xs
xsm
sm
md
lg

เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการ ลวนลาม บนรถไฟญี่ปุ่น !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

แม้ญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็มักมีเหตุลวนลามผู้หญิงหรือที่เรียกกันว่า “จิกัง” (痴漢)เกิดขึ้นบ่อย ๆ บนรถไฟ และตามสถานีรถไฟก็มักมีโปสเตอร์ที่เตือนว่าจิกังเป็นอาชญากรรม และขอให้ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อและคนรอบข้างอย่าได้ดูดาย เร่งบอกให้ผู้โดยสารคนอื่น ๆ และเจ้าหน้าที่ในสถานีทราบจะได้ช่วยกันจับ ฟังเผิน ๆ แล้วเรื่องนี้เหมือนจะไกลตัว แต่จริง ๆ อาจใกล้ตัวและเป็นเรื่องใหญ่โตกว่าที่คิด

เหตุการณ์แบบนี้มักเกิดขึ้นได้ง่ายบนรถไฟโดยเฉพาะตอนเช้าที่ไปโรงเรียนหรือไปทำงาน ซึ่งคนแน่นมากราวกับปลากระป๋อง ในชั่วโมงเร่งด่วนจึงมีตู้เฉพาะสำหรับผู้หญิงขึ้นเท่านั้น เราจะทราบว่าเป็นขบวนไหนก็ดูได้จากป้ายสีชมพูที่แปะไว้ภายในตู้ขบวนหรือบนพื้นชานชาลาซึ่งบอกวันและเวลาที่ตู้นี้จะให้ขึ้นได้เฉพาะผู้หญิง แต่แม้จะมีตู้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ก็มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากขึ้นตู้นี้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น “เหม็นกลิ่นน้ำหอม” “เกลียดพวกผู้หญิง” “ไม่สะดวกขึ้นตู้นั้น” (เช่น ตู้นั้นอยู่ห่างจากทางเข้าออกสถานีมากไป เป็นต้น) หรือบางทีก็มาในแนวต่อต้านตู้เฉพาะสำหรับผู้หญิง เช่น “ทำไมมีแต่ตู้เฉพาะสำหรับผู้หญิง ไม่มีตู้เฉพาะสำหรับผู้ชายบ้าง” “ทำอย่างกับว่าผู้หญิงอ่อนแอมากงั้นแหละ” เป็นต้น แล้วก็ไปขึ้นตู้โดยสารรวมเพื่อแสดงการต่อต้านกลาย ๆ
ป้ายบอกว่าตู้รถไฟนี้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น
จากการวิจัยของคลินิกรักษาผู้ป่วยที่เคยก่ออาชญากรรมทางเพศแห่งหนึ่งพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ก่อคดีลวนลามเป็นพนักงานบริษัทที่จบการศึกษาระดับปริญญา ทั้งยังแต่งงานมีลูกแล้วด้วย ดูจากลักษณะภายนอกจะไม่รู้สึกเลยว่าจะก่ออาชญากรรมทางเพศได้ เช่น ผิวขาว ตัวผอม พูดเสียงเบา ภาพที่เห็นจึงทำให้รู้สึกขัดแย้งกับพฤติกรรม และในระยะหลังยังพบว่ามีชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย เดิมอยู่ในประเทศตัวเองไม่เคยก่อเหตุลวนลามใคร แต่พอมาอยู่ญี่ปุ่นแล้วก็เริ่มมีพฤติกรรมเช่นนี้ แสดงว่าสังคมญี่ปุ่นน่าจะมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่กระตุ้นให้คนต้องการลวนลามคนอื่นมากกว่าสังคมอื่นงั้นหรือ?

จากการรับฟังผู้ก่อเหตุหลายราย คลินิกแห่งนี้ได้ข้อสรุปว่า สำหรับพวกเขาแล้ว “จิกัง” เป็นการแก้เครียดทำนองเดียวกับการเล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรก บางคนบอกว่าไม่ได้ทำเพราะเกิดความต้องการทางเพศ แต่เป็นเพราะ “อยากมีอำนาจเหนือคนที่อ่อนแอกว่า” หรือ “อยากรู้สึกว่าอยู่เหนือกว่ายามได้คุกคามคนอื่น”

