xs
xsm
sm
md
lg

ศาสนาพุทธกับพระในญี่ปุ่น (2) : มุมมองการบวชพระของไทยกับญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เมื่อพิจารณาบรรทัดฐานทางศาสนาของไทยกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับพระสงฆ์เชิงเปรียบเทียบอย่างเป็นกลาง จะพบว่าสิ่งที่คนไทยพุทธถือว่าเป็นปัญหา คือ ความเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานของเถรวาท พระถูกสังคมคาดหวังด้วยระเบียบทางความคิดชุดหนึ่งซึ่งเป็นชุดที่เข้มงวดและถือว่าประเสริฐที่สุดตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลง นั่นคือหลักการของเถรวาทที่สังคมไทยนำมาใช้ปกครองสงฆ์ พอความประพฤติของพระมิได้เป็นไปตามนั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้น เมื่อสังคมรู้กฎระเบียบนี้กันดี คนที่ปวารณาตนเป็นพระก็พึงปฏิบัติตาม มิฉะนั้นไม่ควรเข้าไปเป็นพระ เพราะการควบคุมตัวเองไม่ได้ไม่เพียงแต่ผิดวัตถุประสงค์การบวช แต่ยังสร้างความเดือดร้อนทางใจแก่คนในสังคม

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าทำให้เรามีปัญหาเรื่องพระบ่อย ๆ คือ เราปลูกฝังเรื่องศาสนาโดยแยกไม่ออกระหว่างแก่นพุทธศาสนากับขนบแบบไทย สะเดาะเคราะห์ก็ไปบวช แก้บนก็ไปบวช ก่อนแต่งงานควรจะบวช หรือบางคนตกงานก็ไปบวช คงปฏิเสธได้ยากว่าส่วนหนึ่งการบวชเป็นทางหนีทีไล่สำหรับคนที่จัดการปัญหาชีวิตไม่ได้และเป็นสะพานบุญให้คนรอบข้าง เราเป็นแบบนี้ใช่หรือไม่ สรุปแล้วบวชเพื่อ? เราบอกว่าเราเป็นคนพุทธ หลักการแบบพุทธที่พระพุทธเจ้าสอนให้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องบวชก็มีมากมาย เรามองข้ามตรงนั้นไปใช่หรือไม่

หากเราสอนกันเสียใหม่ว่าการบวชนั้นทำไปเพื่อศึกษาพระธรรมเพื่อหาทางหลุดพ้น (ตามครรลองของเถรวาท) อย่างจริงจัง หรือหากไปไม่ถึงขั้นนั้น ก็ควรบวชเพื่อลดกิเลส หาความสงบ มิใช่ทำไปเพื่อหนีอะไรบางอย่าง หรือเพื่อเป็นทางทำมาหากิน ถ้าใจไม่พร้อมจริง ๆ อย่าเข้าไป เพราะอาจทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าเราปรับแนวคิดตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าปัญหาลึกลับซับซ้อนในวงการสงฆ์ของไทยน่าจะลดลง แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ เพราะพุทธศาสนากับขนบแบบไทยผสมกันจนเราแทบมองไม่ออกว่าสิ่งไหนคือคำสอน สิ่งไหนคือประเพณี

ส่วนทางญี่ปุ่น ภาพลักษณ์ของพระคือ มีข้อวัตรปฏิบัติที่ไม่เคร่งครัดนัก นั่นเกิดจากจุดมุ่งหมายและหลักปฏิบัติที่ต่างจากเถรวาท พุทธแบบญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหายาน (มีวัชรยานแทรกอยู่ด้วย) มุ่งปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์โดยมีพระโพธิสัตว์เป็นหมุดหมายในเบื้องหน้า ในคัมภีร์ของมหายานจะมีชื่อพระโพธิสัตว์ที่คนไทยไม่คุ้นหูมากมาย รวมทั้งเจ้าแม่กวนอิมด้วย อีกทั้งทางด้านคำสอนก็มีการปรับให้เข้ากับชีวิตของนักบวชมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการใช้ชีวิตใกล้เคียงกับฆราวาส

