ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ขณะที่คนกรุงเทพฯ ไม่พอใจบริการของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ขัดข้องบ่อย คนไทยอีกไม่น้อยที่ไม่ใช่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าอาจไม่เข้าใจความรู้สึก อย่างไรก็ตาม แม้มิได้ประสบเหตุแห่งความหงุดหงิดจากรถไฟฟ้า แต่วันนี้น่าจะถึงเวลาที่เราควรออกมาเรียกร้องการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศอย่างจริงจังเสียที เพราะปัจจุบันนี้ผู้คนเดินทางมากขึ้น การเดินทางหมายถึงความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ซึ่งควรมีระบบขนส่งที่รองรับได้ดีกว่านี้ ต้องไม่ใช่ตัวรั้ง แต่เป็นพลังขับเคลื่อน
เท่าที่ผ่านมาไม่เคยเห็นนักการเมืองไทยคนไหนชูประเด็นปฏิรูประบบรางของประเทศและลงมือทำให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ในเมื่อทางด่วนมากมายเรายังทำได้ แต่กับรางรถไฟ เหตุไฉนจึงปล่อยให้ตกยุค ในยามที่อะไร ๆ ก็มีนามสกุลสี่จุดศูนย์ห้อยท้าย การกระจายความเจริญด้วยรางรถไฟนี่แหละจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเจริญ ช่วงที่ใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกที ถ้านักการเมืองหน้าเก่าหรือหน้าใหม่คนใดยังไม่มีนโยบายเด่น ช่วยเข็นเรื่องนี้ใส่ลงไปหน่อยเถอะ หรือคนใหญ่คนโตบ้านเราที่ชอบมาดูงานที่ญี่ปุ่นกันมาก ๆ ขอฝากไว้ว่าหากท่านใดอยู่ในจุดที่ทำได้ ดูงานแล้วหากจะช่วยคิดแบบญี่ปุ่นด้วยการ “ใช้รถไฟสร้างชาติ” ก็จะประเสริฐเลิศล้ำ อานิสงส์จะนำมาซึ่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญแก่ท่านแน่นอน
แม้ไม่มีงานวิจัยคิดมูลค่าการประหยัดเวลาเดินทางที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งระบบ แต่แค่คิดอย่างชาวบ้านธรรมดาก็เห็นได้ไม่ยากว่า ยิ่งลดเวลาเดินทางได้เท่าไรยิ่งทำให้มีเวลาทำอย่างอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น และจะส่งผลไปถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจแน่นอน ผมอยู่ในโตเกียว เดินทางไปทำงานในสถานที่ 3 แห่งที่อยู่ห่างกัน และอยู่ตรงนั้นแห่งละ 2-3 ชั่วโมงได้ครบถ้วนภายในเวลา 1 วันอย่างไม่ลำบากโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ (เพราะขับไม่เป็น และยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขับ) ด้วยระบบรถไฟที่สะดวก ขึ้นตรงนั้นต่อตรงนี้โดยกะเวลาได้แม่นยำ ทำให้ปริมาณงานที่ได้นั้นคุ้มค่าการเดินทาง เหนือสิ่งอื่นใดคือญี่ปุ่นมีสิ่งแวดล้อมแบบนี้มาหลายสิบปีแล้วด้วย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหากคำนวณออกมา มูลค่าที่ญี่ปุ่นได้รับจากตรงนี้จะมีสักเท่าไรในตลอดหลายทศวรรษนี้
นอกจากเรื่องความรู้สึก หันมาดูทางข้อเท็จจริงในภาพกว้างกันบ้างว่าญี่ปุ่นเจริญมากับระบบรางอย่างไร ญี่ปุ่นมีรถไฟวิ่งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2415 ในสมัยจักรพรรดิเมจิ วิ่งระหว่างโตเกียวกับโยโกฮามา เริ่มดำเนินการเร็วกว่าของไทยประมาณ 20 ปี ไทยมีรถไฟวิ่งครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคนั้นเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นใช้ก็ไม่ต่างอะไรจากของไทยคือเป็นรถจักรไอน้ำ แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ดีเซล แต่ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีรถไฟฟ้าวิ่งเต็มประเทศ ไทยมีอยู่ในกรุงเทพฯ และพอจะมีกับเขาบ้าง ครั้นผ่านมา 20 ปี ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามส่งออกเทคโนโลยีรถไฟฟ้า หันมาดูตู้ซื้อตั๋วของไทย นั่นไง...ยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งความขลังด้วยการไม่รับธนบัตร คำถามคือตลอดเวลาที่ผ่านมาเรามัวทำอะไรอยู่?
