xs
xsm
sm
md
lg

สนุกกับงานเทศกาลฤดูร้อนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก https://ewha-yifu.com/blog
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อพูดถึงฤดูร้อนของญี่ปุ่นแล้ว หนึ่งในสิ่งที่เด็ก ๆ และสาว ๆ หลายคนรอคอยคงหนีไม่พ้นเทศกาลดอกไม้ไฟซึ่งมีจัดกันอย่างเนืองแน่นในสุดสัปดาห์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม บางแห่งก็เลยไปจนถึงเดือนตุลาคมด้วย เทศกาลดอกไม้ไฟฤดูร้อนมักได้รับการตอบรับดี และมีเรื่องสนุกให้ทำมากมายทีเดียวค่ะ

ช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ต้นฤดูร้อนเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นร้านเสื้อผ้าจำหน่ายชุดยุคาตะ ซึ่งเป็นชุดคล้ายกิโมโนแต่เป็นชุดบางสำหรับสวมในฤดูร้อน มีชั้นเดียวหรือสองชั้น ราคาตั้งแต่ประมาณสามพันเยนขึ้นไปจนถึงหลักแสนเยน มีทั้งสีสันลวดลายฉูดฉาดและแบบเรียบ ๆ ความต่างของราคาจะอยู่ที่การเย็บ เนื้อผ้า การย้อม และวิธีที่ใช้ทำลวดลาย เป็นต้น

เดี๋ยวนี้หาได้น้อยแล้วที่จะมีใครใส่ยุคาตะเดินทอดน่องไปไหนมาไหน ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่ก็สาว ๆ ชาวญี่ปุ่นเองที่อยากใส่เป็นแฟชั่นฤดูร้อน บางแห่งที่มีจัดอีเว้นต์ก็อาจรณรงค์ให้สวมยุคาตะมาแล้วจะได้รับของที่ระลึกหรืออะไรเป็นพิเศษในงานด้วย ข้อมูลอีเวนต์เหล่านี้บางทีก็เห็นจากโปสเตอร์โฆษณาที่ติดตามเสาไฟฟ้าบ้าง หรือตามป้ายประกาศตามที่สาธารณะต่าง ๆ

จำได้ว่าฤดูร้อนปีหนึ่ง ที่ทำงานสามีฉันเคยอนุญาตให้พนักงานสวมยุคาตะมาในวันศุกร์ได้ ปรากฏว่าสาวคนเดียวที่สวมยุคาตะมาทำงานคือคนไทย ส่วนคนอื่นไม่มีใครยอมสวมมา ไม่ทราบว่าเพราะเขิน หรือเพราะยุ่งยากกว่าจะสวมเสร็จ ยิ่งถ้าเป็นยุคาตะของผู้หญิงแล้ว หากไม่คุ้นหรือนาน ๆ สวมทีอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะเข้าที่ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องประดับตกแต่ง ทำผมเผ้า แต่งหน้าอีก กว่าจะได้ออกจากบ้านก็คงเหงื่อโซม ยิ่งขึ้นรถไฟตอนเช้าที่คนแน่น และมาถึงบริษัทท่ามกลางอากาศร้อน ๆ แล้วคงหมดสภาพเสียก่อน

ช่วงเวลาที่เราจะได้เห็นคนสวมยุคาตะมากที่สุดทั้งชายและหญิงคงไม้พ้นงานเทศกาลดอกไม้ไฟฤดูร้อน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่สวมจะอยู่ในวัยหนุ่มสาว รวมทั้งเด็ก ๆ ที่มากับพ่อแม่ ผู้ใหญ่ไม่ค่อยจะสวมให้เห็นกันมากนัก และถ้าหากซื้อยุคาตะจากร้านเสื้อผ้าที่เป็นที่นิยมในปีนั้นแล้วเอามาสวมเลย ก็อาจจะแจ็คพ็อตมาจ๊ะเอ๋กับคนในงานที่สวมแบบเดียวกันเป๊ะ ทำให้ต้องหน้าเจื่อนพลางหลบตาพยายามทำไม่รู้ไม่ชี้กันไป
ภาพจาก http://english.cheerup.jp
เราจะทราบได้ว่าที่ไหนมีงานเทศกาลดอกไม้ไฟบ้างก็จากนิตยสารหรือจากเว็บไซต์ ถ้าเป็นเว็บไซต์ก็ดีตรงที่ว่าหากมีการเลื่อนงานไหนออกไปเพราะสภาพอากาศไม่อำนวยก็จะทราบได้ทันท่วงที แต่ละแห่งที่จัดจะระบุไว้เลยว่าจะจุดดอกไม้ไฟทั้งหมดกี่พันลูกหรือกี่หมื่นลูก เริ่มจุดตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง จะเดินทางมายังสถานที่จัดงานได้อย่างไรบ้าง

บางแห่งที่เป็นที่นิยมมาก ๆ นั้นต้องเอาเสื่อไปจองที่นั่งกันตั้งแต่เช้าตรู่ของวันเป็นอย่างน้อย หรือถ้าจะให้ได้ที่นั่งดี ๆ ก็อาจจะสองสามวันล่วงหน้าเสียด้วยซ้ำไป ถ้าไปวันนั้นแล้วค่อยไปหาที่เอาก็จะหาที่นั่งดี ๆ ได้ยาก

