xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นชอบพูดคำว่า “ขอโทษ”?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


คนไทยอยากเอาอย่างคนญี่ปุ่นด้านระเบียบวินัย เพราะเห็นบ้านเมืองเขาสะอาดเรียบร้อย อีกทั้งผู้คน (ส่วนใหญ่) ก็เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม ประเด็นนี้คงไม่มีใครค้าน นอกจากวินัยต่อสังคมและต่อตนเองแล้ว วัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างหนึ่งที่คนต่างชาติอาจสัมผัสได้ยากหน่อยหากไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบเรียบร้อยและสังคมอื่นน่านำไปใช้บ้างคือ การขอโทษ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสังคมไทยนาน ๆ ทีเราถึงจะได้ยินคำว่า “ขอโทษ” หรือคำที่มีความหมายทำนองนั้นในชีวิตประจำวัน แต่ในญี่ปุ่น คำขอโทษเป็นคำที่ได้ยินบ่อยพอ ๆ กับคำขอบคุณ หรืออาจจะบ่อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะคนญี่ปุ่นพูดขอโทษกันเป็นนิสัยทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก สำนวนขอโทษในภาษาญี่ปุ่นก็มีมากมาย สำหรับผมจากเดิมแทบจะพูดคำว่าขอโทษไม่เป็นหากไม่ใช่ตอนถามนำเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น พอมาอยู่ญี่ปุ่นและถูกขอโทษบ่อยเข้า จึงกลายเป็นคนพูดคำขอโทษถี่ไปด้วย นี่คงถือได้ว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการไปเรียนต่างแดน เพราะได้ซึมซับวัฒนธรรมอันเป็นเหมือนภูมิปัญญาของประเทศนั้นที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ราบรื่นขึ้น

ใคร ๆ ย่อมเคยทำผิดพลาด และทุกสังคมสอนให้รู้จักขอโทษกันทั้งนั้น แต่การเผชิญหน้ากับความผิดและการใช้คำขอโทษในแต่ละวัฒนธรรมอาจไม่เหมือนกัน ข้อมูลจากเค็นอิจิ โอบูจิในหนังสือ “วิธีการขอโทษที่ไม่หยาบคาย” ชี้ว่าคนญี่ปุ่นขอโทษมากกว่าคนอเมริกัน
ที่มา: 大渕憲一『失敗しない謝り方』และ Nikkeiビジネスonline
คนอเมริกันมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับผิดง่าย ๆ และพยายามหาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรมหากเจ้าตัวรู้สึกว่าตนไม่ผิด คนไทยมีแนวโน้มที่จะทำไม่รู้ไม่ชี้หรือกลบเกลื่อนความผิดโดยอ้างปัจจัยอื่นดังที่ภาษาปัจจุบันเรียกว่าแถแม้ว่าตัวเองผิด
คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มยอมรับผิดโดยแสดงออกมาด้วยคำพูดก่อนไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร (ส่วนใจจะคิดยังไงนั้น แล้วแต่กรณี) ประเด็นนี้มีนัยทางวัฒนธรรมอยู่ด้วยดังที่จะอภิปรายต่อไป

คำขอโทษของคนญี่ปุ่นเป็นคนละเรื่องกับการชดใช้ แต่ละสังคมอาจคาดหวังน้ำหนักในคำขอโทษไม่เท่ากัน จริงอยู่เมื่อเอ่ยคำขอโทษแล้วหมายถึงการยอมรับผิด แต่สำหรับคนญี่ปุ่น การยอมรับในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องชดใช้เสมอไป อย่างน้อยการขอโทษทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้น เมื่อขยายความเกี่ยวกับทางเลือกจะได้ว่า ในสถานการณ์ที่เกิดความสับสนระหว่างกัน หากฝ่ายแรกกล่าว “ขอโทษค่ะที่ทำให้ลำบาก” อาจได้รับปฏิกิริยาดังนี้

