อนบน แต่เดาได้ว่าน่าจะอยู่ในท่ายืน คนผู้นี้ศีรษะโล้นราวครึ่งหัว ชุดที่ติดตัวแลดูไม่เหมือนเสื้อผ้าคนทั่วไป แต่คล้ายจีวรพระ สายตามองไปทางคนชุดขาวผู้นั่งขัดสมาธิหันหลังให้ จ้องเหมือนต้องการสื่อความอะไรบางอย่าง สองคนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เหตุใดจึงมาอยู่ในถ้ำ? เมื่อเหตุการณ์แบบนี้ปรากฏเป็นภาพจากปลายพู่กันของศิลปินดัง พลังของภาพจึงตรึงตาให้ค้นนัย และตรึงใจให้หวนกลับมาดูซ้ำ

ทว่าหากจะหาสีสันสดใสในภาพนี้คงไม่มีให้ดูเพราะเป็นภาพหมึกดำ ความอัศจรรย์ของศิลปะแขนงนี้คือ ความเข้มหรือจางของหมึกสามารถถ่ายทอดรูปทรง มิติ อารมณ์ และความหมายออกมาได้ไม่แพ้สีสดใส และอาจทำได้ดีกว่าความฉูดฉาดด้วยซ้ำหากต้องการสื่อความสงบเรียบง่ายที่แฝงความน่าเกรงขาม นี่คือภาพที่วาดด้วยหมึกดำเป็นหลัก จิตรกรรมแนวนี้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ซุยโบกุ-งะ” (水墨画;Suiboku-ga) แต่เมื่อพูดถึงภาพเขียนหมึกดำ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนคือต้นตำรับก่อนจะเผยแพร่ไปถึงญี่ปุ่น

ภาพนี้ชื่อ “เอกะ-ดัมปิ-ซุ” (慧可断臂図;Eka-danpi Zu) แปลว่า “ภาพเอกะตัดแขน” เป็นภาพเขียนหมึกขนาดใหญ่อันโด่งดังของญี่ปุ่น สูงไม่ต่ำว่า 180 เซนติเมตร กว้างประมาณ 113 เซนติเมตร เมื่อรู้ชื่อแล้ว ลองมองภาพอีกครั้ง ความสงสัยจะเริ่มกระจ่าง เริ่มจากเรื่องที่ว่าสองคนในภาพต่างก็เป็นพระในพุทธศาสนา และมีความพิเศษระดับตำนาน คนนั่งอยู่คือพระโพธิธรรม คนไทยคุ้นหูในชื่อ “ตั๊กม้อ” ส่วนอีกคนอาจคุ้นหูน้อยกว่า แต่เรื่องราวความมุ่งมั่นเป็นที่กล่าวขวัญจนสะท้อนออกมาทางภาพศิลป์ดังที่ปรากฏ พระรูปนี้ชื่อ “ฮุ่ยเข่อ” เป็นลูกศิษย์ของพระโพธิธรรม

หากไม่ดูให้ละเอียดหรือไม่รู้ภูมิหลัง สายตาคงสะดุดหยุดตรงภาพพระนั่งแล้วเลยผ่าน เพราะภาพอยู่ตรงจุดกึ่งกลางและแทบจะกลืนบรรยากาศไปหมด แต่ลองมองดี ๆ ที่ภาพพระยืน จะเห็นว่านอกจากสีหน้าที่ตีความได้หลายอารมณ์แล้วแต่คนมอง ไม่ว่าจะเป็นความกังวล ความเจียมตัว หรือแม้แต่ความเจ็บปวดก็ตาม ยังมีองค์ประกอบเล็ก ๆ แต่สำคัญมากอยู่อีกอย่างคือท่อนแขน เมื่อดูนิ้วแล้ว นั่นคงเป็นมือซ้าย แต่หากไล่สายตาต่อไปจะเห็นว่าแขนไม่ได้ต่อกับตัว นั่นเป็นเพราะถูกเจ้าตัวตัดขาดด้วยความใจเด็ด

