xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นกับ “โอโมเทนาชิ” ที่หายไป (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน กลับมาพบกับ “ซาระซัง” กันอีกครั้งหลังจากห่างหายกันไประยะหนึ่งนะคะ ต้องขอบคุณ “มิกิจัง” ที่ได้ช่วยเล่าเรื่องน่าสนใจและเต็มไปด้วยสาระในช่วงที่ผ่านมาแทนให้ค่ะ

ฉันได้ไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยและพาครอบครัวไปญี่ปุ่นมา เลยมีเรื่องราวน่าประทับใจทั้งดีและร้ายเก็บมาเล่าสู่กันฟังค่ะ หนึ่งในเรื่องที่ฉันสังเกตเห็นได้ชัดในญี่ปุ่นคือความด้อยลงของความใส่ใจในการให้บริการหรือ “โอโมเทนาชิ” ซึ่งเป็นที่ญี่ปุ่นพยายามใช้เพื่อโปรโมทภาพลักษณ์ของตนต่อชาวโลกหนักหนาเสียด้วย


เวลาถามชาวญี่ปุ่นว่าญี่ปุ่นช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่คำตอบที่ได้รับจะเหมือนกันคือ “มีแต่คนต่างชาติเต็มไปหมด” พร้อมสีหน้าที่เรียบเฉยแบบเดาใจไม่ถูกและไม่มีถ้อยคำอธิบายมากไปกว่านั้นเหมือนจะให้ไปคิดเอาเอง ช่างทำผมประจำของฉันเล่าให้ฟังว่าบ้านเกิดของเธออยู่จังหวัดอิวาเตะซึ่งเรียกได้ว่าเป็นบ้านนอก กระนั้นก็ยังมีคนต่างชาติให้เห็นดาษดื่นแม้ในกระทั่งย่านที่นักท่องเที่ยวไม่น่าจะรู้จัก เธอบอกว่าอาจเป็นเพราะมีชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของและบริหารห้องให้เช่าเยอะขึ้น จึงพลอยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาในแถบนั้นมากขึ้น

ถ้าเพื่อนผู้อ่านท่านไหนเคยไปญี่ปุ่นสักอย่างน้อยเมื่อ 5 ปีที่แล้วหรือย้อนหลังไปก่อนหน้านั้นอีก จะเห็นได้ว่าชาวต่างชาติในญี่ปุ่นไม่ได้มีจำนวนมากมายจนเรียกได้ว่าล้นหลามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็หนีไม่พ้นชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเอง ที่เห็นได้บ่อยนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ก็คงไม่พ้นตามโรงแรม ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายยา ซึ่งสถานที่เหล่านี้จะมีทั้งผู้ให้บริการที่เป็นชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นปนเปกัน เราจะได้ยินทั้งเสียงพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น เสียงพูดภาษาญี่ปุ่นสำเนียงต่างชาติอยู่เนือง ๆ จนเหมือนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว

เท่าที่เห็นตามโรงแรมหรือร้านขายยา พนักงานชาวต่างชาติจะต้อนรับลูกค้าได้ดีและเป็นไปตามแบบแผนของชาวญี่ปุ่นในการให้บริการ ส่วนพนักงานชาวต่างชาติในร้านสะดวกซื้อมีทั้งคนที่พูดและฟังภาษาญี่ปุ่นได้พอสมควรกับคนที่รู้ภาษากระท่อนกระแท่น พนักงานร้านสะดวกซื้อชาวยุโรปตะวันออกคนหนึ่งที่ฉันคุยด้วยเล่าว่าเธอมาเรียนภาษาญี่ปุ่นและเพิ่งมาถึงญี่ปุ่นได้เพียงแค่สี่เดือนเท่านั้นเอง

อันที่จริงก็นับว่าเธอกล้าหาญทีเดียวที่เริ่มทำงานเลยทั้งที่ภาษายังไม่คล่อง แต่กระนั้นฉันก็อดนึกไม่ได้ว่าอยากให้ทางร้านคัดเลือกคนที่สื่อภาษาญี่ปุ่นได้เข้าใจมากกว่านี้มาทำงาน เพราะกว่าฉันจะถามเธอว่ามีน้ำเปล่าขวดใหญ่บ้างไหม ตรงชั้นวางไม่มีเลยสักขวด ก็ต้องพูดช้า ๆ และส่งภาษามือกันอยู่สักพักกว่าจะได้เรื่อง สงสัยปกติคงไม่ค่อยมีลูกค้ามาถามอะไรกับพนักงานร้านสะดวกซื้อกระมัง

