xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าราชการญี่ปุ่น” อยู่กันอย่างไร? เงินเดือนเท่าไหร่?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เดือนเมษายนนี้ ลูกศิษย์หญิงคนหนึ่งที่จบเอกไทยจะเข้ารับข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น ระหว่างเรียนภายใต้การดูแลของผมนั้น ลูกศิษย์คนนี้อยู่ในระดับที่ครูจะต้อง “เคี่ยวเข็ญ” มาก ไม่ใช่เพราะหัวไม่ดี แต่ขาดแรงจูงใจในการเรียน พอค่อย ๆ แนะนำถูกจุดก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าคนแนะต้องใช้ความอดทนนำตลอดระยะเวลาสี่ปีก็ตาม วันหนึ่งเธอมาบอกว่า “หนูสอบเข้ากระทรวงศึกษาธิการได้ค่ะ” ผมก็แสดงความยินดีพร้อมกับบอกยิ้ม ๆ ว่า “ต่อจากนี้ไป เธอก็จะกลายเป็นเจ้านายของครูแล้วนะ”

จริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่า ในฐานะอาจารย์ ยินดีกับลูกศิษย์คนนี้มาก...มากกว่าที่พูดไปสั้น ๆ แค่นั้น เพราะตอนเรียนก็ลุ้นกันหนักหนาว่าจะจบไม่จบ ในที่สุดก็จบจนได้และมีงานทำ อีกทั้งการสอบบรรจุเป็นข้าราชการของญี่ปุ่นนั้นก็ยากมาก จึงยินดีเป็นสองเท่า ด้วยความปีติครั้งนี้ประกอบกับเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ จึงขอเล่าโครงสร้างคร่าว ๆ และสภาพทั่วไปของข้าราชการญี่ปุ่นสู่กันฟัง

โดยภาพรวมแล้ว อาชีพข้าราชการในญี่ปุ่นได้รับความนิยมมากน้อยเป็นพัก ๆ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ช่วงไหนเศรษฐกิจดี คนรุ่นใหม่จะนิยมไปทำงานเอกชนมากกว่า ช่วงไหนเศรษฐกิจไม่ดี อาชีพข้าราชการจะได้รับความนิยมมากขึ้น เหตุผลก็ง่าย ๆ คือ อาชีพนี้มั่นคง และไม่ต้องย้ายที่ทำงานบ่อยเหมือนการทำงานในบริษัทเอกชนทั่วไป

“ข้าราชการ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โคมุ-อิง” (公務員; kōmu-in)แปลตามตัวอักษรว่า “เจ้าหน้าที่ (ผู้ทำ) งานสาธารณะ” โดยความหมายแล้วก็เหมือนกับภาษาไทย แต่ถ้ามองรูปศัพท์จะเห็นนัยลึก ๆ ที่ต่างกันหน่อย ในภาษาไทย “ข้า” แปลว่า บริวาร และ “ราชการ” เป็นคำสมาส (ราช + การ) ที่หมายถึงงานของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจริง ๆ ก็สะท้อนประวัติศาสตร์ของเราได้ดีตรงที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินคือผู้บริหารงาน และผู้รับงานไปปฏิบัติคือบริวารของราชา

ข้าราชการญี่ปุ่นมีหลายประเภทเช่นเดียวกับไทย แต่ถ้าแบ่งกว้าง ๆ มี 2 ประเภทหลัก คือ ข้าราชการระดับชาติ (国家公務員;kokka kōmu-in) และ ข้าราชการระดับท้องถิ่น (地方公務員;chihō kōmu-in) งานราชการ 2 ประเภทนี้ต่างกันในเนื้อหาและการสอบเข้า กล่าวโดยสังเขป คือ ข้าราชการระดับชาติทำงานเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ นโยบายระดับชาติ และมีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ เช่น ข้าราชการในกระทรวง กรม ตำรวจที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนข้าราชการระดับท้องถิ่นคือคนของทางการที่ทำงานใกล้ชิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ตำรวจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
รัฐสภาญี่ปุ่น
สัดส่วนจำนวนข้าราชการต่อจำนวนคนทำงานทั้งประเทศของญี่ปุ่นถือว่าน้อย คือ มีแค่ประมาณ 11% ในขณะที่ของไทยมี 27.21% พอ ๆ กับอเมริกาที่ 27.15% ในปี 2560 ญี่ปุ่นมีข้าราชการทั้งสองระดับรวมกันเป็นจำนวน 3.323 ล้านคน แบ่งเป็นข้าราชการระดับชาติ 17.6% ราว 6 แสนคน และข้าราชการท้องถิ่น 82.4% ราว 2.74 ล้านคน และถึงแม้เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ แต่ในความเป็นจริงก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ข้าราชการระดับชาติเป็นที่ยำเกรงมากกว่า

