xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อพนักงานประจำญี่ปุ่นเริ่มรับ “งานนอก” ได้

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ทศวรรษนี้ญี่ปุ่นกำลังผ่อนคลายความตึงของหลายสิ่งลง นอกจากเรื่องใกล้ตัวคนต่างชาติ อย่างการอนุญาตให้คนไทยเข้าญี่ปุ่นได้ในระยะสั้นโดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า ไปจนถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบให้คนต่างชาติทำงานหรือขอสถานภาพผู้พำนักถาวรได้ง่ายขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เกี่ยวกับคนญี่ปุ่นโดยตรง คือ การสร้างบรรยากาศให้พนักงานประจำทำอาชีพเสริมได้โดยไม่ขัดแย้งกับบริษัทของตน

เท่าที่ผ่านมาบริษัทญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้พนักงานทำอาชีพเสริม สำหรับของไทยโดยหลักการแล้วคล้าย ๆ กัน แต่เราก็รู้ว่ามีคนทำงานเสริมมากมาย การขายตรงโดยมีงานประจำอยู่แล้วนั่นก็เข้าข่าย หรือตัวอย่างใกล้ ๆ ที่ผมเจอคือพี่มอเตอร์ไซค์วิน แกบอกว่าเป็นพนักงานบริษัท แต่ตกเย็นเลิกงานกลับบ้านก็มาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หารายได้เสริมช่วยครอบครัว แม้ทางบริษัทต้นสังกัดคงไม่ยินดี แต่สายตาคนนอกมองแล้วรู้สึกว่าขยันน่าชื่นชม คนที่ทำแบบนี้มีไม่น้อยทั้งญี่ปุ่นและไทย ทั้งแบบเปิดเผยและลักลอบ ต่างกันตรงที่ว่ากรณีคนญี่ปุ่นคงเข้มงวดกว่า หากแอบทำและความแตกขึ้นมาอาจถูกปลดจากบริษัท แต่จากนี้ไปคนญี่ปุ่นไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ อีกแล้ว เพราะปีนี้คือ “ปีเริ่มต้นอาชีพเสริม” และนี่คือเรื่องที่จะนำมาขยายความ โดยไล่เลียงจากภูมิหลังจนถึงแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น

วัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นเป็นที่พูดถึงทั่วโลกมาหลายทศวรรษ เช่น การควบคุมคุณภาพ การอบรมพนักงาน การจ้างงานตลอดชีวิต ตลอดจนไคเซ็น (kaizen; การพัฒนาโดยตลอดทุกขั้นตอน) ที่โตโยต้าเป็นผู้ทำให้แพร่หลายจนตำราธุรกิจทั่วโลกนำไปบรรจุไว้ และหนึ่งในสิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นยึดถือมานานคือวัฒนธรรมการเลี้ยงคนด้วยการลงทุนในบุคลากรอย่างจริงจัง ปลูกฝังให้ภักดีต่อบริษัท อันเป็นที่มาของระบบจ้างงานตลอดชีพ

ในกระบวนการลงทุน ระบบญี่ปุ่นใส่ระเบียบวินัยลงไปในตัวคนระหว่างการสอนงานด้วยการออกกฎหรือคู่มือการทำงานอย่างละเอียด จนเป็นที่รู้กันว่าบริษัทญี่ปุ่นเข้มงวดเรื่องขั้นตอน มีข้อปฏิบัติมากมาย ถ้าใครไม่ชินก็จะคิดว่าหยุมหยิม น่าเบื่อ เคร่งครัด อึดอัด กดดัน แต่นั่นเป็นวิถีที่คนญี่ปุ่น ‘เชื่อ’ มานานปีว่าจะทำให้บริษัทอยู่รอด ซึ่งมีส่วนถูกไม่น้อยดังที่เห็นได้จากความสำเร็จของบริษัทญี่ปุ่นใหญ่ ๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ก้าวถึงระดับโลก ล้วนแต่วางระบบระเบียบให้แก่พนักงานอย่างถี่ถ้วน สั่งตรวจแล้วตรวจอีก และจดบันทึกแทบจะทุกขั้นตอน

