xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น : ฉากพับจิตรกรรมลายราชสีห์

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ฉากพับจิตรกรรมลายราชสีห์
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

ราชสีห์สื่ออำนาจ นี่คืออิทธิพลจากจีนที่ญี่ปุ่นรับมาและปรากฏอยู่ในจิตรกรรมทรงค่าอมตะหลายชิ้น ในภาพหนึ่งของครึ่งหลังแห่งศตวรรษที่ 16 มีสัตว์สี่เท้าสองตัวย่างจากเบื้องขวา เดินหน้ามาเป็นคู่ มุ่งสู่เบื้องซ้าย เยื้องกรายระหว่างช่องว่างของโขดหิน เมื่อมองตรง ๆ จะเห็นลำตัวด้านข้างของสัตว์ทั้งสองได้ชัด ส่วนสัดร่างกายดูน่าคร้ามเกรง แผงขนตรงคอ ขา และหาง แสดงลายเป็นขด ๆ ปล่อยปลายพลิ้ว

ตัวหนึ่งนำหน้า ปรากฏในด้านลึก กายส่วนหน้าบดบังโขดหินบางส่วน ขณะเดียวกันก็เหลียวซ้ายหันมองอีกตัวที่เดินเหลื่อมไปทางด้านหลังเล็กน้อย ร่างที่ขยับตามนั้นเล่าก็ยกเท้าขวาหน้า พร้อมกับงอน้อย ๆ อยู่ในท่ากำลังจะเหยียดก้าวออกไป สองใบหน้าขึงขัง ดวงตาสองคู่ประสานกันเหมือนสื่อความอะไรบางอย่าง ที่มุมล่างด้านซ้ายของภาพมีหินสีดำแซม ขับภาพศูนย์กลางให้เด่นยิ่งขึ้น สายตาของผู้มองจะพุ่งจับราชสีห์ตรงกลางราวกับมีพลังลี้ลับดึงดูด

ราชสีห์สองตัวบนพื้นหลังสีทองที่ฉาบทาแผ่นฉากพับนี้คือจิตรกรรมเก่าคร่ำที่ยังคงค่าล้ำด้วยฝีมือของจิตรกรเอกแห่งยุค ผู้มุ่งหวังจะรังสรรค์ให้สัตว์สัญลักษณ์แห่งอำนาจปรากฏโฉมดุจมีชีวิต ร่างทั้งสองเด่นงามบนฉากสีทองปลั่ง ดูขรึมขลังทั้งด้วยพลังแห่งกาลเวลาและความสง่าแห่งพงศ์พันธุ์ ภาพราชสีห์สองตัวนี้เป็นที่คุ้นตาที่สุดในญี่ปุ่น บรรจุในหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์โดยทั่วไป นี่คือ “ฉากพับจิตรกรรมลายราชสีห์” โดยฝีมือจิตรกรคาโน เอโตกุ

ผลงานชิ้นนี้มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “คาราจิชิ-ซุ เบียวบุ” (唐獅子図屏風; Karajishi-zu byōbu) ชื่อนี้มิได้สื่อภาพราชสีห์เท่านั้น แต่กินความถึง “เบียวบุ” หรือ “ฉากพับ” ซึ่งคนญี่ปุ่นใช้กั้นหรือประดับห้อง ฉากพับเป็นทั้งเครื่องใช้และงานศิลป์ ตามขนบมักทำเป็นคู่ เมื่อผู้ชมหันหน้าเข้าหาฉากจะเห็น “ฉากขวา” กับ “ฉากซ้าย” แต่ละฉากแบ่งส่วนเป็นพับ ๆ เชื่อมต่อกัน แต่ละพับเรียกว่า “เซ็น” (扇;sen) มักทำเป็นพับคู่ สองพับ สี่พับ หรือมากหน่อยอาจมีถึงหกพับซึ่งเป็นแบบที่นิยมทำทั่วไป
ฉากพับกั้นในห้อง
สำหรับราชสีห์กับภาพเขียนของญี่ปุ่น ไม่บ่อยนักที่จะคนทั่วไปสมัยนี้จะนึกถึง ในขณะที่ราชสีห์ของไทยเกี่ยวโยงกับป่าหิมพานต์โดยตรง เช่นเดียวกับสัตว์อีกหลายชนิดในป่านี้อันเป็นที่มาของสัตว์ในจิตรกรรมไทย แต่แนวคิดเรื่องป่าหิมพานต์ไม่แพร่หลายในญี่ปุ่น สัตว์ในจินตนาการของญี่ปุ่นคือสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากจีนอีกทอดหนึ่ง ภาพวาดราชสีห์นี้หากไม่บอกว่าเป็นศิลปะญี่ปุ่นอาจมีคนเดาว่าเป็นศิลปะจีน เช่นเดียวกับสัตว์ในจินตนาการชนิดอื่นอย่างกิเลน หรือพญานกแห่งโลกตะวันออกซึ่งเทียบเท่านกฟีนิกซ์ของตะวันตก ซึ่งญี่ปุ่นต่างก็รับมาจากจีน
ฉากพับซ้ายขวาหนึ่งคู่
ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นเรียกสิงโตว่า “ไร-อง” (ライオン;raion) เขียนและออกเสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า lion ด้วยอักษรคาตากานะ และใช้คำนี้ในบนสนทนาสื่อความกัน แต่มีอีกคำหนึ่งคือ “ชิชิ” (獅子;shishi) เขียนด้วยตัวอักษรคันจิ แม้หมายถึงสิงโตเหมือนกัน แต่ด้วยตัวอักษรอันมีรากเหง้าเก่าแก่จากจีน เมื่อเรียกสิงโตว่า “ชิชิ” จึงคงไว้ซึ่งความขลังและความเป็นตะวันออก และหากจะสื่อถึงความยิ่งใหญ่เชิงศิลป์ แน่นอนว่าคำนี้เหมาะสมกว่า จากสิงโตธรรมดาก็จะสื่อภาพว่าเป็นพญาสิงโตผู้ยิ่งใหญ่ คำนี้จึงปรากฏในชื่อภาพว่า “คาราจิชิ-ซุ เบียวบุ” โดยแผลงเสียงจาก “ชิชิ” เป็น “จิชิ” ส่วน “ซุ” แปลว่า ภาพ และ “เบียวบุ” คือ ฉากพับ