เมื่อก่อนฉันเคยนึกว่าที่เดี๋ยวนี้ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นให้คนต่างชาติมาทำงานมากขึ้นก็คงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้นควบคู่ไปกับลูกค้าชาวญี่ปุ่น แต่เธอคนนี้ก็พูดอังกฤษไม่ได้อยู่ดี ฉันเลยเดาต่อว่าสงสัยนักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันออกอาจจะมีมากกว่าที่คิด หรือบางทีอาจจะเพราะหาคนญี่ปุ่นมาทำงานตามร้านสะดวกซื้อได้น้อยลงเพราะงานหนักและค่าจ้างน้อย จึงจำต้องรับพนักงานต่างชาติโดยไม่เกี่ยงเรื่องภาษาญี่ปุ่นนัก

แต่เหตุที่ฉันรู้สึกว่า “โอโมเทนาชิ” ของญี่ปุ่นกระพร่องกระแพร่งลงไม่ได้มาจากพนักงานชาวต่างชาติสักเท่าไหร่ แต่มาจากพนักงานชาวญี่ปุ่นเองมากกว่า

ที่เห็นอย่างนั้นอาจเป็นเพราะว่าฉันไม่ได้คาดหวังจากพนักงานชาวต่างชาติมากเท่ากับที่คาดหวังจากคนญี่ปุ่นซึ่งฉันคิดเอาเองว่าน่าจะ “รู้งาน” เพราะเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาเอง อีกอย่างหนึ่งก็คือพนักงานชาวต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ดีดูเหมือนจะมีความ “เต็มที่” ในการให้บริการตามมาตรฐานงานบริการของญี่ปุ่น คงเพราะถูกฝึกมาอย่างเข้มงวดจากที่ทำงาน ทั้งความสุภาพกับลูกค้าแบบญี่ปุ่นมาก ภาษาสุภาพขั้นสูงสุดที่ญี่ปุ่นมักใช้พูดกับลูกค้า และรูปประโยคแบบกำหนดไว้ตายตัวสำหรับงานบริการชนิดนั้น จนทำให้รู้สึกว่าชาวต่างชาติเหล่านี้ถูกมาตรฐานความเป็นญี่ปุ่นที่สะท้อนให้เห็นในเนื้องานจัดกรอบไปแล้วโดยดุษฎี

จะว่าไปแล้วก็อาจรู้สึกแปลกหรือรู้สึกขัดแย้งอยู่บ้างที่เห็น “ความเป็นญี่ปุ่น” สะท้อนอยู่ในบรรดาพนักงานชาวต่างชาติเหล่านี้เพราะอดไม่ได้ที่เชื้อชาติอันเป็นรูปลักษณ์ภายนอกจะชวนให้รู้สึกเป็นอย่างอื่น คงคล้าย ๆ เวลาเห็นลูกครึ่งหน้าฝรั่งที่เกิดและโตในญี่ปุ่นพูดภาษาญี่ปุ่นจ๋า แต่อย่างไรความสุภาพอ่อนน้อมที่เห็นจากพนักงานต่างชาติเหล่านี้พลอยทำให้รู้สึกดีต่อคนเชื้อชาติเดียวกับพวกเขาไปด้วย แม้บางชนชาติอาจจะมีภาพที่สังคมมักมองไปในแง่ลบเสียมากก็ตาม

ในขณะเดียวกัน ความใส่ใจในการให้บริการลูกค้าของชาวญี่ปุ่นที่เคยเป็นที่รับรู้กันไปทั่วว่ายอดเยี่ยมขนาดไหนกลับด้อยลงเอาเสียดื้อ ๆ สิ่งที่เห็นและความรู้สึกที่รับรู้ยามได้รับบริการจากคนญี่ปุ่นแบบขาด ๆ หาย ๆ ในหลายคราวพลอยทำให้บังเกิดภาพในแง่ลบและความรู้สึกที่ไม่ดีตามมา

ฉันถามเพื่อนคนไทยที่เคยอยู่ญี่ปุ่นมาระยะเวลาหนึ่งและกลับไปอาศัยอยู่เมืองไทยแล้วแต่ก็ยังมาญี่ปุ่นบ่อย ๆ ว่าเธอรู้สึกแบบเดียวกับฉันไหมว่าการให้บริการของญี่ปุ่นด้อยลง เธอพยักเพยิดทันที ตอบว่า “เดี๋ยวนี้คนต่างชาติเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แล้วบริการก็เลยแย่ลง จะเห็นเลยว่าให้บริการคนญี่ปุ่นกับคนต่างชาติกันคนละแบบ ยิ่งคนไหนพูดญี่ปุ่นไม่ได้นี่จะเจอแบบเห็นชัดมาก”

บางทีถ้าญี่ปุ่นไม่ได้เคย “เพียบพร้อมในการให้บริการ” มาก่อน ฉันอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรนักก็เป็นได้เพราะไม่ได้มีความคาดหวังอะไรอยู่แต่แรก แต่ในเมื่อรู้ดีว่ามาตรฐานการบริการของญี่ปุ่นเป็นอย่างไรก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวังว่าจะได้รับบริการอย่างที่เคยเป็น