รถไฟในญี่ปุ่นถ้าแบ่งกว้าง ๆ ตามพลังขับเคลื่อนมี 2 แบบ คือ รถไฟฟ้า กับรถไฟเครื่องยนต์ดีเซล ปัจจุบันก็ยังวิ่งอยู่ทั้ง 2 แบบ ในกรุงโตเกียวเป็นรถไฟฟ้า ในส่วนภูมิภาคมีทั้ง 2 แบบ คำว่า “รถไฟฟ้า” คือ “เด็งชะ” (電車;densha) ถ้าใครมากรุงโตเกียว ลองสังเกตดู บนหลังคารถไฟมีแกนยาว ๆ ลีบ ๆ 2 ขายืดขึ้นไปข้างบน ซึ่งตรงปลายแกนมีคานเชื่อม 2 แกนนี้ คานนี้จะแตะราวที่ขึงเป็นแนวเหนือหลังคารถไฟขึ้นไปอีก ไล่เป็นทางควบคู่ไปกับราง นั่นคือสายป้อนพลังไฟฟ้าให้แก่รถไฟ ส่วนอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “คิชะ” (汽車;kisha) หมายถึง รถจักรไอน้ำ พลังไอน้ำเป็นเทคโนโลยีโบราณที่ใช้แพร่หลายกับเรือมาก่อน พอขึ้นบกมาใช้กับรถไฟ สมัยก่อนจึงเรียกว่า “ไอน้ำบก” (陸蒸気;okajōki) ด้วย ปัจจุบันรถจักรไอน้ำพัฒนามาใช้เครื่องยนต์ดีเซลแทน แต่ก็ยังเรียกว่า “คิชะ” อยู่เช่นเดิม
สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “รถไฟฟ้าขบวนแรก” ของญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นในโตเกียว แต่เริ่มที่เกียวโตเมื่อต้นปี พ.ศ.2438 พอใช้คำว่ารถไฟฟ้า อาจให้ภาพที่ต่างไปจากความคิดของคนไทย เพราะอันที่จริงภาษาไทยคงจะเรียกว่า “รถราง” เสียมากกว่า ส่วนในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โรเม็ง-เด็งชะ” (路面電車;romen-densha) หรือ “รถไฟฟ้าที่วิ่งบน (ผิว) ถนน” ซึ่งก็ยังถือว่าเป็น “เด็งชะ” หรือรถไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ไฟฟ้าที่ใช้ตอนนั้นคือไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตจากทะเลสาบบิวะ จุดประสงค์คือเพื่อรับส่งผู้ไปร่วมงานนิทรรศการอุตสาหกรรมแห่งชาติที่จัดในปีนั้น และมอเตอร์รถไฟฟ้าผลิตโดยบริษัท General Electric ของอเมริกา เมื่อพูดถึงรถราง ทุกวันนี้ยังมีในหลายเมือง เช่น โอซากา นางาซากิ ซัปโปโร ในโตเกียวก็ยังมีอยู่ เช่น สายอารากาวะ ซึ่งมีผู้โดยสารใช้บริการลดลงเรื่อย ๆ จากประมาณ 30 ล้านคนต่อปีในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1970 จนปัจจุบันมีไม่ถึง 20 ล้านคนต่อปี แต่คนญี่ปุ่นก็พยายามอนุรักษ์ไว้ถึงแม้จะวิ่งช้าก็ตาม
ระบบรางในญี่ปุ่นมีความหลากหลายทั้งในแง่ประเภท (ชนิดของรถ) ทั้งบนดิน ใต้ดิน รถราง โมโนเรล และปริมาณ (จำนวนเที่ยววิ่ง) ด้วยความหลากหลายนี้ คนญี่ปุ่นต่างถิ่นก็สับสนกับชื่อสายรถไฟและการซื้อตั๋ว มีบ่อยครั้งที่ผมเองก็ถูกคนญี่ปุ่นต่างถิ่นที่ไม่ชินกับกรุงโตเกียวถามวิธีการขึ้นรถไฟ บริษัทที่ให้บริการเดินรถไฟในญี่ปุ่นมีมากมายจนบางทีผู้โดยสารไม่รู้ว่าของใครเป็นของใคร รู้แต่ว่า “มันคือรถไฟ” ก็ขึ้นไปเถอะ พาเราไปถึงได้เหมือนกัน แต่การรู้ไว้หน่อยอาจเป็นประโยชน์ในด้านค่าโดยสารหากใช้รถไฟที่ให้บริการโดยบริษัทที่ต่างกัน