และหากจะว่าไป คนไทยจำนวนไม่น้อยก็นับถือพุทธแบบมหายานโดยไม่รู้ตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยที่ไม่กินเนื้อวัวเพราะนับถือเจ้าแม่กวนอิมมีเป็นจำนวนมาก นั่นหมายถึงความศรัทธาที่มีต่อเจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ตามคติมหายาน หรือเรียกด้วยชื่อสันสกฤตคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งก็คือหน้าบายนบนยอดปราสาทนครธมนั่นเอง (ในยุคต้น พระโพธิสัตว์องค์นี้มีรูปลักษณ์เป็นเพศชาย แต่เมื่อเข้าสู่จีนแล้ว มีการปรับให้ดูอ่อนโยนยิ่งขึ้น และปรากฏเป็นหญิงดังที่รับรู้กันทั่วไปในปัจจุบัน)

“ความไม่เคร่งครัด” ที่ว่านี้คือการเปรียบเทียบกับเถรวาท หากไปบอกฝรั่งตะวันตกว่าพระไทยฉันวันละ 2 มื้อ พระญี่ปุ่นฉันวันละกี่มื้อก็ตามใจฉัน ฝรั่งก็อาจทำตาปริบ ๆ พร้อมกับตอบว่าช้านรู้จักแต่พระเยซู ไม่รู้หรอกว่ากรอบความคิดแบบเถรวาทเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามการชี้ความแตกต่างมิใช่ต้องการจะชี้ถูกชี้ผิดว่าใครดีกว่ากัน มิฉะนั้นคงเถียงกันไม่เลิก และคงต้องย้อนกลับไปพิจารณากันอีกยาวว่าศาสนาคืออะไร มีขึ้นมาเพื่อความหลุดพ้น? หรือเพื่อให้คนดำเนินชีวิตประจำวันโดยเป็นทุกข์น้อยที่สุด? หรือว่าทั้งสองอย่าง? และควรให้ความสำคัญกับสาระใดก่อน?

ในการครองเพศบรรพชิต การบวชพระของคนญี่ปุ่นไม่ใช่การบวชตามประเพณี และแนวคิดที่ว่าสาธุชนผู้ออกเงินเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่การบวชจะได้บุญใหญ่นั้น คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้จัก ดังนั้น เรื่องการอุปสมบทหมู่หรือการบวชภาคฤดูร้อนจึงไม่ต้องถามถึง และอีกเช่นกัน การมีหรือไม่มีไม่ใช่เกณฑ์วัดคุณค่าของแนวคิดในแต่ละประเทศ เพราะนั่นเป็นแค่ความแตกต่างทางด้านสิ่งแวดล้อม

คนญี่ปุ่นที่รู้ธรรมเนียมและเกิดศรัทธาในพุทธศาสนากับแนวคิดแบบไทยถึงขั้นตัดสินใจบวชพระที่เมืองไทยก็มีไม่น้อย อย่างลูกศิษย์ญี่ปุ่นของผมที่บวชในเมืองไทยก็มีแล้ว 4 คน คนหนึ่งบวชเป็นปี (เพราะเป็นลูกชายวัด จึงอยากฝึกปฏิบัติแบบไทยก่อนจะเป็นพระเต็มตัวในญี่ปุ่น) อีก 3 คนบวชประมาณ 1 เดือน และด้วยผมรู้ว่าคนญี่ปุ่นรู้จักศาสนาพุทธน้อย ประกอบการครองสมณเพศแบบเถรวาทของไทยถือว่าเข้มงวด จึงอดถามลูกศิษย์ไม่ได้ว่าไหวหรือ ทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่า “ไม่เป็นไร”

ในขณะที่ของไทยมีทั้งบวชเณร บวชหน้าไฟ บวชพระ แต่การบวชของคนญี่ปุ่นคือการตั้งใจบวชตามหลักคำสอนของนิกายที่ตนศรัทธา ส่วนจะเข้มงวดมากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือเพื่อสืบทอดความเป็นพระในตระกูลของตน กล่าวคือ หากพ่ออยู่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้าของวัด ก็มีแนวโน้มที่พ่อจะให้ลูกชายบวชเพื่อสืบทอดความเป็นพระและดูแลบริหารวัดต่อไปด้วย (เช่นเดียวกับศาลเจ้าของชินโต)