งานดอกไม้ไฟใหญ่ ๆ แห่งหนึ่งที่เพื่อนฉันเคยชวนไปไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ แต่เราต้องจ่ายเงินนิดหน่อยให้กับคนที่รับจ้างเอาเสื่อไปจองไว้ล่วงหน้าให้ เขายังขนเอาเครื่องดื่มกระป๋องแช่เย็นทั้งแบบมีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ไปด้วย พอไปถึงงานเราก็มีที่นั่งแล้ว แถมยังได้เครื่องดื่มเย็น ๆ กันอีกคนละสองกระป๋อง ส่วนของกินต้องหาเอาเอง ปกติตามงานแบบนี้มักต้องต่อคิวแผงขายอาหารกันนาน เราเลยเตรียมข้าวกล่องไปจากบ้าน

อีกที่หนึ่งที่ฉันประทับใจอยู่จังหวัดคานางาวะซึ่งติดกับกรุงโตเกียว คงเพราะไม่ได้เป็นงานใหญ่อลังการมาก จึงไม่ต้องถึงกับไปจองที่นั่งล่วงหน้า ฉันกับเพื่อนไปถึงตอนก่อนเวลาจุดดอกไม้ไฟสักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ยังมีที่นั่งว่างใกล้แม่น้ำ รอบด้านเต็มไปด้วยแผงขายอาหาร ที่นิยมก็น่าจะเป็นยากิโซบะกล่องละ 500 เยน ร้านขายเครื่องดื่มที่ขายเบียร์ด้วยก็มี บริเวณไม่ไกลจากสถานที่จัดงานก็มีคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นเองซึ่งไม่ได้ตั้งแผง แต่เอาเครื่องดื่มเย็น ๆ ออกมาวางขายหน้าบ้านให้คนที่มาเที่ยวงานด้วย
ภาพจาก https://ainiken.blogspot.com
งานนี้น่ารักดีค่ะ ที่ซุ้มผู้จัดงานเขาให้คนมาเที่ยวฝากข้อความให้ประกาศได้ด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นข้อความสร้างรอยยิ้ม ทั้งข้อความแสดงความปรารถนาดีจากคนในครอบครัวที่ส่งให้กัน เช่น สามีขอบคุณภรรยาที่คอยดูแลเสมอ หรือข้อความของคนหนุ่มสาวให้กันแบบน่ารัก ๆ ที่ไม่ได้หวานจนเลี่ยน หรือข้อความขำ ๆ จากใคร ชื่อสกุลอะไรก็ว่าไป

วันนั้นเป็นวันที่ฉันได้เห็นดอกไม้ไฟกลางท้องฟ้าฤดูร้อนแบบใกล้มาก ดอกไม้ไฟดวงใหญ่โต มีหลากรูปแบบ หลากสีสัน รอบข้างพากันส่งเสียงอื้ออึงอย่างตื่นเต้น พร้อมเสียงชมไม่ขาดปากว่าสวยจังเลย เวลาแห่งความสุขเหมือนอยู่ในฝันผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาอันน่าเบื่อที่สุดของงานคือทยอยกลับพร้อมฝูงชนอันล้นหลาม แค่คิดว่าฝูงชนทั้งหมดนี้จะไปขึ้นรถไฟขบวนเดียวกันก็เซ็งแล้ว ยิ่งถ้าใครต้องไปเข้าแถวรอซื้อตั๋วอีกก็รอกันนานเพราะคนเยอะ กระนั้นทางผู้จัดงานและเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟก็เตรียมการไว้พร้อมสรรพ ทั้งป้ายบอกทางไปสถานีรถไฟในละแวกนั้น และมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกที่บริเวณใกล้สถานีรถไฟด้วย

ส่วนที่ประทับใจอีกอย่างคือ พอจบงานปุ๊บ ทางผู้จัดก็จะประกาศให้กลับบ้านกันโดยสวัสดิภาพและขอให้เก็บขยะของตัวเองกลับไปทิ้งที่บ้าน นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกแปลกกับการที่สถานที่จัดงานไม่มีถังขยะให้ และเห็นเป็นภาพแปลกตาที่สาวในชุดยุคาตะสวยงามจะเดินถือถุงขยะขึ้นรถไฟ ที่แน่ ๆ คือไม่มีขยะหลงเหลือให้เห็นภายในงาน ทุกคนให้ความร่วมมือกันหมด
าพจาก https://shimokitazawa-east.com
นอกจากงานเทศกาลดอกไม้ไฟแล้ว ช่วงฤดูร้อนก็มีงานวัดจัดกันหลายแห่ง เป็นโอกาสที่คนจะมาตั้งแผงขายอาหารกัน มีทั้งยากิโซบะ (หมี่ผัดซอส) ปลาหมึกย่าง ทาโกะยากิ (ขนมทอดลูกกลม ๆ ไส้หนวดปลาหมึกยักษ์) โอะโคโนมิยากิ (พิซซ่าญี่ปุ่น) บาร์บีคิว ข้าวโพดย่าง มันนึ่งราดเนย กล้วยหอมเสียบไม้ชุบช็อกโกแลต แอปเปิลเสียบไม้เคลือบน้ำตาลสีแดงสดเป็นมันวาว น้ำแข็งไส และอื่น ๆ แค่เรื่องกินอย่างเดียวไม่มีต้องมีอะไรอื่นก็สนุกแล้ว แต่งานของศาลเจ้าใหญ่และมีชื่อเสียงบางแห่งก็มีการรำบงโอโดริและเล่นเครื่องดนตรีญี่ปุ่นดั้งเดิมให้ชมด้วย ร้านค้าที่ขายของคล้าย ๆ กันก็จะมีเรียงรายทอดยาวไปเป็นทิวและมีลูกค้าแน่นขนัดกันแทบทุกร้าน ฉันกับเพื่อนร่วมงานเคยไปเป็นกลุ่มหลังเลิกงาน สนุกดีค่ะ

