xs
xsm
sm
md
lg

เหตุเกิดเมื่อ "เสียงหวอ" ดัง!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในแต่ละวันหลายท่านคงได้ยินได้ฟังเรื่องเหตุด่วนเหตุร้ายกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นบ้านฉันอยู่ใกล้สถานีดับเพลิงและโรงพยาบาลทำให้ได้ยินเสียงไซเรนทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เสมอ เมื่อพอมาอยู่ที่สหรัฐฯ ก็มักได้ยินเสียงไซเรนรถอยู่แทบทุกวี่ทุกวัน จนเดี๋ยวนี้ออกจะชาชินไปเสียแล้ว จากที่แต่เดิมมักเกิดความตื่นตัวว่าเกิดเหตุแล้วสิ

ว่าแต่พอได้ยินเสียง “หวออออ” บ่อย ๆ ก็ชักจะสับสนว่าเสียงแบบนี้มันเสียงของรถอะไรกันนะ รถดับเพลิง? รถพยาบาล? รถตำรวจ? ในสมองรู้สึกเหมือนกับว่ามันจะดังคล้าย ๆ กัน พอไปลองสืบค้นดูจากในอินเตอร์เน็ตว่าแต่ละเสียงมันต่างกันอย่างไรก็พบว่า ทั้งคนญี่ปุ่น คนฝรั่ง และคนไทยดูเหมือนจะพากันสับสนกับเสียงไซเรนเหมือน ๆ กัน พอฟังเสียงไซเรนของแต่ละประเทศแล้วก็พบว่าเสียงสำหรับรถประเภทเดียวกันจะคล้ายกันแต่ก็มีความต่างกันอยู่บ้าง แถมบางครั้งรถคันเดียวกันยังมีการเปลี่ยนเสียงตามสถานการณ์ด้วย อย่างเช่นของญี่ปุ่น ถ้ากำลังไปปฏิบัติหน้าที่ก็เสียงอย่างหนึ่ง ขากลับก็เสียงอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น


จำได้ว่าตอนบ้านฉันซื้อแมนชั่นที่ญี่ปุ่น เขาให้ถังดับเพลิงสีแดงติดบ้านมาด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการติดถังดับเพลิงตามบ้านเรือน เมื่อก่อนฉันก็ไม่รู้ว่ามันใช้อย่างไร แต่มีอยู่คราวหนึ่งได้มีโอกาสร่วมฟังบรรยายว่าด้วยข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ซึ่งที่ทำงานได้ขอให้สถานีดับเพลิงมาช่วยสอน เจ้าหน้าที่เอาถังดับเพลิงมาหลายถัง และให้คนฟังสามสี่คนออกมาลองใช้ดู แม้ฉันจะจำวิธีใช้ถังนี้ไม่ได้ถนัด แต่ก็จำได้ว่าก่อนฉีดให้ตะโกนให้สุดเสียงว่า “คาจิด่าาาาาา” (แปลว่า “ไฟไหม้” ลากเสียงยาว ๆ) สมัยเด็ก ๆ ฉันเคยคิดว่าถังดับเพลิงคือน้ำเปล่าเสียอีก พอโตแล้วถึงทราบว่ามันเป็นสารเคมีหลายอย่าง และใช้สำหรับดับเพลิงที่เกิดจากเหตุต่างกัน ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน

นอกจากถังดับเพลิงแล้ว แมนชั่นที่ญี่ปุ่นก็มีเครื่องตรวจจับควันที่เป็นแผ่นกลม ๆ แปะอยู่บนเพดาน เมื่อก่อนฉันซื้ออุปกรณ์ไล่แมลงรบกวนให้ออกไปจากบ้านมา ว่าจะใช้ตอนหน้าร้อนที่แมลงเยอะ แต่วิธีไล่แมลงของอุปกรณ์ชนิดนี้คือเราต้องเลือกขนาดที่พอเหมาะกับขนาดห้องของเรา วางไว้กลางห้อง เมื่อเราเปิดให้มันทำงาน มันจะปล่อยควันออกมาทั่วบ้าน เวลานี้เราต้องออกจากบ้านไปเป็นชั่วโมงเพื่อให้ควันสลายตัวไป ก่อนจะใช้อุปกรณ์นี้ต้องพาสัตว์เลี้ยงออกจากบ้านไปด้วย และเอาผ้าหรืออะไรปิดคลุมสิ่งที่ไม่ต้องการให้โดนควัน หลังใช้อุปกรณ์นี้ก็เสร็จต้องเอาพวกจานชามมาล้างใหม่หมดด้วย

พอซื้ออุปกรณ์ชนิดนี้มาแล้วก็นึกได้ว่าที่บ้านมีเครื่องตรวจจับควัน มันจะดังไหมนะ ก็เลยไปถามคนดูแลตึก เขาบอกว่า "โอ้!! ดังแน่นอน" เว้นแต่จะหาแผ่นพลาสติกมาคลุมเครื่องตรวจจับควันไว้ แต่มันก็อาจจะไม่ได้ผลอยู่ดีก็ได้ ทางที่ดีเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ตัวอื่นดีกว่า ฉันก็เลยล้มเลิกความตั้งใจไป