ความเป็นไปได้ 1: “ทางผมก็ต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้อธิบายให้ละเอียดกว่านี้” (ต่างฝ่ายต่างเห็นใจซึ่งกันและกัน คลี่คลายอย่างสงบ)

ความเป็นไปได้ 2: “คุณควรจะศึกษาให้ละเอียดนะ คราวนี้ช่างมัน แต่ต่อไปอย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก” (ฝ่ายเดือดร้อนรู้สึกขุ่นเคือง แต่ก็ยอมรับคำขอโทษ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายในท้ายที่สุด)

ความเป็นไปได้ 3: “ผมไม่ยอมเด็ดขาด เรื่องแบบนี้คงต้องถึงโรงถึงศาล” (ฝ่ายเดือดร้อนไม่ยอมรับ และการต่อรองเรื่องค่าชดใช้จะเริ่มหลังจากนี้)

แต่หากไม่ขอโทษเลย ทางเลือกเดียวที่เหลือคือการปะทะกัน นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมองว่าคำขอโทษทำให้การสื่อสารราบรื่นด้วย ในสถานการณ์ที่เกิดความผิดพลาดหรือการกระทบกระทั่ง เช่น การไปถึงที่นัดสาย การปฏิเสธคำชวน การถลำไปชนคนอื่นบนรถไฟ หรือแม้แต่ในอุบัติเหตุบนถนน ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะเกิดอารมณ์ขุ่นมัวหรือโกรธ คำว่า “ขอโทษ” เป็นเสมือนน้ำเย็นที่จะชโลมไฟโทสะให้อ่อนแรงลง แล้วเรื่องอื่นค่อยว่ากัน

คนญี่ปุ่นได้รับการอบรมมาตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าให้พูดคำขอโทษติดปากแม้ว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดก็ตาม จุดนี้คนต่างวัฒนธรรมอาจไม่เข้าใจว่า ในเมื่อไม่ผิด ทำไมต้องขอโทษ แต่คนญี่ปุ่นมองว่านี่คือการสื่อสารชนิดหนึ่ง เพราะถึงแม้ไม่ได้ทำผิดอย่างชัดแจ้ง แต่เราอาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่อีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว จึงควรจะขอโทษไว้ก่อน ซึ่งในทางจิตวิทยา การขอโทษทำให้ฝ่ายเสียหายรู้สึกอุ่นใจในระดับหนึ่งว่าจากนี้ต่อไปจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้นเพิ่มเติม และความโกรธซึ่งเป็นเหมือนปราการป้องกันอันตรายต่อจากนั้นจะค่อย ๆ คลายลง

คนญี่ปุ่นไม่ถือว่าการขอโทษเป็นการเสียศักดิ์ศรี ผู้ใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะใหญ่ด้วยตำแหน่งหรือใหญ่ด้วยอายุก็ตาม เอ่ยคำขอโทษต่อผู้น้อยได้ตลอดเวลา แม่ขอโทษลูกเมื่อทำกับข้าวเสร็จช้ากว่าปกติ เจ้านายขอโทษลูกน้องเมื่อลูกน้องทำงานพลาดเพราะได้รับข้อมูลจากตนไม่ครบถ้วน อาจารย์ขอโทษลูกศิษย์เมื่อตัวเองเข้าห้องเรียนช้า การที่ผู้ใหญ่ขอโทษผู้น้อยไม่ได้ทำให้ความเป็นผู้ใหญ่ลดลงหรือเป็นเรื่องน่าอาย คนญี่ปุ่นมองว่าศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การแสดงความรับผิดชอบมากกว่า ในทางตรงกันข้าม เมื่อขอโทษแล้ว กลับยิ่งทำให้ดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในฐานะผู้ตระหนักในการกระทำของตน