ฉันเคยไปเดินเล่นในงานวัดแถวบ้านกับสามีหลังรับประทานอาหารเย็นเสร็จ แม้จะอิ่มแต่ก็โลภอยากรับประทานมันนึ่งราดเนยซึ่งเป็นของโปรด คุณลุงคนขายต้อนรับอย่างเริงร่า “อิรัชไช ๆ! เอ้าแถมมันให้อีกก้อนนึงนะ” ไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่เจอพ่อค้าใจดีในวันที่เรากำลังพุงบาน แต่ในเมื่อลุงโปะมันแถมมาให้แล้วจะให้ทำหน้าเจื่อนก็จะเสียน้ำใจ ฉันเลยได้แต่ยิ้มร่าขอบคุณ โดยมีสามีให้กำลังใจด้วยการยืนกลั้นหัวเราะอยู่ข้าง ๆ
ภาพจาก https://sokuup.net/
“ร้านเราทำมิโสะเองด้วย อร่อยนะ วางไว้ตรงนั้น ลองใส่ดู เผื่อชอบ” คุณลุงบอกพลางยื่นมันนึ่งร้อน ๆ ควันฉุยซึ่งตัดไว้ให้เป็นสี่แฉก สามารถไปตักเนยโปะใส่เท่าไหร่ก็ได้ตามชอบ โดยเนยจะวางไว้ตรงบริเวณแยกต่างหาก สำหรับร้านนี้มีมิโสะให้ใส่เพิ่มด้วย ไม่ใช่มิโสะแบบเดียวกับที่เราเอามาทำซุป แต่เป็นมิโสะที่ทางร้านปรุงมาสำหรับราดมันนึ่งโดยเฉพาะ อร่อยดีค่ะ บางร้านก็มีมิโสะ บางร้านก็ไม่มี

ส่วนน้ำแข็งไสของญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเหมือนแบบไทย เขาจะไม่ใส่น้ำหวานเยอะแบบบ้านเรา เหมือนใส่พอเป็นพิธี และรสไม่ค่อยหวานด้วย ฉันชอบน้ำแข็งไสแบบไทยมากกว่า นึกถึงตอนเด็ก ๆ ฉันจะดีใจมากเวลารถขายน้ำแข็งไสมา ฉันชอบมองเวลาคนขายทำน้ำแข็งไสแต่ละถ้วย ถ้วยใบแค่เล็ก ๆ แต่เขาโปะและอัดน้ำแข็งออกมาเป็นทรงสูงปรี๊ด ราดน้ำหวานทีละรสหรือสองรส ตามด้วยนมข้นที่ราดเป็นเส้นบาง ๆ ทั่วตั้งแต่ยอดน้ำแข็งจนถึงถ้วย อร่อยชื่นใจเป็นที่สุด เดี๋ยวนี้ไม่รู้มีที่ไหนขายไหม ครั้นอยากจะซื้อเครื่องมาทำน้ำแข็งไสเอาเองก็หาน้ำหวานรสองุ่น รสสับปะรดที่ชอบมากไม่ได้เสียอีก

นอกจากอาหารแล้ว งานวัดหลายแห่งในญี่ปุ่นยังมีร้านที่เล็งลูกค้าเด็ก อย่างเช่น ร้านขายหน้ากากพลาสติกการ์ตูนเรื่องต่าง ๆ หรือร้านตักลูกปลาทอง โดยให้ตักด้วยด้ามกลม ๆ แบน ๆ ขอบทำจากพลาสติก ตรงกลางแปะไว้ด้วยกระดาษบาง ๆ โดนน้ำนิดหนึ่งก็ขาดแล้ว อีกมือถือชาม ใครเก่งก็ตักปลาได้ก็ได้ปลากลับบ้านไป หรือร้านตักลูกบอลยาง/พลาสติกจิ๋ว หรือของเล่นพลาสติกลอยน้ำ โดยใช้ด้ามแบบเดียวกับที่ตักปลาทอง

ถ้าใครมีโอกาสเจองานวัดญี่ปุ่น ก็ลองแวะเข้าไปเดินเล่นดู สนุกดีนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ
ภาพจาก http://best-times.jp/


"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น