xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นกับเด็กกำพร้าหลังสงคราม

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกบอกเล่าซ้ำ ๆ ผ่านหนังสือเรียนบ้าง ภาพยนตร์บ้าง ในญี่ปุ่นช่วงกลางเดือนสิงหาคม สถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มักนำเสนอรายการพิเศษ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บทความ และข่าวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกปี โดยมีสาระหลักในแนวทางเดียวกันคือ “สงครามนำความสูญเสียมาสู่ทุกฝ่าย” สิ่งที่คนทั่วโลกรับรู้ส่วนใหญ่เป็นแง่มุมการสงครามและการเมืองระหว่างประเทศ เรื่องทางสังคมหลังสงครามไม่ค่อยแพร่หลายนัก คนที่ไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยได้สัมผัสความรู้สึกของคนญี่ปุ่นและสภาพสังคมที่บอบช้ำก่อนจะฟื้นตัว ในแง่มุมเหล่านั้น เรื่องหนึ่งซึ่งคนภายนอกหรือแม้แต่เด็กญี่ปุ่นรุ่นหลัง ๆ ก็ไม่ค่อยตระหนักคือ เด็กกำพร้าหลังสงคราม

เมื่อก่อนญี่ปุ่นจน แต่มีคนคิดสร้างความรวยด้วยการก่อสงครามยึดครองประเทศอื่น คนที่เห็นด้วยก็มี คนที่ต่อต้านก็มาก แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อคนที่ถือปืนคือผู้ชี้นำ เมื่อญี่ปุ่นถลำเข้าสู่สงครามใหญ่ ประชาชนจึงตกระไดพลอยโจน ผลที่สุด จากเดิมที่ใช้ชีวิตอนาถา กลายเป็นน่าอนาถกว่าเดิม เมื่อผู้ปกครองนำพาบ้านเมืองไปสู่ความพินาศหลังจากรุกรานบ้านโน้นเมืองนี้ทั่วเอเชียและแพ้สงครามในที่สุด

ย้อนไปช่วงปลายสงครามเมื่อ พ.ศ.2488 เดือนสิงหาคมกลายเป็นเดือนประวัติศาสตร์ของโลก กว่าเจ็ดสิบปีก่อนตอนหน้าร้อนเช่นนี้ ฮิโรชิมากับนางาซากิกลายเป็นที่รองรับระเบิดปรมาณูที่ถูกนำมาใช้จริงถึงสองลูกเป็นครั้งแรกในสงคราม แม้เกิดเรื่องที่สองเมืองห่างไกลนครหลวง แต่โศกนาฏกรรมนี้ไม่ใช่ระดับภูมิภาคระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นเท่านั้น ความรุนแรงที่ทำให้คนตายเป็นเบือกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ

ฝ่ายทิ้งระเบิดเองก็ตกใจเพราะไม่เคยเห็นผลของมันมาก่อนจนกระทั่งเกิดขึ้นจริง ส่วนฝ่ายถูกทิ้งระเบิดไม่อาจดึงดันต้านทานต่อไป จึงประกาศยอมแพ้ในที่สุด ญี่ปุ่นถือว่าวันที่ 15 สิงหาคมคือ “วันรำลึกการสิ้นสุดสงคราม” และเมื่อญี่ปุ่นแพ้ราบคาบ อะไรหลายอย่างก็จบลง สงครามฝั่งแปซิฟิกจบ การยึดครองหลายส่วนจบรวมทั้งในเกาหลี ในวันเดียวกันนี้ เกาหลีแผ่นดินเดียวในขณะนั้นจึงถือเป็นวันประกาศอิสรภาพ ได้ความเป็นไทคืนมา หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนานกว่าสามทศวรรษ

ฉายภาพกลับมาในปัจจุบัน บ้านเมืองญี่ปุ่นสะอาดตา เมืองใหญ่มีคนพลุกพล่าน แต่ไม่มีขอทานให้เห็น พวกที่เป็นคนไร้บ้านมีบ้าง แต่อยู่ในสวนสาธารณะ ในหลืบ ในซอย ไม่ค่อยปรากฏบ่อยให้คนต่างชาติได้เก็บไปนึกสงสัยไหนว่าญี่ปุ่นทั้งประเทศอยู่ดีกินดี สถานีรถไฟก็ใหญ่โตโอ่โถงมีระบบระเบียบ แต่สภาพดูดีแบบนี้คือญี่ปุ่นที่เคยผ่านความทุกข์ยากมาไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงหลังสงคราม

ช่วงท้ายสงครามเกิดการทิ้งระเบิดเป็นวงกว้างทั่วญี่ปุ่น ทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสงครามยุติ ความรุนแรงทางอาวุธหมดไป แต่สังคมญี่ปุ่นวุ่นวายจนไม่รู้จะเริ่มจัดตรงไหนก่อนดี แตะตรงไหนก็มีปัญหาทั้งนั้น ขณะที่พวกนักการเมืองการทหารวิ่งวุ่นหาวันลงนามยอมแพ้และเจรจาสารพัดกับคณะเจ้าหน้าที่อเมริกันที่เข้ามาปกครอง ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนเล่า? ปากท้องรอได้หรือ กินอยู่อย่างไร ตายไปเท่าไร ระเหเร่ร่อนขนาดไหน...เรื่องพวกนี้ ‘เดี๋ยวค่อยว่ากัน’ นั่นคือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กจำนวนมากไม่เพียงแต่กำพร้าเพราะพ่อแม่ตายในสงคราม แต่อีกหลายคนกลายเป็นเด็กจรจัดด้วย