การเตรียมตัวเพื่อบวชแบบญี่ปุ่นมีรายละเอียดมากและแตกต่างกันไปตามนิกาย แต่หลักการทั่วไปที่ทุกนิกายกำหนดคือ 1) เรียนจบมหาวิทยาลัย และ 2) ต้องมีอาจารย์ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชิโช” (師匠;shishō) หรือเรียกแบบไทยคือ “อุปัชฌาย์” และใช้ชีวิตเตรียมความพร้อมอยู่ที่วัดระยะหนึ่ง เมื่อผ่านเกณฑ์ตามที่อาจารย์ประเมินแล้วจึงจะบวชได้

ระเบียบการมีประมาณนี้ อาจดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงยากกว่าการบวชพระของไทย สมัยโบราณ เด็กเข้าไปบวชเณรรับการฝึกฝนอยู่ในวัดเพื่อเติบโตเป็นพระได้ดังที่เรารับรู้จากเรื่องอิกคิวซัง ปัจจุบันการรับคนเข้าไปฝึกความพร้อมที่วัดก็มีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะให้ไปเรียนพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสายพุทธซึ่งมีอยู่หลายสิบแห่ง เมื่อจบแล้วจะเข้าฝึกฝนที่วัดและผ่านพิธีบวชเป็นพระ ดังนั้นความยากประการแรกคือ ต้องเรียนจนจบมหาวิทยาลัยซึ่งใช้เวลานาน และถือเป็นการบังคับอายุกับการศึกษาไปโดยปริยายว่าต้องอ่านคัมภีร์ออก ต้องมีวุฒิภาวะ ต้องรู้เรื่องศาสนาพุทธ นอกจากนั้น ปัจจุบันคนที่จะยอมเป็นพระอาจารย์ให้ก็มีจำกัด และการบวชเพื่อหนีปัญหาชีวิตก็อาจถูกปฏิเสธด้วย ซึ่งต่างจากการบวชง่ายสึกง่ายอย่างในกรณีของไทย

หากถามว่า ญี่ปุ่นมี “พระปลอม” หรือไม่ คำตอบคือมี คำว่าปลอมในที่นี้หมายถึงคนที่แต่งตัวเป็นพระเพื่อหลอกชาวบ้าน โดยเฉพาะผ่านการบิณฑบาต ตามปกติแล้ว พระญี่ปุ่นไม่บิณฑบาตตอนเช้าเหมือนพระไทย แต่การบิณฑบาตถือเป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่ง นาน ๆ ทีพระจะออกไปบิณฑบาตสักที บางครั้งจะเห็นพระญี่ปุ่นยืนตามสถานีรถไฟ นั่นคือการบำเพ็ญพรตผ่านการบิณฑบาต หรือพระบางรูปตระเวนไปบิณฑบาตตามบ้าน โดยหลักการแล้ว สาธุชนจะถวายสิ่งใดก็ได้ (จำพวกอาหาร) พระไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ แต่ปัจจุบันมักเป็นการถวายปัจจัย แต่คนญี่ปุ่นที่ไม่ถวายอะไรเลยก็มีไม่น้อยเพราะแยกไม่ออกว่าพระจริงหรือพระปลอม เมื่อมีมิจฉาชีพใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาเงิน ทางการจึงกำหนดว่า ผู้บิณฑบาตจะต้องมี “ใบอนุญาตบิณฑบาต” และลงทะเบียนมีตัวเลขยืนยันแน่ชัด หากใครสงสัยก็ขอตรวจสอบได้

ประตูเข้าสู่พุทธศาสนาในฐานะนักบวชของไทยกับญี่ปุ่นนั้นยากง่ายต่างกัน เมื่อบวชเป็นพระญี่ปุ่นแล้ว ความเคร่งครัดขึ้นอยู่กับหลักคำสอนของนิกายนั้น นิกายที่เคร่งก็มี เพียงแต่คนภายนอกอาจไม่ค่อยรู้ เราจึงมองภาพเหมารวมไปหมดว่าพระญี่ปุ่นเหมือนกันหมด ในขณะที่บางนิกายกำหนดให้ละเว้นการเสพเมถุน แต่บางนิกายไม่โกนหัวก็มี เป็นต้น ในบรรดานิกายทางพุทธที่มีมากมายในญี่ปุ่น นิกายหลักที่แพร่หลายและคุ้นหูที่สุดมี 13 นิกาย ซึ่งจะว่ากันต่อในคราวหน้า

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น