xs
xsm
sm
md
lg

ศาสนาพุทธกับพระในญี่ปุ่น (1) : ความเป็นมากับมุมมองปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ข่าวพระวัดดังของไทยถูกจับสึกเพราะประพฤติไม่เหมาะสมตามบรรทัดฐานของพุทธศาสนาในสังคมไทยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลายคนสงสัยว่าพุทธศาสนาในประเทศอื่นมีสภาพเป็นอย่างไร เผชิญปัญหาอย่างที่ไทยประสบอยู่หรือไม่ ในโอกาสนี้จึงขอนำเรื่องศาสนาพุทธกับพระของญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังทั้งในเชิงประวัติและสภาพปัจจุบัน

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ศาสนาพุทธแพร่หลาย แต่อิทธิพลของศาสนาพุทธต่อสังคมตอนนี้มีน้อยกว่าในสังคมไทย เด็กไทยสวดมนต์เป็นตั้งแต่เล็ก ๆ แต่ผู้ใหญ่ญี่ปุ่นไม่รู้ว่าศีล 5 มีอะไรบ้าง และยิ่งในปัจจุบัน คนญี่ปุ่นขาดความรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธมาก อย่าคาดหวังให้คนญี่ปุ่นตอบว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร อย่าได้ถามเลยว่าเจ้าชายองค์ที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าชื่ออะไร หรืออย่าได้คาดหวังว่าคนญี่ปุ่นจะรู้ว่าสวรรค์ตามคติพุทธมีกี่ชั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความรู้เฉพาะทางมาก ๆ ในขณะที่เป็นความรู้สามัญสำหรับนักเรียนประถมของไทย

ย้อนกลับไปในอดีตกาล พุทธศาสนาลงหลักปักฐานในญี่ปุ่นโดยมาจากจีน ผ่านทางคาบสมุทรเกาหลี มาถึงญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ตอนนั้นกษัตริย์เกาหลีได้ส่งคณะสงฆ์มายังญี่ปุ่นพร้อมด้วยพระพุทธรูปและคัมภีร์ ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นสูง จากนั้นจึงค่อย ๆ แพร่หลาย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานคือ เจ้าชายโชโตกุ (574 – 622) ผู้โปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นหลายวัด ที่สำคัญคือวัดโฮริวจิ (法隆寺;Hōryū-ji) ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อยู่ในจังหวัดนาระ
ภาพวาดเจ้าชายโชโตกุ โดย Kogan Zenji
วัดโฮริวจิ (โดย  ume-y)
ด้วยพระจริยวัตรของพระองค์ จึงมีกระทั่งตำนานที่เล่าขานว่าพระองค์ทรงเคยพบปรมาจารย์ “ตั๊กม้อ” หรือพระโพธิธรรม ซึ่งปลอมตัวเป็นขอทานหิวโหยมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ พระองค์ไม่ทรงทราบ แต่ด้วยพระเมตตา จึงพระราชทานอาหารและน้ำ พร้อมทั้งทรงสละพระภูษาสีม่วง (ตามขนบญี่ปุ่นโบราณ ถือกันว่าสีม่วงคือสีสำหรับชนชั้นสูง) เพื่อให้ขอทานห่มนอน วันถัดมาปรากฏว่าขอทานตาย พระองค์โปรดฯ ให้ฝังอย่างเรียบร้อย แต่ทรงฉุกคิดว่าคนผู้นี้คงมิใช่คนธรรมดาแน่ จึงโปรดฯ ให้ขุดดินขึ้นมาดู ปรากฏว่าไม่มีร่างอยู่ในโลง เหลือเพียงพระภูษาสีม่วงพับไว้อย่างดี ครั้นแล้วพระองค์ก็นำพระภูษาผืนนั้นกลับมาใช้ตามเดิม
ภาพวาดพระโพธิธรรม
นับจากสมัยโน้นมาจนถึงปัจจุบัน ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นมีนิกายสำคัญ 13 นิกายซึ่งจะขยายความต่อไปในภายหลัง ได้แก่ เท็นไดชู, ชิงงงชู, โจโดชู, โจโดชิงชู, จิชู, ยูซูเน็มบุตสึชู, รินไซชู, โซโตชู, โอบากูชู, นิจิเร็ง, ฮตโซชู, เคงงชู, ริชชู (ชู แปลว่า นิกาย) ในเบื้องต้น หากกล่าวถึงสองนิกายยุคแรก ๆ อย่างเท็นไดชูกับชิงงง จะพบว่าเท็นไดชูยึดถือคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์ของฝ่ายมหายาน มีคำสอนอยู่ว่าการตกแต่งวัดและการคัดลอกพระสูตรถือเป็นพุทธบูชา และชิงงงชูหรือวัชรยานมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง สองส่วนนี้ส่งเสริมพุทธศิลป์และทำให้ญี่ปุ่นยังคงมีศิลปกรรมทางพุทธศาสนาแพร่หลายต่อมา (ประมวลจาก “พุทธศิลป์วิวัฒน์” หน้า 22-25 ใน “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น”, กรมศิลปากร 2560)