ส่วนที่นิวยอร์ก ฉันไม่ค่อยแน่ใจเรื่องถังดับเพลิงว่าเขาติดกันเยอะไหม เห็นแต่ว่าที่แมนชั่นตามแต่ละห้องจะมีเครื่องตรวจจับควันและมีที่ฉีดน้ำอัตโนมัติเวลาเกิดเพลิงไหม้ บางองค์กรอย่างเช่นกาชาดเขาจะมีการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยโดยอาสาไปติดเครื่องตรวจจับควันตามบ้านฟรี ทีนี้เวลาจะไปติดตามชุมชนก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ไปบอกแล้วเขาจะยอมให้ติด โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเจอไฟไหม้กับตัวก็รู้สึกว่าคงไม่เป็นไร ไม่เห็นจำเป็นตรงไหน เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเลยต้องมีไม้ตายเวลาไปติดเครื่องตรวจจับควันที่ว่านี้ เขาบอกอย่างนี้ค่ะว่า “พอไปถึงชุมชนนะ เราก็ตะโกนดัง ๆ เลยว่า “Free stuff!!” (แจกฟรี!!) คนชอบของฟรีอยู่แล้ว ทีนี้ละแต่ละบ้านก็จะออกมาหาเอง เราก็ไปคุยและไปติดได้" ฟังแล้วก็ขำดีค่ะ แต่ดูเหมือนจะใช้ได้ผลจริง

ตึกแมนชั่นที่ฉันอยู่ก็มักมีเสียงสัญญาณเตือนภัยดังแสบแก้วหู และมีประกาศต่อท้ายว่า “เกิดเหตุฉุกเฉิน ขอให้ทุกคนเดินลงมาข้างล่างทางบันไดหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟต์”  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็น false alarm คือไม่ได้เกิดเหตุจริง แต่ไม่รู้ทำไมมันดัง แมวฉันพอได้ยินเสียงดังแบบนี้ก็มุดเข้าใต้โซฟาก่อนเลยค่ะ จะเกิดเหตุจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เพื่อความปลอดภัยฉันก็ต้องมาคอยไล่ตามจับยัยแมวตัวนี้ใส่กระเป๋าสำหรับสัตว์เลี้ยงแบกขึ้นหลังเดินลงข้างล่าง พอจับตัวได้ก็มักได้ยินเจ้าหน้าที่บอกว่า “false alarm ไม่ต้องแตกตื่น” อยู่เรื่อย ชวนให้เซ็งแต่ก็ดีกว่าไฟไหม้จริง

ฉันมักเห็นรถดับเพลิงมาแถวบ้านบ่อย ๆ วันหนึ่งกำลังกลับเข้าแมนชั่นก็เห็นรถดับเพลิงหลายคันจอดอยู่ข้างทางเท้า และในตึกมีบุรุษดับเพลิงเรียงแถวเป็นระเบียบหลายสิบคน เห็นภาพนั้นแล้วเลยชักเงอะงะ ไม่รู้ว่าเข้าไปได้หรือเปล่า ขณะกำลังยืนชั่งใจอยู่นั่นเอง บุรุษดับเพลิงที่น่าจะเป็นหัวหน้าทีมก็เดินมาหาถามว่าฉันเป็นคนโทรไปแจ้งหรือ ฉันบอกว่าเปล่า จากนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกิดเหตุอะไร สักครู่ใหญ่พวกบุรุษดับเพลิงก็กลับไป เป็นอย่างนี้บ่อย ๆ เห็นใจบุรุษดับเพลิงเหมือนกัน เวลามาก็คงรุดมาโดยเตรียมพร้อมกู้ชีพอย่างดี แต่กลับพบว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มีอะไรเลย

เคยดูรายการหนึ่งที่ญี่ปุ่นแต่เกี่ยวกับสหรัฐฯ เขาทำสารคดีว่ามีคนแบบไหนโทรไป 911 ด้วยเรื่องอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นมีเด็กน้อยอายุสี่ขวบรวมอยู่ด้วย คือคุณปู่ของเด็กเกิดช็อคขึ้นมาจากโรคหัวใจหรืออย่างไรนี่แหละค่ะ เด็กคนนี้รู้แค่ว่าถ้ามีเหตุฉุกเฉินก็ให้แจ้ง 911 เขาเลยโทรไป บรรดาหน่วยกู้ชีพจึงมาได้ทันท่วงที เด็กคนนี้จึงเป็นที่ชื่นชมอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ในจำนวนนั้นก็มีคนแปลกอยู่หลายราย ครั้งหนึ่งมีสตรีผู้หนึ่งโทรไป 911 ว่า “ฉันอยากมีสามี” ตำรวจที่รับสายบอกว่า “คุณโทรมา 911 ด้วยเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุด่วนเหตุร้ายนี่ คุณรู้ไหมว่ามีสิทธิ์โดนจับได้” สตรีนางนั้นตอบ “ฉันทราบค่ะ ตำรวจบอก “ได้ งั้นเราจะส่งนายตำรวจไปหาคุณ” สตรีนั้นยินดี “ฉันจะรอนะคะ” แบบนี้ก็มีด้วยค่ะ ฉันดูแล้วก็หัวร่องอหายอยู่นานสองนาน

