ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
คนไทยพูดถึงปัญหาประชากรบ่อยขึ้น เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ทีไรจะต้องหันไปดูญี่ปุ่นเสมอเพราะล้ำหน้าไทยไปแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องประชากรสูงวัย แต่รวมไปถึงเรื่องประชากรลดลงด้วย ญี่ปุ่นจึงกำลังเร่งออกมาตรการรับมือขนานใหญ่ ซึ่งมีบางเรื่องที่ไทยก็ควรจะมองไกลไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะเราคงหนีสภาพเดียวกับญี่ปุ่นไม่พ้น นอกจากสองเรื่องข้างต้นแล้ว ควรมองไปถึงประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตของคนต่างชาติเมื่อเรารับเข้ามาดังที่ญี่ปุ่นกำลังตระหนัก โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร
อันที่จริง ภาวะประชากรสูงวัยของไทยถูกคาดการณ์มาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว แต่ความพร้อมของไทยในการรับมือยังต่ำมาตลอดจนบัดนี้ ดีอยู่อย่างที่วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่และการเลี้ยงดูพ่อแม่ได้หยั่งรากลึกในสังคมมานาน จึงช่วยบรรเทาวิกฤตการเลี้ยงดูคนชราหรือปัญหาคนแก่ตายโดดเดี่ยวได้บ้าง ส่วนเรื่องประชากรลดลงนั้น ของไทยแม้ยังไม่เกิด แต่เริ่มมีการพูดถึงกันแล้ว และคาดว่าอีกไม่นานไทยจะเริ่มตามญี่ปุ่นไป ของญี่ปุ่นนั้นตามประกาศของรัฐบาลคือประชากรเริ่มลดตั้งแต่ปี 2559
เมื่อประชากรญี่ปุ่นลด ก็ต้องรีบหาคนมาทำงานแทน การกระตุ้นให้คนมีลูกมากขึ้นดูเหมือนไม่ค่อยได้ผล วิธีที่จะได้แรงงานเร็วที่สุดคือเปิดรับคนต่างชาติ อุปสรรคที่จะเกิดตามมาคือ “คุยกันไม่รู้เรื่อง” ญี่ปุ่นรู้ปัญหานี้และรู้ด้วยว่าภาษาญี่ปุ่นเรียนยากสำหรับคนค่อนโลก จึงเกิดความเคลื่อนไหวที่จะตรา “กฎหมายแม่บทว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาภาษาญี่ปุ่น” (ชื่อคร่าว ๆ ณ ตอนนี้) ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Nihon-go Kyōiku Suishin Kihon-hō (日本語教育推進基本法) แม้กฎหมายยังไม่ออก แต่คงจะมีออกมาแน่ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายประชากรกับแรงงาน
ในอเมริกามีการสอน “ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่ 2” เป็นกิจจะลักษณะเพราะมีคนต่างชาติต่างภาษาหลั่งไหลเข้าไปมาก การไม่รู้ภาษาทำให้ทำงานไม่ได้ ตามโรงเรียนมัธยมหลายแห่งในรัฐต่าง ๆ จึงมีห้องพิเศษสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ส่วนญี่ปุ่น แม้ไม่กว้างใหญ่เหมือนอเมริกา แต่จากนี้ไปการสอนภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ 2 อย่างเป็นระบบคือสิ่งจำเป็น เพราะจำนวนคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นตั้งแต่ระยะกลางขึ้นไปจะเพิ่มจากประมาณ 2.5 ล้านคนในขณะนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
จากการสำรวจโดยสำนักงานวัฒนธรรมของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2559 พบว่า สถาบันที่ให้การศึกษาภาษาญี่ปุ่น เช่น โรงเรียนสอนภาษา มหาวิทยาลัย สมาคม องค์กรเอกชนทั้งหลาย รวมแล้วมีมากกว่า 2,100 แห่ง และในบรรดาคนที่ได้ชื่อว่า “อาจารย์ภาษาญี่ปุ่น” (日本語教師;Nihon-go kyōshi) นั้น มีแค่ 41% ที่สอนในฐานะงานโดยได้รับค่าตอบแทน ส่วนที่เหลือคืออาสาสมัคร
เท่าที่ผ่านมา ดูเหมือนการสอนภาษาญี่ปุ่นจัดการโดยเอกชนเกือบทั้งหมดหรือไม่ก็มีวัตถุประะสงค์ทางธุรกิจ โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นทั่วกรุงโตเกียวทำกำไรได้มากมายจากนักเรียนต่างชาติ แหล่งที่กระจุกตัวกันมาก ได้แก่ ทากาดาโนบาบะ ชินจูกุ ชิบูยะ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนต่างชาติที่ไม่ใช่นักเรียนด้วย คนเหล่านี้บางทีไม่มีเงินไปเรียนที่โรงเรียนหรือไม่สะดวกจะไปเรียนตามเวลาของโรงเรียน จึงพึ่งพาการสอนโดยอาสาสมัคร แต่ในไม่ช้าจำนวนอาสาสมัครจะถึงขีดจำกัดเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การมีกฎหมายออกมากำหนดทิศทางอาจนำไปสู่งบประมาณที่แบ่งสรรมาช่วยด้านนี้โดยตรง และดึงคนรุ่นใหม่ ๆ มาเป็นผู้สอนได้มากขึ้น
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการในระยะนี้จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ คณะกรรมาธิการแบบคละพรรคในรัฐสภาหารือกัน และระบุว่าการให้การศึกษาภาษาญี่ปุ่นแก่คนต่างชาติเพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ถือเป็น “ประเด็นเร่งด่วน” และขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นในการจัดการ