อย่างไรก็ตาม ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นผ่านยุครุ่งเรืองและเสื่อมถอยมาเป็นพันปี ระหว่างเส้นทางนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดและวัฒนธรรม ตลอดจนศิลปวัตถุหลายอย่าง ทว่าหลังสมัยโชกุนตระกูลโทกูงาวะในยุคเอโดะ (ซึ่งตรงกับช่วงครึ่งหลังของสมัยอยุธยา) จนถึงขณะนี้ พุทธศาสนาในฐานะหลักยึดเหนี่ยวทางใจของประชาชนจางลงมากจนอยู่ในสถานะที่ดูเหมือนใกล้ตัวแต่ก็เข้าไม่ถึง

ตอนนี้ถ้าเอ่ยถึงศาสนาพุทธ ส่วนที่คนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมากที่สุดคือพิธีศพ รองลงมาคือการไหว้พระขอพรช่วงปีใหม่ (คนญี่ปุ่นไปทั้งศาลเจ้าชินโตและวัด) นอกจากนั้นแล้ว วัดมีสถานะใกล้เคียงกับแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มิได้เป็นที่ศึกษาพระธรรมหรือการฟังเทศน์ การนับถือพุทธจึงมีความหมายเชิงพิธีกรรมมากกว่านัยด้านความเชื่อหรือการน้อมนำคำสอนมาตีความเพื่อใช้กับชีวิตประจำวันซึ่งต่างจากของไทย ดังเห็นได้จากการที่ร้านหนังสือในเมืองไทยมีหนังสือธรรมะอ่านง่ายขายสะดวกวางอยู่ทั่วไป โดยที่หลายเล่มกลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีให้เห็นในญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นนับถือพุทธกับชินโตโดยไม่แบ่งแยกอย่างชัดเจน ทำนองเดียวกันกับที่คนไทยนับถือพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าของฮินดู ถ้าว่ากันด้วยจำนวนศาสนสถานแล้ว ศาลเจ้าชินโตมีมากกว่าวัด คือ 8 หมื่นกว่าแห่ง ส่วนวัดมีราว 77,000 วัด แต่ก็อีกนั่นแหละ คนญี่ปุ่นที่ตระหนักอย่างจริงจังในคำสอนของชินโตและพุทธมีอยู่ไม่มาก และดูเหมือนไม่ค่อยมีใครใส่ใจด้วยว่าสิ่งใดคือชินโตหรือพุทธ แต่นับถือรวม ๆ กันไป เราจึงได้เห็นคนญี่ปุ่นมากมายที่ไปวัดและตบมือแปะ ๆ ตามแบบชินโตเพื่อเรียกให้เทพเจ้าสะดุ้ง จะได้สนใจคำภาวนาของตน โดยที่ไม่ได้ฉุกคิดว่าตรงนั้นคือวัด และศาสนาพุทธไม่ได้นับถือเทพเจ้า แต่นับถือพระพุทธเจ้า