การสอบเข้าเป็นข้าราชการญี่ปุ่น 2 ประเภทนี้มีช่องทางต่างกัน ผู้ที่ประสงค์จะเป็นข้าราชการระดับชาติจะต้องผ่าน “การสอบคัดเลือกเข้าเป็นข้าราชการระดับชาติ” โดยแยกตามตำแหน่งหลัก คือ “สายรวม/บริหาร” (総合職;sōgō shoku ) ซึ่งจะทำงานด้านการวางแผนนโยบาย การศึกษาวิจัย และ “สายทั่วไป” (一般職:ippan shoku) ซึ่งทำงานธุรการ นอกจากนี้ก็มี “สายเฉพาะทาง” เช่น เศรษฐกร เจ้าหน้าที่ชำนาญการตามกระทรวงต่าง ๆ และ “ผู้มีประสบการณ์” ได้แก่ คนที่เคยทำงานในภาคเอกชนมาก่อน

เงินเดือนเฉลี่ยของข้าราชการระดับชาติ ถ้าดูตัวอย่างแยกตามสาย เช่น “สายบริหาร” อายุยี่สิบต้น ๆ เงินเดือนราว 220,000 เยน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินเดือน 180,000 เยนกับเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการประเภทต่าง ๆ ส่วน “สายทั่วไป” ระดับต้น ราว 210,000 เยน แบ่งเป็นเงินเดือนราว 175,000 เยนกับเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการ และข้าราชการญี่ปุ่นได้โบนัสปีละ 2 ครั้งคือกลางปีกับสิ้นปี เทียบเท่าเงินเดือนประมาณ 2 เดือนในแต่ละครั้งที่ได้รับ คำว่าโบนัสในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการแบ่งกำไรจากผลประกอบการ แต่หมายถึงเงินก้อนชนิดหนึ่งที่ให้เป็นแรงจูงใจหรือรางวัลแก่การทำงาน

ส่วนข้าราชการระดับท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริการประชาชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังที่ชื่อระบุนั้น หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดสอบคัดเลือก ข้อสอบแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ และแยกย่อยตามความจำเป็น นอกจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตแล้ว ก็มีอย่างอื่น เช่น งานโยธา งานเครื่องกล งานไฟฟ้า งานช่าง ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าสอบคือผู้จบมัธยมปลายขึ้นไป โครงสร้างค่าตอบแทนคล้ายกับข้าราชการระดับชาติคือ เงินเดือน-เบี้ยเลี้ยงสวัสดิการ-โบนัส แต่ก็ต่างกันไปตามพื้นที่ สูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ กรุงโตเกียว จังหวัดเฮียวโงะ (อันเป็นที่ตั้งของเมืองโกเบ) จังหวัดคะนะงะวะ (อันเป็นที่ตั้งของเมืองโยะโกะฮะมะ) โดยมีรายรับเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 7 ล้านเยนเศษ อายุเฉลี่ยของข้าราชการอยู่ในช่วง 40-50 ปี

เงินเดือนของข้าราชการญี่ปุ่นถือว่าดีและไม่ต่างจากเอกชน จึงไม่น่าแปลกใจที่เป็นอาชีพในฝันของหลายคน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นงานที่คนรุ่นใหม่อีกไม่น้อยไม่อยากทำเพราะงานหนักและเผชิญแรงกดดันจากประชาชนอยู่เสมอ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ จำนวนคนที่เข้าสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการระดับชาติก็มีแนวโน้มลดลง หรือคนที่เข้าไปทำแล้วลาออกหลังจากผ่านไปพักหนึ่งก็มี อย่างเพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงการคลังหลังจากเรียนจบปริญญาตรี ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประชุมรัฐสภา จะต้องเตรียมเอกสารและรายงานมากมายเพื่อให้รัฐมนตรีนำไปใช้ในที่ประชุม แม้เป็นข้าราชการกระทรวงชั้นแนวหน้า แต่ในที่สุดก็ลาออกมาทำงานบริษัทเอกชน

