xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นในที่ทำงานและวงเหล้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก tabelog.com
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลาย ๆ ท่านคงรู้จักร้านเหล้าญี่ปุ่นหรือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “อิซากาหยะ” กันมากขึ้น ถ้าเคยไปร้านดังกล่าวที่ญี่ปุ่นจะได้เห็นภาพคนญี่ปุ่นในอีกมุมหนึ่งที่ต่างจากภาพลักษณ์ของคนญี่ปุ่นโดยทั่วไปที่ดูสุภาพเรียบร้อยและเงียบขรึม พวกเขามองว่าการจะเปิดอกเปิดใจคุยอะไรกันได้ตรงไปตรงมาโดยเฉพาะเรื่องงานหรือธุรกิจจำต้องอาศัยเหล้าเป็นเครื่องช่วย

แม้ฉันจะไม่ดื่มเหล้าแต่ก็มักไปร้านเหล้าญี่ปุ่นอยู่บ่อย ๆ จะด้วยมีคนชวนหรือเพราะชอบรสชาติอาหารก็แล้วแต่ จำได้ว่าตอนที่ไปครั้งแรกกับคนญี่ปุ่น คนที่ใหญ่สุดในกลุ่มบอกพนักงานว่า “เอาเบียร์สดมาก่อนก็แล้วกัน” และจากนั้นเวลาไปร้านไหน ๆ ก็มักได้ยินคนพูดประโยคเดียวกันนี้อยู่บ่อย ๆ คงเป็นสิ่งที่คอเหล้าหลายคนมักสั่งก่อนอย่างอื่น

สมัยนั้นฉันไม่รู้ธรรมเนียมในการไปดื่มร่วมกับคนญี่ปุ่น ด้วยความที่โตมาที่เมืองไทย เวลาเขาเอาน้ำมาเสิร์ฟก็ยกแก้วขึ้นดื่มเลยด้วยความชิน ก่อนที่จะสังเกตเห็นว่าคนอื่น ๆ เขาไม่มีใครแตะ และฉันค่อย ๆ สโลว์โมชั่นลดแก้วลงวางเบา ๆ พร้อมรู้สึกถึงความผิดที่ผิดทาง คนญี่ปุ่นรอบตัวไม่มีใครสักคนที่หันมามอง ต่างพากันทำหน้าเรียบเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชวนให้ยิ่งเครียดกว่าเดิม ถ้าเป็นคนไทยคาดว่าคงมีคนแอบหัวเราะ ถลึงตาใส่ สะกิด หรือช่วยกระซิบบอกไว้ว่ายังไม่ถึงเวลา ซึ่งอย่างนั้นยังพอหัวเราะแก้เขินไปได้บ้าง แต่คนญี่ปุ่นคงเห็นว่าถ้าบอกให้รู้ตัวตอนนั้นก็อาจทำให้เจ้าตัวอับอายต่อหน้าประชาชี และคงอยากสงวนท่าทีเรียบเฉยให้เป็นมารยาทที่ดีไว้ก็เป็นได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ฉันคาดเดานะคะ จากนั้นฉันก็ได้เรียนรู้ว่าเวลาพนักงานเขายกเครื่องดื่มมาแล้วก็อย่าเพิ่งแตะ รอจนผู้ใหญ่ในที่นั้นหรือคนที่เป็นคนชวนเพื่อนฝูงมากล่าวอะไรสักหน่อยก่อนแล้วค่อยชนแก้วกัน จึงค่อยดื่มได้

เรื่องนี้ชวนให้ฉันนึกถึงเรื่องหนึ่งที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง นานมาแล้วครั้งหนึ่งมีการต้อนรับแขกต่างชาติในงานอะไรสักอย่างนี่แหละค่ะในเมืองไทย ก็มีการเตรียมขันเงินใส่น้ำลอยดอกมะลิไว้ ด้วยความที่ให้เกียรติแขกก็เลยส่งขันนั้นให้แขกก่อน แต่แขกก็เป็นคนต่างชาติและไม่ทราบว่าขันที่บรรจุน้ำลอยดอกมะลินั้นเอาไว้ทำอะไร เขาตัดสินใจยกขึ้นดื่ม ฝ่ายเจ้าภาพเห็นดังนั้นก็ชะงัก แต่ก็เกรงว่าถ้าจะเอาขันนั้นมาล้างมือกันต่อหน้าก็อาจทำให้แขกได้รับความอับอาย จึงยอมดื่มน้ำจากขันนั้นต่อ ๆ กันไป… เป็นเรื่องขบขันที่น่ารักดีค่ะ จำได้ว่าพ่อเล่าไปหัวเราะไปไม่หยุดเลยทีเดียว