จากบริบทนี้ทำให้คิดถึงลำดับชั้นในสังคมของญี่ปุ่นที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด คือ ฝ่ายที่อยู่ต่ำกว่าต้องยอมฝ่ายที่อยู่สูงกว่า เชื่อฟัง ทำตาม ไม่เถียง ไม่แข็งข้อ ทำตามกฎระเบียบ ซึ่งเราจะเห็นสิ่งนี้ในบรรยากาศที่ทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขาย/ผู้ให้บริการกับลูกค้า เช่น ไม่ว่าลูกค้าจะผิดหรือหยาบคายอย่างไร เราก็ต้องสุภาพ ยอมขอโทษ ยอมเลือกที่จะบอกว่าเป็นความผิดของตน แม้สิ่งนี้จะเป็นค่านิยมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปแต่ก็คงมิใช่ว่าภายในใจจะไม่รู้สึกรู้สาอันใด คงจะมีความเก็บกดที่ต้องเป็นฝ่ายยอม เป็นเบี้ยล่าง ไม่มีอิสระ ก็ไม่ทราบว่าสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งหรือเปล่าที่กระตุ้นให้บางคนนึกอยากลวนลามคนอื่นเพื่อจะได้รู้สึกว่าตัวเองได้รู้สึกว่า “อยู่เหนือกว่า” “มีอำนาจ” “ไม่ได้เป็นเบี้ยล่าง” และรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาบ้าง

ในขณะเดียวกัน สาเหตุที่มีการลวนลามบนรถไฟได้ง่ายอาจมาจากลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นเองซึ่งมักให้ความสำคัญกับทิศทางของกลุ่มที่ตนสังกัดมาก่อนความรู้สึกของตน จึงพลอยไม่ค่อยแสดงออกถึงความคิดในใจ หรือยืนหยัดเพื่อตัวเอง เกรงที่จะไปรบกวนคนอื่น ไม่ค่อยกล้าคุยกับคนแปลกหน้าก่อน สิ่งเหล่านี้จึงอาจเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ถูกลวนลามไม่กล้าส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือหรือต่อว่าคนที่มาลวนลามตน คนลวนลามเองก็มักเลือกคนที่ดูอ่อนแอ ไม่น่าจะกล้าร้องขอความช่วยเหลือหรือเอาเรื่องคืน
ภาพจาก https://toyokeizai.net/articles/-/125279
เมื่อลองนึกภาพว่าหากเป็นที่อเมริกาจะเป็นอย่างไร ก็คิดว่าน่าจะเกิดการลวนลามบนรถไฟที่คนแน่นได้ยากกว่าเพราะคนอเมริกันมีความเป็นปัจเจกชนสูงกว่ามาก ยืนหยัดในสิ่งที่ตัวคิดว่าถูก และค่อนข้างจะไม่ยอมใครง่าย ๆ แถมยังเสียงดังกันเป็นปกติ ขืนใครกล้าลองดีไปลวนลามใครเข้าคงเจอดีทั้งจากคนถูกลวนลามและคนอื่น ๆ ที่อยู่แถวนั้น และคงไม่แคล้วโดนด่าเอ็ดตะโรเละเทะ พร้อมทั้งโดนลากตัวไปหาเจ้าหน้าที่กันตรงนั้นเอง

ส่วนที่เมืองไทย ฉันเคยได้ยินคนรู้จักเล่าให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว เธอเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งยืนอยู่บนรถเมล์ เธอรู้สึกว่าเบื้องหลังมีบางสิ่งบางอย่างสัมผัสบั้นท้ายเธออยู่ และสงสัยว่าจะโดนลวนลามเข้าให้แล้ว เธอจึงยื่นมือไปบีบสิ่งที่สัมผัสบั้นท้ายเธออยู่เต็มแรงด้วยความแค้น

ทันใดก็ได้ยินเสียงสุภาพสตรีสูงวัยแผดใส่จากเบื้องหลัง

“ลื้อมาบีบกล้วยของอั๊วทำไมหา! เละหมดแล้ว!”