ความห่างเหินคำสอนทางศาสนาและการขาดความรู้ทำให้มีคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ระบุว่าตัวเองไม่นับถือศาสนาอะไรเลยอยู่มาก ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติโดยไม่ยึดคำสอนของศาสนาใดเลย แต่ยึดหลักคุณธรรมพื้นฐาน เช่น การไม่โกหก ความซื่อสัตย์ต่อคู่ครองของตน ความเมตตา หรืออื่น ๆ อันเป็นสามัญสำนึกของคนดี ซึ่งบังเอิญว่ามีหลายข้อตรงกับคำสอนของศาสนา ในเมื่อไม่ต้องนับถือศาสนาก็อยู่ได้ คนญี่ปุ่นจึงไม่ใคร่สนใจว่าจะนับถือไปเพื่ออะไร และกลายเป็นว่าอิทธิพลของศาสนาทำให้สิ้นเปลืองทรัพย์สินไปเสียอีก โดยเฉพาะศาสนาพุทธนี่แหละ เช่น ต้องเสียเงินให้วัดเป็นค่าดูแลสุสานของบรรพบุรุษ หรือมองว่าการเป็นพระสงฆ์แทบไม่ต่างจากอาชีพทั่วไปที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายเงินจำนวนไม่น้อย เช่น ตอนนิมนต์พระมาสวดศพ

เมื่อห่างคำสอนมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มมีคนตั้งคำถามด้วยว่าวัดจำเป็นต่อชีวิตไหม ถึงขนาดมีการเปรียบเทียบตัวเลขกับร้านสะดวกซื้อซึ่งมีอยู่ราว 51,000 ร้านทั่วประเทศ นั่นหมายความว่ามีวัดมากกว่าร้านประเภทเซเว่นอีเลฟเว่นถึง 2 หมื่นกว่าแห่ง หากรวมศาลเจ้าชินโตเข้าไปด้วยก็ยิ่งมากกว่านั้นหลายเท่า ส่วนในด้านจำนวนพระ ญี่ปุ่นมีพระสงฆ์ประมาณ 340,000 รูป แต่มีหมอประมาณ 3 แสนคน หมายความว่า มีพระมากกว่าหมอซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลน ด้วยตัวเลขเกี่ยวกับชีวิตประจำวันที่ปรากฏเช่นนี้ ก็มีคำถามเชิงเสียดสีต่อไปว่า ทุกวันนี้คนเข้าวัดหรือร้านสะดวกซื้อบ่อยกว่ากัน เรื่องแบบนี้ไม่ต้องมาอยู่ญี่ปุ่นก็พอจะเดาออก และถ้าประเมินตามความถี่ของการไปยังสถานที่นั้น ร้านสะดวกซื้อย่อมสำคัญกว่าวัด นัยทางเศรษฐกิจว่าด้วยอุปสงค์-อุปทานตรงนี้คือจุดที่คนญี่ปุ่นมองว่า ‘น่าคิด’ ในเชิงปัญหา ซึ่งมีบางส่วนคล้ายกับไทยในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ไม่เข้าใครออกใคร

ดังนั้น หากว่ากันด้วยสิ่งที่ “ถูกมอง” ว่าเป็นปัญหาในวงการพุทธศาสนา ทางญี่ปุ่นก็มีเหมือนกัน แต่ลักษณะต่างจากของไทย เพราะเป็นพุทธคนละแบบ เกณฑ์การประเมินก็ต่างกัน พอเจาะตัวอย่างรายละเอียดที่ชัด ๆ คนไทยคงนึกออกได้ไม่ยาก คือ พระไทยเสพเมถุนไม่ได้ แต่มีคนละเมิด คนไทยยอมรับจุดนั้นไม่ได้ พระญี่ปุ่นไม่ถูกจำกัดด้วยข้อปฏิบัตินี้ การที่พระมีความสัมพันธ์กับสตรีจึงไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่ถูกวิจารณ์มากกว่านั้นคือเรื่องเงิน ซึ่งปัจจุบันถึงขนาดมี “พระดิลิเวอรี” สามารถออร์เดอร์ทางออนไลน์ เรียก...เอ๊ย...นิมนต์ไปใช้บริการได้ นี่คือจุดที่คนญี่ปุ่นตะขิดตะขวงใจ สรุปสั้น ๆ ในเบื้องต้นได้ว่า ขณะที่ของไทยมองพระอย่างเคร่งครัดเรื่องความประพฤติในฐานะนักบวช คนญี่ปุ่นมองพระเชิงวิพากษ์ในฐานะคนฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจ

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น