คนญี่ปุ่นส่วนมากดื่มเหล้าเป็นกันทั้งชายและหญิง ไม่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้หญิงดื่มเหล้าแล้วดูไม่งาม ร้านเหล้าหลายแห่งในญี่ปุ่นจึงมีราคาเหมาจ่ายสำหรับการดื่มไม่อั้นด้วย เวลาไปกันเป็นหมู่คณะ หากจะสั่งเป็นแบบดื่มไม่อั้นก็ต้องสั่งอย่างนั้นทุกคน คาดว่าคงกลัวว่าบางคนจะเอาเปรียบทางร้านด้วยการแกล้งทำเป็นสั่งแบบดื่มไม่อั้นแค่บางคนแต่จริง ๆ แอบดื่มไม่อั้นกันทั้งวง ดังนั้นหากมีใครสักคนสองคนในกลุ่มที่ไม่ดื่มเหล้าหรือดื่มเหล้าไม่เก่งก็พลอยต้องจ่ายราคาเหมาไปด้วยแม้ว่าจะดื่มแค่น้ำอัดลมหรือน้ำชาก็ตาม

เคยไปร้านเหล้ากับเพื่อนกลุ่มหนึ่งซึ่งโดยมากมีแต่คนไทยและมีคนญี่ปุ่นเพียงส่วนน้อย แต่คนญี่ปุ่นต้องการสั่งแบบดื่มไม่อั้น คนไทยโดยเฉพาะสาว ๆ ที่ไม่ค่อยดื่มก็ไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าทำไมต้องมาจ่ายให้คนอื่นมากเกินควรในส่วนที่ตัวเองก็ไม่ได้ดื่ม สรุปวันนั้นไม่ได้สั่งแบบดื่มไม่อั้น แต่คนญี่ปุ่นก็ดื่มเหล้ากันหลายแก้วจนในที่สุดบิลมารวมราคาที่หารกันแล้วสูงกว่าจ่ายแบบดื่มไม่อั้นเสียอีก ที่เล่ามานี้เพื่อจะบอกว่าถ้าจะไปร้านเหล้ากับคนญี่ปุ่นหรือคนไทยที่ดื่มเก่งก็ต้องทำใจเพราะระบบของร้านเหล้าญี่ปุ่นส่วนมากเป็นแบบนี้ แต่ถ้าชอบไปร้านเหล้าเพราะชอบรสชาติอาหารและดื่มบ้างนิดหน่อยหรือไม่ดื่มเลย ก็อาจจะเลือกไปกับคนคอเดียวกันดีกว่าเพื่อความสบายใจ
ภาพจาก https://twitter.com/japanavi
ร้านเหล้าญี่ปุ่นบางทีก็มีเมนูสำหรับปาร์ตี้ เช่น ทาโกะยากิแบบสุ่มชะตากรรมว่าใครจะเจอแจ็คพ็อตได้ทาโกะยากิเผ็ดมหาโหดซึ่งโดยปกติจะมีอยู่เพียงไม่กี่ลูกในจานนั้น โดยเราจะไม่รู้ว่าลูกไหนมีซอสพริกเผ็ดจัดซ่อนอยู่ข้างใน น้องฉันเล่าให้ฟังว่าวันก่อนเพื่อนสั่งทาโกะยากิชนิดนี้มา โดยเลือกว่าให้ทำแบบมีซอสเผ็ดจัดมา 2 ลูก ปรากฏว่าคนสั่งเองโดนลูกที่มีซอสพริกเสียตั้งแต่ลูกแรก จนกระทั่งเหลือลูกสุดท้ายก็ยังโดนเองอีก ความเผ็ดของซอสชนิดนี้ไม่ใช่เผ็ดทั่วไปแบบที่คนไทยรับได้ แต่เป็นเผ็ดแบบชนิดที่ว่าบนขวดมีรูปหัวกะโหลกแปะไว้เป็นสัญลักษณ์เสียด้วย แบบนี้แสดงว่าเผ็ดแทบพ่นไฟได้ ดื่มน้ำเท่าไหร่ก็คงไม่หายเผ็ดกันง่าย ๆ