เธอตกใจหันไปดู จึงเห็นว่าวัตถุต้องสงสัยที่เธอคิดนั้นที่แท้คือกล้วยหวีหนึ่งที่คุณป้าคนข้างหลังถืออยู่และคงจะไปโดนตัวเธอเข้านั่นเอง

ก็ไม่รู้ว่าเธอเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นอย่างไรเหมือนกันค่ะ จำได้ว่าเธอเล่าไปขำไปแต่ก็รู้สึกผิดที่ไปบีบกล้วยของคุณป้าเละ แต่จริง ๆ หากเจอเรื่องน่าสงสัยแบบนี้แล้วมั่นใจว่าไม่จับผิดคนแน่ ฉันว่ามันก็น่าจะเล่นงานกันตรงนั้นอยู่ดี ดีกว่ามัวสงสัยว่าใช่หรือไม่ใช่แล้วปล่อยผ่านไป เพราะความอับอายที่เกิดจากความเข้าใจผิดเกิดขึ้นแล้วไม่นานก็ลืม แต่ความอับอายที่โดนลวนลามคงติดเป็นตราบาปในใจไปอีกนาน อย่างสมัยเรียนก็มีเพื่อนชายคนหนึ่งเคยโดนลวนลามบนรถเมล์ตอนกำลังมาโรงเรียน แม้จะเป็นผู้ชายแต่เขาก็ยังได้รับความอับอายและตกใจจนน้ำตาร่วงเหมือนกัน

กลับมาที่ญี่ปุ่นกันต่อนะคะ ใช่ว่าผู้หญิงญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายกลัวว่าจะโดนลวนลามอยู่ฝ่ายเดียว แต่ผู้ชายญี่ปุ่นเองก็กลัวโดนหาว่าไปลวนลามเขาเหมือนกัน เพราะหากโดนกล่าวหาขึ้นมาจะเป็นเรื่องใหญ่โตมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นวันหายนะของชีวิต ฉะนั้นน่าจะเรียกได้ว่า “เหยื่อ” ของจิกังไม่ใช่แค่ผู้ถูกลวนลามแต่รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาผิดตัวว่าลวนลามด้วย

เพียงมีใครสักคนโวยวายขึ้นมาว่า “จิกัง” คนที่ถูกกล่าวหาก็โดนตำรวจจับแล้ว และบางครั้งคนโดนลวนลามหรือคนใกล้ ๆ ที่รู้ว่ามีการลวนลามเกิดขึ้นก็ไม่สามารถจับมือคนก่อเหตุไว้ได้คาหนังคาเขา จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุตัวชัดว่าเป็นคนไหนทำแน่ แต่แม้จะไม่ได้ทำ หากโดนกล่าวหาแล้วก็ยากที่จะรอดตัว เพราะทั้งเจ้าหน้าที่สถานี ตำรวจ เจ้าหน้าที่สอบสวน และศาลจะฟังจากสิ่งที่ผู้หญิงกล่าวเป็นหลักแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยัน

พอโดนตำรวจคุมตัวไป ไม่ว่าจะ “จิกัง” จริงหรือไม่ อย่างแรกก็จะโดนปฏิบัติในฐานะผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แม้จะไม่ได้ทำแล้วยืนกรานอย่างเดียวว่าไม่ได้ทำอย่างไรก็ยากที่ตำรวจจะเชื่อเพราะไม่มีหลักฐาน ดีไม่ดีอาจถูกหาว่าทำแล้วยังไม่ยอมรับผิดเสียอีก บางคนจึงต้องฝืนทนโกหกไปว่าทำทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำ

เห็นเขาว่าการกักตัวผู้ต้องสงสัยอาจกินเวลาถึง 10 วัน แม้อาจจะให้ครอบครัวแจ้งบริษัทไปว่าป่วยหนักหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ระยะเวลาหยุดนานติดกันขนาดนี้ก็ชวนให้บริษัทสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น และหากบริษัททราบว่าพนักงานของตนตกเป็นผู้ต้องสงสัยหรือเป็นผู้ต้องหาคดี “จิกัง” ก็มีสิทธิ์ที่เจ้าตัวจะเสียหายเรื่องหน้าที่การงานได้มาก
ภาพจาก http://webronza.asahi.com/culture/articles/2016091300009.html
แม้ว่าจะตัดสินว่าไม่มีความผิดและถูกปล่อยตัวออกมา แต่ในเมื่อคนคิดว่า “เขาอาจจะทำจริงก็ได้” หรือ “ไม่ว่าจะทำหรือไม่ได้ทำก็เคยถูกตำรวจจับมาแล้ว” ก็ทำให้ผู้ต้องสงสัยส่วนมากสูญเสียชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคม สร้างความเสียหายต่อชีวิตในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

