xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำรา "วิชาศีลธรรม" เด็กญี่ปุ่นเรียนอะไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิชาศีลธรรมได้รับการยกสถานะเป็นวิชาหลัก และเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียนในญี่ปุ่น เพื่อให้เยาวชนหันกลับมาพัฒนาหัวใจของตัวเอง และสอนเด็ก ๆ ให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้

ตั้งแต่เปิดเทอมใหม่ประจำปีการศึกษา 2561 ในเดือนเมษายนนี้ "วิชาศีลธรรม" ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียนการสอนกัน 1 ครั้งต่อสัปดาห์จะถูกปรับให้เป็น “วิชาหลัก” โดยการจัดให้วิชาใดวิชาหนึ่งเป็นวิชาหลักนั้นมีเงื่อนไขบางประการ ได้แก่ จะต้องมีตำราเรียนประจำวิชา ต้องมีการให้เกรด และจะต้องมีอาจารย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นผู้สอน

การยกสถานะวิชาศีลธรรมครั้งนี้จะทำให้มีการนำตำราเรียนฉบับพิเศษมาใช้ จะมีการให้คะแนนเด็กนักเรียนตามผลการเรียน แม้ว่าบรรดาอาจารย์จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่ก็จะมีการดำเนินขั้นตอนเพื่อให้บรรดาอาจารย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญในส่วนที่จำเป็น จะมีการจัดการฝึกอบรมพิเศษให้แก่อาจารย์คนหนึ่งที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้อาจารย์คนอื่น ๆ ได้

ผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NHK ว่าที่ผ่านมาโรงเรียนประถมก็มีการเรียนการสอนวิชาศีลธรรมอยู่แล้ว แต่กิจกรรมของโรงเรียนและวิชาอื่น ๆ มักได้รับความสำคัญมากกว่า แต่นับจากนี้จะต้องมีการสอนอย่างเป็นระบบ เนื่องจากบรรดาอาจารย์ต้องตัดเกรดให้คะแนน

การสอนวิชาศีลธรรมมักได้รับความสำคัญในช่วงที่สังคมญี่ปุ่นเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีด้วยก๊าซพิษซารินโดยกลุ่มลัทธิโอมชินริเกียว หรือการที่เด็กมัธยมต้นแทงเด็กประถม รวมทั้งการกลั่นแกล้งในโรงเรียนญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้น จนมีเด็กหลายคนเสียชีวิตจากการถูกกลั่นแกล้ง

วิชาศีลธรรมที่สอนไม่ใช่เรื่องของศาสนา เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าศาสนาเป็นความเชื่อโดยเสรีของแต่ละคน เอกสารประกอบการสอนจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลต่าง ๆ ทั้งชายและหญิง เช่น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล แม่ชีเทเรซา และชินยะ ยะมะนะกะ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ บุคคลเหล่านี้จะสามารถเป็นต้นแบบของเด็ก ๆ ได้ รวมทั้งยังสามารถดึงความสนใจของพวกเขาและทำให้เด็ก ๆ มองย้อนกลับไปยังชีวิตของตนเอง

ตำราเรียนวิชานี้ยังจะบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในชั้นเรียน และวิธีปฏิบัติต่อเด็กต่างชาติที่ย้ายเข้ามาใหม่ในชั้นเรียนด้วย

ในตำราจะกำหนด 22 ประเด็นหลักในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม เช่น ความรักชาติ การสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีของชาติและการพัฒนาประเทศ ความเอื้ออาทร การเคารพต่อชีวิต และการเรียนรู้ที่จะสามารถอดทนอดกลั้นได้ โดยจะแบ่งการประเมินคุณค่าทางจิตใจของตัวเองออกเป็นห้าระดับขั้น

วิชาศีลธรรมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้มุ่งเน้นให้เด็กญี่ปุ่นมี “หลักยึดทางใจ” และรับมือปัญหาต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้ง,สังคมผู้สูงอายุ, การกีดกันชาวต่างชาติ, การฆ่าตัวตาย และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ เป็นต้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น