ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ช่วงเดือนสองเดือนนี้ วันดีคืนดีตื่นขึ้นมาก็เจอน้ำปลาหวานเต็มหน้าเฟซบุ๊ก และในวันดีกับคืนที่คงดี๊ดีก็ตื่นขึ้นมาเจอ “โล้สำเภา” เต็มหน้าเฟซบุ๊กอีกเช่นกัน ใครจะว่ายังไงก็ช่าง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าละครบุพเพสันนิวาสสร้างสีสันและความคึกคักเชิงสร้างสรรค์ให้แก่สังคมไทยในระยะนี้จริง ๆ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ วันนี้จึงมาชวนมองเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง แต่เป็นประวัติศาสตร์ฝั่งญี่ปุ่น มาดูกันว่าบรรยากาศทั่วไปของญี่ปุ่นยุคพี่หมื่นกับการะเกดในด้านการเมืองและ ‘การบ้าน’ นั้นเป็นอย่างไร
เริ่มจากการเมืองก่อน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงพระชนมายุของสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.2174 – 2231) ตามเนื้อเรื่องในละคร อยู่ในสมัยเอะโดะของญี่ปุ่น คือ ระหว่าง พ.ศ. 2143 ถึง 2411 ซึ่งรวมระยะเวลาได้ราว 270 ปี เอะโดะเริ่มต้นและสิ้นสุดหลังอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310) ในภาพรวมถือได้ว่ามีสิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ อิทธิพลชาติตะวันตกส่งผลกระทบต่อนโยบายการบริหารภายใน ส่วนรายละเอียดก็แน่นอนว่าแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์ครองแผ่นดินอยุธยานั้น ญี่ปุ่นปิดประเทศ
ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อิทธิพลชาติของตะวันตกแผ่ไปถึงญี่ปุ่นแล้วทั้งด้านการค้าและการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ชนชั้นปกครองหวาดระแวงคนตะวันตกด้วย ญี่ปุ่นปราบปรามคนนับถือศาสนาคริสต์อย่างรุนแรงและถึงขั้นห้ามนับถือทั่วประเทศ ผู้ที่ไม่ยอมเลิกนับถือจะถูกฆ่าหรือถูกเนรเทศ ส่วนความเกี่ยวพันอันโดดเด่นในประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นช่วงนั้นเกิดขึ้นโดยผ่านออกญาเสนาภิมุข หรือ ยะมะดะ นะงะมะซะ ซึ่งมาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม และเชื่อว่าถูกลอบสังหารด้วยยาพิษเมื่อ พ.ศ. 2173 อันเป็นช่วงใกล้เคียงกับปีพระราชภพของสมเด็จพระนารายณ์
ข้อสังเกตเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นไม่ว่าจะอ่านหนังสือเล่มไหน ๆ คือ เมื่อเอ่ยถึงการเมืองการปกครอง “โชกุน” เป็นบุคคลที่ถูกพูดถึงมากกว่าพระจักรพรรดิ โชกุนคือหัวหน้านักรบที่กุมอำนาจเข้มแข็งที่สุดและบริหารจัดการประเทศ โดยหลักการแล้วมีคนเดียวในแต่ละช่วงของการปกครอง ส่วนใครจะถูกชักใย จะอ่อนแอ หรือจะเข้มแข็ง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตระกูลโชกุนที่เด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นคือโทะกุงะวะ ในสมัยพระนารายณ์ โชกุนที่บริหารประเทศคือคนตระกูลนี้ รุ่นที่ 4 ได้แก่ โทะกุงะวะ อิเอะสึนะ และรุ่นที่ 5 ได้แก่ โทะกุงะวะ สึนะโยะชิ
