xs
xsm
sm
md
lg

อยากแต่งงานต้องไป "คงคัตสึ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ป้ายโฆษณาเกี่ยวกับกิจกรรมหาคู่หรือที่เรียกว่า “คงคัตสึ” (婚活)มีให้เห็นบนรถไฟเป็นบางคราว ชวนให้นึกถึงคนรู้จักในวัยห้าสิบที่เล่าว่าเคยไปปาร์ตี้จับคู่มา ดูเหมือนกิจกรรมหาคู่จะเป็นที่นิยมกันอยู่ไม่น้อยในญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนอายุตั้งแต่ยี่สิบปลาย ๆ ขึ้นไป ต่างจากสมัยก่อนที่ต้องมีคนเป็นพ่อสื่อแม่สื่อแนะนำให้ไปนัดพบดูตัวกันอย่างเป็นทางการ ฉันเคยรู้สึกว่ากิจกรรมหาคู่เป็นเรื่องไกลตัว แถมตัวเองก็ไม่ใช่คนญี่ปุ่น ไม่คิดเลยว่าจะมีโอกาสเข้ามาสัมผัสแวดวงนี้กับเขาด้วยเหมือนกัน

ฉันเคยได้ยินว่าสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน ผู้หญิงต้องการหาคู่แต่งงานเพื่อจะได้มีลูกและเพื่อความมั่นคงในชีวิต ส่วนผู้ชายต้องการแค่มีแฟนแต่ไม่ต้องการแต่งงานเพราะมีภาระเยอะ ในขณะผู้ชายที่อยากแต่งงานบางคนก็กลับแต่งงานยากเพราะรายได้น้อยหรืออาชีพที่ไม่มั่นคง ยุคนี้คนในวัยยี่สิบที่ไม่มีคู่ก็มีจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

จากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นพบว่าคนที่อายุ 50 ปีแล้วยังโสดอยู่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าภายในปี 2040 ครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวจะมีมากขึ้นถึงร้อยละ 40 ของครัวเรือนทั้งหมดเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าอีกหน่อยคนจะแก่ตายไปคนเดียวกันมากขึ้น การกลัวความไม่มั่นคงหรือการกลัวที่จะต้องอยู่คนเดียวตอนแก่โดยไม่มีคนดูแลจึงอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอยากหาคู่แต่งงาน

กิจกรรมหาคู่ครองในญี่ปุ่นมีหลายแบบ เช่น นัดบอดผ่านเพื่อนที่เรียกว่า “โกคง” (合コン)ไปปาร์ตี้จับคู่ หรือลงทะเบียนตามบริษัทรับปรึกษาแต่งงานเพื่อหาคู่แต่งงานโดยเฉพาะ สำหรับ “โกคง” นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้ใหญ่เท่านั้น นักเรียนมัธยมเองก็มีโกคงเหมือนกันเพื่อหาแฟนผ่านเพื่อนที่พามารู้จักกัน ส่วนปาร์ตี้จับคู่นั้นที่เคยได้ยินมาก็คือจ่ายค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมแก่บริษัทที่จัดงาน แต่ละคนจะติดเบอร์แทนป้ายชื่อ พอคู่ไหนถูกใจกัน บางแห่งเจ้าหน้าที่ก็จะประกาศกันกลางงานให้เป็นที่รับรู้ แต่ลูกค้าบางคนไม่ชอบแบบนี้ก็มี บางที่เขาก็จะแจ้งให้ทราบเป็นการส่วนตัว

นึกว่าเรื่องพวกนี้จะเป็นเรื่องไกลตัว ที่ไหนได้วันหนึ่งเพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นดันมาชวน
“ เราไปโกคงกันดีกว่า ”
ฉันมองหน้าเพื่อนด้วยความประหลาดใจ ไม่คิดมาก่อนว่าเพื่อนสนใจนัดบอดกับเขาด้วย
“ ไม่เอา ”  ฉันตัดบทดื้อ ๆ ไม่สนใจ
“ ไปเหอะน่า ไปเล่น ๆ ขำ ๆ ไปงั้นแหละ ผู้ชายมีทั้งหมด 4 คน พวกเราไปกัน 3 คนแล้วผู้หญิงอีกคนจะตามมาทีหลัง เพื่อนเราที่เป็นผู้ชายเขาเป็นคนจัดการให้เพราะเพื่อนเขาขอมา ตัวเพื่อนคนนี้เขามีครอบครัวแล้ว ไม่ได้มาหาคู่ แต่พาเพื่อนเขามารู้จักกับพวกเรา ”

