ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
การนับถือผีในชุมชนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมาช้านาน ในไทย กัมพูชา ลาว หรือเมียนมามีทั้งนั้น ไม่ว่าอิทธิพลของศาสนาอื่นจะแผ่เข้ามามากแค่ไหน การนับถือผีก็ยังมีอยู่ และการใช้ผีเป็นคำอธิบายปรากฏการณ์น่าพิศวงหรือยากแก่การหาคำตอบก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนแถบนี้ ในกรณีทีมฟุตบอลเด็กกับโค้ชติดถ้ำหลวงจังหวัดเชียงรายก็เช่นกัน ผีถูกดึงมาใช้เป็นคำอธิบายเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนี้เป็นระยะ ตอกย้ำให้เห็นว่าคนไทยไม่น้อยยอมรับความชอบธรรมของผีในการบันดาลความเป็นความตายแก่ชีวิตคน โดยที่คนไม่เคยรู้เหตุผลแน่ชัดว่าทำสิ่งใดแล้วผีชอบ หรือทำสิ่งใดแล้วผีจึงโกรธถึงขั้นจับเด็กไปซ่อนไว้
ผีคือพลังเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็นตัว แต่อาจปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ ให้คุณหรือโทษได้ และผียังมีอีกความหมายหนึ่งตามพจนานุกรมคือ “เทวดา” ผีที่เรามักนึกถึงในข่ายเทวดา เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน เจ้าป่าเจ้าเขา ผีมีจริงหรือไม่นั้นไม่มีใครตอบได้แน่ชัด ในทางวิชาการนั่นไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือ เรื่องแบบนี้เป็นคติชน เกี่ยวพันกับชีวิตจิตใจของคน และมีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องผี ผู้คุ้มครอง ไม่ได้มีเฉพาะแถบบ้านเรา แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ความเชื่อนี้ก็มี อาจมีมากกว่าคนไทยด้วยซ้ำ
ในสังคมไทยบางทีมีคำวิจารณ์คนไทยด้วยกันว่า “เพราะมีความเชื่องมงาย (เรื่องผี) แบบนี้ไง ประเทศถึงพัฒนาช้า” แต่อย่าเพิ่งสรุปไปถึงขั้นนั้น ความเชื่อประเภทขัดต้นไม้หาเลขเด็ด การถือเคล็ด การนับถือเจ้าป่าเจ้าเขา มันมีกลไกทางจิตวิทยาและเป็นกุศโลบายในตัวเอง และหากมองในทางกลับกัน อาจกล่าวได้ว่า “เพราะเราพัฒนาช้า ผู้คนถึงได้เชื่อเรื่องผีสางนางไม้” คิดง่าย ๆ คือ ถ้าประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งหวยที่ผุดตามต้นไม้ประหลาดคงลดลง อย่างญี่ปุ่น ตอนที่พัฒนาน้อยกว่านี้ ความเชื่อเรื่องผี เช่น “ผีลักซ่อน” หรือ “ผีบังบด” หรือ “ผีบังตา” คือคำอธิบายกรณีคนหายเหมือนที่คนไทยหลายคนคิดเกี่ยวกับเด็กติดถ้ำ เพราะเมื่อหาคำตอบไม่ได้ ผีคือคำอธิบายที่ง่ายที่สุด พอญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วช่วงทศวรรษ 1960 บ้านเมืองพัฒนาขึ้นมาก การแสวงหาความจริงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คำอธิบายว่าด้วยผีบังตาจึงถูกใช้น้อยลง เพราะสืบได้ในหลายกรณีว่าเป็นการลักพาตัว