การสำรวจเมื่อ พ.ศ.2490 หลังสงคราม พบว่ามีเด็กกำพร้าทั่วประเทศราว 123,000 คน เป็นเด็กผู้ชายประมาณ 68,000 คน เด็กผู้หญิง 55,000 คนเศษ สามจังหวัดที่มีมากที่สุดคือ ฮิโรชิมา 5,975คน; เฮียวโงะ 5,970; โตเกียว 5,830 คน เด็กบางส่วนทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ หากินกันตาย เช่น ขัดรองเท้าตามสถานีรถไฟ แต่กว่า 50% เป็นขอทาน และราว 8% ก่ออาชญากรรมซ้ำ ๆ เช่น การลักขโมย

ทุกวันนี้ใครไปสถานีอูเอโนะในกรุงโตเกียว จะเห็นโถงสถานีกว้างขวาง พื้นสะอาด ร้านค้าติดไฟสว่าง พนักงานขายของกันแข็งขัน และคงจะนึกภาพเมื่อครั้งอดีตไม่ออกเลยว่าที่นี่ไม่ได้สะอาดตาเช่นนี้ ตกกลางคืนจะเห็นเด็กเนื้อตัวมอมแมมส่งกลิ่นสาบสางนั่งตรงบันไดบ้าง นอนระเกระกะบ้าง ที่นี่เป็นแหล่งรวมเด็กจรจัดขนาดใหญ่จากทั่วสารทิศเพราะเป็นชุมทางรถไฟหลายสาย สถานีหลักตามเมืองใหญ่อีกหลายแห่งก็มีสภาพคล้ายกัน แล้วทำไมเด็กไม่ไปอยู่ให้เป็นที่เป็นทาง? เรื่องมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ทางการญี่ปุ่นตระหนักถึงปัญหาอยู่เหมือนกัน แต่ในสภาพสับสนวุ่นวาย อะไร ๆ ก็ไม่ลุล่วง

ตอนนี้คนที่เคยเป็นเด็กจรจัดเมื่อสมัยนั้นมีอายุอยู่ในวัยแปดสิบเก้าสิบ มีทั้งหญิงและชาย เด็กที่ตายไปตอนนั้นเพราะอดอาหารก็มีไม่น้อย ส่วนคนที่อยู่รอดมาได้เริ่มออกมาเปิดเผยประสบการณ์กันมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของหนังสือ รายการสารคดี คำสัมภาษณ์ หรือไปบรรยายด้วยตนเองตามที่ต่าง ๆ ให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงสภาพความโหดร้ายที่สืบเนื่องจากสงคราม เพราะอีกไม่ช้าไม่นานประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของคนเหล่านี้จะสูญเสียแหล่งข้อมูลชั้นต้นไป

คุณตาคุณยายแต่ละคนที่เคยเป็นเด็กกำพร้าจรจัดประสบเหตุการณ์ต่างกันไป แต่จุดร่วมที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่คือ ถูกปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คนทั้ง ๆ ที่สภาพเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองเลือก ถูกมองว่าสกปรก เป็นกุ๊ย และถึงขนาดมีป้ายเขียนด้วยว่า “อย่าให้อาหารเด็กจรจัด” หนังสือบางเล่มที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตั้งชื่อไว้อย่างเจ็บปวด เช่น “เห็นเราเป็นหมาจรจัดหรือไง” (俺たちは野良犬か!; Oretachi wa nora-inu ka!) ของเซอิจิโร ยามาดะ ซึ่งเคยเป็นเด็กจรจัดหลังสงคราม ผู้เขียนเห็นพ่อแม่ตายต่อหน้าต่อตา ตอนนั้นอยู่ ป.4 พ่อตายเพราะการโจมตีทางอากาศ แม่ตายเพราะหลุมหลบภัยถล่มทับสืบเนื่องจากระเบิดเพลิง

หรือประสบการณ์ของเด็กหญิงอีกคนก็โหดร้ายไม่น้อยไปกว่ากัน หลังจากพ่อแม่ตาย เหลือกันอยู่ 3 คนพี่น้อง ต่างคนต่างแยกย้ายไปอยู่กับญาติ โรงเรียนก็ไม่ได้ไป ถูกใช้ให้ไปขนน้ำทะเลเพื่อจะเอามาทำเกลือ ถูกใช้ให้ตัดฟืน ทำงานสารพัดที่หนักเกินเด็ก 9 ขวบจะได้ทำ พอผ่านไป 2 ปี ได้ข่าวว่าน้องชายสุขภาพไม่ดี จึงไปเยี่ยม ไปเห็นน้องชายถูกให้นอนอยู่ในคอกม้า เพ้อหาแม่และอ้วกออกมามีพยาธิตัวหนา ๆ คล้ายเส้นอูด้งและตาย ตั้งแต่นั้นจึงตัดสินใจไม่อยู่กับญาติ ย้อนกลับไปที่โตเกียว กลายเป็นเด็กจรจัด

