เกาะกระแส Jurassic World อันโด่งดังประจำเดือนนี้กันสักนิด แต่คราวนี้เป็นข่าวการค้นพบโดยการรายงานของพิพิธภัณฑ์สองแห่งที่เมืองอะชิเบตสึ ฮอกไกโด ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันพุธที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา
Hidetoshi Kogawa นักสะสมมือสมัครเล่นวัย 62 ปี ได้บังเอิญไปค้นพบฟอสซิลที่เป็นชิ้นส่วนของกระดูกสันหลัง คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นกระดูกของไทแรนโนซอรัส มีอายุคาดการณ์โดยประมาณอยู่ในช่วง 86.3 – 89.8 ล้านปี จัดว่าเป็นยุครุ่งเรืองของไดโนเสาร์ เรียกว่า ยุคครีเทเซียส (Cretaceous Period) ตามคำอธิบายของ Hokkaido University Museum และ Mikasa City Museum
ยุคครีเทเซียส (Cretaceous Period) คือยุคก่อนจะเข้าสู่ยุคจูแรสซิก เป็นรอยต่อการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ย้อนหลังไปราว 145-66 ล้านปีก่อนหน้านี้ และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park นั่นเองครับ
ฟอสซิลทรงกระบอก…บอกอะไรเราได้บ้าง!?
จากผลการตรวจสอบรูปทรงและโครงสร้างภายในของฟอสซิลทรงกระบอกชิ้นดังกล่าว ที่มีขนาดความยาว 9 เซนติเมตร สูง 6 เซนติเมตร และกว้าง 5 เซนติเมตร ทำให้อนุมานได้ว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกของไทแรนโนซอรัสขนาดกลางที่มีลำตัวยาวกว่า 6 เมตรโดยประมาณ ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาต่อไป ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่จะช่วยอธิบายสภาพแวดล้อมในยุคอันไกลโพ้นนี้ได้อีกมากมาย ทั้งสภาพความเป็นอยู่ สภาพอากาศ วิถีชีวิต และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายเลยทีเดียวครับ
ในยุคครีเทเซียส เป็นที่ทราบกันว่าไทแรนโนซอรัสมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ฟอสซิลของพวกมันในช่วงเวลาของยุคนี้ถูกค้นพบอย่างจำกัด การค้นพบครั้งนี้จึงมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย
"
การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่อาจจะช่วยเปิดเผยสาเหตุของการที่ไทแรนโนซอรัสมีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงเวลาของยุคครีเทเซียส”
- Yoshitsugu Kobayashi -
รองศาสตราจารย์ประจำ Hokkaido University Museum กล่าว
การค้นพบที่มิอาจมองข้าม
การค้นพบเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเลยนะครับ เพราะมันจะช่วยอธิบายเรื่องราวในอดีตอันแสนไกลจากตัวเราให้มีความชัดเจนมากขึ้นได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือทฤษฎีทางธรณีวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดีที่มีความน่าเชื่อถือ
ตัวอย่างเช่นการค้นพบช้างนะอุมัน (ナウマンゾウ; Naumann’s Elephant) ที่บริเวณทะเลสาบโนะจิริทางตอนเหนือของจังหวัดนางาโนะ ในประเทศญี่ปุ่น เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทำให้ตำราประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นต้องยึดยาวออกไป เพราะมันสะท้อนการมีอยู่ของญี่ปุ่นในสมัยหินเก่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าสมัยโจมง และเป็นการยืนยันการเชื่อมต่อของแผ่นดินที่เป็นเกาะญี่ปุ่นปัจจุบันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงจนเกาะญี่ปุ่นถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ในที่สุด ดังที่ปรากฎในปัจจุบันนั่นเองครับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org