เมื่อหันมามองสังคมไทย มีค่านิยมที่ว่า “ผู้ใหญ่ผิดไม่ได้” ค้ำคอ คำขอโทษจากผู้ใหญ่จึงแทบไม่มี จนบางทีผู้น้อยอดคิดไม่ได้ว่า พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วกลายสภาพเป็นเทวดาหรืออย่างไรถึงทำผิดแบบมนุษย์ไม่ได้ ผมเองก็เคยมีความทรงจำขุ่นมัวกับผู้ใหญ่เมื่อสมัยเป็นนิสิต อนุมานว่าสาเหตุมาจากศักดิ์ศรีและการไม่รู้จักเอ่ยคำขอโทษต่อผู้น้อยนี่แหละ เรื่องเกิดขึ้นภายหลังการสอบครั้งหนึ่ง คะแนนของผมต่ำกว่าปกติ เมื่อมีประกาศให้นำกระดาษคำตอบไปดูได้ ผมพบว่าอาจารย์ลืมตรวจคำตอบไปหนึ่งข้อ คะแนนจึงต่ำเตี้ยปานนั้น

พอทักท้วง กลับถูกตำหนิว่าทำไมคุณเขียนคำตอบในหน้าถัดไปโดยไม่ระบุว่าตอบไม่จบในหน้านี้ (เราก็นึกว่า อ้าว...แล้วทำไมคนตรวจไม่พลิกดูให้ครบถ้วนล่ะครับ ในเมื่อพื้นที่หน้านี้มันเหลือไม่พอจะวาดกราฟ ผมก็ขึ้นหน้าใหม่สิ กลายเป็นว่าเราผิดที่ไม่ได้เขียนว่า “กรุณาพลิก” ซึ่งก็ไม่เคยมีกฎข้อใดบอกว่าต้องเขียน) หลังจากนั้นอีกสัปดาห์ ผู้สอนนำเรื่องนี้มาพูดในห้องทำนองว่า “ไปถามความคิดเห็นของอาจารย์คนอื่นมาแล้ว การที่นิสิตไม่เขียนว่าคำตอบอยู่ในหน้าถัดไปนั้น นิสิตทำไม่ถูกต้อง” (อ้าว...ไหงเป็นงั้น เอาเข้าไป ผู้ใหญ่ประเทศนี้ นี่คือการหาพวกมาช่วยโยนความผิดให้ผู้น้อยใช่ไหม) แม้ไม่ได้ถูกเอ่ยชื่อ แต่ผมรู้ว่าหมายถึงผม และนับแต่นั้นมา ผมตั้งปณิธานว่า ถ้าตัวเองเป็นอาจารย์ จะไม่ทำแบบนั้นกับนักเรียนเด็ดขาด (ตอนนั้นไม่ได้คิดหรอกว่าจะต้องมาเป็นอาจารย์จริง ๆ) แล้วผมก็หมดศรัทธาวิชานี้ ไปเรียนทันบ้างไม่ทันบ้างทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นตั้งใจเต็มที่ ผู้ใหญ่จะรู้บ้างไหมว่าทัศนคติ “ผิดไม่เป็น” กับคำพูดแค่นี้ทำให้คนคนหนึ่งเสียความตั้งใจจนหวุดหวิดจะติดเอฟ ศักดิ์ศรีแบบนี้มันคืออะไร ถ้าขอโทษสักคำเพราะตรวจสอบไม่ถี่ถ้วน อะไร ๆ อาจคลี่คลายไปในทางดีกว่านั้น ยอมรับเสียก็จบ และจะได้รับศรัทธามากขึ้นเสียอีก

กลับกัน เมื่ออยู่ญี่ปุ่น ตอนเรียนปริญญาเอกแรก ๆ (ก็ไม่ค่อยแรกหรอก ผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้ว) เมื่อเขียนบทความวิชาการฉบับแรกส่งอาจารย์ ส่งเท่าไรก็ไม่ผ่าน ถูกกากบาททั้งกระบิ หนักเข้าเราก็ท้อ นอนคิดหนักอยู่คืนหนึ่งว่าจะเลิกเรียน และกลับเมืองไทย มาจมปลักอะไรอยู่ที่นี่ ทุนก็ไม่มีแล้ว พอกันที...ไม่ต้องมีปริญญาเอกก็ทำมาหากินได้น่า วันพรุ่งขึ้น ตัดสินใจไปหาอาจารย์แล้วบอกว่า “สติปัญญาผมคงไปไม่ไหวจริง ๆ วันนี้จึงมาขอลาออกครับ” อาจารย์ตกใจไม่น้อย นิ่งไปพักหนึ่ง แล้วสิ่งที่อาจารย์พูดต่อมาคือ “ไม่ใช่หรอก คงเป็นเพราะผมสอนไม่ดีเอง”