ลักษณะเด่นบางประการ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป) ของระบบราชการญี่ปุ่นที่ต่างจากของไทย คือ ข้าราชการระดับสูงมีพลังอำนาจในการต่อรองกับข้าราชการการเมือง ภาษาญี่ปุ่นเรียกคนเหล่านี้ว่า “คันเรียว” (官僚;kanryō) คนเหล่านี้สติปัญญาดีทั้งนั้น เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยโตเกียว เกียวโต แน่นอนว่ามีเครือข่ายพวกพ้องมาก และด้วยวัฒนธรรมความเคารพยำเกรงอย่างเคร่งครัดแบบญี่ปุ่น เมื่อคนเหล่านี้อยู่ในระดับนโยบาย นักการเมืองย่อมเกรงใจ ในกรณีของไทย เรามักได้ยินว่านักการเมืองสั่งย้ายคนโน้นคนนี้กันง่าย ๆ หรือข้าราชการถูกนักการเมืองแทรกแซง ของญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยาก และนักการเมืองเป็นฝ่ายที่ต้องฟังข้าราชการ
รัฐสภาญี่ปุ่น
อีกข้อหนึ่งคือ ข้าราชการญี่ปุ่นในหลายหน่วยงานทำงานหนักกว่าพนักงานบริษัทเอกชน โดยเฉพาะกระทรวงชั้นนำ เช่น กระทรวงการคลัง การะทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ การเลิกงานตรงเวลาแล้วกลับบ้านก่อนพระอาทิตย์ตกแทบจะไม่เกิดขึ้น การทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่นหรือจนถึงเช้าตี 2 ตี 3 เป็นเรื่องปกติ เนื่องด้วยคนญี่ปุ่นเป็นคนประเภทบ้าข้อมูล ตัวเลขการวิเคราะห์ของคนญี่ปุ่นจะละเอียดมากและมีรอบด้าน ก็ข้าราชการประจำกระทรวงนี่แหละจะต้องเสาะหาจัดเตรียม ซึ่งกลายเป็นการทำงานหนัก

นอกจากนี้คือ การถูกวิจารณ์ว่า “เช้าชามเย็นชาม” ในระบบราชการของญี่ปุ่นมีน้อยกว่าของไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ญี่ปุ่นมี “ระบบเวียนงาน” กล่าวคือ ภายในหน่วยงานเดียวกันมักจะมีการสลับหน้าที่กันทำทุก ๆ 3-5 ปี ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ตื่นตัวเสมอ ไม่กลายเป็นงานซ้ำซากนานเกินไป และมีการปลูกฝังข้าราชการอยู่เสมอให้ตระหนักว่า เงินเดือนที่ได้รับนั้นคือภาษีของประชาชน ข้าราชการระดับปฏิบัติงานที่คลุกคลีกับประชาชนจึงทำงานดีเทียบเท่าหรือดีกว่าเอกชนด้วยซ้ำ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับข้าราชการ คือ ข้าราชการในหลายประเทศมักถูกวิจารณ์ว่าทำงานย่อหย่อน หรือหนักหน่อยก็ถูกมองว่าใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งอาจจะจริงบ้างไม่จริงบ้างแล้วแต่กรณี สำหรับข้าราชการญี่ปุ่น โดยส่วนตัว ผมรู้สึกชื่นชมว่ามีคุณภาพสูง แต่ก็ยังไม่วายถูกประชาชนเรียกร้องให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เท่าที่สัมผัสญี่ปุ่นมาประมาณ 20 ปี ผมว่าข้าราชการญี่ปุ่นก็ทำงานดีแล้วนา...แต่คงเพราะประชาชนญี่ปุ่นมีมาตรฐานสูง ถึงได้เรียกร้องให้ข้าราชการพัฒนาตัวตลอดเวลา นี่ถ้าคนญี่ปุ่นทราบเรื่องข้าราชการไทยโกงเงินประชาชนที่นั่นที่นี่ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำหน้ายังไง ส่วนคนไทยคงทำหน้าเฉย ๆ...อาจเป็นเพราะชิน

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น