อย่างไรก็ตาม การที่บ้านเมืองพัฒนาไปไม่ได้หมายความว่าความเชื่อเรื่องผีจะหายไปหมดอย่างสิ้นเชิง เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการ ‘อะไรบางอย่าง’ มาตอบสนองข้อสงสัย...ก็เท่านั้นเอง ส่วน ‘อะไรบางอย่าง’ ที่ว่านั้นจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือไสยศาสตร์ หรือตรรกศาสตร์ หรือ ‘มโนศาสตร์’ ย่อมแล้วแต่แนวทางเฉพาะตนและยุคสมัย มนุษย์ต้องกำราบความรู้สึกกระวนกระวาย มิฉะนั้นจะไม่เป็นสุข และถ้าตราบใดที่ศาสตร์หนึ่งให้คำตอบแก่เจ้าของคำถามไม่ได้ ก็เป็นธรรมดาที่จะหาศาสตร์อื่นมาปรามความรู้สึกหวั่นไหวในใจ มันจะถูกหรือผิดบรรทัดฐานของผู้ยึดมั่นศาสตร์อื่นหรือไม่นั้น ไม่สนใจหรอก ขอแค่มีคำอธิบายมารองรับพร้อมกับประคองแสงแห่งความหวังไว้ อย่างน้อยก็ทำให้นอนหลับข้ามคืน ดังนั้น ไม่ว่าผีจะมีจริงหรือไม่ สิ่งที่เราพึงตระหนักคือ เรื่องแบบนี้คือวัฒนธรรมทางความเชื่อ การเหยียดบริภาษอย่างรุนแรงในที่สาธารณะถึงแนวปฏิบัติของคนผู้ที่เชื่อเช่นนั้นเป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงหลีกเลี่ยงแม้ในใจอาจคิดก็ตาม
หากเจาะประเด็นผีลักซ่อน ถามว่าคนญี่ปุ่นเชื่อเรื่องนี้หรือไม่ คำตอบก็เหมือนของไทย คือมีทั้งคนเชื่อและคนไม่เชื่อ เมื่อดูภาพยนตร์การ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่นระดับรางวัลออสการ์เรื่อง Spirited Away ซึ่งเด็กหญิงตัวเอกหลุดเข้าไปในโลกของภูต แล้วคิดดี ๆ จะรู้ทันทีว่าเรื่องนี้สร้างตามความเชื่อผีลักซ่อน การ์ตูนเรื่องนี้ไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ เพราะไม่ได้ฉายโรงในเมืองไทย มีคนแปลชื่อเรื่องไว้ในวิกิพีเดียว่า “การถูกผีพาไปของเซ็งและชิฮิโระ” ในชื่อเรื่องมีวลี “การถูกผีพาไป” ภาษาญี่ปุ่นคือ “คามิ คากูชิ” (神隠し;Kami kakushi) ซึ่งประกอบด้วย 2 คำ คือ “คามิ” โดยทั่วไปแปลว่าเทพเจ้า และ “คากูชิ” แปลว่าการซ่อน ถ้าแปลรวมตามนี้คือ “การแอบซ่อนโดยเทพเจ้า” เทพเจ้าในที่นี้คือผีนั่นเอง จะเห็นได้ว่าความเชื่อแบบนี้ยังคงสะท้อนออกมาในวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือย้อนไปดูนิทานคลาสสิกอย่างเรื่อง “อูราชิมะ ทาโร” ผู้ช่วยชีวิตเต่า จะนึกเทียบเคียงกับตำนานเมืองลับแลของไทยขึ้นมา เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากนายทาโร อูราชิมะช่วยเต่าแล้ว ต่อมาได้รับการตอบแทนความเมตตา โดยเต่าพาไปเที่ยววังของตน อยู่ได้ไม่กี่วัน คิดถึงบ้านขึ้นมา พอกลับบ้าน ปรากฏว่าโลกเดินหน้าไปเป็นร้อยปีแล้ว นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของ “คามิ คากูชิ”