แม้จะเป็นความคิดที่ไม่เคยอยู่ในสมองมาก่อน แต่ก็ชักอยากรู้อยากเห็นว่านัดบอดจริง ๆ เป็นอย่างไรเพราะเคยได้ยินแต่ในการ์ตูน
“ เพื่อนคนที่ว่าเป็นยังไงละ ” ถามเผื่ออย่างน้อยจะเดามั่วได้ว่าคนอื่นที่จะได้เจอน่าจะมีลักษณะแบบไหน ดีกว่าไม่มีข้อมูล
“ไว้ใจได้ เอาการเอางาน ไม่ซี้ซั้ว ” ฟังแล้วค่อยอุ่นใจหน่อย

อันที่จริงตอนนั้นก็โสด ไม่มีใครมาจีบ และไม่มีใครให้จีบ ก็คิดในใจว่า เอาวุ้ย เผื่อฟลุคเจอคนถูกสเป็ค เลยตกปากรับคำเพื่อนว่าไปก็ไป

“ ว่าแต่ไปเจอกันที่ไหรึ  ฉันถาม 
“ ร้านอาหารสเปน เป็นบาร์ด้วยในตัว ”
“ โอ๊ย รับรองแพงหูฉี่  พูดพลางกังวลว่ากระเป๋าบาง ๆ จะฉีกเป็นรู ตอนนั้นเงินเก็บก็ช่างน้อยนิด
“ พวกผู้ชายเขากินเยอะกว่าพวกเรา ไม่ทำน่าเกลียดปล่อยให้ผู้หญิงออกเท่า ๆ กันกับเขาหรอกน่า ”

เมื่อถึงวันนัดหมาย ฉันกับเพื่อนอีกสองคนก็ไปร้านอาหารที่ว่า หนุ่ม ๆ ที่เราได้พบไม่ได้เป็นอย่างที่คิด พวกเขาดูเป็นผู้ใหญ่แต่ก็ดูเจ้าสำอางค์แบบเซอร์ ๆ ส่วนพวกเราก็คงดูเรียบ ๆ ธรรมดา ๆ สรุปว่าต่างฝ่ายต่างเป็นสไตล์ตรงกันข้ามและปกติคงไม่โคจรมาเจอกันง่าย ๆ คนที่ดูพอจะเข้ากันได้และคุยกันรู้เรื่องกลับเป็นเพื่อนของเพื่อนที่มีครอบครัวแล้ว และเขาก็ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของฝ่ายหญิง

ตลอดช่วงเวลาที่สนทนากันราวสองชั่วโมงเป็นไปอย่างแกน ๆ ด้วยกันหมดทั้งโต๊ะ ต่างฝ่ายต่างก็ถามคำตอบคำ พยายามจะสร้างบทสนทนาหรืออะไรที่พอจะคุยกันได้อย่างออกรส หรือมีรสนิยมที่ใกล้เคียงกันบ้าง แต่ก็พบว่าพวกเราจูนกันไม่ติดเลย รู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปเนิ่นนานจนกระทั่งสาวอีกคนหนึ่งตามมาสมทบ เท่านั้นแหละหนุ่ม ๆ ทุกคนกลับมีชีวิตชีวาและหันไปให้ความสนใจเธออย่างออกหน้าออกตาทันที สาวคนนี้ดูเซ็กซี่และมีเสน่ห์โดยธรรมชาติ ถ้าจะเอาให้พอนึกภาพออกก็เรียกได้ว่ามีบางสิ่งที่พอจะคล้ายกับนักร้องดังของญี่ปุ่นที่ชื่อ โคดะ คุมิ อยู่บ้าง จากปฏิกิริยาของหนุ่ม ๆ ที่เห็นตรงหน้า ถ้าเป็นในหนังป่านนี้คงพากันกุลีกุลีเลื่อนเก้าอี้ให้นั่ง เอาไวน์มาเสิร์ฟ นวดไหล่ให้แล้วกระมัง

เธอมาหลังจากที่พวกเรารับประทานอาหารเสร็จแล้วพอดี เพื่อนสนิทฉันจึงหันมาบอกฉันกับเพื่อนอีกคนด้วยหน้าตาสดใสว่า “ ไปกันดีไหม ” พวกเรายิ้มร่าพลางตอบตกลง เพื่อนจึงบอกคนอื่น ๆ ในโต๊ะว่า “ พวกเราขอไปก่อนนะ ” แล้วเธอก็บอกเพื่อนชายคนจัดงานหน้าตาเฉยว่า “พวกผู้ชายออกเยอะหน่อยโอเคไหม พวกเรากินกันนิดเดียว ” เพื่อนชายตอบเสมือนเป็นเรื่องธรรมดา ได้สิ ออกคนละห้าพันเยนก็พอ ที่เหลือเดี๋ยวพวกเราออกเอง  ก็แอบแปลกใจเหมือนกันค่ะที่คุยเรื่องเงินทองกันชัดเจนทีเดียว

