รัฐบาลญี่ปุ่นใช้พลังงานถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น หลังเกิดอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ แต่สถาบันการเงินหลายแห่งมีจุดยืนตรงกันข้าม ไม่สนับสนุนเงินกู้โรงไฟฟ้าถ่านหิน
กระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผย “ร่างแผนแม่แบบด้านพลังงาน” ระบุว่า ในปี 2030 การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะคิดเป็นสัดส่วนราว 26% เพิ่มขึ้นอย่างมากจากแผนแม่แบบเดิมที่กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไว้ที่ 10% โดยในรอบสองปีที่ผ่านมา ในญี่ปุ่นมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินถึง 8 โรง และมีแผนจะสร้างเพิ่มเป็น 36 โรงในอีกสิบปีข้างหน้า
สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนทิศทางการใช้พลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้า มาจากอุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ทำให้สาธารณชนก็ไม่ไว้วางใจในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างมาก รัฐบาลต้องสั่งระงับการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย และจนถึงขณะนี้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียง 7 โรงที่ได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินงานได้
เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะยังทำให้ “ร่างแผนแม่แบบด้านพลังงาน” ในส่วนที่ระบุว่าจะเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากปัจจุบัน 29% เป็น 50% ในปี 2030 ต้องถูกยกเลิกไป
หลังเกิดเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่นได้พึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า แต่ราคาน้ำมันกำลังปรับตัวสูงขึ้นทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้แหล่งพลังงานอื่น เช่น ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะทดแทนโรงไฟฟ้าแบบเดิมได้
อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินในญี่ปุ่นกลับไม่สนับสนุนแนวทางของรัฐบาล ผู้บริหารของบริษัทประกัน NISSAY ระบุว่าจะพิจารณางดปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทประกันได อิชิ ที่ระบุว่าจะไม่ปล่อยเงินกู่ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ตอบรับท่าทีของสถาบันการเงินของญี่ปุ่นที่จะไม่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมระบุว่า สถาบันการเงินในหลายประเทศ เช่น กลุ่ม HSBC ของอังกฤษ, ธนาคาร SOCIETE GENERALE ของฝรั่งเศส และธนาคาร Deutsche Bank ของเยอรมนี ก็ได้ประกาศไม่ให้เงินกู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นเดียวกัน.