บริษัทญี่ปุ่นมองว่าเมื่อลงทุนกับคนในด้านเวลาและงบประมาณแล้ว ควรจะได้ประโยชน์จากคนคนนั้นเต็มที่ และในทางปฏิบัติได้นำไปสู่การทำงานหนักไม่ว่าจะด้วยบรรยากาศหรือด้วยนโยบายก็ตาม ดังที่คนไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นมักพูดว่า “ใช้คุ้ม” และเมื่อบริษัทได้คนที่คิดว่ามีคุณภาพ ย่อมไม่อยากให้คนที่ตนเลี้ยงไปทำงานที่อื่น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่บริษัทออกกฎห้ามไม่ให้พนักงานทำงานเสริม ซึ่งเป็นความเข้มงวดข้อใหญ่นอกเหนือจากระเบียบปฏิบัติทั่วไปในชีวิตประจำวันที่บริษัท ส่วนเหตุผลอื่น ได้แก่ ป้องกันความลับรั่วไหล ป้องกันไม่ให้บริษัทถูกเบียดบังเวลา หลีกเลี่ยงการลดทอนความพร้อมของร่างกายพนักงานและประสิทธิภาพการทำงานอันพึงได้รับ

บริษัทญี่ปุ่นที่ยอมให้พนักงานทำงานเสริมก็มีอยู่บ้าง แต่น้อยและเป็นกรณีพิเศษ ผลการสำรวจทั่วประเทศชี้ว่า มีบริษัทที่ไม่อนุญาต 77.2% (Recruit Career 2560) ส่วนข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งของทางการญี่ปุ่นชี้ว่าสูงกว่านั้น คือ ไม่อนุญาต 85.3% และอีก 14.7% ไม่สนับสนุนแต่ยอมรับ (สำนักงานบรรษัทขนาดกลางและขนาดย่อม 2557) พูดง่าย ๆ คือ บริษัทญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดไม่เปิดโอกาสให้พนักงานทำอาชีพเสริม

อีกด้านหนึ่ง ขณะที่การทำงานหามรุ่งหามค่ำของคนญี่ปุ่นทำให้มีคนเสียชีวิตหลายราย รัฐบาลจึงกำลังพยายามปฏิรูปการทำงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการพยายามจำกัดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ลดชั่วโมงการทำงานลงแต่ให้ทำอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ชี้นำให้บริษัทสร้างความยืดหยุ่นในรูปแบบการทำงาน อันหมายถึงการอนุญาตให้พนักงานทำงานเสริมได้ด้วย ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งในนโยบายที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะนำมาใช้

ส่วนทางด้านพนักงาน ผลการสำรวจโดยกระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่นชี้ว่า จำนวนผู้ที่อยากทำงานเสริมมีมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการทำงานที่ตัวเองอยากทำหรือชอบ (หมายความว่า งานประจำที่ทำอยู่นั้น มีแนวโน้มเป็นงานที่เลือกไม่ได้ ถูกสั่งให้ทำ จำเจ และไม่ชอบทำ แต่ต้องทำ) เพิ่มทักษะให้ตัวเอง และหารายได้เสริม ตัวเลขเป็นช่วง ๆ บ่งชี้แนวโน้มของผู้ที่อยากมีอาชีพเสริมได้ชัดเจน

ปี 2535 - 2.902 ล้านคน
ปี 2540 - 3.25 ล้านคน
ปี 2550 - 3.457ล้านคน
ปี 2557 - 3.678ล้านคน

