ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ศาสนาพุทธของญี่ปุ่นมีนิกายหลักในปัจจุบันมากถึง 13 นิกาย และด้วยความมากเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าวัดอื่น ๆ ที่ตัวเองไปนอกจากวัดประจำตระกูลนั้นอยู่ในนิกายอะไร ส่วนคนรุ่นใหม่ไม่ต้องพูดถึง แม้แต่วัดประจำตระกูลอยู่ในนิกายอะไรก็แทบไม่มีใครรู้
หากไม่นับเรื่องการให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์อย่างสูงแล้ว คำสอนหลัก ๆ ของศาสนาพุทธฝ่ายมหายานในญี่ปุ่นไม่ต่างจากเถรวาท ไม่ว่าจะเป็นทางสายกลาง อริยสัจสี่ มรรค หรือการเวียนว่ายตายเกิด แต่ด้วยการตีความ หรือการปรับให้เข้ากับแนวคิดและการปฏิบัติของคนเผยแผ่ศาสนา จุดเน้นปลีกย่อยจึงต่างกันและเกิดนิกายต่าง ๆ ขึ้น
นอกจาก 13 นิกายหลักแล้ว ยังมีสำนักย่อย ๆ แตกแขนงออกไปอีกมากมาย จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มี 13 นิกาย ซึ่งภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ชู” (宗;shū) และแบ่งเป็น 56 สำนัก ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ฮะ” (派;ha) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพด้านการนับถือศาสนา จึงมีสำนักใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมาก กระทั่งปัจจุบัน มีกลุ่มศาสนาพุทธในฐานะนิติบุคคลขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 13 นิกาย 160 สำนัก
แต่ละนิกายมีวัดศูนย์กลางประจำนิกายนั้น ๆ ในที่นี้ขอแจกแจงเกี่ยวกับ 13 นิกายนี้ไว้โดยสังเขปพร้อมกับหลักการสำคัญและตัวอักษรญี่ปุ่นเผื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าต่อยอด โดยแบ่งเข้ากลุ่มใหญ่ได้ 5 กลุ่ม (ตัวเลขในวงเล็บคือปี ค.ศ. ที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของนิกายนั้น)
1) สายนารา
1.1 นิกายฮตโซ (法相宗; Hossō-shū; 661) เชื่อว่าการบำเพ็ญเพียรอันเป็นกุศลจะพาเข้าสู่นิพพานได้ สรรพสิ่งทั้งมวลในโลกนี้ล้วนแต่เกิดจากความเคลื่อนไหวของจิต และล้วนแต่ว่างเปล่า
1.2 นิกายเคงง (華厳宗; Kegon-shū; 740) เน้นเรื่องการไม่คิด แต่ให้ใช้ความรู้สึก วัดโทไดจิในจังหวัดนาราอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธองค์ใหญ่อยู่ในนิกายนี้
1.3 นิกายริตสึ (律宗; Risshū-shū; 754) เน้นการถือศีลอย่างเคร่งครัด คำว่าศีลเรียกว่า “ไคริตสึ” (戒律;Kairitsu) หรือ “ริตสึ” (律;ritsu) นิกายนี้จึงได้ชื่อตามนั้น ศีลพื้นฐานคือศีล 5 ดังนั้น พระญี่ปุ่นในนิกายนี้ที่เคร่งครัดก็จะไม่ดื่มสุรา
2) สายวัชรยาน
2.1 นิกายเท็นได (天台宗; Tendai-shū; 806) สืบทอดจากจีนโดยพระไซโจในสมัยเฮอัน สอนว่าทุกคนสามารถบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าได้ และขณะเดียวกันก็สอนให้ “ลืมการรู้แจ้งของตนเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น”
2.2 นิกายชิงงง (真言宗; Shingon-shū; 823) สืบทอดจากจีนโดยพระคูไกในสมัยเฮอัน มีรากฐานความเชื่อว่าสัทธรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรไม่ได้ และเชื่อว่าการบริกรรมบทสวดจะทำให้เกิดความเข้าใจโลกุตระอันน่าพิศวง
3) สายโจโด (สุขาวดี)
3.1 นิกายยูซูเน็มบุตสึชู (融通念仏宗; Yuzu-Nenbutsu-shū; 1117) เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เชื่อว่าการบริกรรมพระนาม “พระอมิตาภพุทธะ” ซึ่งประทับในแดนสุขาวดีไม่เพียงแต่เป็นมงคลต่อผู้บริกรรม แต่ยังส่งอานิสงส์ต่อโลกธาตุด้วย ทั้งนี้พระอมิตาภพุทธเป็นพระพุทธเจ้าตามคติมหายาน ตัวอย่างประติมากรรมที่รู้จักแพร่หลายคือพระพุทธรูปกลางแจ้งองค์ใหญ่ที่วัดโคโตกุอิงในคามากูระ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากพระพุทธรูปที่วัดโทไดจิ จังหวัดนารา