ตำนานเล่าว่าพระโพธิธรรมเป็นคนอินเดีย เดินทางจากอินเดียเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในจีน หน้าตาที่ปรากฏตามจินตนาการของคนรุ่นหลังคือมีหนวดเครา ตาโต และจมูกโด่ง และเป็นผู้ก่อตั้งแนวปฏิบัติแบบเซ็น เซ็นคือศาสนาพุทธแนวหนึ่งที่เกิดในจีนและถ่ายทอดไปถึงญี่ปุ่น ทั้งยังมีนิกายแยกย่อยในญี่ปุ่นลงไปอีก พระโพธิธรรมเป็นที่ศรัทธาของผู้คนมากมายในจีน รวมทั้งเฉินกวง (神光) ด้วย

เฉินกวงขอเป็นศิษย์พระโพธิธรรม แต่ถูกปฏิเสธ เฉินกวงยอมตากหิมะอยู่นอกถ้ำที่พระโพธิธรรมบำเพ็ญเพียรอยู่เพื่อเฝ้ารอ เข้าใจว่าคงเป็นถ้ำใกล้วัดเส้าหลินในมณฑลเหอหนานหรือจงหยวน อย่างไรก็ตาม พระโพธิธรรมยังคงปฏิเสธโดยบอกว่า “เจ้าหวังเข้าถึงพระศาสนาที่แท้จริงด้วยความดีเพียงน้อยนิด ด้วยปัญญาเพียงเล็กน้อย และด้วยจิตใจยโสได้อย่างไร เสียเวลาเปล่า” (Cleary, 1999)

เมื่อได้ฟังดังนั้น เฉินกวงนำมีดมาตัดแขนตัวเองและมอบแก่พระโพธิธรรมเพื่อยืนยันความตั้งใจจริง พระโพธิธรรมจึงยอมรับเป็นลูกศิษย์ในที่สุดและตั้งชื่อให้ใหม่เป็น “ฮุ่ยเข่อ” หมายถึง ปัญญาและความสามารถ ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “เอกะ” อันเป็นที่มาของชื่อ “ภาพเอกะตัดแขน” (Eka —พระเอกะหรือฮุ่ยเข่อ, danpi—การตัดแขน, และ Zu—ภาพหรือแผนผัง) วาดโดยจิตรกรเอกของญี่ปุ่นนามว่าเซ็ตชู
เซ็ตชู
เซ็ตชู (雪舟;Sesshū) คือจิตรกรภาพเขียนหมึกที่ได้รับการยกย่องสูงสุดของญี่ปุ่น เกิดเมื่อ พ.ศ. 1963 ในพื้นที่ซึ่งเป็นจังหวัดโอกายามะในปัจจุบัน มีอายุยืนยาวถึง 86 ปีจนกระทั่งมรภาพเมื่อ พ.ศ. 2049 เซ็ตชูผู้เกิดในตระกูลซามูไรเป็นพระสายเซ็นเช่นกัน บวชในวัดเซ็นตั้งแต่เด็ก แต่ตอนเป็นเณร เรื่องการเล่าเรียนเขียนอ่านพระคัมภีร์ไม่ค่อยเอาไหน ใส่ใจแต่เรื่องวาดรูป จนมีตำนานเล่าขานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาพที่ตนวาด โดยเล่ากันว่า ด้วยความไม่ทำเอาใจใส่คัมภีร์ พระประจำวัดจึงจับมัดไว้กับเสาในโบสถ์ เณรร้องไห้ฟูมฟาย น้ำตาร่วงลงพื้น จึงใช้เท้านิ้วเท้าแตะน้ำตาและวาดเป็นหนูขึ้นมา เมื่อพระเห็นเข้าก็ทึ่งฝีมือของภาพนั้น และยอมให้เอาดีทางด้านจิตรกรรม