ปกติที่ญี่ปุ่นนี้เวลาไปรับประทานอาหารกัน คนที่ทำงานแล้วหรือคนที่อาวุโสกว่ามักจะจ่ายให้มากกว่าคนที่ยังไม่ทำงานหรืออาวุโสน้อยกว่า หรือบางทีก็ออกให้ทั้งหมดเลย เหมือนจะเป็นธรรมเนียม แล้วพอถึงคราวที่คนอาวุโสน้อยกว่ามีอาวุโสมากขึ้นหรือได้งานทำแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องจ่ายให้รุ่นน้องหรือคนที่ยังไม่ได้ทำงานต่อ ดูคล้ายกับว่าตอบแทนที่ตัวเองเคยได้รับมาโดยให้คืนกับสังคม

พอพวกเราสามสาวออกจากร้านได้ก็หัวเราะคิกคัก หายใจกันคล่องคอหลังจากพยายามทำตัวเป็นใครก็ไม่รู้มาราวสองชั่วโมงจนเกร็ง นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ฉันเคยไปร่วมกิจกรรมหาคู่ จากนั้นก็ไม่ได้ยินว่าเพื่อนไปนัดบอดแบบนี้อีกเลย และในท้ายที่สุดสามสาวก็พบคู่ของตัวเองจากโอกาสอื่นที่ไม่ได้คาดคิดไว้ คนหนึ่งเจอเพื่อนสมัยเรียน คนหนึ่งเจอตอนไปทริปดำน้ำ และอีกคนเจอตอนไปทำอาสาสมัคร ต่างก็ไปมีชีวิตครอบครัวของตัวเองกันไป

เพื่อนคนญี่ปุ่นแต่ละคนที่แต่งงานไปไม่มีแม้แต่คู่เดียวที่ไม่มีลูก และเวลาฉันออกไปไหนมาไหนข้างนอกก็มักเห็นคู่หนุ่มสาวที่มีลูกเล็ก ๆ พ่วงไปด้วย ทำให้ไม่รู้สึกว่าประชากรญี่ปุ่นเกิดน้อยลง เพื่อนฉันก็บอกว่าเธอก็คิดแบบนี้เช่นกัน อาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในเมือง และคนหนุ่มสาวก็มักอยู่ในเมืองกระมัง จึงเห็นภาพเด็กเล็ก ๆ แทบทุกแห่งหน

แต่จะว่าไปแล้วคนสมัยนี้ก็มีลูกน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก อย่างเพื่อน ๆ ฉันที่ญี่ปุ่นโดยมากมีลูกแค่คนเดียวเท่านั้นไม่ว่าจะแต่งไปนานแล้วหรือเพิ่งแต่งไม่นานก็ตาม แต่ตัวเพื่อน ๆ เองจะมีพี่น้องกันอย่างน้อย 2-3 คน และในรุ่นของพ่อแม่เพื่อนก็มีพี่น้องมากกว่านั้น ถ้าดูเอาจากตัวอย่างใกล้ตัวอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกได้เหมือนกันว่าประชากรน่าจะลดลงจริง และเมื่อพิจารณาถึงอายุเฉลี่ยในการแต่งงานที่สูงกว่าเมื่อก่อนแล้วก็ยิ่งน่าเชื่อว่าประชากรเกิดใหม่น้อยลงทุกที ๆ

นอกจากนี้ ช่วงหลัง ๆ ยังอาจได้เห็นบทบาทของผู้หญิงญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปจากเดิม จากเดิมที่นิยมแต่งงานแล้วลาออกมาอยู่กับบ้าน ปัจจุบันจะพบว่าผู้หญิงหลายคนแต่งงานแล้วก็ยังอยากทำงานต่อ แม้จะออกจากงานมาเลี้ยงลูกช่วงที่ลูกยังแบเบาะ แต่เมื่อลูกโตขึ้นก็กลับไปทำงาน คงเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างนี้เองทำให้รู้สึกว่าคนยุคใหม่ไม่พร้อมที่จะมีและเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่เหมือนสมัยก่อน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่น(และในอีกหลายประเทศ)คงทำให้การมีลูกช้าและมีลูกน้อยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามมาอย่างช่วยไม่ได้ ถ้ากิจกรรมหาคู่แต่งงานเป็นที่นิยมและมีกระแสตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง บริษัทจัดหาคู่หรือจัดปาร์ตี้จับคู่มีวิธีสร้างโอกาสให้ลูกค้าได้เจอคู่ที่ถูกใจกันง่ายขึ้น ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่พอจะช่วยชะลอปัญหาประชากรลดหรือการอยู่คนเดียวตอนแก่ไปได้บ้าง.


"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น