3.2 นิกายโจโดะ (浄土宗; Jōdo-shū; 1175) เป็นพุทธนิกายที่มีคนนับถืออย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น ปฏิเสธการบรรลุธรรมผ่านการบำเพ็ญเพียร แต่เน้นการบริกรรมพระนาม “พระอมิตาภพุทธะ” ในลักษณะต่าง ๆ เช่น บริกรรม 10 เที่ยวโดยทอดเสียงยาวตรงช่วงท้าย บริกรรมไม่จำกัดจำนวนครั้ง หรือหากปฏิบัติสิ่งอื่นประกอบอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้นก็จะรวมถึงการรักษาศีล การนั่งสมาธิ การสวดมนต์ จนเมื่อเข้าสู่แดนสุขาวดีและบำเพ็ญพรตจึงจะรู้แจ้ง
3.3 นิกายโจโดะชิง (浄土真宗; Jōdo-Shin-shū; 1224) เป็นพุทธนิกายที่มีคนนับถืออย่างกว้างขวางในญี่ปุ่นเช่นกัน เชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะช่วยเหลือสรรพสัตว์โดยที่ไม่ต้องร้องขอ มีลักษณะการปฏิบัติคล้ายนิกายโจโดะ แต่ไม่เคร่งครัดนัก
3.4 นิกายจิ (時宗; Ji-shū; 1274 ) เน้นการบริกรรมพระนาม “พระอมิตาภพุทธะ” แต่สอนไม่ให้หวังผลในการบริกรรมนั้น อีกทั้งสอนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทโดยให้ระลึกเสมอว่าทุกวันคือวันสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น ควรบริกรรมพระนามของพระพุทธเจ้าเพื่อมิให้เสียใจในภายหลัง
4) สายเซ็น (ฌาน)
4.1 นิกายรินไซ (臨済宗; Rinzai-shū; 1191) พิจารณาว่าชีวิตล้วนแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และเน้นการพิจารณาตนหรือธรรมชาติที่อุบัติขึ้นในตนเพื่อให้พบประตูสู่การปฏิบัติธรรมตามพุทธศาสนาจนเกิดปัญญาผ่านการทำสมาธิ มีการใช้ “โคอัง” (ข้อปัญหา ข้อความ ปริศนา) เพื่อให้เกิดการขบคิด
4.2 นิกายโซโต (曹洞宗; Sōtō-shū; 1233) เป็นนิกายสายเซ็นที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น วัตรปฏิบัติประจำวันคือการสวดมนต์ นั่งสมาธิโดยให้นั่งอยู่กับความว่างเปล่า ให้ผู้นั่งจับกระแสความคิดของตน และไม่นิยมใช้โคอัง และเนื่องจากมีผู้นับถือมาก บางครั้งนิกายนี้จึงถูกเรียกขานในเชิงดูแคลนว่าเป็น “เซ็นของชาวนา” ส่วนนิกายรินไซเป็น “เซ็นของซามูไร” เพราะสมัยก่อน มีซามูไรนับถือมาก
4.3 นิกายโอบากุ (黄檗宗; Ōbaku-shū; 1661) หลักการเหมือนนิกายรินไซ แต่มีขนบเฉพาะคือสวดมนต์เป็นภาษาจีน
5) สายนิจิเร็ง (ตั้งชื่อตามพระนิชิเร็ง [1222-1282] ในสมัยคามากูระ)
5.1 นิกายนิจิเร็ง (日蓮宗; Nichiren-shū; 1253) ให้ความสำคัญแก่สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (พระสูตรของมหายาน) เป็นอย่างยิ่ง พระสูตรนี้มีใจความหลัก ๆ เช่น ทุกคนสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่ประทับอยู่ในโลกนี้เพื่อโปรดสัตว์โลกเป็นระยะ และนิกายนี้ถือว่าสิ่งที่ควรปฏิบัติคือรักษาพระสูตรนี้ด้วยกายและใจ อ่านพระสูตร ท่องพระสูตร อธิบายพระสูตรนี้แก่ผู้อื่น และคัดลอกพระสูตรนี้เพื่อสร้างกุศล
ไล่เลียงมาจนครบ 13 นิกาย บางคนอาจสงสัย “เซ็นไม่ใช่นิกายหรือ?” อันที่จริง หากพูดเพื่อสื่อความเข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า “นิกายเซ็น” คงไม่ถือว่าผิด เพราะหมายรวมถึงทุกนิกายที่ยึดหลักการอันเรียกว่าเซ็น แต่ถ้าพิจารณาอย่างเคร่งครัด “เซ็น” คือ ‘แนวปฏิบัติ’ ซึ่งมี 3 นิกายใหญ่นำมาใช้ ได้แก่ รินไซ โซโต และโอบากุ เมื่อพิจารณาคำว่าเซ็น (禅;Zen) ในภาษาญี่ปุ่น จะพบว่าคำนี้แปลว่า “ฌาน” ในภาษาบาลี การปฏิบัติที่สำคัญของนิกายในสายนี้คือ “ซะเซ็น” (座禅;Zazen) แปลได้ตามตัวอักษรว่า “นั่งฌาน” หรือพูดง่าย ๆ คือการนั่งสมาธินั่นเอง
ทั้งหมดนี้คือความหลากหลายในศาสนาพุทธของญี่ปุ่นที่สะท้อนออกมาในจำนวนนิกาย และคงด้วยความหลากหลาย มุมมองของคนญี่ปุ่นต่อศาสนาจึงเปิดกว้างมาก ส่วนหนึ่งมีข้อดีในแง่ที่ว่าเมื่อมีเสรีภาพมากในการตีความ คำว่า “หลุดกรอบ” ที่ก่อให้เกิดการวิจารณ์จากสังคมจึงมีน้อยเพราะกรอบมันกว้างมาก แต่ในทางกลับกัน ข้อเสียก็มีคือ เมื่อมีความหลากหลาย ผู้คนทั่วไปย่อมสับสนว่าสิ่งที่เรียกว่า “พุทธ” นั้นจริง ๆ แล้วอยู่ตรงไหน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com