เดี๋ยวนี้ร้านเหล้าญี่ปุ่นมีเพิ่มขึ้นในไทย สำหรับคนไทยที่ไม่ได้ดื่มหรือสูบบุหรี่จัดเท่าคนญี่ปุ่นแล้ว ร้านเหล้าญี่ปุ่นในไทยที่ไม่ได้มีกลิ่นบุหรี่คลุ้งหรือมีแต่คนเมาส่งเสียงดังเต็มร้านจนคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็อาจจะเป็นเหมือนร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่งที่มีอาหารหลากชนิดให้เลือก แต่ทั้งนี้ก็อาจจะแล้วแต่ร้าน เพราะบางร้านที่เปิดสำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะก็มี ก็อาจจะได้บรรยากาศกันคนละแบบ ฉันเคยไปร้านเหล้าญี่ปุ่นที่เมืองไทยแล้วก็ต้องเข็ดเพราะราคาแพงมาก คือตั้งราคาเท่ากับที่ญี่ปุ่นเลยทีเดียวทั้งที่ค่าครองชีพต่างกัน

ที่ญี่ปุ่นนั้นหลังออกจากร้านเหล้าแล้ว บางครั้งก็มีการไปต่อรอบสองด้วย รอบสองนี้อาจเป็นได้ทั้งบาร์ คาราโอเกะ หรือร้านกาแฟ ที่ต้องไปต่อรอบสองนี้คงเพราะยังคุยกันไม่จบ อยากเปลี่ยนบรรยากาศ หรืออาจเป็นเพราะร้านเหล้าหลายแห่งมักบอกว่าไม่ให้นั่งเกินสองชั่วโมง

คนญี่ปุ่นเมื่ออยู่ในที่ทำงานจะทำตัวแบบหนึ่ง เมื่ออยู่ในวงเหล้าก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยทั่วไปเมื่ออยู่ในที่ทำงาน บุคลิกท่าทางและการพูดการจาจะถูกกรอบของกฎระเบียบ มารยาทสังคม และความเคารพผู้อาวุโสกำหนดไว้เคร่งครัด จึงมักเก็บงำอารมณ์ความรู้สึก เวลาพูดก็จะเลือกถ้อยคำที่ระมัดระวัง ไม่พูดอะไรกันตรง ๆ ระวังที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และเลือกเอาความสงบสุขของกลุ่มมาก่อนโดยยอมที่จะซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้

แต่ในทางกลับกันคนญี่ปุ่นจะวางตัวสบาย ๆ ขึ้น เป็นกันเองมากขึ้น และเปิดใจมากขึ้นเมื่ออยู่ในวงเหล้า ดังนั้นเวลาคนญี่ปุ่นต้องการรู้จักตัวจริงของใครมากขึ้น หรือต้องการคุยเรื่องบางอย่างที่ไม่สามารถพูดในที่ทำงานได้ก็จะชวนกันไปดื่ม การไปดื่มจึงอาจเป็นการผ่อนคลายความเครียดและกระชับความสัมพันธ์กันสำหรับพนักงานบริษัทชาวญี่ปุ่น แต่บางคราวก็อาจเป็นเรื่องเครียดได้เช่นกันหากที่ทำงานชวนกันไปดื่มบ่อย เพราะมักเสียเวลากันไปหลายชั่วโมงโดยเฉพาะหลังจากทำงานตรากตรำกันมาตลอดวัน และอยากพักผ่อนสบาย ๆ มากกว่าอะไรอื่น แต่คนญี่ปุ่นหลายคนก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องลำบากใจที่จะปฏิเสธไม่ไปดื่มเพราะบางทีก็ผู้ใหญ่ชวนจึงไม่กล้าขัด หรือเพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นแกะดำหลงฝูง ทำตัวไม่เหมือนในกลุ่มเขา

พูดถึงค่านิยมของคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มอย่างมากแล้ว ก็นึกถึงรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งที่ได้ดูมาไม่นานนี้ เขาเปรียบเทียบลักษณะเฉพาะของคนแต่ละชาติว่าในสถานการณ์เดียวกันมีท่าทีต่างกันอย่างไร หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือ “กัปตันเรือจะต้องพูดอย่างไรเพื่อให้คนแต่ละชาติยอมกระโดดจากเรือลงมหาสมุทร” เพื่อนผู้อ่านลองทายดูสิคะว่ากัปตันจะพูดกับคนญี่ปุ่นว่าอย่างไร

สำหรับคนอเมริกัน “คุณจะได้เป็นฮีโร่ !”
สำหรับคนอิตาลี “สาว ๆ จะพากันปลื้มคุณ!”
สำหรับคนฝรั่งเศส “อย่ากระโดดเชียวนะ!”

สำหรับคนญี่ปุ่น “คนอื่นเขากระโดดลงไปกันหมดแล้ว!” พร้อมตัวการ์ตูนคนญี่ปุ่นที่ทำหน้าลำบากใจสุดฤทธิ์แต่ก็กระโดดลงไป...
ภาพเดียวนับว่าสะท้อนอะไรได้มากมายนะคะ ...แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น