หากขยายความอีกนิด คือ ขอให้ทางการจัดสรรโอกาสแก่คนต่างชาติที่ต้องการเรียนภาษาญี่ปุ่นให้ได้เรียนทุกคน เช่น เปิดสอนฟรีหรือสอนในราคาถูก พัฒนาสื่อการสอนที่เข้าถึงได้ง่าย สร้างบุคลากรที่จะสอนภาษาญี่ปุ่นออกมาให้มากขึ้นเพราะการเป็นคนญี่ปุ่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสอนภาษาญี่ปุ่นได้ ตลอดจนสร้างผู้สอนที่มีคุณภาพสูงในต่างประเทศด้วย โดยมุ่งเน้นให้การศึกษาแก่ลูก ๆ ของชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้พูดภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาแม่ แรงงานชาวต่างชาติ พนักงานฝึกหัด และผู้ลี้ภัย
การพูดไม่รู้เรื่องหรือมีความเข้าใจต่ำในภาษาของประเทศนั้นไม่ใช่ปัญหาเล็ก ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงและผมเคยพบเห็นโดยตรง คือ แรงงานชาวไทยคู่สามีภรรยามาตั้งรกรากอยู่ในญี่ปุ่น พ่อแม่มุ่งหวังมาทำงานเก็บเงินเป็นหลัก (วิธีการมานั้น ส่วนใหญ่ก็ดึง ๆ กันมาผ่านร้านอาหารไทย) ไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นจริงจัง ทำงานอยู่แต่ในครัวที่ร้านอาหาร พอมีลูกก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนญี่ปุ่น ลูกเก่งภาษาขึ้นทุกวัน แต่พ่อแม่มีความรู้ไม่พอจะคุยกับลูก จึงเกิดปัญหาด้านการสื่อสารในครอบครัว หรือรุนแรงถึงขนาดที่ว่าลูกดูถูกพื้นเพของพ่อแม่และไม่กล้าบอกใครว่าตนไม่ใช่คนญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นไม่อยากให้เกิดสภาพเช่นนั้น จึงเน้นว่าแนวคิดของ “กฎหมายแม่บทว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาภาษาญี่ปุ่น” คือ เพื่อยังประโยชน์แก่สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างเข้มแข็งโดยเคารพวัฒนธรรมอันหลากหลาย อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายออกมา เป็นไปได้ว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติ “ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาญี่ปุ่น” สำหรับผู้ที่เรียนมาโดยตรง แต่ในทางกลับกันอาจมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ได้เรียนด้านการสอนแต่สอนหนังสือดีกว่าคนที่เรียนมา จึงมีคนเสนอว่าให้กำหนดสภาพ “บุคลากรด้านการสอนภาษาญี่ปุ่นทั่วไป” (ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ) ด้วย เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรด้านการสอน
ใครที่คิดว่าการไปอยู่ประเทศไหนนาน ๆ แล้วจะพูดภาษาของประเทศนั้นได้เองโดยไม่ต้องเรียน ขอบอกเลยว่าไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป และส่วนใหญ่เป็นความคิดที่คลาดเคลื่อน คนที่เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมจนพูดได้ดีสื่อสารได้แม่นยำมีอยู่จริง แต่คำว่า “พูดได้” มีหลายระดับ ขนาดคนที่ตั้งใจไปเรียนจริงจังหลายปียังพูดผิดพูดถูก แล้วคนที่อาศัยครูพักลักจำจากสิ่งแวดล้อมจะสื่อสารได้ระดับไหนลองคิดดู ดังนั้นการมีกฎหมายชี้นำย่อมเอื้อให้วางระบบการเรียนการสอนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อพูดถึงแรงงานต่างชาติ คนไทยมักนึกถึงผู้ใช้แรงงานแบกหาม แต่ที่ญี่ปุ่น คำว่าแรงงานครอบคลุมภาพกว้างกว่านั้น โดยหมายรวมถึงพนักงานที่มีการศึกษาสูงด้วย หรือแรงงานที่มีทักษะสูงนั่นเอง พอมองเช่นนี้ การสอนให้คุยกันรู้เรื่องในหัวข้อยาก ๆ ขั้นสูงย่อมเกิดผลทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งความเคลื่อนไหวทางกฎหมายชี้ว่า ญี่ปุ่นเริ่มเตรียมทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นเพื่อรองรับปัญหาแรงงานอย่างจริงในทุกภาคเศรษฐกิจแล้ว
สังคมไทยอาจจะยังไม่ชินกับการมีคนต่างชาติรับโทรศัพท์และอธิบายวิธีการทำโน่นทำนี่ละเอียดยิบ ในญี่ปุ่นตอนนี้พนักงานต่างชาติไม่ได้อยู่แค่ในร้านสะดวกซื้อ แต่อยู่ในภาคบริการด้วย หรือเป็นแรงงานฝีมือ เช่น ประจำอยู่ที่คอลเซ็นเตอร์คอยอธิบายด้านเทคนิคให้แก่ผู้ที่โทร.เข้าไปสอบถาม แนวโน้มแบบนี้จะมีมากขึ้น และต่อไปไทยก็จะเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องเลิกมองว่าแรงงานต่างชาติในไทยคือคนในภาคประมงหรืออุตสาหกรรมใช้แรงงานหนักเพราะสภาพเช่นนี้กำลังจะเปลี่ยนไป คนต่างชาติจะเข้าสู่ภาคบริการและภาคอื่นของไทยมากขึ้น ขณะที่ไทยก็จะประสบภาวะประชากรลดและในเมื่อเราได้เห็นญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างแล้ว จึงควรเตรียมพร้อมให้ความรู้ด้านการสื่อสารด้วยภาษาไทยแก่แรงงานใหม่ ๆ แบบที่ญี่ปุ่นทำเช่นกัน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com