สมัยที่ฉันเพิ่งย้ายมาอยู่อเมริกาโดยพกเอาความเคยชินสมัยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นติดมาด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจนั้น ฉันเคยรับไม่ได้อย่างมากกับการให้บริการแบบอเมริกัน คือมีคนไม่น้อยเลยที่ทำงานอย่างขอไปที บางคนก็ทำงานดี เรียกได้ว่าแล้วแต่ดวงว่าจะเจอคนแบบไหน

แต่ตอนอยู่ญี่ปุ่นจะเจอแต่สิ่งที่เหมือนกันแทบทุกแห่งจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “มาตรฐานสากลแห่งญี่ปุ่น” ก็ว่าได้ คือมีแต่พนักงานให้บริการอย่างสุภาพนอบน้อม และโดยทั่วไปลูกค้าก็ปฏิบัติกับพนักงานอย่างสุภาพให้เกียรติเช่นกัน ทุกอย่างจะเป็นแบบแผนเดียวกันหมดทั้งประเทศ พอเล่าให้พี่ฉันฟัง เขาก็บอกว่ากำลังคิดอยู่ทีเดียวว่าถ้าฉันคุ้นเคยกับประเทศมาตรฐานสูงอย่างญี่ปุ่นแล้วอยู่ ๆ ย้ายไปประเทศอื่นกระทันหันน่าจะปรับตัวยาก

ขอนอกเรื่องอีกนิดค่ะ อาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสฉันที่ย้ายมาอเมริกาในช่วงไล่เลี่ยกันก็เคยเล่าว่ารับไม่ได้กับบริการของอเมริกัน เธอบอกว่า “เวลาไปโรงแรมที่ฝรั่งเศส พนักงานจะต้อนรับว่า “บงชู เมอซิเออร์ หรือ บงชู มาดาม” (สวัสดีครับคุณผู้ชาย สวัสดีครับคุณผู้หญิง) แต่โรงแรมที่อเมริกาจะต้อนรับว่า “เฮ้ กายส์” (ไง พรรคพวก) มีอย่างที่ไหน!” ฉันฟังแล้วก็ขำเพราะเจอเหมือนกัน

พออยู่อเมริกาสักพักหนึ่งก็จะทราบเองว่าประเทศนี้หามาตรฐานกลาง ๆ ไม่ได้เลย ยิ่งเป็นนครนิวยอร์กที่มีคนทุกเชื้อชาติในโลกนี้มารวมตัวกันนี่ยิ่งยากจะหาข้อกำหนดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับคนทุกกลุ่มได้ ต่างคนต่างก็ใช้วิธีตามที่ตัวเองคุ้นชิน ถึงได้บอกว่าต้องวัดดวงว่าจะได้เจอคนแบบไหนในแต่ละวัน สิ่งที่เคยเชื่อว่าถูกก็อาจกลายเป็นผิด สิ่งที่เคยเชื่อว่าผิดก็อาจกลายเป็นถูกได้ เปลี่ยนไปตามวัน ตามคนที่เจอ อยู่ไปนาน ๆ แล้วจะยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้มากขึ้น แม้บางอย่างจะไม่ถูกใจก็ยังมองข้ามไปได้ไม่ยากเย็น

แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แต่เดิมมีแต่คนเชื้อชาติเดียวเป็นส่วนมากมาเป็นระยะเวลานาน ความหลากหลายน้อย จะทำอะไรก็ทำตามกันแล้วแต่ทิศทางของกลุ่ม มีกฎระเบียบแบบแผนที่เคร่งครัด ชัดเจน และเป็นที่รู้กันทั่ว ทุกคนรู้หน้าที่และบทบาททางสังคมของตัวเองโดยไม่ต้องให้บอก พอจู่ ๆ มาเจอคลื่นแห่งความหลากหลายของเชื้อชาติซึ่งคนญี่ปุ่นแปะป้ายว่าเป็น “คนนอก” ซัดโครมเข้าสู่ญี่ปุ่นในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ก็คงไม่แปลกที่หลายคนจะตั้งตัวไม่ทันและรับไม่ได้ขึ้นมา

จะว่าไปก็คล้ายกับเมื่อ 165 ปีก่อนตอนที่ญี่ปุ่นโดนอเมริกาบังคับให้เปิดประเทศหลังญี่ปุ่นปิดตัวเองจากโลกภายนอกมากว่า 200 ปี และจากนั้นเกิดการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก แต่งวดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดประเทศยุคใหม่และเป็นการหลั่งไหลเข้ามาของทุกเชื้อชาติโดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงนี้เอง ก็คงต้องรอดูต่อค่ะว่าญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปอีกเช่นใด

สัปดาห์หน้าฉันจะมาเล่าให้ฟังว่า ไปเจออะไรมาบ้างที่ทำให้รู้สึกว่าความใส่ใจในการให้บริการของญี่ปุ่นลดลง แล้วพบกันใหม่นะคะ.



"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น