ถ้ามองว่าการ์ตูนหรือนิทานสะท้อนความเชื่อไม่ได้ทั้งหมด ขอให้ดูโลกแห่งความเป็นจริงของสังคมญี่ปุ่น ตามคติชินโต คนญี่ปุ่นนับถือ “คามิ” (神;kami) คำนี้แปลให้หรูดูดีเข้าไว้จะหมายถึง “เทพเจ้า” คนญี่ปุ่นเชื่อเทพโน้นเทพนี้ เทพป่า เทพเขา เทพแม่น้ำ เทพหมา เทพแมว จะเอาเทพอะไรญี่ปุ่นมีทั้งนั้น แต่ถ้าแปลอย่างชาวบ้าน เทพพวกนี้คือสารพัดผีของไทย เทพหรือผีกลายเป็นสถาบัน (ศาสนา?) ชินโตของญี่ปุ่น ซึ่งมีศาลเจ้าให้คนไปสักการะ ต่างจากไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นศาลพระภูมิ หากเทพหรือผีเหล่านี้ไม่มีศาลเป็นกิจจะลักษณะก็จะอยู่ในป่าในเขา อันนี้เหมือนของเราคือ เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าพ่อ เจ้าแม่
ลองพิจารณาดูว่าคนไทยถึงขั้นกราบไหว้ผีหมาผีแมวเป็นล่ำเป็นสันหรือไม่ ต่อให้มีก็คงน้อยมาก ฉะนั้นหากนับความงมงาย ญี่ปุ่นน่าจะกินขาด แต่ที่ญี่ปุ่นไม่มีใครว่าใครงมงาย เพราะอะไร? เพราะผีของญี่ปุ่นมีสถานะเทียบเท่าศาสนา และเป็นรูปธรรม คือ มีศาสนสถาน มีบทสวดมนต์ แต่ผีไทยส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นแค่ความเชื่อส่วนบุคคล เพราะไม่ได้รับการจัดรูปแบบให้เป็นสถาบันอย่างที่ชินโตเป็น คนเมืองจึงมองว่าการเชื่อผีเป็นเรื่องล้าหลัง คนที่เชื่อแต่วิทยาศาสตร์มองว่าไม่มีเหตุผล คนมีการศึกษามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เราจะตัดสินความงมงายกันด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นหรือ? หรือว่าควรจะมองประโยชน์ปลายทางเป็นที่ตั้ง?
ถ้าเปิดใจให้กว้างจะเห็นว่าความเชื่อเรื่องผีมีมาทุกสมัย ไม่เคยเก่า การเชื่อผีมีเหตุผลคือเชื่อแล้วสบายใจ สาระของการเชื่อผีคือทำให้คนสำรวมและยำเกรงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเล็งผลปลายทางแล้วไม่ต่างจากชินโต หรือหากจะสรุปให้ดูดี...ผีคือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราอย่าประมาท อย่าทำลายธรรมชาติ แล้วธรรมชาติจะคุ้มครองเรา กรณีเด็กไทยติดถ้ำครั้งนี้ หากจะโทษผี ผีตนนี้อาจชื่อธรรม นามสกุลชาติ คนที่ทำให้ผีโกรธคือนายประมาท และถ้าเราเห็นใครทำพิธีขอขมาผี นั่นคือผีกำลังสำแดงให้เรารู้ว่า “อย่าประมาท อย่าทำให้ผีธรรมชาติโกรธ ไม่งั้นจะต้องเสียเงินซื้อของเซ่นผี” ถ้าคิดไปถึงตรงนั้นได้ คนไทยจะมองเรื่องผีในทางบวกยิ่งขึ้นและการดูแคลนความเชื่อคนผู้อื่นน่าจะน้อยลง
การเคารพความเชื่อของผู้อื่นก็เหมือนกับการเคารพเสรีภาพการนับถือศาสนา หากความเชื่อนั้นยังไม่ถึงขั้นสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้เชื่อและคนรอบข้างในระดับที่เกินรับได้ น่าจะยังถือว่าเป็นอารยวิถีของมนุษย์ แต่ถ้าหลุดไปถึงเรื่องทรงเจ้าเข้าผีเพื่อเรียกเงิน ย่อมถือได้ว่าผีตนนั้นเป็นอนารยะ และเราไม่ควรเคารพยำเกรง ทำนองเดียวกัน หากผีตนใดทำร้ายชีวิตมนุษย์ด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยไร้ความเมตตา ด้วยการกระทำแบบนี้ ต่อให้เปลี่ยนคำเรียกจากผีเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ หรือเทพเจ้าตามชินโตของญี่ปุ่น ก็น่าคิดอยู่ว่าเราควรจะคบกับท่านอย่างไรดี
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com