“ฉากพับจิตรกรรมลายราชสีห์” เป็นฉากหกพับ ความเด่นสะดุดตาอยู่ที่ราชสีห์ตัวเขื่อง กินพื้นที่เกินครึ่งของฉากอลังการที่ยาวถึงราว 4.5 เมตร สูงราว 2.25 เมตรซึ่งถือว่าใหญ่กว่าปกติมาก และเนื่องจากวาดด้วยจิตรกรชื่อดัง จึงเป็นที่จดจำได้ดีในฐานะศิลปะตัวแทนแห่งวัฒนธรรมโมโมยามะ เป็นภาพเขียนชนิดที่เรียกว่า “คิมเปกิ–งะ” (金碧画;kinpeki-ga) อันเป็นจิตรกรรมญี่ปุ่นที่ใช้ทองคำเปลวลงพื้นหลัง และใช้แร่สีสดใสวาดภาพตัดกับสีพื้น พบได้ตามประตูเลื่อน ผนังห้อง และฉากพับ สำหรับฉากลายราชสีห์นี้สันนิษฐานว่าเคยมีเป็นชุด แต่ฉากซ้ายเสียหายและสูญหายไปก่อน จึงเหลือเพียงฉากขวาดังที่ปรากฏ และมีข้อสันนิษฐานอีกว่า เดิมไม่ใช่ภาพบนฉาก แต่เป็นภาพติดผนังมาก่อน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังแห่งญี่ปุ่น
ภาพราชสีห์โดยคาโน ซันรากุ
คาโน เอโตกุ (狩野永徳; Kanō Eitoku; 1543-1590) ผู้วาดภาพนี้ เกิดในตระกูลศิลปิน ที่นครเกียวโต เป็นหลานของปู่ช่างศิลป์ที่ทำงานให้แก่โชกุนอย่างเป็นทางการ เอโตกุมีพรสวรรค์มาตั้งแต่เด็ก พัฒนาฝีมือตามปู่ผู้ได้รับอิทธิพลจากจิตรกรรมจีน นักรบมากบารมีในระดับที่สร้างประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างเช่นโอดะ โนบูนางะ (織田信長; Oda Nobunaga; 1534-1582) และโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (豊臣秀吉; Toyotomi Hideyoshi; 1537-1598) ต่างก็ไหว้วานให้เอโตกุรังสรรค์งานศิลป์ให้ ภาพเขียนฝีมือเอโตกุบนประตูบานเลื่อนบ้าง บนเพดานบ้าง ประดับอยู่ในปราสาทของโนบูนางะ และฮิเดโยชิที่เกียวโต รูปแบบการสร้างสรรค์ของศิลปินผู้นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฝีพู่กันตวัดเร็ว แรง ห้าว เน้นภาพฉากหน้า และสร้างตัวแม่บทค่อนเข้างใหญ่เมื่อเทียบกับพื้นที่ สื่อพลังน่าเกรงขามข่มบรรยากาศโดยรวม

