มาช้ายังดีกว่าไม่มา! 3 ธนาคารใหญ่ของญี่ปุ่นร่วมกันพัฒนาระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยการสแกนคิวอาร์โคด ซึ่งแพร่หลายในประเทศจีน, ไทยและหลายประเทศแล้ว
กลุ่มการเงินมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ, สุมิโตโม มิตซุย และมิซูโฮ ร่วมมือกันพัฒนาระบบชำระเงินและโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยจะเริ่มทดลองใช้งานที่ธนาคารในจังหวัดฟุกุชิมะ ธนาคารในเครือข่ายทั้ง 3 กลุ่มการเงินจะใช้แพลทฟอร์มร่วมกัน ลูกค้าที่มีบัญชีธนาคารจะสามารถจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการ และโอนเงินได้ผ่านการสแกนบาร์โคดหรือคิวอาร์โคดผ่านแอพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ โดยจะเริ่มต้นบางส่วนในเดือนเมษายนนี้
พื้นที่ทดลอง คือ ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารภายในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ หมายเลข 1 ซึ่งประสบปัญหารังสีรั่วไหลตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน จนทำให้แทบไม่มีพนักงานหรือชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ หลังจากนั้นจะขยายพื้นที่ไปยังเมืองโทมิโอกะ ทางตะวันออกของจังหวัดฟุกุชิมะ
ในการแถลงข่าวร่วมกันของผู้บริหาร 3 กลุ่มการเงินใหญ่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ยาสุฮิโระ ซะโต ผู้บริหารของมิซูโฮระบุว่า ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดจะมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านล้านเยน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานและติดตั้งตู้ ATM โดยในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีตู้ ATM อีกต่อไป
ธนาคารญี่ปุ่นต่างมีนโยบายลดจำนวนพนักงานและจำนวนสาขา และปรับตัวเข้าสู่ยุคไร้เงินสด หากแต่ญี่ปุ่นถือว่าช้ามากเมื่อเทียบกับจีนและประเทศอื่นๆ ที่ใช้ “โมบายแบงก์กิ้ง” แพร่หลายแล้ว
ปัญหาที่ทำให้ญี่ปุ่นเชื่องช้า เพราะระบบที่ยึดติดกับเงินสด ร้านค้าหลายแห่งในญี่ปุ่นยังไม่รับบัตรเครดิตต่างชาติ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงระบบคิวอาร์โคดที่จะมีมากมาย หากแต่ละธนาคารต่างคนต่างพัฒนาขึ้นเอง โดยไม่มีมาตรฐานกลาง
ในประเทศจีน กลุ่มอาลีบาบาได้พัฒนาระบบชำระเงิน "Alipay" จนแพร่หลายทั่วแดนมังกรและต่างประเทศ แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่ญี่ปุ่นได้ เนื่องจากลูกค้ายังคงกลัวการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว
นอกจากภาคธนาคารแล้ว ระบบการชำระผ่านโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นที่พัฒนาโดยแอพลิเคชั่น LINE และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ คือ NTT Docomo ก็จะเริ่มให้บริการในเดือนเมษายนนี้เช่นกัน และคาดว่าจะพัฒนาได้รวดเร็วกว่าธนาคาร.