เมื่อแบ่งกว้าง ๆ ผู้ให้บริการเดินรถไฟในญี่ปุ่นมี 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่ม JR กับ กลุ่มการรถไฟรายย่อย สำหรับกลุ่ม JR นั้นย่อมาจาก Japan Railways Group—กลุ่มการรถไฟญี่ปุ่น เป็นหัวใจสำคัญของระบบรางทั่วญี่ปุ่น รถไฟหัวกระสุนชิงกันเซ็งก็อยู่ในกลุ่มนี้ ในกลุ่มประกอบด้วย 6 บริษัทให้บริการเดินรถไฟรับส่งผู้โดยสาร เช่น JR Hokkaido, JR East, JR West บ้างเป็นบริษัทมหาชน บ้างไม่ใช่ บริหารงานแยกกัน ส่วนอีก 1 บริษัทเป็นบริษัทขนส่งสินค้า รวมเป็น 7 บริษัท เดิมกลุ่ม JR คือกิจการที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการ 100% ตอนนั้นมีชื่อว่า “การรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น” (Japanese National Railways) แต่ผ่านการแปรรูปเป็นเอกชนเมื่อปี 2530 กลายเป็นกลุ่ม JR ข้างต้น
อีกกลุ่มที่ไม่ใช่ JR ภาษาญี่ปุ่นเรียกรวม ๆ ว่า “มินเท็ตสึ” (民鉄;Mintetsu) ส่วนใหญ่หมายถึงรถไฟที่ดำเนินงานโดยเอกชน เรียกว่า “ชิเท็ตสึ” (私鉄;shitetsu) ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย วิ่งทั้งในโตเกียวและต่างจังหวัด บางบริษัทใหญ่มาก เช่น Tobu, Seibu, Keisei และเนื่องจากไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ JR บางครั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยซื้อตั๋วเหมาที่เรียกว่า JR Pass เพื่อมาเที่ยวญี่ปุ่นและลงที่สนามบินนาริตะงงว่าทำไมนั่งรถไฟสายสกายไลเนอร์ (Skyliner) ไม่ได้ นั่งได้แต่นาริตะเอ็กซ์เพรส คำตอบอยู่ตรงนี้คือ สกายไลเนอร์เป็นของ Keisei ตั๋ว JR จึงใช้กับรถไฟสายนี้ไม่ได้ นอกจากชิเท็ตสึเหล่านี้แล้ว ในต่างจังหวัดหลายแห่งมีรถไฟท้องถิ่นซึ่งดำเนินการโดยทางการท้องถิ่นบ้าง หรือบรรษัทที่ราชการบริหารงานอยู่บ้าง
โครงข่ายระบบรางของญี่ปุ่นหลากหลายและมีผู้ดำเนินการมากราย ซึ่งเป็นผลดีต่อประชาชนเพราะทำให้มีทางเลือกมากขึ้น เพราะในบางจุดพลังการพัฒนาของรัฐบาลเข้าไม่ถึง การมีเอกชนกล้าลงทุนด้วยจึงเป็นการช่วยกระจายความเจริญ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหน่อยก็เช่นธุรกิจที่แตกแขนงจากการเดินรถไฟ ใครที่เคยมาญี่ปุ่น ขอให้ลองนึกถึงสถานีรถไฟ ทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะสถานีใหญ่ ๆ จะเห็นได้ว่าสถานีรถไฟนำความเจริญไปยังพื้นที่นั้น มีคนพลุกพล่าน มีร้านค้า เศรษฐกิจเคลื่อนไหว
ในกระบวนการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่น มีคำว่า “เอกิ-มาเอะ” (駅前;eki-mae) หมายถึง “หน้าสถานีรถไฟ” ซึ่งเป็นทำเลทองของทั้งโรงแรม ร้านค้า และแหล่งความเจริญ คนไทยพูดว่า ไฟฟ้าเข้าที่ไหน ที่นั่นเจริญฉันใด คนญี่ปุ่นก็จะพูดว่า รถไฟไปที่ไหน ที่นั่นเจริญฉันนั้น แต่ทั้งนี้ พอมองย้อนกลับมาดูเมืองไทย เราเร่งสร้างเมืองก่อนจนแทบไม่มีที่ให้สร้างรถไฟในเมือง พอจะสร้างรถไฟฟ้า เราจึงต้องขุดเมืองหรือต่อเสาขึ้นไป กลายเป็นเรื่องวุ่นวายซ้ำซ้อน แต่รถไฟของญี่ปุ่นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับเมือง หรือบางสายกลายเป็นแรงขับดันให้เกิดเมือง ดังเช่นห้างสรรพสินค้าดังอย่าง Seibu ที่เกิดจากการรถไฟเอกชนสาย Seibu (ปัจจุบันเปลี่ยนมือแล้ว) เป็นต้น จากภาพกว้างตรงนี้ เราจะได้ลงลึกกันต่อไปในคราวหน้าถึงความเจริญที่ติดตามระบบรางของญี่ปุ่นไปทั่วประเทศ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com