เอเจนซี - สถาบันวิจัยประชากรญี่ปุ่นเผยภายในปี พ.ศ.2588 ประชากรญี่ปุ่นทุกจังหวัดจะลดลงทั่วประเทศ ยกเว้นโตเกียวที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดย จ.อะกิตะกระทบหนักสุดคือ ประชากรลดลงกว่า 41% ขณะที่ผู้สูงอายุเกิน 65 ปีจะเพิ่มทะลุ 50% ของประชากรในจังหวัด
เมื่อวันศุกร์ (30 เม.ย.) สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติญี่ปุ่นแถลงว่า จากผลการศึกษาภายในปี 2588 (ค.ศ.2045) ประชากรญี่ปุ่นจะลดลงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงโตเกียว โดยในอีก 27 ปีข้างหน้าประชากรญี่ปุ่นจะลดลงอีกราว 20 ล้านคน เหลือเพียง 106.42 ล้านคน
จากการแถลงข่าวของสถาบันวิจัยฯ โดยแยกรายจังหวัดชี้ให้เห็นว่าประชากรชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปีจะกินสัดส่วนกว่าร้อยละ 30 ในทั้ง 47 จังหวัด ทั่วญี่ปุ่น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาอัตราการเกิดของชาวญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถชะลอการลดจำนวนลงของประชากรได้มากนัก ซึ่งนั่นสอดคล้องกับตัวเลขที่เผยออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ระบุว่า ประชากรญี่ปุ่นจะลดลงเหลือน้อยกว่า 100 ล้านคน ภายในปี 2596 (ค.ศ.2053) และเหลือเพียง 88.08 ล้านคนในปี 2608 (ค.ศ.2065)
อย่างไรก็ตามมีเพียงพื้นที่แห่งเดียวที่ถูกคาดหมายว่าประชากรจำเพิ่มจำนวนขึ้น นั่นคือกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ซึ่งในช่วง 30 ปีข้างหน้า ประชากรน่าจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.7 ขณะที่จังหวัดอะกิตะนั้นจะเป็นจังหวัดที่ประชากรจะลดจำนวนลงมากที่สุด หรือลดลงกว่าร้อยละ 41.2
นอกจากนี้ในปี 2588 จังหวัดอากิตะจะยังเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุด โดยประชากรอายุ 65 ปี จะมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50.1 และมีประชากรวัยเด็กอายุช่วง 0-14 ปี น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 7.4 ด้วย
แนวโน้มประชากรญี่ปุ่นในอนาคตจะยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง โดยกรุงโตเกียวจะมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง ร้อยละ 12.8 ของประชากรทั้งประเทศ ตามมาด้วยจังหวัดคานากาวะร้อยละ 7.8 และจังหวัดโอซาก้าร้อยละ 6.9 ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 4 ของประชากรญี่ปุ่นจะรวมตัวกันพักอาศัยหนาแน่นอยู่ในเขตพื้นที่ 3 พื้นที่นี้