ในทางกลับกันบ่อยครั้งที่ตัวผู้หญิงที่ร้องเรียนว่าถูกลวนลามพบว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิดเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้รับผลกระทบในทางสังคมหรือชีวิตส่วนตัวเท่าใดนัก

ได้ยินว่าบางครั้งผู้ต้องสงสัย/ผู้ต้องหาอาจสูญเสียครอบครัวไปด้วย น่าจะหมายถึงว่าถูกภรรยาทอดทิ้งหรือโดนตัดขาดญาติมิตร ก็ชวนให้ตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่าเป็นครอบครัวเดียวกันกลับไม่เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ และประคับประคองกัน หรือแม้จะได้เคยทำผิดมา ถ้ารักกันจริงก็น่าจะช่วยกันหาทางเยียวยาฟื้นฟูเพื่อให้ไม่กลับไปทำผิดซ้ำและกลับเข้าสู่สังคมได้ ตอนแต่งงานก็สาบานกันต่อหน้าบาทหลวงและแขกเหรื่อว่าจะดูแลกันทั้งยามทุกข์และสุขทั้งที พอถึงคราวกลับทอดทิ้งกันก็นับว่าน่าเศร้าไม่น้อย

ฉันเคยได้ยินว่าในญี่ปุ่นนั้นหลายครั้งความรักกับการแต่งงานเป็นคนละเรื่องกัน คือแต่งเพราะถึงวัยหรือใกล้เลยวัย หรือไม่ก็ต่างฝ่ายต่างหวังผลประโยชน์จากอีกฝ่าย เช่น ฐานะสังคม การศึกษา หน้าที่การงาน การเงิน อยากมีคนดูแล และอะไรต่อมิอะไร เลยพยายามจะหาคู่แต่งงานที่มีเงื่อนไขอย่างที่ตัวเองต้องการ ทีนี้พอได้มาแล้ววันหนึ่งสูญเสียสิ่งเหล่านี้ก็รับไม่ได้ จึงเลือกที่จะทิ้งคู่ของตนไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ

ความเป็นไปได้อีกอย่างคือการตีตราในสังคมญี่ปุ่นอาจรุนแรง คืออาจเลยเถิดไปถึงการล้อเลียนหรือนินทาครอบครัวของผู้ถูกกล่าวหา/ผู้ต้องหาทั้งในโรงเรียนหรือที่ทำงานเสีย ๆ หาย ๆ จนอับอายขายหน้า หรือพลอยทำให้สังคมของคนในครอบครัวโดนมองไม่ดีไปด้วย จึง "อยู่ยาก"  ต้องแยกตัวออกมาจึงจะอยู่ในสังคมได้อย่างสงบ อันนี้ก็เป็นการคาดคะเนส่วนตัวนะคะ ในหลาย ๆ กรณีฉันรู้สึกว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นถ้าเดินหลุดออกนอกทางที่สังคมขีดเส้นไว้ให้เดินก็ยากที่จะกลับเข้าไปในสังคมและเป็นที่ยอมรับได้อีก

จากความเดือดร้อนทั้งหลายที่จะได้รับจาก “จิกัง” ผู้ชายญี่ปุ่นที่ต้องการป้องกันตัวไม่ให้เป็นเหยื่อจากการถูกกล่าวหาผิดตัวเมื่ออยู่ในรถไฟจึงต้องยืนโดยเอามือสองข้างจับราวด้านบนไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้โดยสารคนอื่น ๆ เห็นเลยว่ามือไม่ได้อยู่ข้างลำตัว ลวนลามใครไม่ได้แน่นอน ฉันได้ข่าวแว่ว ๆ ว่าจะมีการติดกล้องในตู้โดยสารด้วย แต่ไม่ทราบว่าเริ่มดำเนินการแล้วหรือยัง หรือว่ามีแล้วจะช่วยได้ขนาดไหน แต่ก็หวังว่าน่าจะช่วยลดเหยื่อของ “จิกัง” ทั้งสองรูปแบบได้ไม่มากก็น้อย

สัปดาห์หน้าจะมีแขกรับเชิญมาเขียนบทความให้คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ชั่วคราว ขอฝากเธอไว้ในอ้อมใจเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่านด้วยนะคะ ส่วนฉันก็ไม่ได้หายไปไหน จะกลับมาอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ แล้วพบกันใหม่ค่ะ.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น