ในความเป็นจริง คนญี่ปุ่นที่ทำอาชีพเสริมก็มี มีทั้งแบบที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษและแอบทำ เช่น พนักงานหญิงในบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานเป็นนางแบบ บริษัทให้เหตุผลว่า “(พนักงานผู้นี้) เป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อบริษัท ทางบริษัทไม่ต้องการให้พะวงเรื่องการทำความฝันให้เป็นจริงในฐานะนางแบบขณะที่ทำงานประจำอยู่ด้วย” ถ้าอนุญาตแบบนั้นก็แล้วไป แต่กรณีตกกระไดพลอยโจนก็มี เช่น พนักงานคนหนึ่งทำงานด้าน IT ในบริษัทใหญ่ มีความรู้เฉพาะทาง เก่งกล้าสามารถ วันดีคืนดีมีเพื่อนมาขอให้ช่วยทำโฮมเพจ แรก ๆ รับปากทำให้ในฐานะอาสาสมัคร แต่ของแบบนี้บางทีมีงานงอกต่อเนื่อง ด้วยสำนึกด้านความรับผิดชอบ จึงไม่อยากทิ้งไปกลางคัน ทำไปทำมาจากงานมดกลายเป็นงานช้าง ทางเพื่อนก็เกรงใจ จ่ายเงินให้หลายแสนเยน ผลสุดท้ายกลายเป็นรายได้พิเศษ เข้าข่ายงานเสริม แต่อาจกลายเป็นทุกขลาภ เพราะทราบอยู่แก่ใจว่าบริษัทไม่อนุญาตให้ทำ ถ้าความแตกขึ้นมา ย่อมมีปัญหากับบริษัท

จากสภาพเหล่านี้ จะเห็นได้ว่ามีอุปสงค์ และมีคนแอบทำ อีกทั้งเคยเกิดกรณีพนักงานฟ้องร้องบริษัทที่ไม่อนุญาตให้ทำงานเสริมโดยไม่ระบุเหตุผล ประกอบกับเกิดความไม่แน่นอนของบริษัทซึ่งในยุคนี้ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงพนักงานได้ตลอดชีวิตเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงบอกว่าเปิดทางให้เขามีอาชีพเสริมเป็นกิจจะลักษณะเสียเถอะ มันน่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย ก็คล้าย ๆ กับการนำเรื่องที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาประกาศบนดินให้รู้ชัดกันไปเลยว่า “อนุญาต” (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ) แต่เรื่องแบบนี้ อยู่ ๆ จะบังคับให้เอกชนทำก็ไม่ได้ รัฐบาลจึงประกาศออกมาในรูปแบบของการชี้นำว่าควรให้เสรีภาพ โดยอยู่ภายใต้วิจารณญาณของบริษัทต้นสังกัด พร้อมทั้งแจงข้อดีต่อบริษัทไว้ว่า

1) พนักงานจะได้รับความรู้และทักษะที่หาไม่ได้ในบริษัทเดิม ถือเป็นการพัฒนาบุคลากร ลดต้นทุนการฝึกอบรมพนักงานให้แก่บริษัทเดิมได้ด้วย
2) ช่วยส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเองและความมั่นใจให้แก่พนักงาน
3) จะมีพนักงานเก่ง ๆ เข้ามาช่วยงาน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
4) พนักงานจะนำความรู้และสายสัมพันธ์ที่ได้จากที่อื่นมาใช้ประโยชน์ในต้นสังกัด ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
* แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องบริหารจัดการเรื่องเวลาและการรั่วไหลของข้อมูลทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ


เรื่องนี้พูดกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วกระทั่งรัฐบาลประกาศแนวทาง “ต้นแบบ” ว่าด้วยกฎระเบียบภายในบริษัทเมื่อเดือนมกราคม แล้วหลายบริษัทก็เริ่มขานรับ บริษัทใหญ่อย่างซอฟต์แบงก์อนุญาตให้พนักงานมีอาชีพเสริมได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมปีนี้ อีกประมาณ 210 บริษัทก็อนุญาตเช่นกัน

การระบุในกฎระเบียบของบริษัทเป็นกิจจะลักษณะว่า “อนุญาต” ก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน พนักงานจะได้ยื่นขออนุญาตอย่างตรงไปตรงมา บริษัทจะสอดส่องดูแลได้ง่ายกว่าเดิมด้วย เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดีและระบุเงื่อนไขชัดเจนว่างานเสริมแบบไหนทำได้ทำไม่ได้ โดยภาพรวมแล้ว ความเคลื่อนไหวแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าญี่ปุ่นยุคนี้คือญี่ปุ่นปรับตัว เพราะความตึงในแบบเดิมไม่อาจรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ต่อไป หลายสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยเข้มงวด ตอนนี้เริ่มผ่อนคลาย และเชื่อได้ว่าในอนาคตจะมีอีกหลายอย่างที่เคร่งครัดน้อยลงตามมา

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น