สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปการทำงาน ซึ่งจำกัดการทำงานล่วงเวลาโดยมีบทลงโทษในกรณีที่ฝ่าฝืน หากแต่กลับยกเว้น “พนักงานทักษะสูง” จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นหลุมพรางให้พนักงานที่มีประสบการณ์ถูกกันออกนอกการคุ้มครองของกฎหมาย
ร่างกฎหมายปฏิรูปการทำงานผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านบางส่วน นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะระบุว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแรงงานครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลก หรือจากกฎหมายมาตรฐานแรงงานที่บังคับใช้เมื่อปี 1947
รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของชาวญี่ปุ่นที่เน้นการทำงานเป็นเวลายาวนาน อันเป็นสาเหตุของการทำงานจนตาย หรือ “คะโรชิ” นอกจากนี้ยังเพื่อลดความไม่เท่าเทียมระหว่างพนักงานประจำและลูกจ้างชั่วคราว รวมทั้งทำให้รูปแบบการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น สร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของชาวญี่ปุ่น
ร่างกฎหมายจำกัดการทำงานล่วงเวลาทั้งปีจะไว้ที่ 720 ชั่วโมง และการทำงานล่วงเวลาต่อเดือนจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 100 ชั่วโมง และกำหนดว่าคนที่ทำงานแบบเดียวกันควรจะได้ค่าตอบแทนเท่ากัน เพื่อป้องกันการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงานที่ไม่ใช่พนักงานประจำ
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติที่เป็นที่ถกเถียงมากที่สุด คือ การยกเว้นพนักงานทักษะสูงหรือค่าตอบแทนสูงจากข้อจำกัดเรื่องชั่วโมงทำงาน โดยอ้างว่าค่าตอบแทนของพนักงานเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับผลงาน มากกว่าจำนวนชั่วโมงทำงาน
สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านจำนวนมากระบุว่าจะคัดค้านร่างกฎหมายนี้ โดยระบุว่า การยกเว้นพนักงานทักษะสูงจากข้อจำกัดเรื่องชั่วโมงทำงาน จะยิ่งทำให้มีผู้ที่เสี่ยงเสียชีวิตจากการทำงานมากเกินไปมากยิ่งขึ้น
เอมิโกะ เทระนิชิ ผู้ซึ่งสูญเสียสามีจากการทำงานหนักจนตาย ระบุว่ากฎหมายนี้เป็น “หลุมพราง” ที่จะทำให้คนทำงานที่มีประสบการณ์จำนวนมากถูกจัดให้เป็น “พนักงานทักษะสูง” ซึ่งถูกยกเว้นโดยกฎหมาย และเท่ากับว่าเปิดทางให้ทำงานจนตายได้ โดยจะไม่ได้รับค่าชดเชยเลย
ทางด้านสมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาลระบุว่า การจัดให้เป็น “พนักงานทักษะสูง” จะต้องเป็นการตกลงระหว่างลูกจ้างกับต้นสังกัด และกำหนดรายได้เบื้องต้นไว้ที่ 10.75 ล้านเยนต่อปี.