xs
xsm
sm
md
lg

“ไฟดับ” สิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไฟฟ้าดับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าในช่วงฤดูฝนที่ระบบไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากลมฟ้าอากาศ หรือช่วงฤดูร้อนที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากจนกำลังไฟฟ้าไม่เพียงพอ แต่ในญี่ปุ่นไฟฟ้าดับเป็นสิ่งที่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

ข้อมูลของสหพันธ์ผู้ผลิตไฟฟ้า พบว่าบ้านเรือนในอังกฤษไฟดับรวมปีละ 76 นาที ในฝรั่งเศส 62 นาทีต่อปี แต่เหตุในญี่ปุ่นมีไฟดับเฉลี่ยเพียง 6 นาทีต่อปีเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้ระบบไฟฟ้าของญี่ปุ่นมีเสถียรภาพอย่างมาก ก็เพราะระบบจ่ายไฟฟ้าในญี่ปุ่นได้รับการออกแบบให้สามารถป้องกันการเกิดไฟดับที่กินเวลานานได้ เช่น หากหน่วยจ่ายไฟฟ้าหน่วยหนึ่งเกิดใช้การไม่ได้เพราะถูกฟ้าผ่าแล้วไฟดับ การจ่ายไฟจะเริ่มได้อีกครั้งด้วยการควบคุมทางไกลก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่จะรุดไปซ่อมแซมด้วยซ้ำ

ระบบจ่ายไฟของญี่ปุ่นควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมหาเส้นทางจ่ายไฟอีกเส้นทางหนึ่งที่จะมาทดแทน แล้วการจ่ายไฟก็เริ่มอีกครั้งได้ผ่านทางเบี่ยงซึ่งช่วยลดทั้งระยะเวลาและขอบเขตพื้นที่ที่เกิดไฟดับให้เหลือน้อยที่สุด ฉะนั้นเมื่อเกิดไฟดับขึ้น การกลับมาจ่ายไฟจึงทำได้อย่างรวดเร็ว

ได้เกิดเหตุไฟดับครั้งใหญ่ในกรุงโตเกียวเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 เนื่องจากเรือลำหนึ่งที่ลำเลียงเครนสูง ลอดใต้สายไฟทางแม่น้ำสายหนึ่งทางตะวันออกของกรุงโตเกียวที่ติดกับจังหวัดชิบะ แต่เครนได้ไปเกี่ยวสายไฟจนเสียหาย ในตอนนั้น สายไฟสำรองก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน ทำให้เกิดไฟดับทั้งในกรุงโตเกียวและพื้นที่โดยรอบ เพราะบริเวณที่ได้รับความเสียหายเป็นเส้นทางจ่ายไฟที่สำคัญมากเส้นทางหนึ่งในการจ่ายไฟจากจังหวัดชิบะไปยังกรุงโตเกียว

อุบัติเหตุนี้ทำให้ครัวเรือน สำนักงานและอื่นๆ เกือบ 1 ล้าน 4 แสนแห่งไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากนี้ยังทำให้บริการรถไฟ 18 เส้นทางต้องหยุดให้บริการด้วย แม้ต้องใช้เวลาหลายวันในการเปลี่ยนสายเคเบิลที่ได้รับความเสียหาย แต่การจ่ายไฟในพื้นที่เกือบทั้งหมดกลับมาเริ่มได้อีกครั้งภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์พบทางเบี่ยง และดึงไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแห่งอื่นมาจ่ายให้กับพื้นที่ที่ไฟดับ

ญี่ปุ่นเผชิญกับเหตุไฟดับครั้งใหญ่อีกเมื่อปี 2554 หลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่จังหวัดฟูกูชิมะ ผู้คนมากมายไม่สามารถใช้บริการโทรคมนาคมได้เพราะถูกตัดขาดและไม่ได้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อทราบถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

เหตุครั้งนั้นทำให้หลายหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญของการมีเครื่องปั่นไฟฟ้าฉุกเฉินเป็นของตัวเอง ได้มีการจัดตั้งศูนย์รับมือฉุกเฉินในอาคารของรัฐบาลท้องถิ่น อาคารสาธารณะที่สำคัญจะสามารถเข้าถึงแหล่งไฟฟ้าฉุกเฉินได้ สถานที่อื่นๆ เช่นโรงพยาบาลและบ้านคนชราก็เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุไฟฟ้าดับเป็นเวลานานด้วยการหาเครื่องปั่นไฟสำรองเตรียมไว้ยามฉุกเฉิน

ปัญหาของญี่ปุ่นในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องของไฟฟ้าดับ แต่เป็นเรื่องการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ค่อนข้างมาก แต่หลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นต่อโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์แทบจะไม่หลงเหลือ และญี่ปุ่นได้พึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก หากแต่การนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนสูง ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อรักษาเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า ในราคาที่ประชาชนไม่เดือดร้อน.


กำลังโหลดความคิดเห็น