อีกรายหนึ่ง เด็กชายอายุ 13 ปีคนนี้แม่ตายก่อนสงครามสิ้นสุดราว 1 เดือน บ้านของตัวเองที่จังหวัดฟูกูอิถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศ เมื่อไม่เหลือใคร จึงจำใจไปอยู่บ้านญาติ “ท่าทีของญาติเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง” อดีตเด็กจรจัดเล่าว่าอย่างนั้น เมื่ออยู่ในสภาพตกทุกข์ได้ยากกันทั่วหน้า ใครเล่าจะอยากรับภาระเพิ่ม เมื่อคับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านญาติ เร่ร่อนไปตามที่ต่าง ๆ แอบขึ้นรถไฟไปจนถึงโอซากาและใช้ชีวิตหลับนอนตามถนน

ต่อมาได้เจอเพื่อนร่วมชะตาชีวิตเป็นเด็กชายชื่อคาเมะและทำอะไร ๆ ร่วมกัน เงินไม่มี อาหารก็ไม่มี บางทีตลอด 2 วันมีแค่น้ำกลั้วท้อง ในที่สุดต้องลักเล็กขโมยน้อยเพื่อหาเงินมาซื้ออาหาร อยู่มาวันหนึ่งเกิดสิ่งผิดปกติกับร่างกาย ปวดหัวหนัก มีแต่คาเมะเท่านั้นที่คอยปลอบโยนลูบหลังให้ แน่นอนว่าเงินจะไปหาหมอก็ไม่มี ด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ เมื่ออาการปวดหัวหมดไป ต่อมาดวงตาพร่ามัวจนแทบมองไม่เห็น และแล้ววันหนึ่งคาเมะผู้แสนดีก็กระโดดเข้าใส่รถไฟ...ฆ่าตัวตาย ยังความเสียใจเป็นแผลลึกแก่เด็กชายที่ตาใกล้บอดมาจนบัดนี้

อันที่จริง ต้นปี พ.ศ. 2489 กองบัญชาการอเมริกันที่ปกครองญี่ปุนออกคำสั่ง “จัดระเบียบเด็กจรจัด” เพราะดูแล้วไม่สบายตาไม่สบายใจ จึงเกิด “ปฏิบัติการล่าเด็กจรจัด” แม้มิใช่คำที่เป็นทางการ แต่คนที่อยู่หน้างานใช้คำแบบนี้จริง ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า 浮浪児狩り(furōji-kari) กล่าวคือ ทางการออกไปไล่ล่า จับตัวเด็กจรจัดตามที่ต่าง ๆ เอามาไว้รวมกัน โดยหลักการน่าจะเป็นศูนย์พักพิงหรืออะไรทำนองนั้น แต่การปฏิบัติยุคนั้นเป็นเหมือนค่ายกักกันเสียมากว่า การนับจำนวนเด็กที่ถูกนำตัวมา นับว่า “1 ตัว, 2 ตัว” (ตามคำบอกเล่าของอดีตเด็กจรจัดผู้หนึ่ง) อย่างกับหมูกับหมา เมื่อจับได้ก็ใส่รถบรรทุกขนไป การดูแลภายในศูนย์คล้ายนักโทษ ความเป็นอยู่ไม่ใช่ว่าดีนัก มีการลงโทษหนัก ๆ จึงมีการหลบหนีออกจากศูนย์เป็นประจำ ในช่วงแรก เมื่อเด็กเหล่านี้ถูกส่งตัวไปโรงเรียน ก็ถูกรังแกและดูถูกจากเพื่อนร่วมโรงเรียน

กรณีเด็กจรจัดหลังสงครามเป็นปัญหาสังคมที่ญี่ปุ่นตามแก้อีกหลายปีต่อมา จนเมื่อเวลาผ่านไปอะไร ๆ เข้าที่เข้าทางมากขึ้น สถานการณ์น่าหดหู่บางอย่างถูกลืมเลือนไป แต่นี่คือมุมหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นหลังสงครามที่ควรระลึกไว้เตือนใจว่าไม่มีสงครามไหนที่ไม่สูญเสียน้ำตา และทุกวันนี้ อดีตเด็กจรจัดหลายคนยังคงเสียน้ำตาให้แก่อดีตที่ปวดร้าว และคับข้องใจกับคำถามตัดพ้อที่อยู่ในใจมาโดยตลอดว่า...ฉันผิดด้วยหรือที่พ่อแม่ตายเพราะสงครามที่ผู้ใหญ่ก่อ

* ข้อมูลบางส่วน ประมวลจากรายการพิเศษของสถานีโทรทัศน์ NHK ตอน “เด็กสถานีฯ” ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลา 21.00 น.

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น