ทีนี้ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น เวลาแจ้งตำรวจให้โทรเบอร์ 110 ส่วนเรียกรถพยาบาลโทร 119 เคยได้ยินว่าคนญี่ปุ่นเรียกรถพยาบาลกันค่อนข้างบ่อยเสียจนมีการทำโปสเตอร์เพื่อให้ความรู้ว่าเหตุการณ์แบบไหนไม่จำเป็นต้องเรียกรถพยาบาล เช่น มีดบาด อะไรอย่างนี้เป็นต้น

สมัยก่อนฉันเคยขี่จักรยานอยู่คนเดียว ผ่านไปในย่านที่ไม่ค่อยมีคน เห็นชายคนหนึ่งนั่งท่าตุ๊กตาหมีอยู่กับพื้นพร้อมไม้เท้าอยู่ใกล้ ๆ ดูไม่ปกติ แต่เขาก็นิ่งเงียบ ๆ ไม่พูดอะไร ฉันมักได้ยินเรื่องอาชญากรรมในบ้านเราบ่อย ๆ ว่ามีพวกมิจฉาชีพชอบทำอะไรแบบนี้หลอกลวงคนแล้วก็เข้ามาทำร้ายคนที่เข้ามาช่วย ฉันเลยเกือบจะรีบขี่จักรยานผ่านไปโดยเร็ว แต่ก็รู้สึกแย่ว่าหากเขาเป็นอะไรจริง ๆ แล้วจะทำอย่างไร ฉันหยุดจักรยานในระยะห่างแบบไม่แน่ใจ และเตรียมพร้อมโกยสุดชีวิตหากอันตราย ถามเขาว่า “เป็นอะไรหรือเปล่าคะ” เขาตอบว่า "ไม่เป็นไร เรียกรถพยาบาลแล้ว" ฉันเลยโล่งอก

พูดถึงเรื่องถามว่า “เป็นอะไรหรือเปล่า” ซึ่งพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ไดโจบุเดสก๊ะ” (大丈夫ですか?)นั้น ฉันจำได้ว่าเคยหิ้วกระเป๋าเดินทางใบเขื่องอย่างทุลักทุเลเดินลงบันไดที่สถานีรถไฟ มีผู้ชายในชุดสูทเข้ามาถามว่า “ไดโจบุเดสก๊ะ” (เป็นอะไรหรือเปล่า) ฉันรู้สึกเหมือนมีพระมาโปรดแล้ว แต่ตอนนั้นนึกไม่ออกว่าควรตอบอย่างไร เพราะใจจริงก็ต้องการความช่วยเหลือแต่ก็ไม่รู้จะเอ่ยปากอย่างไร นึกว่าถ้าอ้อมค้อมตามแบบฉบับญี่ปุ่นก็น่าจะต้องพูดว่า “ไดโจบุเด๊ะหวะไน่เดส” (ไม่ได้ไม่เป็นอะไร) แต่มันฟังดูพิกลและอาจจะไม่สุภาพ สุดท้ายเลยฝืนใจตอบที่สุภาพไปว่า “ไดโจบุเดส” (ไม่เป็นไร) เขาจึงเดินจากไป

ฉันมองตาค้างด้วยความละห้อยและหันกลับมาขยับเท้าทีละก้าว ๆ ลงบันไดทีละขั้น ครู่หนึ่งมีชายในชุดสูททำงานอีกคนหนึ่งเดินเข้ามาแล้วบอกว่า “ผมยกให้เอง” แล้วก็ยกให้เลยด้วยมือข้างเดียวสบาย ๆ พอไปถึงที่ชานชาลาเขาก็วางแล้วจากไปทันที ฉันรู้สึกขอบคุณและประทับใจมาก

ไม่นานมานี้ฉันเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนคนญี่ปุ่นฟัง ถามเพื่อนว่าเวลาคนถามว่า “เป็นอะไรหรือเปล่า” ในกรณีอย่างนี้ควรจะตอบอย่างไร เพื่อนตอบว่าถ้าเขามีน้ำใจเข้ามาถามแสดงว่าเขาต้องอยากช่วยอยู่แล้ว ก็บอกเขาได้ว่า “โอเนะไงชิมัส” (お願いします - ช่วยหน่อยนะคะ/ครับ) คนถามย่อมยินดีกว่าที่เราจะตอบว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือ ฉันจึงเพิ่งถึงบ้างอ้อ ตอนแรกก็นึกว่ามีวิธีตอบอยู่แค่สองอย่างตรง ๆ ว่า “ไม่ได้ไม่เป็นอะไร” ซึ่งฟังดูทะแม่งชอบกล กับ “ไม่เป็นไร” เสียอีก สรุปแล้วเราสามารถบอกว่า “โอเนะไงชิมัส” ได้นี่เอง

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น