ญี่ปุ่นปิดประเทศในช่วงที่ตระกูลโทะกุงะวะเรืองอำนาจ โดยเริ่มปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2176 จนกระทั่งถูกอเมริกาบีบให้เปิดเมื่อ พ.ศ. 2396 รวมเวลาราว 220 ปี คำว่า “ปิดประเทศ” หรือ “ซะโกะกุ” (鎖国;sakoku) เป็นคำสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่การเมืองนิ่ง และเป็นช่วงที่วัฒนธรรมเอะโดะเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน นโยบายปิดประเทศถูกนำมาใช้โดยโชกุนตระกูลโทะกุงะวะเนื่องจากเกรงว่าอิทธิพลของต่างชาติจะทำให้การกุมอำนาจของตนสั่นคลอนได้
การปิดประเทศของญี่ปุ่น หมายถึง การไม่ติดต่อกับต่างชาติ ในทางปฏิบัติไม่ใช่การตัดขาดความสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง แต่อนุโลมในระดับที่จำกัดมาก กล่าวคือช่วงนั้นญี่ปุ่นไม่มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่นนอกจากฮอลันดากับจีน โดยกระทำการผ่านเกาะเทียมในจังหวัดนะงะซะกิที่มีชื่อว่า “เดะจิมะ” ซึ่งปัจจุบันแนวน้ำทะเลที่คั่นแผ่นดินนะงะซะกิกับเกาะแห่งนี้ถูกถมเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันแล้ว
เดิมฝรั่งที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นมีหลายชาติเช่นเดียวกับที่อยุธยา ทว่านับตั้งแต่ญี่ปุ่นปิดประเทศ ฝรั่งทั้งหลายก็หมดโอกาสจะมาเดินเพ่นพ่านบนแผ่นดินญี่ปุ่น เรื่องการได้รับตำแหน่งในราชสำนักเหมือนของไทยยิ่งไม่ต้องพูดถึง ยกเว้นฝรั่งชาติเดียวที่ได้รับอนุญาตและกลายเป็นชาติมีอิทธิพลสูงสุดต่อสังคมในด้านวิทยาความรู้ คือ ฮอลันดา ถึงขนาดมีคำว่า “รัง-งะกุ” (蘭学;Ran-gaku) ซึ่งแปลว่า “ฮอลันดาศึกษา” อันหมายถึงความรู้ที่ญี่ปุ่นได้รับการถ่ายทอดจากฮอลันดา ครอบคลุมถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์
ส่วนทางด้าน ‘การบ้าน’ นั้น กล่าวได้ว่า ถ้าเป็นคนในชนชั้นนักรบ จะถูกอิทธิพลของการเมืองเข้ามาแทรกแซง กล่าวคือ การแต่งงานในสมัยเอะโดะจัดขึ้นเพื่อความรุ่งเรืองของตระกูล “การแต่งงาน” ≠ “ความรัก” พวกนักรบจึงเป็นชนชั้นที่มีเกียรติ แต่ไม่มีเสรีภาพด้านความรัก ส่วนใหญ่แล้วเป็นการแต่งงานโดยคำสั่ง เรียกว่า “โกะเร-เค็งกง” (号令結婚;gōrei kekkon) อันเกิดจากคำบัญชาของเจ้านายกับพ่อแม่ที่ร่วมกันตกลง คู่แต่งงานต่างฝ่ายต่างก็ได้อ่านใบแสดงสรรพคุณของกันและกัน แต่โอกาสสร้างความสนิทสนมไม่ค่อยมีหรือไม่มีเลย หากเกิดในตระกูลสูงส่ง แม้แต่หน้าตาของอีกฝ่ายก็ไม่เคยได้เห็นจนกว่าจะถึงวันแต่งงาน และการแต่งงานต้องได้รับการอนุมัติจากทางการด้วย สืบเนื่องจากระบบที่รัฐบาลโชกุนกำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมพลังอำนาจของพวกนักรบ
ส่วนชาวบ้านร้านตลาดโดยทั่วไป แม้มีการคลุมถุงชนเช่นกัน แต่มีอิสระมากกว่าชนชั้นนักรบ ในหมู่บ้านจะมีการสร้าง “เรือนพักหนุ่มสาว” หรือ “เรือนเด็กสาว” ซึ่งเป็นสถานที่ให้หนุ่มสาวได้มาพบปะกัน หรือไม่ก็พบกันในงานเทศกาลต่าง ๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการคบหาดูใจ ต่อมาสักพัก จะมี ‘การเลื้อย’ ขึ้นบ้านยามวิกาลเพื่อไปโล้สำเภากัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดในสมัยนั้น ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โยะไบ” (夜這い; yobai) แปลตามตัวอักษรว่า “การเลื้อย (หรือคลาน) ตอนกลางคืน” กล่าวคือ ชายหนุ่มที่ยังไม่แต่งงานจะแอบย่องเงียบไปที่บ้านของหญิงที่ยังไม่แต่งงาน คลานเข้าไปในห้องของผู้หญิงเพื่อบอกจุดประสงค์ ถ้าฝ่ายหญิงยินยอม ก็เป็นอันว่าจะได้โล้กันจนถึงฝั่งนั้นแล พอตอนเช้า ฝ่ายชายก็จากไป ทางครอบครัวฝ่ายหญิงก็อาจจะรู้ แต่ทำไม่รู้ไม่ชี้ เพราะนี่คือวิธีหาคู่อันเป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่สมัยเมจิ (ช่วงเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) นั่นแหละ การเลื้อย (อย่างเป็นกิจจะลักษณะ) ถึงได้ซาลงและเลิกไปในที่สุด
สำหรับตระกูลนักรบหรือพ่อค้าผู้มั่งคั่ง เนื่องจากการแต่งงานเกิดขึ้นโดยการตกลงของผู้ใหญ่ ย่อมมีเด็กสาวที่ตะขิดตะขวงใจต่อการเข้าเรือนหอ และแน่นอนว่าไม่มีประสบการณ์ ‘ทางนั้น’ แต่จะกลัวไปไย เพราะบริการ “สอนโล้สำเภา” ก็มีในสมัยนั้น ผู้เสนอบริการนี้เป็นหญิงมากมีประสบการณ์ และทำเป็นอาชีพ เรียกว่า “สตรีผู้ดูแลอยู่ข้างกาย” (介添女;kaizoe-onna) ซึ่งสอนทุกท่วงท่า เอ๊ย...ทุกองค์ประกอบ ว่าด้วยเรือนร่างสตรีและชี้จุดรวมทั้งวิธียอมให้สิ่งแปลกปลอมเข้าร่าง ขั้นแอดวานซ์หน่อยก็ถึงขนาดเป็นคู่ซ้อมยอมให้เจ้าบ่าวฝึกโล้ด้วย นัยว่าจะได้เห็นกันจะจะ เข้าใจอย่างเจาะ ๆ นอกจากตัวบุคคลแล้ว ในสมัยเอะโดะก็มีหนังสือคู่มือการโล้สำเภาพร้อมภาพประกอบครบครันอันมีชื่อว่า “ถุงเรื่องลับแห่งการสมรส” (婚礼秘事袋; konrei hiji bukuro) .......... เว้นว่างไว้เพื่อให้นึกภาพกันเอาเอง แต่นี่แน่ ๆ คือหนังสือที่ว่านี้มีจริง และที่เล่ามาทั้งหมดนี้มีอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
ปิดท้ายกันด้วยสถิติเล็กน้อย ประวัติศาสตร์เอะโดะบันทึกไว้ว่าอายุเฉลี่ยของคนแต่งงานสมัยนั้นคือ ช่วงต้นสมัยอายุเกือบ 20 ปี และช่วงปลายสมัย สามี 27.4 ปี ส่วนภรรยา 22.4 ปี และข้อมูลที่น่าสนใจคือ อัตราการหย่าร้างในครอบครัวนักรบมีสูง 10% ขณะเดียวกันอัตราการแต่งงานใหม่ก็สูงถึง 50% ซึ่งมากกว่าในปัจจุบันถึง 2 เท่า
ขอปิดฉากเกร็ดบ้านเกร็ดเมืองของญี่ปุ่นไว้แค่นี้ สิ่งหนึ่งอันพึงกล่าวไว้คือ จะเห็นได้ว่าด้วยความที่คนญี่ปุ่นช่างจด เรื่องใหญ่อย่างการเมืองก็แน่นอนว่ามีบันทึกมากมาย ส่วนเรื่องเล็ก ๆ อย่างการบ้านก็มีให้คนรุ่นหลังได้อ่านได้ศึกษา เราถึงได้รู้ชีวิตความเป็นอยู่จริง ๆ ของคนยุคนั้น หากเทียบกับคนจีนหรือญี่ปุ่น ด้วยความที่คนไทยไม่ขยันจดเท่า องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของเราจึงไม่แจ่มชัดนัก การค้นพบประเด็นใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่บ่อย หรือพอพบก็หาข้อสรุปได้ยากเพราะหลักฐานไม่พอ หากเราจดไว้เยอะ นอกจากการเรือนด้านอาหารกินแล้ว เราก็อาจจะได้รู้ซึ้งถึงการบ้านตอนตะเกียงดับ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com