การวาดภาพราชสีห์สื่อความเป็นเจ้ามีมานานในญี่ปุ่น ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยเอโตกุ เพียงแต่ภาพที่เป็นผลงานของจิตรกรผู้นี้เป็นที่ยกย่องที่สุด อย่างเช่นก่อนหน้านั้นหลายร้อยปีในสมัยจักรพรรดิโชมุ พระองค์ถวายพระคลังมหาสมบัติเป็นพระราชกุศลแด่วัดโทไดจิที่นารา ในนั้นประกอบด้วยฉากพับส่วนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่าฉากราชสีห์แล้ว หรือหลังจากยุคของเอโตกุก็มีการวาด เช่น ผลงานภาพราชสีห์ของคาโน ซันรากุ (1559 –1635) ซึ่งเป็นลูกบุญธรรมของเอโตกุ

เอโตกุเป็นคนในยุคที่ญี่ปุ่นแบ่งฝักแบ่งฝ่ายรบพุ่งกันมากมาย ผลงานจึงได้รับความเสียหาย นับว่าโชคดีที่ “ฉากพับจิตรกรรมลายราชสีห์” รอดพ้นไฟสงครามมาได้ โดยมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์น่าสนุกตื่นเต้นไม่น้อย ตอนนั้นคือ พ.ศ. 2125 ท่ามกลางสงครามประสานแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นนำโดยโอดะ โนบูนางะ ถึงคราวบุกล้อมปราสาททากามัตสึ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดโอกายามะ ปราสาทแห่งนี้ควบคุมโดยตระกูลโมริ แม่ทัพนำศึกครานี้ของฝ่ายโนบูนางะคือฮิเดโยชิ ฝ่ายโมริสู้ไม่ถอย พร้อมทั้งมีกำลังมาเสริมอีกมากมาย ฮิเดโยชิรู้ดีว่าอาจเพลี่ยงพล้ำ อย่ากระนั้นเลย ครั้นใคร่ครวญแล้วจึงรีบขอกำลังจากโนบูนางะให้มาช่วย
สีม่วงขนาดเล็กคือดินแดนในครอบครองของตระกูลโอดะปี 1560 สีเทาคือดินแดนที่โนบูนางะและฮิเดโยชิรวบรวมได้ภายในปี 1582
ภาพจำลองการรบที่ปราสาททากามัตสึ
ทว่าตอนนั้นเอง เหตุไม่คาดฝันอุบัติขึ้น เกิดกบฏในส่วนที่โนบูนางะดูแล ยังผลให้นักรบผู้ยิ่งใหญ่ถึงฆาต ฮิเดโยชิรับรู้ข่าวด้วยความตระหนก ฉวยโอกาสตัดสินใจเสียก่อนที่ฝ่ายศัตรูจะล่วงรู้ หาวิธีเจรจายุติสงคราม ในโอกาสนั้นเอง “ฉากพับจิตรกรรมลายราชสีห์” ที่เคยตั้งอยู่ในห้องบัญชาการของฮิเดโยชิได้ถูกส่งให้แก่ฝ่ายโมริ ตระกูลโมริถือว่าฉากพับนี้คืออนุสรณ์แห่งการสงบศึก และเก็บรักษาส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเกิดการปฏิวัติเมจิอันเป็นการยุติอำนาจโชกุนและคืนอำนาจแก่พระจักรพรรดิในอีกราว 300 ปีต่อมา จึงได้นำฉากพับนี้ถวายแด่จักรพรรดิเมจิ และอยู่ในความดูแลของพระราชวังหลวงจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม นั่นคือประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มีงานศิลป์ชิ้นนี้เข้าไปเป็นเกร็ด แต่ตัวชิ้นงานนี้ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าใครเป็นคนสั่งให้เอโตกุวาด และไม่รู้ช่วงเวลาที่แน่ชัดว่าวาดเมื่อใด ใช่โนบูนางะหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้น โนบูนางะสั่งทำและมอบให้ฮิเดโยชิเก็บรักษาไว้กระนั้นหรือ? หรือว่าฮิเดโยชิเป็นผู้สั่งให้ทำขึ้นเอง? หากเป็นเช่นนั้นจริง ดูเหมือนราชสีห์คู่นี้เป็นเครื่องรางชั้นดีที่ประกาศบารมีของนักรบผู้นี้ล่วงหน้า เพราะประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในกาลต่อมาถือว่าฮิเดโยชิคืออีกหนึ่งผู้ยิ่งใหญ่ที่รวมญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นต่อจากโนบูนางะ

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น