เป็นคำตอบที่เหนือความคาดหมาย เพราะไม่เคยคิดว่าคนระดับศาสตราจารย์จะเอ่ยสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการแสดงความผิดพลาดของตนกับนักศึกษาที่ไม่ยังรู้ว่าจะมีอนาคตหรือไม่ ได้ฟังแค่นี้ผมพอจะจับความว่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ อาจารย์ยอมรับว่าตัวเองมีส่วนทำให้ลูกศิษย์ไปต่อไม่ได้ (แต่จริง ๆ แล้วสาเหตุไม่ได้อยู่ที่อาจารย์หรอก อยู่ที่ผมเองนี่แหละ) และสิ่งที่คิดได้ต่อมาคือ นอกจากไม่โทษนักศึกษาแล้ว อาจารย์ไม่ได้คิดจะทิ้งเรานี่นา ไม่ได้คิดว่าเราหัวไม่ดี...ปล่อยมัน...มันจะไปไหนก็ช่างมัน แต่แสดงท่าทีพร้อมที่จะปรับให้อะไร ๆ ในความรับผิดชอบของตนดีขึ้น

สติผมเริ่มมาละ คุยกันต่ออีกสองสามนาที ได้ข้อสรุปว่าการลาออกครั้งนี้ไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่สำเร็จต่อมาหลังจากนั้นราว 2 ปีคือผมเรียนจบ ผู้ใหญ่คงไม่รู้หรอกว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สะท้อนออกมาทางทัศนคติที่ยอมรับความบกพร่องของตนเองนั่นแหละ คือสิ่งที่ละลายความคิดแข็งกร้าวที่ผ่านการสะระตะมาทั้งคืนให้กลายเป็นน้ำเย็นที่ไหลเอื่อย ๆ ได้ในเวลา 15 นาที และแล้วเมื่อวันที่ตัวเองกลายเป็นผู้สอน ผมไม่อายที่จะใช้คำว่า “ขอโทษ” ทุกครั้งที่เข้าห้องสาย ยอมรับผิดทุกครั้งที่ลืมนำเอกสารไปให้นักศึกษา ไม่เคยรู้สึกว่าเมื่อขอโทษแล้วความเป็นอาจารย์ลดลง ซึ่งคงต้องยอมรับด้วยว่าความคิดแบบนี้คืออิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยตรง

เมื่ออยู่ญี่ปุ่นนานวันขึ้น จะรู้สึกได้ชัดเจนว่าคนไทยยังใช้คำขอโทษกันน้อยเมื่อเทียบกับคนญี่ปุ่น คนไทยขึ้นชื่อเรื่องความเอื้ออารี เรามักแสดงออกด้วยการเลี้ยงดูปูเสื่อ แต่นอกจากการแสดงออกทางวัตถุแล้ว สิ่งที่แสดงถึงใจที่พร้อมจะพัฒนาไปในทางดีโดยไม่ต้องใช้วัตถุคือ การเปิดใจน้อมรับเมื่อทำผิด อย่างน้อยก็แสดงออกมาทางคำพูด แล้วอะไร ๆ จะสงบลงอีกเยอะ ค่านิยมแบบนี้สร้างได้ สอนกันได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ให้รู้จักยอมรับผิดและกล่าวคำขอโทษต่อกันโดยไม่กลัวเสียหน้า โตขึ้นมาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ทะเลาะกันน้อยลง นี่คืออีกสิ่งหนึ่งของคนญี่ปุ่นเพิ่มเติมจากระเบียบวินัยที่อยากฝากไว้ให้คนไทยช่วยกันพิจารณา

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น