เมื่ออายุราว 20 ปี เซ็ตชูไปประจำอยู่ที่วัดในพระนครเกียวโตซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น มีพระที่เก่งกาจเรื่องศิลปะเป็นอาจารย์ให้ด้วย และอยู่ที่นั่น 20 กว่าปีจึงย้ายไปที่ยามางูจิและมีโอกาสได้ไปจีนช่วงราชวงศ์หมิง เซ็ตชูได้รับความชื่นชมที่นั่นด้วยในฐานะศิลปะฝีมือเยี่ยม อีกทั้งได้เรียนรู้ศิลปะโดยตรงก่อนจะกลับสู่ญี่ปุ่น เปิดสำนักศิลปะของตน และสร้างสรรค์งานไว้มากมาย ตำนานทั้งหลายเป็นอย่างไรไม่มีใครยืนยันได้แน่ชัด แต่ข้อเท็จจริงที่ประจักษ์คือเซ็ตชูเป็นคนมีพรสวรรค์ ถึงขั้นได้รับคำชมจากจีนซึ่งเป็นต้นตำรับภาพเขียนหมึก

ย้อนกลับมาที่ภาพเอกะตัดแขนอีกครั้ง จากภูมิหลังของตัวภาพกับคุณสมบัติในความนิ่งของมือและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน เมื่อพินิจอีกที จะดูได้ลึกและเข้าใจยิ่งขึ้น อย่างเส้นตัดขอบรูปพรรณของพระโพธิธรรมนั้น เซ็ตชูจงใจให้เป็นเส้นหนา ถัดออกมาอีกนิดจะเห็นเงาดำจาง ๆ ซึ่งเป็นการเลือนสีออกจากภาพหลัก ตรงนี้น่าจะเป็นการสื่อรัศมีที่เปล่งจากภายใน ส่วนบริเวณขอบตัดแขนของพระเอกะนั้น หากจ้องให้ดีจะเห็นมีรอยแดง ๆ ปนอยู่

สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้คือความละเอียดที่เซ็ตชูใส่ใจ ประกอบกันขึ้นเป็นภาพใหญ่ และไม่ใช่ว่าทำได้ง่าย ๆ ในวัย 77 ปีซึ่งถือว่าชรามาก เป็นไปได้ว่าการฝึกฝนในฐานะพระและศิลปินทำให้มีแรงขับเคลื่อนสร้างผลงานชิ้นเอกได้จนถึงบั้นปลายของชีวิต และไม่ใช่แค่ภาพนี้เท่านั้น ยังมีภาพอื่นอีกซึ่งเมื่อรวมกันแล้วทำให้เซ็ตชูเป็นผู้มีผลงานส่วนตัวได้รับการยกย่องเป็นมรดกแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 6 ผลงาน มากที่สุดในบรรดาเจ้าของผลงานทั้งหมด
ตัวอย่างผลงานภาพเขียนหมึกโดยเซ็ตชู

ภาพเขียนหมึกแม้ดูเรียบง่าย แต่ถือว่าเป็นศิลปะขั้นสูง เพราะยิ่งเรียบง่ายเท่าไร การสื่อออกมาให้มีเสน่ห์ยิ่งทำยากขึ้นเท่านั้น ทั้งการคะเนความเข้มของหมึก การลงน้ำหนักของมือ ตลอดจนการเลือนหมึกให้ดูมีมิติ ล้วนแต่ต้องประกอบกันอย่างได้ดุลจึงจะวาดออกมาได้ดี สิ่งเหล่านี้ใช้เวลานานหลายปีกว่าฝีมือจะนิ่งและได้รับการยอมรับ ภาพบางภาพเราจะดูแค่สีสันไม่ได้ หากเจาะลึกลงไปจะตระหนักถึงความพยายามและสิ่งที่เรียกว่า “ศิลป์” จริง ๆ ดังที่เซ็ตชูฝากผลงานไว้ให้ดู

*ข้อมูลบางส่วนจาก Transmission of Light: Zen in the Art of Enlightenment by Zen Master Keizan (Cleary, Thomas. 1999. North Point Press)

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น